“สันทนาการหัวใจเบิกบาน” ผู้นำความสนุสนานในบริบทชายแดนใต้

“กิจกรรมเป็นสื่อนำแห่งความสำเร็จ กิจกรรมเป็นเหตุสนุกสนาน กิจกรรมนำใจให้เบิกบาน กิจกรรมสร้างงานและสามัคคี”

ได้ยินเพลงนี้แล้ว สิ่งแรกที่นึกถึงคือกิจกรรมสันทนาการที่มีกระบวนการร้องรำ ทำเพลง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ทุกคนและทุกพื้นที่ต่างยอมรับกระบวนการทำกิจกรรมเช่นนี้ แต่ไม่ใช่ทุกพื้นในจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีศาสนาและวัฒนธรรมหลากหลายแตกต่างจากพื้นที่อื่น 

อย่างที่หลายคนทราบว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของผู้คนในการนับถือศาสนา ส่วนใหญ่ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้นคนในพื้นที่ดังกล่าวจึงดำรงชีวิตในวัฒนธรรมมลายู ที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวไทยภาคใต้ตอนล่างท่ามกลางบริบททางประวัติศาสตร์ความเป็นมาในอดีตที่ยาวนาน ในส่วนกิจกรรมใดๆ เกี่ยวกับดนตรีในศาสนาอิสลามนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่ามีกฎ ข้อห้ามเล่นดนตรีและห้ามร้องเพลง ดังนั้นกิจกรรมสันทนาการประกอบการร้องรำทำเพลงนั้น ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก

“หลักศาสนาอิสลาม กับการทำกิจกรรมสันทนาการมันสวนทาง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถทำได้เลย ขึ้นอยู่กับการวางตัวของเราด้วย”

อาจารย์โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาท่านหนึ่งได้พูดไว้ในที่ประชุมผู้จัดโครงการ เมื่อหลายปีที่แล้ว ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงทุกเวทีในเรื่องหลักการและข้อจำกัดของการสันทนาการกับกลุ่มเยาวชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ หากมองในมุมของหลักการศาสนาอิสลามทุกข้อถกเถียงนั้นถูกต้อง แต่หากมองในความเป็นกลางของพื้นที่ที่ยังมีคนนับถือศาสนาพุทธและอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย ยังถือเป็นการมองเฉพาะศาสนาอิสลามแค่มุมเดียว ตามหลักความเป็นจริง ไม่สามารถบังคับหรือห้ามทั้งหมดได้ เพราะปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม รวมถึงสถานศึกษาส่วนใหญ่จัดกิจกรรมกระบวนการและสันทนาการแทบจะทุกพื้นที่ (ยกเว้นสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาบางแห่งเท่านั้น) และยังมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอีกส่วนหนึ่งที่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมสันทนาการได้ โดยมีข้อจำกัดในการห้ามใช้เครื่องดนตรีประกอบการร้องเพลง 

ด้วยบริบทของศาสนา วัฒนธรรมของถิ่นมลายูชายแดนใต้ทำให้การจัดกิจกรรมในทุกๆ ครั้ง ผู้จัดและวิทยากรต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของรูปแบบกิจกรรม ทั้งนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้เข้าร่วมด้วย ในขณะเดียวกันที่ทุกเวที ทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นยังคงมีข้อถกเถียงเช่นนี้เรื่อยมา    แต่อีกด้านหนึ่งยังมีทีมวิทยากรกระบวนการทียังคงสานต่ออุดมการณ์ในการพัฒนาเด็ก เยาวชนด้วยกิจกรรมกระบวนการและสันทาการ แต่ใช้วิธีการปรับรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสม โดยวิเคราะห์จากบทบาทและทัศนะของผู้จัดงานเป็นหลัก รวมไปถึงสถานที่และผู้เข้าร่วมด้วย นั่นก็คือ “สันทนาการหัวใจเบิกบาน”

ทำความรู้จักกลุ่มสันทนาการหัวใจเบิกบาน

“สันทนาการหัวใจเบิกบาน” คือกลุ่มวิทยากรแกนนำเยาวชนที่รวมตัวกันสร้างสรรค์กิจกรรม  เพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สมาชิกในกลุ่มมีทั้งนักเรียน นักศึกษา และหลากหลายอาชีพ ที่เคย     เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ นับถือทั้งศาสนาพุทธและอิสลาม กิจกรรมของกลุ่มจึงมีความหลากหลาย โดยกิจกรรม  ส่วนใหญ่เน้นกระบวนการสันทนาการควบคู่กับกิจกรรมสาระความรู้ เพราะการกิจกรรมใดก็ตามแต่ หากอยากให้เด็ก เยาวชนเปิดใจและให้ความร่วมมือ ต้องมีกระบวนการละลายพฤติกรรม (สันทนาการ)

ดังนั้น ทุกๆ ครั้ง  ที่มีกระบวนการเรียนรู้ จะต้องมีกระบวนการละลายพฤติกรรมไปพร้อมกันเสมอ โดยกลุ่มสันทนาการฯ ได้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เหมาะสมกับบทบาททางวัฒนธรรมของชายแดนใต้ เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อได้ ปรับเปลี่ยนเนื้อเพลงพร้อมท่าประกอบให้มีความเหมาะสม บางเพลงที่สามารถใช้ “ภาษาบาฮาซา” (ภาษามลายูกลาง ส่วนใหญ่ใช้สื่อสารกันในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้) ได้ก็จะแทรกเข้าไปด้วย เช่นเพลงหากว่ารากำลังสบายจงปรบมือพลัน

Kalau rasa gembira tepuk tangan 👏👏 (2 kali – 2 รอบ)

