“ระยะทางกว่า 80 กิโลเมตร จากบ้านเข้าไปในเมืองไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานของพวกเราเลยครับ”
ประโยคบอกเล่าแสดงถึงความมุ่งมั่นที่เปี่ยมล้นผ่านแววตาและน้ำเสียงที่หนักแน่นจาก สรยุทธ บุญสุข หรือ น้องแบงค์ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลคำม่วง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
น้องแบงค์ยืนหยัดในการทำงานสภาเด็กฯ มาแล้วกว่า 5 ปี เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่าระยะทางไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงาน เพราะพวกเขาเน้นทำกิจกรรมในพื้นที่ของตัวเองเป็นหลัก รวมกลุ่มกันเอง ทำงานที่บ้านของตนเอง หลักการทำงานคือดึงจุดด้อยขึ้นมาทำให้เป็นจุดเด่น เช่น ของเหลือใช้ในชุมชนอย่าง “ผ้ากกหูก”
จากผ้ากกหูกสู่การรวมกลุ่มเด็กคำม่วง
พื้นที่อำเภอคำม่วงมีจุดเด่นคือเป็นแหล่งหัตถกรรมทอผ้าที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย ผ้าไหมแพรวา ถือเป็นอัตลักษณ์ของคำม่วง ที่เอ่ยถึงใคร ๆ ก็รู้จัก ผ้าแพรวาหมายถึงผ้าห่มเฉียงไหล่ คล้ายสไบที่หญิงชาวผู้ไทนิยมใส่กันในโอกาสพิเศษ โดยเฉพาะงานบุญในชุมชน นิยมทอกันด้วยโฮงหูก หรือ โฮงกี่ อย่างผ้าหลายๆ ชนิดในอีสาน ที่ในอดีตการทอผ้าเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในครัวเรือนอาจจะทอไว้สำหรับการตัดซิ่น ตัดเสื้อ เป็นต้น
“ผ้ากกหูกมันก็คือเศษผ้า เป็นของที่ต้องทิ้งอยู่แล้ว แต่เด็ก ๆ สามารถนำมาทำประโยชน์ต่อได้”
แก้วใจ บุตรวัง ผู้ช่วยนักสันทนาการ กองการศึกษา เทศบาลตำบลคำม่วง หรือ “แม่อ้อม” ที่เด็ก ๆ เรียกกันติดปาก เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของโครงการ “หนูน้อยแพรวา” เริ่มต้นจากการนำสิ่งของเหลือใช้ของชุมชนมาดัดแปลงเป็นสินค้า เช่น ยางรัดผม พวงกุญแจ ต่างหู ฯลฯ สวยงาม ทันสมัย และยังถือเป็นการนำศิลปวัฒนธรรมประจำถิ่นมาปรับใช้กับงานสมัยใหม่ ในอีกด้านก็ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นสาวผู้ไทคำม่วงไว้อีกด้วย
แรกเริ่มโครงการนี้เกิดขึ้นจากชมรมเด็กนักเรียนมัธยมของโรงเรียนคำม่วงก่อน โดยการนำของคุณครูผู้ดูแล จากนั้นจึงแพร่กระจายกิจกรรมดี ๆ ออกมาสู่สภาเด็กฯ ในพื้นที่ เนื่องด้วยสมาชิกของสภาเด็กฯ ส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กโรงเรียนดังกล่าว จึงได้คิดโครงการนี้ขึ้นมาจัดกิจกรรมนอกโรงเรียนเพื่อสร้างรายได้และนำรายได้ส่วนนั้นไปต่อยอดทำกิจกรรมในพื้นที่ชุมชนของตนเองต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนและร่วมสานต่อกิจกรรมจากเทศบาลตำบลคำม่วง
ที่ผ่านมาสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลคำม่วงได้จัดกิจกรรมร่วมกับ SIY มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (Social Innovation for creative society) จัดให้มีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน ภายใต้ชื่อกิจกรรม Dek Khammuang Festival (เทศกาลเด็กคำม่วง) โดยกิจกรรมจัดขึ้นทุกวันพุธ และวันเสาร์ ในตลาดนัดและถนนคนเดิน น้องแบงค์กล่าวถึงแนวคิดตั้งต้นของการเกิดขึ้นของกิจกรรมนี้ว่า
