พลังของคนหนุ่มสาว พลังสร้างสรรค์แห่งลุ่มน้ำสายบุรี

แม่น้ำสายบุรีทอดยาวจากหุบเขาในเขต อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ไหลวกเข้าเขต อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ออกสู่อ่าวไทยที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ความยาวกว่า 184 กิโลเมตรไหลหล่อเลี้ยงสร้างชีวิตสร้างอาชีพให้ผู้คนทั้งสองฝากฝั่งแม่น้ำ เด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่เกิดและเติบโตอยู่กับแม่น้ำแห่งนี้ได้ร่วมตัวกันในนาม “Anak Sungai” (ลูกหลานแห่งแม่น้ำ) เพื่อทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่ ทั้งการทำยาสมุนไพร จัดแข่งขันฟุตบอล รวมกลุ่มเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำและรับจ้างทั่วไป เพื่อระดมทุนเข้ากองทุนของกลุ่ม ผลกำไรส่วนหนึ่งปันผลให้กับคนทำงาน และอีกส่วนหนึ่งรวบรวมไว้เป็นทุนเพื่อทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน พวกเขาก็คือสภาเด็กและเยาวชนตำบลกะดุนง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

สภาเด็กและเยาวชนตำบลกะดุนง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ดำเนินกิจกรรมภายใต้การสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนตำบลกะดุนง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี และการสนับสุนจากมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) ในโครงการตำบลต้นแบบส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนจน ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับ “แบมะ” หรือ คอดาฟี่ เลาะแบหอ ผู้ใหญ่ในพื้นที่ใช้ใจในการช่วยดูแลเด็กและเยาวชน และ “ก๊ะฮิญาบ” หรือ ฮิญาบ เบ็ญฮาวัน พี่เลี้ยงสภาเด็กและเยาวชนจากองค์การบริหารส่วนตำบลกะดุนง 

สภาเด็กและเยาวชนตำบลกะดุนง และกลุ่มเยาวชน Anak Sungai

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับทีมสภาเด็กและเยาวชนกะดุนงกันก่อน กล่าวคือด้วยเงื่อนไขทางศาสนาและวัฒนธรรมในบริบทสามจังหวัดชายแดนใต้ จึงทำให้แบ่งกลุ่มและกิจกรรมเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนฝั่งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งมีการทำกิจกรรมส่วนใหญ่จะแยกออกจากกัน แต่ก็มีการมารวมตัวกันทั้งหมดในบางครั้งเมื่อมีงานกิจกรรมของทางตำบล สำหรับกลุ่มเด็กผู้หญิงส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนในระบบโรงเรียน เข้าเรียนในวันจันทร์-ศุกร์ สำหรับเด็กผู้ชายส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนจากปอเนาะ และโรงเรียนตาดีกา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาในวันหยุด นอกจากนี้ยังมีเยาวชนที่ไม่ได้เรียนหนังสือและเป็นคนทำงาน การรวมตัวกันของเด็ก ๆ เกิดจากให้กลุ่มสภาเด็กและเยาวชนที่มาร่วมกับ อบต. ซึ่งเป็นกลุ่มแรกเริ่มที่มีอยู่ไม่กี่คน ไปออกสำรวจและทำความรู้จักกับสมาชิกเด็กและเยาวชนในแต่ละหมู่บ้าน จากนั้นก็ชักชวนกันมารวมกลุ่มทำกิจกรรมกับสภาเด็กและเยาวชนตำบลกะดุนง

แบมะ และ ก๊ะฮิญาบ พี่เลี้ยงเด็กและเยาวชนทั้งสองคนต่างเล่าให้ฟังเหมือนกันว่า ตั้งแต่ที่สภาเด็กและเยาวชนกะดุนงได้เริ่มดำเนินการมากว่า 3 ปี ยังไม่เคยมีโครงการใดเลยที่ทาง อบต. ปฏิเสธที่จะสนับสนุน อบต.พยายามที่จะให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่เด็กเยาวชนต้องการ คอยรับฟังว่าเด็ก ๆ แต่ละกลุ่มมีความคิดอย่างไร ต้องการทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง 

