“การเลี้ยงเด็กหนึ่งคนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน”
คำกล่าวนี้ แม้ว่าโดยความหมายโดยนัยแล้วผู้กล่าวน่าจะหมายถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กย่อมมีความสำคัญกับการเติบโตขึ้นของเด็กคนคนหนึ่ง แต่หากแปลตรงตัวการพัฒนาเด็กที่ใช้คนทั้งหมู่บ้านก็มีให้เห็นจริง ๆ นะเออ! ว่าไป! และการเลี้ยงดูที่ผู้เขียนพูดถึงนั่นก็คือ…การพัฒนาเด็กและเยาวชนแบบเป็นรูปธรรม โดยการเกิดขึ้นและการดำเนินงานของ “สภาเด็กและเยาวชน” ในท้องถิ่นต่าง ๆ นั่นเอง ในวันนี้ผู้เขียนจะแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับ “สภาเด็กและเยาวชนตำบลท่าคันโท” ภายใต้การดูแลของเทศบาลตำบลท่าคันโท อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
สภาเด็กและเยาวชน เทศบาลตำบลท่าคันโท เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560) ที่ได้กำหนดแนวทางดูแลเยาวชนโดยท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผู้เขียนได้พูดคุยกับ “พงษ์พันธ์” หรือ พงษ์พันธ์ แก้วศิลา อดีตสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนรุ่นแรก ของตำบลท่าคันโท ซึ่งปัจจุบันอยู่ในคณะทำงาน สมาชิกสภาเทศบาลท่าคันโท ควบด้วยตำแหน่งที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชน ตำบลท่าคันโท พงษ์พันธ์เล่าให้ฟังว่าตนได้รับการชักชวนจาก “พี่ตุ่ม” หรือ พัฒนชัย เชื้อสุภา ปัจจุบันเป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชน เทศบาลตำบลท่าคันโท ให้มาร่วมทำงานในสภาเด็กระดับตำบล บทความนี้จะมาเล่าถึงการทำงานและแนวคิดการพัฒนาเยาวชน ที่น่าสนใจของสภาเด็กเยาวชนและเทศบาลตำบลท่าคันโทจากคนทำงานโดยตรงกันเลย
เทศบาลตำบลท่าคันโท ได้เข้าร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) ในโครงการพัฒนาตำบลต้นแบบส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน ทางมูลนิธิได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เครื่องมือและแนวทางการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการทำงานกับเด็กเยาวชน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในตำบล ผ่านโครงการต่าง ๆ และกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยฝีมือเด็ก ๆ เอง โดยมีทางเทศบาลตำบลคอยช่วยเหลือเรื่องงบประมาณ พื้นที่ทำงานและการให้คำปรึกษาเมื่อเด็ก ๆ ต้องการ โครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของเด็ก ๆ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งใหม่หรือไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สิ่งที่สำคัญคือการได้สำรวจทำความรู้จักท้องถิ่นของตนเอง และความต้องการของคนในท้องถิ่น หรือของเด็กกลุ่มเด็กเยาวชนเอง เช่นโครงการที่ผู้เขียนจะกล่าวต่อไป เกิดขึ้นจากการที่เด็ก ๆ ได้ช่วยกันสำรวจในท้องถิ่นของตัวเองว่ามีอะไรที่น่าสนใจสามารถนำมาต่อยอดได้ หรือมีเหตุการณ์น่าสนใจอะไรที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบหรือความคิดตั้งต้นในการทำโครงการสนับสนุนหรือแก้ปัญหาของท้องถิ่น
ฟุตบอล: พื้นที่ของเด็กสาวในท้องถิ่น
หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจจากหลากหลายโครงการของสภาเด็กฯ เทศบาลตำบลท่าคันโท ก็คือ “ทีมฟุตบอลหญิงตำบลท่าคันโท” โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นจากสมาชิกคนหนึ่งในสภาเด็กฯ เสนอขึ้นมาว่าที่โรงเรียนนั้นมีชมรมฟุตบอลหญิงและมีนักเรียนผู้สนใจเข้าร่วมมากพอสมควร มองว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ที่นอกจากจะได้สนับสนุนให้เยาวชนมีร่างกายที่แข็งแรงจากออกกำลังกายตามความชอบ ในอนาคตอาจได้ไปแข่งขันในระดับภาค หรือระดับประเทศ แล้วยังได้สนับสนุนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามการเป็นเพียงชมรมในโรงเรียน ยังขาดการสนับสนุนและการดำเนินการอีกหลายอย่าง จึงได้เสนอแก่ผู้ใหญ่ในเทศบาล เมื่อผู้ใหญ่ในเทศบาลก็เห็นชอบ สร้างทีมฟุตบอลหญิงประจำตำบล มีการขอทุนสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ จัดหาโค้ชมาฝึกสอน ช่วยเหลือเด็ก ๆ ในการจัดการสถานที่ ติดต่อเข้าร่วมการแข่งขันต่าง ๆ และอำนวยความสะดวกจัดหารถและที่พักเมื่อเด็ก ๆ ต้องเดินทางไปแข่งขันในต่างจังหวัด
สมาชิกในทีมฟุตบอลหญิงของท่าคันโทส่วนใหญ่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีการแบ่งฝึกฝนตามรุ่นอายุ มีการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ใช้พื้นที่ของเทศบาลท่าคันโท จนเมื่อ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาทีมเยาวชนหญิงรุ่นอายุ 15-18 ปีของตำบลท่าคันโท ได้ชนะเลิศระดับภาคและไปแข่งในระดับประเทศเลยทีเดียว ทั้งพงษ์พันธ์และพี่ตุ่มเล่าให้ผู้เขียนฟังด้วยความภูมิใจ
นวัตกรรม “เปลี่ยนเสียงกระซิบเป็นเสียงตะโกน”
อีกหนึ่งนวัตกรรมล่าสุด ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นก็คือ “เปลี่ยนเสียงกระซิบเป็นตะโกน” นวัตกรรมนี้เกิดจากทางสภาเด็กฯ ที่มีความต้องการที่จะให้เด็กและเยาวชน รวมถึงคนในชุมชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น สร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ที่ทางเทศบาลหรือสภาเด็กฯ นำเสนอ แต่จะให้เขียนแสดงความคิดเห็นหย่อนลงกล่องแบบธรรมดา ๆ ก็ธรรมดาไป…เราไม่ทำ! เพราะเด็ก ๆ ได้สังเกตเพิ่มเติมอีกว่าปัจจุบันคนในพื้นที่นิยมดื่มน้ำจากขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่มมากขึ้น จึงคิดวิธีการสุดสร้างสรรค์ และเป็นรูปธรรม นั่นคือการจัดจุดทิ้งขวดน้ำดื่มพลาสติกที่แบ่งเป็นช่องที่เขียนแปะข้อความในประเด็นต่าง ๆ ให้คนทิ้งขยะสามารถหย่อนขวดทิ้งในข้อความที่ตัวเองเห็นด้วย จากนั้นทางทีมงานก็จะรวบรวมความเห็นเหล่านั้นมาทำงานในขั้นต่อไป นอกจากนั้นไม่พอนะ น้อง ๆ ยังคิดจะนำขวดน้ำที่ทุกคนใช้แทนเสียงโหวตของตัวเองมาต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในอนาคตอีกด้วย เรียกว่าได้ประโยชน์ทุกเม็ด เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และทำงานอย่างเป็นระบบและรับผิดชอบกับทุก ๆ ขั้นตอนเลย
ท่าคันโทในอนาคต
จุดเด่นของสภาเด็กและเยาวชนของ เทศบาลตำบลท่าคันโท คือการส่งต่อกันแบบรุ่นต่อรุ่น โดยในกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ทางท้องถิ่นและสภาเด็กฯ จัดขึ้นในแต่ละครั้งจะมีการชักชวนเด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่สนใจมาร่วมกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ โดยมีวิธีการคือพยายามจัดกิจกรรมถี่ ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ติดตามและสามารถเข้ามาร่วมในทุก ๆ สัปดาห์อย่างต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรมหลากหลายทั้งที่เป็นลักษณะของงานประจำปี อย่างประเพณีของท้องถิ่น หรือการประชุมรวมถึงดำเนินงาน โครงการต่อเนื่องต่าง ๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก เช่น โครงการจิตอาสาดูแลใส่ใจผู้สูงอายุ เป็นต้น และเมื่อสภาเด็กฯ รุ่นปัจจุบันใกล้จะหมดวาระ ก็จะชักชวนกลุ่มเด็กเยาวชนที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมที่ผ่านมา ที่เคยเห็นหน้าค่าตากันอยู่แล้ว มาทำงานกับสภาเด็กฯ ในปีต่อ ๆ ไปนั่นเอง
