พื้นที่ของเยาวชน พื้นที่ของทุกคน : การออกแบบพื้นที่สำหรับเยาวชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม

พื้นที่คือคุณภาพชีวิต

พื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนที่กลุ่มอายุที่อาศัยอยู่ภายในเมือง ชุมชนหรือหมู่บ้าน พื้นที่เหล่านี้ถูกออกแบบให้เอื้อต่อการใช้งานที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นลานแอโรบิค สนามเปตอง ทางสำหรับการเดินและวิ่ง เป็นต้น มากไปกว่านั้น ปัจจุบันมีการพูดถึงและตระหนักถึงความสำคัญของการมีพื้นที่สาธารณะมากขึ้น โดยมีการเชื่อมโยงไปถึงประเด็นด้านคุณภาพชีวิต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่สาธารณะที่ดี และตอบโจทย์การใช้งานนั้นเป็นปัจจัยที่สามารถยกระดับการใช้ชีวิตของประชากรในเมือง ชุมชน หรือหมู่บ้านได้ จึงนำมาสู่การตั้งคำถามถึงกลุ่มผู้ใช้อย่างเด็กและเยาวชนที่ถูกจำกัดการใช้งานพื้นที่สาธารณะไว้ภายใต้นิยามของคำว่า “สนามเด็กเล่น” 

อ้างอิงตามหลักในการออกแบบเมืองที่ดี (Urban Design Principle) นั้น เมืองที่ดีจำเป็นที่จะต้องสะท้อนอัตลักษณ์ (Identity) ของพื้นที่หรือย่านเพื่อให้เกิดความเป็นย่าน (Sense of Place) ซึ่งการออกแบบพื้นที่ให้มีความสามารถในการสะท้อนอัตลักษณ์และเกิดความย่านนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบที่ใส่ใจผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนหรือผู้สูงอายุ และจะต้องเข้าถึงง่าย ปลอดภัย สำหรับทุกคน อย่างไรก็ดีการออกแบบจะไม่สามารถสะท้อนอัตลักษณ์และความเป็นย่าน ได้เลยหากปราศจากกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน

นำมาสู่การพัฒนาเครื่องมือออกแบบพื้นที่สาธารณะสำหรับเยาวชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม (Youth space Toolkit) ที่ผู้เขียนอยากจะนำเสนอในบทความนี้ การพัฒนาเครื่องมือออกแบบพื้นที่สาธารณะสำหรับเยาวชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม มีเป้าหมาย 2 ประการประกอบด้วยคือ การถอดนิยาม “สนามเด็กเล่น” ออกจากการจำกัดการใช้งานพื้นที่สาธารณะของเยาวชน และการให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมที่สามารถนำไปสู่ความยั่งยืนของการพัฒนาได้ในอนาคต ผ่านกระบวนการที่ส่งผลให้เยาวชนรู้จักพื้นที่ชุมชนตนเองมากขึ้น พร้อมไปกับการปลูกฝังความเป็นเจ้าของพื้นที่ (Sense of Belonging) โดยผู้เขียนได้พัฒนาเครื่องมือออกแบบพื้นที่สาธารณะสำหรับเยาวชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ อ.ทุ่งสมอ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาเด็กที่เข้มแข็ง เนื่องจากมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง และมีการสนับสนุนจากทางท้องถิ่นในพื้นที่เป็นอย่างดี มากไปกว่านั้น ลักษณะพื้นที่ยังเอื้อให้เกิดกระบวนการเหล่านี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีน้องเยาวชนเป็นจำนวนมาก และยังมีพื้นที่สาธารณะกระจายอยู่ทั่วทุกมุมของชุมชน จึงทำให้โครงการนี้ได้เริ่มต้นที่พื้นที่ตำบลทุ่งสมอ จังหวัดกาญจนบุรี ได้อย่างไม่ยากนัก

พื้นที่ของเยาวชน พื้นที่ของทุกคน

การพัฒนาเครื่องมือออกแบบพื้นที่สาธารณะสำหรับเยาวชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการแรกคือการทำความรู้จักกับพื้นที่ ด้วยการเก็บข้อมูลเบื้องต้นของพื้นที่ชุมชน เช่น บริบทการอยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะ การเข้าถึงพื้นที่และการใช้งานเพื่อ สามารถนำข้อมูลไปสู่การวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดด้อย ศักยภาพและอุปสรรคที่สามารถสะท้อนถึงปัญหา แนวทางการแก้ไข รวมไปถึงยังสามารถนำไปสู่การออกแบบแนวทางของกระบวนการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเยาวชนให้ได้ชัดเจน ตรงจุดมากขึ้น เพื่อข้อมูลที่ได้จากกระบวนการจะช่วยสะท้อนความต้องการและการใช้งานของชุมชนได้อย่างแท้จริง ต่อมาคือการดำเนินกิจกรรมออกแบบพื้นที่สาธารณะสำหรับเยาวชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งมีทั้งหมด 3 ส่วนหลัก คือ ขั้นตอนการสร้างความคุ้นเคยผ่านการให้ความรู้ถึงข้อแตกต่างของนิยามของคำสำคัญ: พื้นที่สีเขียว (Greenspace) พื้นที่โล่ง (Open space) และพื้นที่สาธารณะ (Public Space) เพื่อให้เข้าใจตรงกันและสามารถนำไปปรับใช้ที่ในกิจกรรมต่อไปหรือกิจกกรม “มารู้จักชุมชนกันเถอะ” ผ่านการทำแผนที่ชุมชนผ่านคำถามที่เข้าใจง่าย สนุก และทำให้น้องเยาวชนเห็นภาพรวมชุมชนมากขึ้น 