ก๊ะฮิญาบ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มองว่านอกจากนี้ต้องเข้าใจเด็กและเยาวชนแล้ว หัวใจสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชนก็คือความเข้าใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.กะดุนง แห่งนี้สนับสนุนเด็ก ๆ แบบจริงจังมาก ๆ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าทาง อบต. ยังไม่เคยปฏิเสธโครงการของเด็ก ๆ สักครั้งเดียว ผู้ใหญ่ใน อบต.คอยให้คำปรึกษากับแบมะเสมอในฐานะผู้คอยช่วยดูแลเด็ก ๆ ว่าพร้อมจะส่งเสริมทุกกิจกรรม ขอให้เด็ก ๆ มาบอกว่าอยากทำอะไร ผู้ใหญ่หรือคนใน อบต. ต่างก็ชื่อมั่นว่าความสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ถ้ารับฟังความต้องการของเด็ก ๆ ถ้าเด็ก ๆ มาทำกิจกรรมกับ อบต. จะไม่มีทางได้กลับไปแบบมือเปล่าแน่นอน ในขณะที่แบมะ ผู้ใหญ่ในชุมชนที่เด็กไว้ใจเองก็เชื่อว่าความจริงใจ และการรักษาคำพูดของผู้ใหญ่จะทำให้เด็ก ๆ เชื่อถือและรู้สึกสบายใจที่จะเข้ามาร่วมกิจกรรม

ธุรกิจทางสังคม? ฟุตบอลการกุศล และยาสมุนไพร

ลักษณะการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนของตำบลกะดุนง ของกลุ่มเด็กและเยาวชนผู้ชายอาจเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบ “ธุรกิจทางสังคม” ที่เด็ก ๆ ร่วมระดมสมองและสองมือเลือกแล้วเลือกอีก ผ่านเครื่องมือการพัฒนากองทุนคนรุ่นใหม่ ของโครงการตำบลต้นแบบส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน (SIY) แล้วจึงเสนอขอสนับสนุนจาก อบต.กะดุนง มาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานด้วย ก๊ะฮิญาบ เล่าว่าทาง อบต.กะดุนง เองได้ร่วมมือกับโครงการตำบลต้นแบบฯ ซึ่งมีการช่วยเหลือในการทำระบบสนับสนุนเด็กและเยาวชนในหลายด้าน ทั้งการสำรวจข้อมูล การจัดทำแผนท้องถิ่นด้านเด็กและเยาวชน การหาเครือข่าย และเครื่องมือในการทำงานอีกมากมายทั้งเครื่องมือทำกอกงทุนคนรุ่นใหม่ เครื่องมือการทำนวัตกรรมทางสังคมเป็นต้น  นอกจากนี้ อบต.ก็จะสนับสนุนในส่วนของพื้นที่สำหรับทำงาน จัดเต็มอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการทำกิจกรรม

สำหรับกิจกรรมของฝั่งเด็กผู้ชาย คือ “แข่งขันฟุตบอลระดมทุน” ในระดับจังหวัด มีผู้เข้าร่วมคือทีมเยาวชนจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนกว่า 18 ทีม โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นจัดการแข่งขันมีเป้าหมายเพื่อหารายได้เข้ากองทุนคนรุ่นใหม่ ที่ได้ออกแบบร่วมกันกับทาง อบต.และ SIY แบมะ ในฐานะผู้ที่ดูแลหลัก เล่าว่าเด็กเยาวชนทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมนี้อย่างมีความสุข กระตือรือร้นและมีการแบ่งงานกันรับผิดชอบจนจบงานได้อย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จ ทำให้แบมะที่คอยแอบช่วยเหลือประทับใจในตัวเด็ก ๆ อย่างมาก โดยกิจกรรมนี้เด็ก ๆ เป็นผู้นำเสนอไอเดียจากความชื่นชอบของเด็ก ๆ เอง ผ่านการทำกระบวนการมองหาต้นทุนสิ่งที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ เช่น สนามกีฬา บวกกับความสนใจของเด็ก ๆ ที่ชอบเตะฟุตบอล 

