“อาบน้ำร้อนมาก่อน” สำนวนไทยคุ้นหูที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินเมื่อเกิดบทสนทนาระหว่างคนที่อายุมากกว่าอย่าง “ผู้ใหญ่” กับคนที่อายุน้อยกว่าอย่าง “เด็ก” มักจะถูกใช้เพื่อรวบรัดคำอธิบายและเพิ่มน้ำหนักให้กับคำเตือน คำแนะนำ หรือคำสอนในเรื่องต่างๆ ของผู้ใหญ่ว่า เชื่อฉันสิ ฉันผ่านมาก่อน ฉันมี ประสบการณ์
เพราะอาบน้ำร้อนก่อน จึงรู้ว่าน้ำร้อนเป็นอย่างไร
ความหมายของสำนวน อาบน้ำร้อนมาก่อน ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง “เกิดก่อนจึงมีประสบการณ์มากกว่า” หมายความว่า คนที่เกิดก่อน มีอายุมากกว่าย่อมได้รู้ได้เห็นหรือเข้าใจสิ่งต่างๆ ก่อนคนที่เกิดทีหลัง สำนวนนี้มีที่มาจากในสมัยก่อนเมื่อทารกคลอดออกมาหมอตำแย หรือหมอที่ทำคลอดจะตัดสายสะดือ แล้วนำตัวเด็กไปล้างน้ำอุ่นเพื่อทำความสะอาดตัวเด็ก เด็กทุกคนจะได้อาบน้ำร้อน คนที่อาบน้ำร้อนก่อนจึงหมายถึงคนที่เกิดก่อน
หากลองพิจารณาความหมายของสำนวนแล้ว คุณค่าที่แท้จริงของ คนที่อาบน้ำร้อนก่อน อาจจะไม่ได้อยู่ที่อายุ แต่อยู่ที่ความรู้จาก “ประสบการณ์” ในการอาบน้ำร้อน ได้รับรู้ได้สัมผัสว่าน้ำร้อนเป็นอย่างไร เมื่อรู้แล้วเข้าใจแล้ว สามารถอธิบายได้คำพูดจึงมีน้ำหนัก เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ เมื่อเราได้ลองลงมือทำหรือได้เผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ก็จะเกิดประสบการณ์และเกิดการเรียนรู้ ในมุมมองด้านการเรียนรู้และการพัฒนาเราเรียกสิ่งนี้ว่า “การเรียนรู้จากประสบการณ์”
เรียนรู้อย่างไรจากการอาบน้ำร้อน
การเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning) คือ กระบวนการที่เปลี่ยนแปลงประสบการณ์ให้กลายเป็นความรู้ เป็นปรากฎการณ์ที่อธิบายด้วย ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ หรือ Experiential Learning Theory (ELT) โดย David A. Kolb นักทฤษฎีการศึกษา ที่พูดถึงวงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Cycle) ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ 4 ขั้น ประกอบด้วย
- การมีประสบการณ์ – Experiencing : การได้รับประสบการณ์ การเรียนรู้ข้อมูลผ่านการมีประสบการณ์และการลงมือทำ การนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสานการณ์ใหม่ หรือตีความประสบการณ์เดิมในรูปแบบใหม่
- การสะท้อนทบทวน – Reflecting : การสังเกตและทบทวนประสบการณ์ พิจารณาไตร่ตรองความคิด อารมณ์ ความรู้สึกต่อประสบการณ์ที่ได้รับผ่านมุมมองส่วนตัว
- การคิดวิเคราะห์ – Thinking : การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ออกมาเป็นความรู้ใหม่หรือปรับปรับเปลี่ยนแนวคิดเดิมที่มีอยู่
- การทำซ้ำ – Acting : การทดลองทำ เอาความรู้ใหม่ที่ได้ไปลองใช้กับบริบทรอบตัวของตัวเองเพื่อดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหรือมีสิ่งไหนที่ต้องปรับ
ถึงตรงนี้หลายคนอาจยังสงสัยหรือมึนงงกับทฤษฎีที่กล่าวถึง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพจากการ “อาบน้ำร้อน”
- ขั้นที่ 1 เราได้อาบน้ำร้อน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ประสบการณ์”
- ขั้นที่ 2 เรา “สังเกตและทบทวน” ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ปริมาณของน้ำร้อน สัมผัสของไอร้อนจากน้ำ ความรู้สึกเมื่อน้ำโดนผิวกาย
