ไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ถูกจุดโดยคนรุ่นใหม่ : เมื่อการรวมตัวเพื่อเรียกร้องและตั้งคำถามเป็นเรื่องปกติของเยาวชนไทย

“เด็กและเยาวชน ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง”

เชื่อว่านี่คงเป็นประโยคที่ผู้อ่านเคยเห็นผ่านตาหรือไม่ก็เคยพบเจอประโยคคล้ายคลึงแบบนี้อยู่บ้าง ในยุคสมัยหนึ่งเด็กและเยาวชนอาจมองว่าเรื่องการเมืองหรือการชุมนุมเพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ เป็นเรื่องไกลตัว แต่ปัจจุบันการที่เราเห็นข่าวเกี่ยวกับเด็กนักเรียน นักศึกษา และเยาวชนอีกมาก ออกมารวมตัวชุมนุมเรียกร้อง ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์กับระบบต่าง ๆ หรือสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เป็นเรื่องปกติมากไม่ต่างจากข่าวอื่น ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ย้อนกลับไปในปี 2563-2564 เป็นปีที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความตื่นตัวสูง ช่วงต้นปีเริ่มมีการชุมนุมแบบ Flash Mob กล่าวคือ การชุมนุมที่มีลักษณะจัดขึ้นโดยใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ก่อนที่จะแยกย้าย การชุมนุมช่วงต้นปีสามารถบอกได้ว่าเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นเพราะกลุ่มนักศึกษาเป็นแกนนำก็ว่าได้ เพราะการชุมนุมจะกระจายอยู่ตามพื้นที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ผู้เข้าร่วมในการชุมนุมมีหลายช่วงวัย ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา วัยทำงาน จนถึงผู้สูงอายุ ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่านักเรียน นักศึกษาได้เข้ามามีบทบาทอีกครั้งในสถานการณ์ทางการเมือง แต่การชุมนุมเหล่านั้นต้องหยุดชะงักไปเพราะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง

อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น กลุ่มนักศึกษาได้กลับมาชุมนุมอีกครั้งช่วงกลางปี โดยเนื้อหาของการออกมาชุมนุมของกลุ่มนักเรียนและเยาวชนช่วงปีที่แล้ว ประกอบไปด้วยเรื่องระบบการศึกษา เรื่องการแต่งกายไปโรงเรียน เรื่อง LGBTQ+ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ซึ่งนอกจากจะมีเนื้อหาที่หลากหลายแล้ว การชุมนุมยังเต็มไปด้วยลีลาและสีสันที่หลากหลาย บ้างก็ดุดัน บ้างก็โกรธเกรี้ยว บ้างก็สนุกสนาน และยังนำไปปรับใช้กับสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter และ Instagram เพื่อสร้างการรับรู้ให้คนในสังคมได้กว้างยิ่งขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คือการที่นักเรียนและนักศึกษาในทุกภูมิภาคต่างออกมาตั้งคำถามและเรียกร้องในเรื่องที่ไม่เป็นธรรม หรือเรื่องที่คุกคามสิทธิเสรีภาพ เรียกได้ว่าไฟแห่งการเรียกร้องในกลุ่มเยาวชนได้ถูกจุดขึ้นและถูกส่งต่อเพราะการชุมนุมโดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษาก็คงไม่เกินจริงนัก และเมื่อมองย้อนกลับไป ก็จะเห็นว่ามีกลุ่มเยาวชนที่น่าสนใจในการเรื่องของการชุมนุมเรียกร้องอยู่มากมาย แต่จะขอหยิบ 2 กลุ่มที่โดดเด่นมาพูดถึงในที่นี้ เพื่อให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ

นักเรียนเลว

กลุ่มนักเรียนที่รวมตัวขึ้นเพื่อเรียกร้องประเด็นเกี่ยวกับเรื่องในโรงเรียน เรื่องการศึกษา ตีแผ่ปัญหาในโรงเรียนและระบบการศึกษา พวกเขาได้อธิบายตัวเองว่า พวกเขานั้นเกิดจากผลผลิตที่ผิดพลาดของระบบการศึกษาที่แสนดี เพราะพวกเขาเชื่อว่าระบบการศึกษาไทยมีความคาดหวังให้เด็กนักเรียนต้องเป็นคนที่เชื่อฟัง ทำตามกรอบวัฒนธรรมอันดีงาม ไม่ควรตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม

