สภาเด็กและเยาวชนกับการทำงานร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในอดีตที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องทำงานเฉพาะแต่ในส่วนของราชการเพียงอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีส่วนร่วมกับชุมชนในหลายส่วน โดยเฉพาะในปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเด็กและเยาวชนนั่นก็คือ “สภาเด็กและเยาวชน” บทความนี้จะขอเล่าและเสนอมุมมองต่อการทำงานของส่วนท้องถิ่นในฐานะเยาวชนที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ร่วมในฐานะสภาเด็กและเยาวชน แบ่งเป็นหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้  

ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเป็นอย่างไร ?

ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยระดับจังหวัดและระดับอำเภอขึ้นและมีเป้าหมายสำคัญคือ การเชื่อมโยงขยายเครือข่ายลงสู่ระดับท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด ทั้งเด็กในระบบและนอกระบบ ผู้บริหารท้องถิ่นจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนประสานงานให้มีองค์กรด้านเด็กและเยาวชนในชุมชนเกิดขึ้น

ผู้บริหารส่วนท้องถิ่นที่ดีจะต้องมองการไกล มองอนาคตท้องถิ่นผ่านเด็ก สนับสนุนให้เยาวชนรุ่นปัจจุบันให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองท้องถิ่นด้วยการเสาะแสวงหาลูกหลาน เด็กและเยาวชนที่มี “แวว” ภาวะผู้นำตามธรรมชาติ เป็นหัวหน้าหรือแกนนำ เป็นผู้ริเริ่มเพื่อเป็นนักกิจกรรมในอนาคต ศักยภาพของเด็ก ๆ เหล่านี้สามารถพบได้ด้วยการไปพบปะพูดคุยสนทนาอย่างเป็นกันเองกับเด็ก ๆ ในท้องถิ่น ให้โอกาสเด็ก ๆ เสนอความคิดเห็น และผู้บริหารต้องรับฟังอย่างตั้งใจ “เมื่อเด็กพูด ผู้ใหญ่ต้องฟัง” เปิดใจยอมรับความคิดเห็น  ความต้องการ แนวทางของเด็กไปสู่การวางแผนร่วมกัน อภิปรายถกเถียงจบได้บทสรุปของการตัดสินใจที่มาจากทุกฝ่าย และการตระเตรียมงานจนปฏิบัติงานได้จริง ในขั้นนี้ก่อนที่ผู้บริหารท้องถิ่นจะริเริ่มให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นของตนเองควรจะได้มีการศึกษารูปแบบ โครงสร้างการบริหารจัดการสภาเด็กและเยาวชนในระดับต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ หาจุดแข็ง-จุดอ่อน ศึกษาเปรียบเทียบปรับให้เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมบริบทในพื้นที่ของตนเอง

บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมสนับสนุนในการทำงานและการทำกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชนภายใต้การปกครองขององค์กรส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ โดยหัวใจของการดำเนินการจะต้องพยายามสร้างกระบวนการให้เด็กและเยาวชนใช้ความคิดและการแสดงความคิดเห็นร่วมกันและสามารถนำเสนอความคิดจากการร่วมกันพูดคุยของสภาเด็กและเยาวชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้ดำเนินการและให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จากประสบการณ์การทำงานของสภาเด็กและเยาวชน การได้รับการสนับสุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้ช่วยประสานงานกับองค์กรที่มีขนาดใหญ่ขึ้นนั้นง่ายต่อการทำกิจกรรมและได้ความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน 

ภายใต้แนวคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” ในแต่ละปีงบประมาณสภาเด็กและเยาวชนจะได้รับงบประมาณจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน ซึ่งกรมกิจการเด็กและเยาวชนจะมอบเงินงบประมาณให้แก่บ้านพักเด็กและครอบครัวในแต่ละจังหวัด และบ้านพักเด็กและครอบครัวจะจัดสรรงบประมาณให้แก่สภาเด็กและเยาวชนในแต่ละอำเภอ เทศบาลหรือตำบล เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบจะรับเงินงบประมาณมาเพื่อดำเนินการในการจัดโครงการหรือกิจกรรม ในขณะที่ใส่หมวกเจ้าหน้าที่รัฐหรือเอกชนขณะเดียวกันนั้นก็ต้องสวมหมวกของผู้ใหญ่ที่คอยสนับสนุนเด็ก ยอมรับฟังความคิดเห็นของเด็ก ร่วมพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง พูดคุยกันเหมือนคนในครอบครัว ลดความเป็นทางการลง ไม่ใช่นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น แต่เป็นลุง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่แต่เป็นพี่ ๆ ที่เด็กและเยาวชนสามารถไว้วางใจและคอยสนับสนุนพวกเขา ตามความคิดสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กและเยาวชน สามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  

