“เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” และ “เด็กคืออนาคตของชาติ” สองประโยคคุ้นเคยที่เราทุกคนคงได้ยินหรือได้รับรู้เป็นอย่างดีผ่านการเติบโตตลอดช่วงเวลาของเราในสังคมไทย ฟังเผิน ๆ คำกล่าวนี้ฟังดูดี และน่าจะเสริมพลังให้ผู้ใหญ่ได้ทุ่มเทสรรพกำลัง และทำให้มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมพวกเขาให้ก้าวมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพและขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต
แต่ดูเหมือนว่าชุดความคิดที่มองเด็กในวันนี้เป็นอนาคตในวันหน้า กำลังถูกท้าทายและถูกตั้งคำถามมากขึ้นทุกทีว่า เป็นแนวคิดที่กดขี่ และละเลยศักยภาพของเด็กที่อยากสร้างอนาคตของพวกเขาตั้งแต่วันนี้ โดยไม่ต้องรอวันหน้าเลยหรือเปล่า
ประจวบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เด็กทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยได้ลุกขึ้นมาเรียกร้อง ให้ความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนหลายประเด็นที่เขาเห็นว่าเป็น “ปัญหา” และต้องการ “เปลี่ยนแปลง” อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้เข้ามาท้าทายการ “รับรู้ความเป็นเด็ก” ว่าเด็กคือใคร ควรมีบทบาทหน้าที่อะไรในสังคม บทความนี้เราจะแบ่งเป็นสองตอน ในตอนแรก ผู้เขียนจะพาท่านผู้อ่านไปทบทวนแนวคิดการ “รับรู้ความเป็นเด็ก” กับความเป็นจริงที่ “เด็กรับรู้ตนเอง” และในตอนที่สองเราจะนำไปสู่ข้อเสนอว่าในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กและมีปณิธานในการพัฒนาเด็กและเยาวชนนั้นเราควรจะมองเด็กอย่างไร
ในวันที่เด็ก “เคลื่อนไหว”
ในปัจจุบันการเคลื่อนไหวทางสังคมของเด็กกำลังได้รับความสนใจและเป็นกระแสไปทั่วโลก หลายท่านอาจเคยได้ยินชื่อ Greta Thunburg เด็กหญิงจากประเทศสวีเดนที่ได้เริ่มประท้วงด้วยการหยุดเรียนทุกวันศุกร์ ตั้งแต่ตอนที่เธออายุ 15 ปี เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำโลกได้เริ่มแก้ไขปัญหาสภาวะแวดล้อมอย่างจริงจังจนนำไปสู่การเดินประท้วงของเด็กและเยาวชนทั่วทุกมุมโลกในการเรียกร้อง “อนาคต” ที่ดีกว่า รวมถึงบทความก่อนหน้านี้ของมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนอเมริกาได้ขับเคลื่อนประเด็นที่หลากหลาย เช่น สิทธิการเข้าถึงผ้าอนามัย ผู้อพยพลี้ภัย และความปลอดภัยในโรงเรียน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: 6 การเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเยาวชนอเมริกาที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนกล้าตระหนักถึงสิทธิและชีวิตที่ดีกว่า)
ในประเทศไทยเองก็มีการเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชนที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมประเด็นการถูกละเมิดและการกดขี่ที่เกิดขึ้นภายในบ้าน โรงเรียน และระบบโครงสร้างทางสังคม เด็กได้ใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ในการบอกเล่า ขอความช่วยเหลือ เรียกร้อง และวิพากษ์วิจารณ์ระบบความคิดแบบชายเป็นใหญ่ วัฒนธรรมความรุนแรงในครอบครัว รวมไปถึงสะท้อนการทำงานของระบบการให้ความช่วยเหลือขององค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำซ้ำพวกเขาให้เข้าสู่วงจรของการถูกทารุณกรรม
ในพื้นที่โรงเรียน เด็กได้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับระเบียบเครื่องแต่งกายและทรงผมที่เขาคิดว่า “ล้าหลัง” ไม่เคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย พวกเขาไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาการสอนในบางวิชา ไม่เห็นด้วยกับวิธีการสอนของครู และพวกเขายังบอกเล่าให้เห็นถึงการถูกละเมิดในพื้นที่โรงเรียนหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการเพิกเฉยต่อการถูกละเมิดของเด็กจากผู้ใหญ่ที่ควรมีหน้าที่รับผิดชอบและสร้างความปลอดภัยให้กับพวกเขาด้วย
