กลับมากับตอนที่สองของบทความ มองเด็กในฐานะ “มนุษย์” ในวันนี้ ที่มิใช่แค่ “ผู้ใหญ่” ในวันหน้า ในตอนแรก (อ่านตอนที่1) ผู้เขียนได้พาท่านผู้อ่านไปทบทวนแนวคิดการ “รับรู้ความเป็นเด็ก” กับความเป็นจริงที่ “เด็กรับรู้ตนเอง” บทความตอนแรกได้พูดคุยถึงปัญหาการมองเด็กในฐานะผู้ใหญ่ในอนาคต (human becoming) ที่อาจทำให้ผู้ใหญ่หลงลืมศักยภาพและความต้องการของเด็กในฐานะมนุษย์ในวันนี้ (human being)
สำหรับในตอนที่สอง เราจะพูดคุยเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอว่าในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กและมีปณิธานในการพัฒนาเด็กและเยาวชนนั้นเราควรจะมองเด็กอย่างไรเพื่อให้ความปราถานาดีของเราในการปกป้องคุ้มครองเด็กได้ให้เกียรติและเคารพต่อเสียงและความต้องการของเด็กในฐานะผู้ทรงสิทธิ์ (rights bearer) ของพวกเขาอย่างแท้จริง
ชุดประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมสำคัญต่อเด็กในการตื่นรู้
ปกติแล้วเรามักเข้าใจความสามารถและศักยภาพของเด็กผ่านลำดับขั้นพัฒนาการตามค่ายพัฒนาการนิยม (developmentalism) ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดจิตวิทยาพัฒนาการของ Jean Piaget ซึ่งผูกติดความสามารถและศักยภาพการรู้คิดของเด็กตามช่วงอายุ Jason Hart (2008) นักวิชาการด้านสิทธิเด็กกลับมองว่าการรับรู้เด็กด้วยมุมมองนี้เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถทำให้เราเข้าใจศักยภาพที่เป็นจริงหรืออาจลดทอนศักยภาพของเด็กในหลายพื้นที่ทั่วโลก เขาชี้ว่าการมองเด็กผ่านแว่นพัฒนาการนิยมที่เหมามองศักยภาพเด็กเป็นกลุ่มก้อนที่เหมือนกัน (universal children) นั้นไม่เพียงพอเพราะ “ประสบการณ์” และ “สภาวะแวดล้อม” ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาศักยภาพเฉพาะด้านของเด็ก โดยเฉพาะศักยภาพและความสามารถในการรู้คิดประเด็นที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อนทางสังคมการเมือง ดังนั้นการนำเอาทฤษฎีของ Lev Vygotsky ที่ให้ความสำคัญกับบริบทสังคม กฎหมาย เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และชุดคุณค่าศีลธรรมในพื้นที่ที่เด็กอาศัยมาช่วยทำความเข้าใจพัฒนาการและศักยภาพของเด็กแทนการใช้เกณฑ์อายุเพียงอย่างเดียวมาตัดสินศักยภาพเด็กนั้นจะสามารถทำให้เราเข้าใจศักยภาพของเด็กได้ดีขึ้น
งานของ Jason Hart (2008) จึงได้ศึกษาเด็กพลัดถิ่น (displaced children) ที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งสูงผลปรากฎว่าเด็กที่เติบโตในสภาวะแวดล้อมหรือสังคมการเมืองที่มีความขัดแย้ง ถูกกดขี่โดยโครงสร้างทางสังคมอย่างลึกซึ้ง สามารถรับรู้และเข้าใจประเด็นปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองได้ไวกว่าที่ผู้ใหญ่เคยรับรู้และคาดการณ์ไว้ ข้อค้นพบหนึ่งที่สำคัญคือสภาวะแวดล้อมนั้นได้กระตุ้นเด็กให้ได้เรียนรู้ผลกระทบจากการเมืองผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน โดยปกติเรามักเข้าใจว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นเป็นทางเลือกของเด็ก แต่ในหลายพื้นที่เด็กไม่ได้เลือกที่จะเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมือง แต่เด็กถูกบังคับโดยระบบและโครงสร้างให้รู้จักและเผชิญกับผลกระทบจากความขัดแย้งและปัญหาทางการเมืองอยู่แล้ว วลีอย่าง “เผด็จการที่แรกของฉันคือโรงเรียน” ของการเคลื่อนไหวจากนักเรียนไทย จึงสะท้อนและเน้นย้ำแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดีว่าเมื่อมีการกดขี่และเด็กต้องจมอยู่กับระบบที่เขาคิดว่าไม่ยุติธรรมและอึดอัดจนหายใจไม่ออก สิ่งนั้นบังคับให้เขาต้องออกมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง
ปุ่ม “เอ๊ะ” ที่คนทำงานด้านเด็กต้องมี
เมื่อย้อนกลับมาที่การเคลื่อนไหวของเด็กในสังคมไทย ประเด็นและวิธีการขับเคลื่อนของเด็กในหลายกรณีได้ท้าทายการรับรู้และความเข้าใจความเป็นเด็กของผู้ใหญ่หลายคน ยิ่งโดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านเด็กด้วยแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมและการแสดงออกดังกล่าว สิ่งสำคัญอย่างแรกที่ผู้เขียนอยากจะสื่อสารคือแนวคิดเรื่อง “สิทธิเด็ก” และ “งานคุ้มครองเด็ก” นั้นมิได้แข็งทื่ออยู่กับที่ แต่เป็นแนวคิดที่ถูกท้าทายและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน
งานคุ้มครองไม่ใช่แค่กระบวนการและวิธีการเพียงเท่านั้น แต่ประเด็นหลักที่สำคัญคือ “ภาพ” ที่เรามีต่อ “การรับรู้ความเป็นเด็ก” จะมีอิทธิพลต่อเราในการมอง เรื่องศักยภาพ ตัวตน อำนาจ และอิสรภาพในตัวเด็กในทุกมิติ ทั้งเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมือง เรื่องเพศ (ที่รวมถึงเพศสัมพันธ์) และการตัดสินใจอื่น ๆ ในชีวิตของเด็ก ซึ่งมีหลายมิติให้ศึกษา ตั้งคำถาม ที่ไม่ใช่แค่การตัดสินเร็ว ๆ ผ่านแนวคิดงานคุ้มครองเด็กหรือการรับรู้ความเป็นเด็กที่เราเคยเรียนรู้
ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีความคิดว่าเด็กแสดงออกไม่เหมาะสม สิ่งที่ผู้ใหญ่ทุกคนโดยเฉพาะคนทำงานด้านเด็กจำเป็นต้องย้อนถามตนเองคือ เหตุผลอะไรที่ทำให้เด็กแสดงออกด้วยวิธีการที่ผิดแผกไปจากขนบหรือกรอบวัฒนธรรมแบบเดิม อย่าเพิ่งด่วนตัดสินการกระทำที่ดูกราดเกรี้ยว หรือไม่เหมาะสม ให้เป็นเพียงการแสดงออกแบบเด็ก ๆ และแปะป้ายว่านี่คือการแสดงออกที่ขาดวุฒิภาวะ หรือผลลัพธ์จากการถูกยุยงปลุกปั่นเพียงเท่านั้น เพราะเมื่อคิดแบบนั้นมันหมายความว่าเรากำลังปฏิเสธศักยภาพและความสามารถของเด็ก เราได้ปัดทิ้งความรับผิดชอบในการแปลความหมายและรับรู้ที่มาที่ไปของพฤติกรรมนั้น ซึ่งในทางตรงกันข้ามทุกการแสดงออกย่อมมีความหมายและเรียกร้องให้เราต้องเปิดพื้นที่ในการรับฟังเสมอ คำถามที่เราต้องมีคือ ถ้ามีพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงออกอย่างเพียงพอและพวกเขารู้สึกว่าเสียงของพวกเขาถูกรับฟังอย่างแท้จริงแล้วการแสดงออกของพวกเขาที่เราเห็นในทุกวันนี้จะยังเกิดขึ้นหรือไม่
อีกประเด็นที่สำคัญคือถ้าเมื่อไหร่ที่เรากำลังคิดว่าการแสดงออกหรือความคิดเห็นของเด็กนั้น “เกินเด็ก” เราจำเป็นต้องย้อนถามกลับมาที่ตัวเองเสมอว่าเรากำลังรับรู้ความเป็นเด็กแบบไหน คำว่า “เกิน” ของเรากำลังลดทอน ด้อยค่าความคิดเห็นของเด็กและขีดวงให้เด็กอยู่ในพื้นที่อันจำกัด หรือถูกอนุญาตให้พูดได้แค่ไม่กี่เรื่องหรือไม่ การจับอคติแฝงเร้นและความเชื่อแบบเดิมของเราที่มีต่อเด็กในปัจจุบันจึงมีความสำคัญอย่างมากในการที่เราจะไม่กระทำการอันใดที่เป็นการลดทอนสิทธิเด็กเสียเอง หรือไม่ดำรงตนเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ทำให้เด็กยังคงอยู่ในกรงขังของการถูกกระทำความรุนแรงและถูกกดขี่ที่มิใช่แค่การถูกกระทำโดยมนุษย์เพียงเท่านั้นแต่รวมถึงการถูกกระทำโดยโครงสร้างทางสังคม ระบบกฎหมาย นโยบายอย่างที่เด็กกำลังสื่อสารว่าสิ่งเหล่านี้กำลังริดรอนสิทธิของพวกเขาอยู่