Kalau rasa gembira beginilah caranya Kalau rasa gembira tepuk tangan 👏👏

และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การปรับกิจกรรมเกมต่าง ๆ ที่ชายหญิงสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ โดยไม่ถูกเนื้อต้องตัว (ผิดหลักศาสนา) นอกจากนี้ยังได้ปรับเปลี่ยนและเพิ่มกิจกรรมค้นหาตัวเองโดยใช้เกมหรือกิจกรรมผ่านกระบวนการสันทนาการอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามการทำความเข้าใจบริบท ความเชื่อ และค่านิยมของคนในพื้นที่ก็สำคัญ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยและยอมรับกิจกรรมเหล่านี้ ได้ มุมหนึ่งมีคนชื่นชม แต่อีกมุมหนึ่งย่อมมีคนวิจารณ์ ติเตียนได้เช่นกัน 

จากผลการตอบรับและการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีของเยาวชนในพื้นที่ สามารถเป็นบทพิสูจน์ที่ทำให้คนในพื้นที่ได้เห็นว่า กระบวนการของกิจกรรมสันทนาการสามารถพัฒนาเด็กเยาวชนในพื้นที่ได้จริง            เมื่อสามารถละลายพฤติกรรม สร้างความไว้ใจและความเป็นกันเองระหว่างวิทยากรกับเยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรม ส่งผลให้เยาวชนพร้อมเปิดใจเรียนรู้ตามกระบวนการมากขึ้น 

อีกหนึ่งวิธีที่ให้ผลลัพธ์ของกระบวนการพัฒนาเด็ก เยาวชนชัดเจนมากขึ้นคือ การคัดเลือกเยาวชนที่ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรม เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มสันทนาการฯ พร้อมถ่ายทอดกระบวนการและเทคนิคการเป็นผู้นำกิจกรรม ภายใต้โครงการสัมมนาแกนนำเยาวชนที่จัดขึ้นทุกปี  โดยงานสัมมนาดังกล่าว มีการออดิชันเยาวชนที่ได้รับคัดเลือก โดยเริ่มตั้งแต่เทคนิคการแนะนำตัวเองให้น่าสนใจและเป็นที่จดจำของผู้ฟัง การเรียบเรียงคำพูดในการเล่าเรื่อง นำเสนอกระบวนการทำงานเป็นทีม รวมไปถึงการถกเถียงกันในกบุ่มอย่างสมเหตุสมผล เพื่อให้รู้จักคิด รู้จักใช้เหตุผล และการเปิดใจกับสมาชิกในกลุ่ม เพื่อแสดงความเห็นและรับฟังผู้อื่น โดยสามารถควบคุมอารมณ์และพัฒนาบุคลิกภาพไปพร้อมกันได้ และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ที่สามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาตัวเอง และสามารถก้าวขึ้นมาเป็นวิทยากรกระบวนการและสันทนาการได้  และนี่ถือเป็นหนึ่งแนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนของกลุ่มสันทนาการฯ ซึ่งผู้เขียนเองเป็น 1 ในวิทยากรแกนนำสันทนาการหัวใจเบิกบาน ที่เคยผ่านการออดิชันมาก่อนเช่นกัน 

หลัก 3H ที่สามารถใช้ได้จริง

กว่าจะเป็นกลุ่มสันทนาการหัวใจเบิกบาน ที่มีสมาชิกวิทยากรแกนนำร่วม 40 กว่าชีวิต สร้างสรรค์กิจกรรมกระบวนการเพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนชายแดนใต้นั้น ไม่ใช่ง่ายๆ แต่ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถของเยาวชน แน่นอนว่าทุกองค์กรล้วนต้องมีกฎเกณฑ์และกระบวนการในการทำงานร่วมกัน ซึ่งกระบวนการทำงานเป็นทีมของกลุ่มสันทนาการฯ ภายใต้หลัก 3H คือ (1) ร่วมคิด (Head) ทุกคนในกลุ่มจะต้องร่วมกันวางแผน ปรึกษาหารือ และกำหนดเป้าหมายของกิจกรรมที่ทำทุกครั้ง ทั้งกิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมองค์ความรู้ รวมถึงรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับสถานที่และกลุ่มเป้าหมาย  (2) ร่วมมือ (Hand) มีการแบ่งงานตามความถนัดของสมาชิกในกลุ่ม เพื่อให้ทุกคนมีบทบาทในทุกกิจกรรม ทั้งวิทยากรหลัก วิทยากรกลุ่ม บทบาทหน้าที่ของฝ่ายต่างๆ และพร้อมที่จะช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการทำกิจกรรมเสมอ (3) ร่วมใจ (Heart) สิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกันคือ การเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างทั้งพฤติกรรมและความคิดของแต่ละคนได้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ใช้ได้จริงและใช้มาตลอดในทุก ๆ กิจกรรมที่ต้องการทำงานร่วมกัน ถือเป็นการพัฒนาตัวเองและพัฒนาเด็กและเยาวชนไปพร้อมกันด้วย 

“ไม่มีใครสามารถพัฒนาตัวเราได้ หากเราไม่พร้อมเปิดใจเรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง” 

นี่คือเหตุผลที่กลุ่มสันทนาการหัวใจเบิกบาน พยายามสร้างแกนนำเยาวชนให้สามารถก้าวเข้ามาเป็นผู้นำกิจกรรมตลอดมา เพราะเด็กและเยาวชนต้องได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ค้นหาตัวเองผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพควบคู่กิจกรรมสันทนาการ เราเชื่อเสมอว่าในโลกความเป็นจริง ไม่จำเป็นต้องสร้างให้เด็ก เยาวชนเก่งทุกอย่าง แค่ทำให้เขาสนุกกับทุกอย่างที่ได้ทำก็พอ

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

+14

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Categories