“เราได้สำรวจปัญหาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่แล้วพบว่าปัญหาหลักคือการขาดพื้นที่การรวมกลุ่ม ทำให้เด็กสนใจอย่างอื่น เราจึงคิดว่าควรมีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับให้เด็กได้แสดงความสามรถ มีเวทีนี้เด็กสามารถแสดงความเห็นได้ว่าเด็กต้องการอะไรจากผู้ใหญ่ในพื้นที่ ตรงไหนควรปรับปรุงแก้ไขได้บ้าง แล้วทางผู้ใหญ่ก็รับฟังนำไปปรับปรุงแก้ปัญหาตามที่เด็กพูดมา”
ภายในงานมีบรรยากาศคึกคักของกลุ่มเด็กและเยาวชน เล่นดนตรี ร้อง เล่น เต้น โชว์ รวมถึงออกร้านขายของนำเงินมาสมทบทำกิจกรรม ทางสภาเด็กฯ ได้มีการเสนอนวัตกรรมทางสังคมคือกิจกรรมหนูน้อยแพรวาเข้าไปร่วมด้วย โดยฝึกให้สภาเด็กฯ ทำผลิตภัณฑ์ได้ และขายของ ซึ่งพวกเขาร่วมกันออกแบบ วาดแผนภูมินวัตกรรมทางสังคมของพวกเขาไว้แล้วว่าจะทำเป็นกล่องบริจาค 3 กล่อง คือ 1) เงินบริจาคสำหรับคนยากไร้ 2) เพื่อทุนการศึกษา และ 3) เก็บไว้สนับสนุนการทำกิจกรรมของสภาเด็กฯ ต่อไปในอนาคต
เด็กนำอย่างไรผู้ใหญ่จึงจะหนุน
“อยากสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก สิ่งนี้เป็นประสบการณ์ที่ไม่ต้องลงทุนเอง เพราะทางผู้ใหญ่สนับสนุน”
พี่อ้อม บอกเล่าเรื่องราวการทำงานที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนด้านงานเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลคำม่วงกว่าสิบปี ภายใต้การสนับสนุนของผู้บริหารเทศบาลมาโดยตลอด เทศบาลตำบลคำม่วงถือได้ว่าเป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ทั้งบรรจุงานด้านเด็กและเยาวชนให้อยู่ในแผนเทศบัญญัติ และมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานไปตามนโยบายของรัฐในแต่ละยุคสมัย ยังกล่าวได้อีกว่าการทำงานส่วนนี้มีความเป็นรูปธรรมอยู่แล้วก่อนการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบล/เทศบาล ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 แต่หลังจากมีกฎหมายรับรองก็ยิ่งเสริมพลังคนทำงานให้มีบทบาทและหน้าที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะปัญหาใหญ่ก่อนหน้านี้คือเด็กในพื้นที่ไม่รู้จักถึงบทบาทงานสภาเด็กฯ
“learning by doing” การเรียนรู้นอกห้องเป็นสิ่งสำคัญที่พี่อ้อมมองเห็นจากกิจกรรมที่หลากหลายในยุคสมัยนี้ ซึ่งแตกต่างจากชีวิตวัยเรียนของตนเอง จากมุมคนทำงานอย่างพี่อ้อมมองว่าการได้ออกไปสัมผัสกับประสบการณ์นอกห้องเรียนเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น ถึงแม้ว่าการไปโรงเรียนจะได้ทักษะทางวิชาการ แต่การออกมาทำกิจกรรมข้างนอกทำให้เราได้พบสิ่งใหม่ ๆ เจอเพื่อนต่างโรงเรียน พบความรู้ใหม่ ๆ ผสมผสานกันทำให้เด็กมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น เพื่อจะค้นพบสิ่งที่ตนเองชอบและถนัดได้เร็วขึ้น