บทบาทของเด็กและเยาวชน

เด็กและเยาวชนแม้จะเป็นตัวหลักของโครงการ แต่การอยู่ร่วมกับผู้อื่นก็เป็นทักษะสำคัญในการใช้ชีวิต เด็ก ๆ ต้องลองรับฟังและยอมรับความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นกัน เพราะว่าในทุก ๆ กิจกรรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสภาเด็กและเยาวชนต่างต้องเสนอความคิดควบคู่กันไปเพื่อเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ให้กิจกรรมผ่านลุล่วงไปด้วยดีและออกมาอย่างมีประสิทธิภาพต่อผู้เข้าร่วมมากที่สุด สิ่งสำคัญอีกประการคือการตั้งเป้าหมายทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินงานจากรุ่นสู่รุ่น มิใช่เพียงการทำแต่ละโครงการแค่ให้เสร็จสิ้นเท่านั้นแต่ควรดำเนินงานให้มีเป้าหมายระยะยาวและได้ใช้ศักยภาพของทุกคนได้เต็มที่ ได้ร่วมสนุก ร่วมลงมือทำและมีผลลัพธ์ที่ออกมาได้ประสิทธิภาพและมีคุณภาพที่ดีที่สุดเพื่อส่งต่อในอนาคตด้วย 

สำหรับในระดับการทำกิจกรรมต่าง ๆ สภาเด็กและเยาวชนมีส่วนในการเสนอรูปแบบของกิจกรรม ทั้งการของบประมาณ การเลือกสถานที่ในการทำกิจกกรม โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นตัวกลางของการประสานงานและคอยให้คำปรึกษา ทำให้การจัดกิจกรรมทำได้ง่ายยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โครงการ “วัยใส ใส่ใจ STROKE” ที่สภาเด็กและเยาวชนลงไปสำรวจชุมชนและพบผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่เป็นคนใกล้ตัวและคนในครอบครัวของตนเอง ทางสภาเด็กและเยาวชน จึงได้เล็งเห็นถึงปัญหาและได้พูดคุยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการทำโครงการมีขั้นตอนตามแนวทางดังนี้  

 “เด็กคิด” สภาเด็กและเยาวชนระดมความคิด แสดงศักยภาพเชิงลึกและสร้างสรรค์ เด็กได้วางแนวคิดและแบบแผนในการทำกิจกรรมเอง โดยมีเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับฟังที่ดี เพื่อสร้างความมั่นใจและดึงศักยภาพในตัวเด็ก จะทำให้สภาเด็กและเยาวชนพร้อมจะเสนอแนวคิดใหม่ที่สร้างสรรค์ในการทำกิจกรรมต่อ ๆ ไป 

“เด็กทำ”  เมื่อได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น และแก้ไขอย่างเร่งด่วนโดยการลงพื้นที่ ซึ่งมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีส่วนร่วมในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย โดยให้สภาเด็กและเยาวชนได้ทำการ วัดความดัน ชั่งน้ำหนัก วัดรอบเอว  มีสมุดบันทึกของผู้ป่วย เพื่อจะทราบถึงพฤติกรรมของผู้ป่วยในแต่ละครั้งที่ได้ลงพื้นที่ 

“เด็กนำ” สภาเด็กและเยาวชนร่วมกันได้คิดค้นนวัตกรรม ที่มีชื่อว่า “อีไต๋เตือนภัย” เพื่อเป็นเครื่องมือที่ใช้เตือนภัยในกรณีฉุกเฉินเมื่อผู้ป่วยมีอาการที่จะต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งอีไต๋เตือนภัยเป็นเครื่องมือที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ เป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้จากท้องถิ่น 

“ผู้ใหญ่หนุน” จากการดำเนินโครงการ สภาเด็กและเยาวชนได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีผู้ใหญ่คอยสนับสนุนกิจกรรมทุก ๆ ด้านของสภาเด็กและเยาวชนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

สุดท้ายนี้ หากเปรียบเด็กและเยาวชนเป็นพืชที่ต้องคอยรดน้ำใส่ปุ๋ยเพื่อให้เจริญงอกงาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็เปรียบเสมือนปุ๋ยและน้ำที่คอยป้อนความรู้ และความมั่นใจให้แก่เด็ก มิใช่เป็นลักษณะที่กำหนดแบบแผนให้กับเด็กและเยาวชนได้ทำตามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสรรหากระบวนการต่าง ๆ ที่จะทำให้เด็กได้คิดและดำเนินการตามความคิดของเด็กเอง ได้ดำเนินงานอย่างมีขั้นตอน ได้รู้จักการแก้ปัญหาในการทำงาน โดยมีเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคอยให้คำปรึกษาเมื่อมีปัญหา มิใช่เพียงคอยแก้ปัญหาให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาศักยภาพในตัวเองและเตรียมพร้อมกับการทำกิจกรรมในอนาคตหลาย ๆ รูปแบบอย่างเต็มที่ เพราะเด็กเปรียบเสมือนรากฐานของประเทศ ถ้าวันนี้พวกเขาได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากผู้ใหญ่อย่างเปิดกว้าง เด็กจะมีความมั่นใจและพร้อมที่จะดึงศักยภาพของตัวเองออกมาเหมือนกับที่พวกเขาได้ระดมความคิดกันอย่างสร้างสรรค์ในโครงการที่ได้ยกตัวอย่างในข้างต้น ในที่สุดประเทศของเราก็จะมีรากฐานที่แข็งแกร่งและพัฒนาอย่างก้าวหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เกี่ยวกับผู้เขียน

94966
กาญจนา สุกกอ
ผลงานชิ้นอื่นๆ

ผู้ที่บ่นปวดตา แต่ไม่เคยล้าเวลาดูซีรี่ส์ ชอบทำกิจกรรม เป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตทั่วโลก มีความฝันอยากเป็นแม่พิมพ์ของชาติในแบบที่ตนเองชื่นชอบ

+18

Categories

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
1 Comment
Inline Feedbacks
View all comments