ระดับการมีส่วนร่วมของเด็ก ๆ เหล่านั้นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละโครงการ หากเป็นโครงการประจำปีที่เป็นประเพณีของทางท้องถิ่น กลุ่มสภาเด็กฯ จะได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมย่อย ๆ ในงาน เช่น การออกบูธของสภาเด็กฯ โดยทางสภาเด็กฯ จะร่วมกันประชุมและนำเสนอคัดเลือกกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง และนำมาเสนอต่อผู้บริหารระดับท้องถิ่นเพื่ออนุมัติ หากเป็นกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่มสภาเด็กฯ ทางที่ปรึกษาอย่างพี่ตุ่มและพงษ์พันธ์ก็จะปล่อยให้เด็ก ๆ ได้ดำเนินการด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบโดยทั้งสองจะเพียงคอยเข้าสังเกตการณ์และช่วยเหลือเมื่อเด็ก ๆ ต้องการ ความคาดหวังของพี่ตุ่มต่อสภาเด็กฯ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าสำเร็จไปแล้ว ก็มีเพียงการให้เด็ก ๆ ได้ร่วมทำงานกับชุมชน เมื่อเขาได้ร่วมกิจกรรมในชุมชน จะทำให้เขาได้รู้จักชุมชนของตัวเองมากขึ้น ได้เจอกับผู้คนหลากหลาย ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใส่ใจดูแลผู้อื่น ที่ต่างมีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันไป พี่ตุ่มในฐานะเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลสภาเด็กและเยาวชนแห่งนี้เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เยาวชนเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดี
อนาคตของสภาเด็กฯ ที่ท่าคันโทก็คงจะน่าติดตามไม่น้อยเมื่อมีอดีตเด็กเยาวชนในสภาเด็กฯ เช่น
พงษ์พันธ์ที่สนใจที่จะต่อยอดทำงานด้านการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง สำหรับเขาเองการได้ทำงานลงพื้นที่ตั้งแต่เป็นสภาเด็กฯ ทำให้เขาเห็นปัญหาต่าง ๆ ของท้องถิ่นตนเองและอยากจะทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จนถึงลงสมัครเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) จนในที่สุดก็ได้รับเลือกตั้ง และปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวาระปัจจุบันด้วย และแน่นอนเขาพ่วงตำแหน่งที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลท่าคันโทอีกด้วย พงษ์พันธ์มีความตั้งใจจะสนับสนุนการทำงานของสภาเด็กฯ อย่างเต็มที่
จากการพูดคุยกับทั้งสองคนทำให้รู้ว่าจริง ๆ แล้วสภาเด็กและเยาวชน ไม่ได้มีเพียงหน้าที่ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่สำคัญสำหรับผู้ใหญ่ที่สนใจงานด้านพัฒนาเด็กอีกด้วย สภาเด็กและเยาวชนสามารถเป็นพื้นที่ของผู้ใหญ่ที่จะเรียนรู้ที่จะปรับแนวคิดของตนเองให้เข้ากับความคิดและความต้องการของเด็กและเยาวชนซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นภาพที่ชัดเจนของอนาคตที่กำลังมาถึงนั่นเอง
บทความนี้ได้รับการสนัลบสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เกี่ยวกับผู้เขียน
สิริกร ทองมาตร
อดีตนักเรียนมานุษยวิทยา เป็นมิตรกับเด็ก เยาวชน และคนทั่วไป
- สิริกร ทองมาตร#molongui-disabled-link20 August 2021