การมีส่วนร่วมของเด็กคือหนทางในการปกป้องเด็ก
ดังนั้นการให้โอกาสเด็กได้แสดงออกและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจชีวิตทางสังคมการเมืองด้วยตนเองนั้นคือหนทางในการปกป้องเด็กที่ดีที่สุดเพราะมันคือช่องทางตรงที่เด็กจะได้ปกป้องตนเองและเรียนรู้เรื่องสิทธิได้ทันทีผ่านประเด็นที่เขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของเขาตั้งแต่ในบ้าน ในโรงเรียน จนไปถึงพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ที่ผู้ใหญ่อาจละเลยและหลงลืมไปเมื่อความเป็นเด็กของเขาสิ้นลง แต่สำหรับเด็กแล้วประสบการณ์การถูกกดทับและการมีอิสรภาพที่จำกัดนั่นคือ “ทุกวัน” ของชีวิตพวกเขา
ถ้าเรายังไม่พยายามรับรู้และพยายามทำความเข้าใจเด็ก ๆ ของเราในวันนี้และยืนยันที่จะกันพวกเขาออกห่างจากการเมืองและการเรียกร้องประเด็นทางสังคมด้วยข้ออ้างของการ “ปกป้อง” การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเด็กจากผู้ใหญ่อย่างเราก็อาจไปได้แค่สุดขอบของการคุ้มครองแต่ผลลัพธ์ก้อนโตที่เกิดขึ้นคือ การคงการกดทับความเป็นเด็กให้เป็นได้แค่มนุษย์ผู้อ่อนแอให้อยู่ในภาวะ “กำลังพัฒนา” และปฏิเสธศักยภาพและความสามารถในการตัดสินใจที่ผู้ใหญ่จำเป็นต้องสนับสนุนและมอบพื้นที่ปลอดภัยให้กับพวกเขา
ในท้ายที่สุดแล้วอาจกลายเป็นว่าผู้ใหญ่อย่างเราโดยเฉพาะคนที่อ้างตนเองว่าเป็นคนที่ทำงานด้านเด็ก ไม่เข้าใจการเคลื่อนไหวที่เกิดจากการกระทำของตัวเด็กเอง เพราะตกหล่มภาพความเป็นเด็กแบบเก่าที่ตัวเด็กเองได้ปฏิเสธและยึดคืนการ “นิยาม” นั้นโดยการเลือกที่จะปกป้องสิทธิและชีวิตของตนเองผ่านการกระทำและแสดงออกด้วยการชุมนุมเรียกร้อง ทั้งในโลกออนไลน์ ในโรงเรียน และบนถนนแล้วอย่างในปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
Bosisio, R. (2008). Right’ and `Not Right’. Childhood (Copenhagen, Denmark), 15(2), 276-294.
Hart, J. (2008). Displaced children’s participation in political violence: Towards greater understanding of mobilisation. Conflict, Security & Development, 8(3), 277-293.
Lansdown, G. (2010). The realisation of children’s participation rights: Critical reflections. In Percy-Smith, B., & Thomas, N. (2010). A handbook of children and young people’s participation : Perspectives from theory and practice, 11-23. London: Routledge.
Moran-Ellis, J., & Suenker, H. (2018). Childhood studies, children’s politics and participation: perspectives for processes of democratization. International Review of Sociology, 28, 277 – 297.
Nishiyama, K. (2020). Between protection and participation: Rethinking children’s rights to participate in protests on streets, online spaces, and schools. Journal of Human Rights. 19(4), 501-517. DOI: 10.1080/14754835.2020.1783523
Santrock, J. (2010). A topical approach to life-span development (5th ed.). New York: McGraw-Hill.
เกี่ยวกับผู้เขียน
พงศธร จันทร์แก้ว
นักสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต
และยังเป็นนักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ด้านเด็กและครอบครัวทุนสหภาพยุโรป (Erasmus Mundus) ที่กำลังจบชีวิต เห้ย จบการศึกษาจ้า
- พงศธร จันทร์แก้ว#molongui-disabled-link