แต่กระนั้นประเด็นเคลื่อนไหวของเด็กมิได้จำกัดอยู่แค่ในพื้นที่รั้วบ้านและโรงเรียนเพียงเท่านั้น พวกเขาได้ขยายประเด็นการพูด วิพากษ์วิจารณ์ และเรียกร้องไปจนถึงประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งสำหรับผู้ใหญ่หลายคนอาจจะมองว่าประเด็นที่เด็กวิพากษ์วิจารณ์อยู่ ณ ขณะนี้ช่างน่าหวาดเสียว วิธีการที่ทำช่างดูไม่เหมาะสม หรืออาจเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่คิดว่าเป็นเรื่องที่ “เกินกว่าเด็ก” จะสามารถคิดหรือทำได้
การรับรู้ความเป็นเด็ก
เมื่อพูดถึงแนวคิดที่ทำให้เราตัดสินว่าอะไรเกินกว่าเด็ก หรืออะไรที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดถึง แนวคิดการมองและรับรู้ความเป็นเด็ก (perception of childhood) ว่าในฐานะผู้ใหญ่อย่างเราเห็นและเข้าใจความเป็นเด็กอย่างไร ซึ่งนั่นมีความหมายรวมถึงการมองและเข้าใจ ศักยภาพ ความสามารถ สิ่งที่เด็กควรหรือไม่ควรทำ การอนุญาตและเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของตนเองและสังคมการเมืองเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในสังคมไทย
โดยปกติแล้วสังคมมักรับรู้และเข้าใจว่า “เด็ก” คือบุคคลที่มีสภาวะอ่อนแอ ยังไม่มีศักยภาพและความสามารถอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและความอยู่รอดของเด็ก เด็กจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือและปกป้องคุ้มครองจากผู้ที่เข้มแข็งกว่านั่นก็คือผู้ใหญ่ แนวคิดในลักษณะนี้เป็นแนวคิดที่แพร่หลาย มุ่งสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบให้ผู้ใหญ่มีหน้าที่คอยฟูมฟักและอุ้มชูมนุษย์เด็กอย่างระมัดระวังเพื่อให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพในอนาคต
การคิดในลักษณะนี้มาจากความกังวลจากสถานการณ์ที่เด็กมากมายต้องอยู่ในสภาวะยากจน ถูกบังคับใช้แรงงาน ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการศึกษา หรืออยู่ในสภาวะสงครามและความขัดแย้งที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของพวกเขา กอปรกับสถานการณ์ที่เด็กถูกทำร้ายภายในบ้านที่ทำให้สมุติฐานว่าบ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก และพ่อแม่เป็นเจ้าของชีวิตเด็กนั้นถูกท้าทายจนนำมาสู่ความคิดที่ว่าเด็กเป็น “สมบัติของสาธารณะ” ที่ทุกคนมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองเด็กจากภยันอันตรายทั้งปวง เมื่อเป็นดังนั้นการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยผู้ใหญ่ (adult-led social movements) ก่อนหน้านี้จึงมุ่งสร้างและผลิตซ้ำภาพช่วงวัยเด็กที่ “บริสุทธิ์” เป็นมนุษย์ที่ตกเป็น “เหยื่อ” อันน่า “สงสาร” ของโครงสร้างทางสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหา และอยู่ในสถานะของ “ผู้ไร้ซึ่งพลังอำนาจ” ในการต่อรองและไร้ศักยภาพในการพิทักษ์สิทธิ์ของตนเอง
แต่ในปัจจุบันการผลิตซ้ำภาพดังกล่าวกำลังถูกท้าทายเพิ่มขึ้นทุกที แม้จะมีข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กนั้นมีความอ่อนแอทางกายภาพโดยกำเนิดที่จำเป็นต้องให้ผู้ใหญ่คอยดูแล และเป็นจริงในบางสถานการณ์ที่เด็กมีประสบการณ์น้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่นั่นมิได้หมายความว่าผู้ใหญ่จะนำเอาสภาวะของการที่เด็กควรได้รับการสนับสนุนอย่างพิเศษ (เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่) มาเป็นข้ออ้างในการจำกัดสิทธิในการได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขา มากไปกว่านั้นการผลิตซ้ำที่ล้นเกินของภาพความอ่อนแอของเด็กก็กลับกลายเป็นการ “ตีตรา” และ “สร้างกรอบ” ให้เด็กเป็นได้แค่ผู้ที่ “รอรับความช่วยเหลือ” ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ทำงานด้านเด็กเองก็จะจำกัดตนเองให้เป็นได้แค่ ผู้ช่วยเหลือเด็ก (child savers) ที่มุ่งเน้นปกป้องคุ้มครองเด็กจากสถานการณ์ที่เลวร้ายและทำงานกับผลกระทบปลายสายของการที่เด็กถูกกดขี่และถูกทารุณกรรม ไม่สามารถก้าวสู่การเป็นผู้ปลดปล่อยเด็ก (child liberationists) ให้ได้ใช้ความสามารถและศักยภาพที่เขามีเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเองและสังคมในวงกว้างได้
ศักยภาพเด็กเป็นสิ่งที่ต้องรอบ่ม?