ในส่วนการดำเนินงาน เด็ก ๆ แบ่งหน้าที่ในวันงานกันอย่างละเอียดมาก ๆ มีตั้งแต่หน้าที่ชักชวนทีมจากต่างหมู่บ้าน ต่างตำบลที่สนใจ หน้าที่ดูแลความเรียบร้อย หน้าที่จัดการถ้วยรางวัล หน้าที่สวัสดิการน้ำดื่ม แบมะบอกว่าเด็ก ๆ จัดการแม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ อย่างเรื่องที่จอดมอเตอร์ไซค์ และหน้าที่จัดการเงินที่ได้จากการสมัครเข้าแข่งขันของแต่ละทีมและเงินจากการรับบริจาค ที่เด็ก ๆ จะเป็นผู้ถือและจัดการเองทั้งหมด และเมื่อกิจกรรมจบลงไปได้ด้วยดี คนทำงานก็จะได้รับส่วนแบ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อตอบแทนการทำงานอย่างตั้งใจ และนำไปแบ่งเข้ากองทุนต่าง ๆ ที่ได้เล่าไว้ข้างต้น 

ส่วนกิจกรรมฝั่งสาว ๆ นั่นก็คือกิจกรรมการผลิตยาหม่อง น้ำมันไพล และพิมเสน มาขายเพื่อสร้างรายได้เข้ากองทุนสภาเด็กและเยาวชนนั่นเอง ก๊ะฮิญาบ ในฐานะผู้ที่ดูแลหลักเล่าว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากเด็ก ๆ ได้สำรวจผ่านการทำกระบวนการกับโครงการตำบลต้นแบบฯ และพบว่าในพื้นที่มีผู้ใหญ่ที่สามารถให้ความรู้ในเรื่องของสมุนไพรได้ เมื่อเด็ก ๆ เสนอแผนมาแล้วทาง อบต.กะดุนงก็ตอบรับให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ วิทยากร อุปกรณ์ในการทำ รวมถึงสถานที่ในการจัดทำผลิตภัณฑ์ เรียกได้ว่าเด็ก ๆ ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จริง ๆ เมื่อทำเสร็จแล้วทางสภาเด็กฯ ก็ได้นำยาดมไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ทดลองใช้ ทดลองดมกลิ่นกันดูก่อนว่าผ่านหรือไม่ ทั้งได้ทดสอบผลิตภัณฑ์และได้โฆษณาผลิตภัณฑ์ไปในตัว และเมื่อได้รับการยืนยันจากจมูกของชาวกะดุนงแล้วน้อง ๆ ก็บรรจุขวด ทำฉลาก ทำโฆษณา กันด้วยตัวเองและได้จัดการส่งขายวางหน้าร้านให้กับร้านค้าในตำบลที่สนใจ นำรายได้เข้ากองทุนสภาเด็กและเยาวชน

เมื่อสภาเด็กและเยาวชนมีรายได้จากการลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว จะมีการจัดการรายได้ทั้งหมด 3 ส่วน ในส่วนแรกจะจัดเป็นค่าตอบแทนให้คนทำงาน ส่วนที่สองจะเก็บไว้เป็นกองทุนสำหรับกิจกรรมในอนาคต และมีส่วนที่สามสำหรับกองทุนสำหรับช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตำบล รวมถึงเป็นเงินสำหรับการบริจาคช่วยเหลืองานสมทบทุนในวันสำคัญทางศาสนาของตำบล ซึ่งการบริจาคทานถือเป็นภารกิจสำคัญของชาวมุสลิม

สำหรับโครงการในอนาคตก๊ะฮิญาบเล่าว่าเร็ว ๆ นี้สำหรับกลุ่มเด็กผู้ชายจะมีโครงการเลี้ยงปลาในกระชัง ที่กำลังดำเนินการ วางแผนว่าจะใช้ต้นทุนในพื้นที่ทำกระชังเลี้ยงปลาในแม่น้ำสายบุรี และเด็ก ๆ ได้มาขอการสนับสนุนจากอบต.กะดุนงในเรื่องของงบประมาณ ผู้เชี่ยวชาญที่จะมาแนะนำการทำกระชังและการเลี้ยงปลา และได้วางแผนร่วมกันเรื่องการหารายได้เพื่อจัดการเข้ากองทุนสภาเด็กและเยาวชนต่อไป ส่วนฝั่งเด็กผู้หญิงก็มีแนวคิดว่าสาว ๆ กำลังเตรียมการจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงเพื่อหารายได้เข้ากองทุนสภาเด็กและเยาวชน มีการแยกซ้อมตามมาตรการเว้นระยะห่างกันอย่างแข็งขัน โดยใช้พื้นที่สนามวอลเลย์บอลของ อบต.กะดุนง เรียกได้ว่าถ้าหากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นเมื่อไหร่ก็สามารถจัดได้ทันที

ก๊ะฮิญาบและแบมะเล่าถึงความประทับใจต่อเด็ก ๆ ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมว่าเด็ก ๆ มีความกระตือรือร้นและตั้งใจในการทำกิจกรรมในทุก ๆ ขั้นตอน เมื่อมีกิจกรรมเกิดขึ้น พวกเขาทุกคนมาเข้าร่วมด้วยการชวนกันมาเองโดยที่ไม่ต้องร้องขอ ส่วนสิ่งที่กังวลใจอาจจะมีบ้างก็คือ ความกล้าแสดงออก กล้านำเสนอไม่เขินอาย มีความกล้าแสดงออกในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น อยากให้พวกเขามีความมั่นใจว่ากำลังทำสิ่งที่ดีอยู่ ในอนาคตผู้ใหญ่พร้อมจะสนับสนุนและพร้อมดำเนินโครงการให้เด็ก ๆ ได้ออกไปเสนองานหรือดูงานนอกพื้นที่กันบ้าง 

ผู้ใหญ่ทั้งสองคนเห็นว่าในสายตาของพวกเขา เด็ก ๆ ในพื้นที่ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะพิสูจน์ตัวเองให้ผู้ใหญ่เห็นอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีพื้นที่แสดงออก หรือคนที่คอยพลักดันและช่วยแนะนำ อย่างไรก็ตามหลังจากการมาเข้าร่วมกิจกรรมที่ทาง อบต.กะดุนงร่วมมือกับทางโครงการตำบลต้นแบบฯ มีเด็ก ๆ หลายคนที่เปิดใจมากขึ้น ต้องขอยกให้เครดิตทั้งความตั้งใจของเด็ก ๆ การสนับสนุนดี ๆ จากโครงการตำบลต้นแบบ ฯ และความจริงใจของ อบต.กะดุนง ที่พร้อมจะสนับสนุนเด็ก ๆ ด้วยความเปิดกว้างและเข้าใจความต้องการของพวกเขา การขับเคลื่อนเด็กและเยาวชนของตำบลกะดุนงสะท้อนเห็นว่าการพัฒนาเด็กและเยาวชน ไม่ใช่การส่งเสริมแบบไม่ฟังเสียงเด็กเยาวชน และไม่สามารถทำได้ด้วยใครเพียงคนเดียวหรือหน่วยงานเดียว คนทำทำงานกับเด็กและเยาวชนเองต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจและเชื่อมั่นในความสามารถของพวกเขา และมองให้เห็นพลังสร้างสรรค์ของเขา เหมือนกับที่ตำบลกะดุนงมองเห็นพลังของคนหนุ่มสาวแห่งลุ่มน้ำสายบุรี

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เกี่ยวกับผู้เขียน

sirikron
สิริกร ทองมาตร
ผลงานชิ้นอื่นๆ

อดีตนักเรียนมานุษยวิทยา เป็นมิตรกับเด็ก เยาวชน และคนทั่วไป

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Categories