- ขั้นที่ 3 เรา “คิดและวิเคราะห์” ถึงสิ่งที่เราทำในการอาบน้ำร้อน เราก็จะได้ข้อสรุปของวิธีการอาบน้ำร้อนของเรา
- ขั้นที่ 4 เรานำวิธีการที่ได้เรียนรู้ไปเตรียมตัว “ทำซ้ำ” สำหรับการอาบน้ำร้อนครั้งต่อไป ก็จะกลับไปที่ขั้นแรก เกิดเป็นวงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์ต่อไปเรื่อย ๆ
กระบวนการนี้หลายครั้งเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเราได้พบเจอกับประสบการณ์ต่างๆ แต่ละบุคคลจะมีความถนัดในการเรียนรู้ในแต่ละขั้นแตกต่างไปตามพื้นฐานของตัวบุคคล หลักสำคัญของกระบวนการนี้คือการได้รับประสบการณ์ ทบทวน และตกผลึกความคิดเพื่อให้เกิดความรู้ใหม่หรือต่อยอดความรู้เดิม
ไม่อาบ ไม่รู้
การอาบน้ำร้อนจึงเปรียบเสมือนการเรียนรู้จากประสบการณ์ และด้วยการอาบน้ำร้อนมาก่อนนี้ทำให้ผู้ใหญ่มีประสบการณ์และมีความรู้มากกว่า สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างจากการกระทำในเรื่องนั้น ผลที่ตามมาจะดีหรือไม่ดี จึงมักตัดสินและให้คำแนะนำผ่านแว่นที่เกิดจากประสบการณ์ของตัวเอง ดังนั้นหากผู้ใหญ่มองว่าน้ำร้อนเป็นสิ่งที่อันตราย เพราะตัวเองเคยถูกลวกมาก่อน เมื่อประสบการณ์แปรสภาพเป็นความเชื่อ กลายเป็นเหตุให้ผู้ใหญ่พยายามห้ามปราม หรือบอกให้เด็กหลีกเลี่ยงและไม่ให้สัมผัสมัน
แต่จากความเป็นห่วงและปรารถนาดีของผู้ใหญ่บางครั้งก็อาจกลายเป็นการปิดกั้นโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก เด็กจะรู้ได้อย่างไรว่าการอาบน้ำร้อนเป็นอย่างไร เพราะการเรียนรู้จากเพียงคำบอกเล่า อาจไม่ชัดเจนเท่าประสบการณ์ที่เด็กได้อาบน้ำร้อนเอง หากเด็กไม่เคยได้สัมผัสการอาบน้ำร้อน ขาดสิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์การเรียนรู้ก็คงจะไม่สมบูรณ์
อีกสิ่งที่เราจะมองข้ามไม่ได้คือการรับรู้ประสบการณ์ของคนเราย่อมไม่เหมือนกัน ทั้งจากปัจจัยภายในของแต่ละบุคคลและปัจจัยแวดล้อมของเหตุการณ์นั้น น้ำร้อนของผู้ใหญ่อาจเป็นเพียงน้ำปกติสำหรับเด็ก หากผู้ใหญ่อยากสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก การปิดกั้นอาจไม่ใช่วิธีการ แต่การเอาประสบการณ์มาแนะนำเป็นแนวทางแบบไม่ตีกรอบความคิด และพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ คอยเป็นหน่วยพยาบาลหากเด็กถูกน้ำร้อนลวกมา จะช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ให้กับเด็กและส่งเสริมให้เด็กกล้าที่จะเรียนรู้และเติบโตผ่านประสบการณ์
อ้างอิง
https://dictionary.orst.go.th/
https://www.blogsdit.com/2019/10/toostupid.html
https://storylog.co/story/5f4961c421ca9014709e38a6
https://thematter.co/social/thai-proverbs/40405
https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/jan_mar_11/pdf/aw24.pdf
https://thepotential.org/knowledge/experiential-learning-infographic/
https://www.lifeeducation.in.th
https://www.verywellmind.com/experiential-learning-2795154
https://www.wgu.edu/blog/experiential-learning-theory2006.html#close
https://experientiallearninginstitute.org/resources/what-is-experiential-learning/
https://www.simplypsychology.org/learning-kolb.html
เกี่ยวกับผู้เขียน
เทียนชัย ภัทรชนน
อดีตกระบวนกร และเครื่องจักรตั้งคำถามที่สนใจงานด้านพัฒนาสังคม
-
This author does not have any more posts.