การถูกโต้แย้งที่สำคัญของแนวคิดการมองเด็กเป็น “ผู้ใหญ่ในอนาคต” (human becoming) คือการที่แนวคิดนี้ปฏิเสธความสามารถในการคิดและการตัดสินใจของเด็กในปัจจุบัน และเป็นการยืดช่วงระยะเวลาของการมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตยของเด็กออกไป แนวคิดการมองเด็กเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตนั้นรับรู้สภาวะความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่ที่แยกขาดกัน ซึ่งได้ชี้วัด ตัดขาดความสามารถของเด็กให้ผูกติดอยู่ที่อายุและคาดหวังว่าเมื่อมนุษย์เด็กก้าวเข้าสู่อายุ 18 ปีแล้ว เขาจะเป็นผู้ใหญ่และมีศักยภาพอย่างเต็มตัว เป็นความอัศจรรย์เพียงข้ามวันในการก้าวผ่านจากมนุษย์ที่ไร้ศักยภาพไปสู่การมีศักยภาพผ่านเกณฑ์อายุ แต่แท้ที่จริงแล้วการพัฒนาและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่นั้นเป็น “กระบวนการ” ที่เด็กควรได้มีโอกาสลองผิดลองถูก ได้ลงไปอยู่ในสนามของการตัดสินใจ ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกทางสังคมอย่างเต็มตัวตั้งแต่วันนี้ผ่านการร่วมกิจกรรมทางสังคม และออกสิทธิออกเสียงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ที่ต้องอาศัยการมองเด็กเป็น “มนุษย์ในปัจจุบัน” (human being) ที่มีชีวิต จิตใจ มีทั้งศักยภาพและความต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้เลย ณ วินาทีนี้
เมื่อมีคำถามเกี่ยวกับศักยภาพของเด็ก งานของ John Santrock (2008) ระบุว่าเด็กตั้งแต่อายุ 11 ปี มีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล มีศักยภาพในการเข้าอกเข้าใจความรู้สึกและมุมมองของผู้อื่น และสามารถตระหนักรู้ในประเด็นทางสังคมได้แล้ว งานของ Roberta Bosisio (2008) ระบุว่าเด็กวัย 14 ปีความคิดที่สามารถเชื่อมโยงและเข้าใจปัญหาทางศีลธรรมที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ ในทางเดียวกัน Gerison Lansdown (2010) ระบุว่าแม้แต่เด็กทารกยังมีความสามารถในการแสดงความต้องการแม้ว่าไม่มีศักยภาพในการพูด นั่นหมายความว่าเด็กทุกวัยมีวิธีการแสดงออกที่ต่างกัน พวกเขาแสดงความต้องการและแสดงความเห็นผ่านการร้องไห้ การเล่น การแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง หรือผ่านงานศิลปะ เช่นการวาดภาพ ปั้นดินน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งอาจไม่ใช่รูปแบบและวิธีเดียวกันกับที่ผู้ใหญ่แสดงออก แต่สิ่งเหล่านี้เน้นย้ำว่าผู้ใหญ่จำเป็นต้องรับฟัง ทำความเข้าใจ และแปลความหมายของการสื่อสารและพฤติกรรมของเด็ก มิใช่การนำเอามาตรวัดการแสดงออกแบบผู้ใหญ่มาตัดสินศักยภาพและความสามารถของเด็ก และการจำกัดอายุเด็กในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวพวกเขาเองจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และนี่คือสิ่งเน้นย้ำว่าเด็ก “มีศักยภาพ” และมีความคิดเห็นที่ผู้ใหญ่จำเป็นต้องรับฟัง
อ่าน มองเด็กในฐานะ “มนุษย์” ในวันนี้ ที่มิใช่แค่ “ผู้ใหญ่” ในวันหน้า (ตอนที่ 2)
เอกสารอ้างอิง
Bosisio, R. (2008). Right’ and `Not Right’. Childhood (Copenhagen, Denmark), 15(2), 276-294.
Hart, J. (2008). Displaced children’s participation in political violence: Towards greater understanding of mobilisation. Conflict, Security & Development, 8(3), 277-293.
Lansdown, G. (2010). The realisation of children’s participation rights: Critical reflections. In Percy-Smith, B., & Thomas, N. (2010). A handbook of children and young people’s participation : Perspectives from theory and practice, 11-23. London: Routledge.
Moran-Ellis, J., & Suenker, H. (2018). Childhood studies, children’s politics and participation: perspectives for processes of democratization. International Review of Sociology, 28, 277 – 297.
Nishiyama, K. (2020). Between protection and participation: Rethinking children’s rights to participate in protests on streets, online spaces, and schools. Journal of Human Rights. 19(4), 501-517. DOI: 10.1080/14754835.2020.1783523
Santrock, J. (2010). A topical approach to life-span development (5th ed.). New York: McGraw-Hill.
เกี่ยวกับผู้เขียน
พงศธร จันทร์แก้ว
นักสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต
และยังเป็นนักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ด้านเด็กและครอบครัวทุนสหภาพยุโรป (Erasmus Mundus) ที่กำลังจบชีวิต เห้ย จบการศึกษาจ้า
- พงศธร จันทร์แก้ว#molongui-disabled-link