ระยะทางไกลไม่ได้ทำให้ทีมงานของคำม่วงแผ่วลงได้เลย จากที่พูดคุยกับพี่อ้อมก็ได้เห็นแล้วว่าทางเทศบาลนั้นให้การสนับสนุนงานด้านเด็กและเยาวชนเป็นอย่างดี เมื่อยามมีงานกิจกรรม หรือ ประชุม อบรมต่าง ๆ ในเมือง หรือต่างจังหวัดได้มีการจัดหารถรับส่งและมีเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กอยู่ตลอด ปัจจุบันมีโครงการคลินิกฟุตบอล ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนหันมาออกกำลังกาย เล่นกีฬา สนับสนุนให้มีการแข่งขันและเด็กคำม่วงก็ทำออกมาได้ดีสามารถคว้ารางวัลกลับสู่ชุมชนหลายรายการ ในอนาคตทางผู้บริหารและคนทำงานในเทศบาลยังตั้งเป้าหมายถึงการพัฒนาเด็กและเยาวชนต่อไปในด้านอื่น ๆ
“เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พี่อ้อมเองมองว่าผู้ใหญ่ควรจะเปิดพื้นที่ให้เด็กทำกิจกรรมที่หลากหลายตามความถนัดของตนเอง ซึ่งทางเทศบาลเองก็ตระหนักเรื่องนี้เป็นอย่างดี คำม่วงจึงมีกิจกรรมด้านเด็กที่หลากหลายทั้งด้านดนตรี กีฬา งานศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ได้ถูกจัดให้อยู่ในแผนงานของกองการศึกษาของเทศบาล ในอนาคตก็พยายามจะดึงเด็กในชุมชนเข้ามาร่วมกิจกรรมและส่งเสริมกันต่อไป
“ทำงานกับเด็กเราต้องมีใจ ทุ่มเท เสียสละเวลา บางทีรวมถึงทรัพยากรส่วนตัวด้วย เพราะเราคิดว่าการทำงานด้านนี้ไม่ได้เปล่าประโยชน์ ยังไงก็มีประโยชน์สำหรับเด็กในท้องที่..”
พี่อ้อม
ในส่วนมุมมองน้องแบงค์ที่เป็นสภาเด็กฯ เองเห็นว่าการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนทำให้เขามีเพื่อนมากขึ้น ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมถึงมีโอกาสทดลอง เรียนรู้ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองในด้านต่าง ๆ เขาคาดการณ์ไว้ว่าต่อไปพวกเขาเองจะมีเครือข่ายที่มากขึ้นแน่นอน เพราะเด็กในพื้นที่เริ่มรู้บทบาทและเข้าถึงกิจกรรมของสภาเด็กฯ ที่พวกเขาตั้งใจทำมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
ถ้าอย่างนั้นการทำงานของน้อง ๆ สภาเด็กฯ เทศบาลตำบลคำม่วงก็เป็นไปตามแนวทางของสภาเด็กฯ ทั่วประเทศเลยใช่ไหม ที่ว่า “เด็กนำผู้ใหญ่หนุน” ผู้เขียนถามน้องแบงค์ก่อนการสนทนาของพวกเราจะจบลง น้องแบงค์รีบตอบกลับมาว่า
“ต้องบอกว่าเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เทศบาลเองก็ให้โอกาส และพวกเราก็ร่วมแสดงความเห็น ร่วมกันพิจารณา และร่วมกันปฏิบัติงาน”
อ้างอิง
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. สารานุกรมผ้าและเครื่องถักทอ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. 2550.
สัมภาษณ์
แก้วใจ บุตรวัง ผู้ช่วยนักสันทนาการ กองการศึกษา เทศบาลตำบลคำม่วง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
สรยุทธ บุญสุข รองประธานสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลคำม่วง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เกี่ยวกับผู้เขียน
จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์
นักเรียนประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา ที่ทำเพจ field – feel
-
This author does not have any more posts.