การเกิดขึ้นของนักเรียนเลวได้ท้าทายรูปแบบวัฒนธรรมเดิม ๆ ที่เคยดำเนินมา พวกเขาได้ทำกิจกรรมหลายรูปแบบเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนักเรียนทั่วประเทศ ซึ่งมาจากแนวคิดที่เชื่อว่า “ไม่ได้มีแค่พวกเขาที่ถูกกดขี่จากระบบการศึกษา”

กิจกรรมของนักเรียนเลวมีหลากหลายทั้งการชุมนุม การจัดกิจกรรม และการใช้โลกออนไลน์สื่อสารประเด็นต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อันที่เราได้เห็นและมีพลังมากนั่นคือการไปรวมตัวที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ โดยมีที่มาจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในเวลานั้น ต้องการพูดคุยกับกลุ่มนักเรียน จึงเกิดเป็นการจัดเวทีขึ้นมาเพื่อนักเรียนจะได้พูดคุยกับรัฐมนตรีอย่างตรงไปตรงมาและชี้แจงปัญหาเรื่องการศึกษาอย่างชัดเจน ต่อมาคือแคมเปญ #เลิกบังคับและจับตัด แคมเปญที่สะท้อนถึงปัญหาเรื่องทรงผมนักเรียนที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแทบทุกโรงเรียนในไทย การจัดแคมเปญดังกล่าว ทำให้การความเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องสิทธิเหนือทรงผมที่ควรเป็นของเด็กนักเรียนเองมีอย่างต่อเนื่องขึ้นในหลายโรงเรียน ซึ่งการจัดกิจกรรมการเรียกร้องของนักเรียนเลวไม่ได้มีแค่ที่กล่าวไปข้างต้น แต่มีให้เราติดตามอยู่เสมอทั้งโลกออฟไลน์และโลกออนไลน์

นอกจากการจัดกิจกรรมโดยนักเรียนเลว ในการชุมนุมในครั้งต่างๆไม่ว่าจะเป็นต่างจังหวัดหรือในกรุงเทพมหานคร สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพบเห็นด้วยตัวเอง คือการเห็นนักเรียนมาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยที่พวกเขานั้นมาเพื่อแสดงจุดยืนที่มั่นคง พร้อมกับความเชื่อที่ว่าเสียงของนักเรียนต้องดังและมีความหมายมากกว่าที่เป็นอยู่ (https://www.facebook.com/Badstudent.th/)

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือน สิงหาคม 2563 เป็นครั้งที่จุดประเด็นเรื่องข้อเรียกร้องเพิ่มขึ้น เพราะหลังจากการชุมนุมในวันนั้นก็เกิดการชุมนุมใหญ่ตามมาหลายครั้ง ซึ่งในครั้งหลัง ๆ แม้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจะไม่ได้เป็นแกนนำในการจัด แต่ทุกการชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้นได้รับพลังต่อมาจากการชุมนุมจากครั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แน่นอน ซึ่งจำนวนผู้เข้าร่วมก็มีจำนวนมากและหลากหลายช่วงวัย จากการชุมนุมหลังจากนั้นเราน่าจะเห็นสิ่งหนึ่งร่วมกันคือ บทบาทของนักศึกษาโดดเด่นขึ้นในเรื่องความเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้เห็นว่าคนรุ่นพวกเขาไม่ได้เชื่อในวัฒนธรรมหรือค่านิยมของการเป็นนักศึกษาแบบเดิม ๆ แต่พวกเขาเชื่อในการเปลี่ยนแปลง เชื่อในหลักประชาธิปไตยและต่อต้านเรื่องอำนาจนิยม และหลังจากการชุมนุมในวันนั้นทำให้นักเรียนนักศึกษาจำนวนมากหันมาใส่ใจกับเรื่องการเมืองมากขึ้น

แน่นอนว่าอาจจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ในวันนั้นเป็นปัจจัยหลัก แต่เชื่อว่ามีส่วนไม่มากก็น้อยที่จุดไฟในใจทุกคน ทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าในพลังของตนเอง เห็นคุณค่าในเสียงของตนเอง ไม่ว่าเราจะเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา เราก็มีส่วนร่วมในการเรียกร้องเรื่องต่างๆได้ เพราะทุกเรื่องในสังคม เรามีสิทธิที่จะเลือก เรามีสิทธิที่จะตั้งคำถาม เราต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตได้ 