กิจกรรมมารู้จักชุมชนกันเถอะ อบต. ทุ่งสมอ จังหวัดกาญจนบุรี

มากไปกว่านั้นกิจกรรม “มารู้จักชุมชนกันเถอะ” ยังสามารถเห็นถึงกิจกรรมของเพื่อนต่างกลุ่ม รวมถึงช่วงเวลาการใช้งานพื้นที่และวิธีการเดินทางเพื่อเข้าไปใช้ โดยการพูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้พื้นที่ชุมชนและกลุ่มเพื่อนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่กิจกรรมสุดท้าย “พื้นที่สาธารณะในฝัน” โดยให้ผู้เข้าร่วมจับกลุ่มย่อย และเลือกรูปภาพพื้นที่สาธารณะในชุมชนที่เข้าไปใช้งานบ่อย นำไปติดภาพ ตัดแปะสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นหรืออยากให้มีในพื้นที่นั้นแล้วนำกลับมาแลกเปลี่ยน ซึ่งไม่มีการจำกัดขอบเขตความคิด เพื่อให้เกิดจินตนาการและให้น้อง ๆ ก้าวข้ามขอบเขตของสิ่งที่ควรเป็นและความเป็นไปได้ ให้เป็นสิ่งที่อยากให้เป็นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นวงดนตรี แปลงผัก คอร์ดแบดมินตัน เป็นต้น มากไปกว่านั้นรูปภาพยังประกอบไปด้วยส่วนประกอบต่างๆที่พื้นที่สาธารณะควรมีเช่น ต้นไม้ ถังขยะ เสาไฟฟ้าให้แสงสว่าง ซึ่งสามารถนำผลลัพธ์ในรูปที่ถูกตัดแปะเสร็จแล้วมาวิเคราะห์ถึงความต้องการของเยาวชนและสิ่งที่ขาดหายไปเช่น ความรู้สึกปลอดภัย ความสะอาด และความร่มเย็น 

กิจกรรมพื้นที่สาธารณะ อบต. ทุ่งสมอ จังหวัดกาญจนบุรี

เมื่อออกแบบกันเสร็จแล้ว เด็กเยาวชนได้ร่วมกันประเมินและสะท้อนผลลัพธ์เพื่อนำไปหาแนวทางในการพัฒนาโครงการต่อในอนาคต ซึ่งเยาวชนที่มาเข้าร่วมมีความรู้สึกสนุก สนใจและเข้าใจพื้นที่ รวมทั้งเพื่อน ๆ ของตนเองในชุมชนมากขึ้นผ่านกิจกรรมนี้ โดยยังได้เล่าต่อถึงกิจกรรมที่อยากจะทำต่อยอดจากสิ่งที่ได้ทำไป เช่นการนำแนวคิดพื้นที่ในฝันที่ร่วมกันคิด มาเป็นสารตั้งต้นในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุภายในชุมชนอีกด้วย สิ่งที่น่าชื่นใจจากการพูดคุยครั้งนี้คือความอยากลงมือทำต่อ และความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นถึงพื้นที่ในชุมชนของตน เด็กและเยาวชนบางคนสะท้อนว่า “อยากได้พื้นที่ที่ออกแบบเองมากกว่าพื้นที่ที่มีคนมาทำให้” ซึ่งสะท้อนได้ว่ากระบวนการนี้ประสบความสำเร็จในการปลูกฝังความเป็นเจ้าของพื้นที่ผ่านความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วม 

ถึงแม้ว่าการพัฒนาเครื่องมือออกแบบพื้นที่สาธารณะสำหรับเยาวชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ที่ผู้เขียนกำลังพัฒนาอยู่นี้ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์และยังมีอีกหลายมิติที่จะต้องครอบคลุมเพื่อให้โครงการนี้สามารถเป็นเครื่องมือที่เอื้อให้ผู้คนเข้าใจถึงการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล ทำกระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งาน และพื้นที่ชุมชนที่มีบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่และความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง เมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้นแล้วหวังว่าเครื่องมือเหล่านี้จะสามารถนำไปเป็นตัวกลางในการสื่อสารและสะท้อนความคิดเห็นระหว่างเยาวชนและท้องถิ่นเพื่อให้เกิดพื้นที่สาธารณะที่สามารถใช้ได้จริง มีประสิทธิภาพ ตอบความต้องการและนำไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริงในอนาคต

เกี่ยวกับผู้เขียน

145981
ญาดา พรชำนิ
ผลงานชิ้นอื่นๆ

สถาปนิกผังเมืองที่เชื่อว่าเมืองคือทุกๆคนในนั้น กำลังงงกับการเป็นผู้ใหญ่ และหลงรักการดูการ์ตูนสุดๆ

+4

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Categories