จากที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนเลวหรือแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมถึงกลุ่มเยาวชนอื่น ๆ ทั่วประเทศ ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มเรียน นักศึกษาและเยาวชนไม่ได้สนใจแค่เรื่องในรั้วมหาวิทยาลัยหรือเรื่องการศึกษาเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่พวกเขายังสนใจและผลักดันประเด็นทางการเมือง การเรียกร้องให้หยุดคุกคามประชาชนที่เห็นต่างทางการเมืองและออกมาแสดงสิทธิเสรีภาพ  การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การสนับสนุนเรื่องความหลากหลายทางเพศ  การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล  หากจะพูดง่าย ๆ ก็คงสามารถพูดได้ว่า พวกเขากำลังผลักดันในทุกเรื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในประเทศให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตามแม้กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่กำลังถาโถมเข้ามา ก็ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญการตั้งคำถามจากคนในฝั่งอนุรักษ์นิยมที่เราอาจจะเคยเห็นผ่านตากันบ้าง เช่น ทำไมต้องเปลี่ยนแปลง ? ตอนคนรุ่นเค้าก็ผ่านมาได้ทำไมถึงทนไม่ได้ ? ทำไมต้องหยาบคาย ? 

ในมุมมองผู้เขียน คำถามเหล่านี้ เป็นคำถามที่เข้าใจได้ เพราะแต่ละคนโตมากับสังคมในยุคสมัยที่แตกต่างกัน เมื่อเวลาผ่านไป สังคมวัฒนธรรม สิ่งอื่น ๆ ที่เคยเป็นย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิด มักจะเกิดการปะทะกันทางความคิด ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นเรื่องปกติที่ทุกสังคมจะต้องเจอ

คำถามสำคัญคือ เมื่อเกิดการปะทะกันทางความคิด เราจะทำอย่างไร ? แน่นอนว่าทุกคนไม่จำเป็นต้องมีความคิดเหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญคือจะพูดคุยและหาทางออกร่วมกันอย่างไรให้เหมาะสมกับทุกคน ใส่ใจกับทุกเสียงที่เรียกร้องและไม่ลดทอนเสียงหรือคุณค่าของเสียงนั้น 

มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนไม่ได้บอกให้นักเรียนหรือเยาวชนทุกคนต้องลุกขึ้นมาประท้วงอย่างเกรี้ยวกราดแต่อย่างใด แต่การที่ทุกคนเจอเรื่องที่ควรค่ากับการตั้งคำถาม ควรค่าแก่การเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับทุกคน นั่นก็น่าจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะทำไม่น้อยเลยทีเดียวไม่ใช่หรือ เพื่อในวันหนึ่ง เราจะได้เห็นสังคมที่พัฒนากว่าที่เป็น เพราะเราคงไม่อยากให้คนรุ่นหลังเราอยู่ในสังคมที่ย่ำอยู่กับที่อย่างแน่นอน ฉะนั้นการตั้งคำถามเพื่อการพัฒนาต่อไปย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“ไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงถูกจุด และถูกส่งต่อไปในกลุ่มคนรุ่นใหม่แล้ว และไฟนี้จะถูกจุดใหม่ไปเรื่อย ๆ อย่าหาทางดับไฟนั้นเลย แต่มาร่วมกันนำไฟนั้นมาพัฒนาและร่วมกันสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงคงจะดีกว่า”

อ้างอิง

https://adaymagazine.com/bad-student/

https://workpointtoday.com/bad-students-haircutting-2020/

https://voicetv.co.th/read/nW0ygLK3U

https://www.bbc.com/thai/thailand-53727597

https://thestandard.co/badstudent-political-rally-21nov/

https://workpointtoday.com/student-22/

เกี่ยวกับผู้เขียน

papangkorn
ปภังกร บำรุงเมือง
ผลงานชิ้นอื่นๆ

คนทำงานวีดีโอ(แต่พึ่งหัดเขียนบทความจ้า) ที่สนใจเรื่องสังคม วัฒนธรรม การเมือง อาหาร วิถีชีวิต และขับเคลื่อนชีวิตด้วยพลังวัยรุ่น ฮะฮ่า!

Categories

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments