ท้องถิ่นอยู่ตรงไหนในการพัฒนาเด็กและเยาวชน

การเปลี่ยนแปลงของประชากรโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้น เป็นปรากฎการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดจากปัจจัยหลักเพียง 2 ประการคือการเกิดและการตาย ซึ่งแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงของประชากรในภูมิภาคย่อย ๆ เช่น ทวีปหรือประเทศที่มีปัจจัยหลักนอกจากการเกิดและการตายแล้ว ยังมีการย้ายถิ่นของประชากรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สำหรับประเทศไทยมีขนาดของประชากรคิดเป็นประมาณ 1% ของประชากรโลก และมีการเพิ่มขึ้นของประชากรประมาณ 1 ใน 140 ส่วน ของการเพิ่มประชากรโลก หรืออาจกล่าวได้ว่าทุก 1 นาที โลกจะมีเด็กเกิดใหม่ 140 คน ในขณะที่ประเทศไทยทุก 1 นาที จะมีประชากรไทยเพิ่มขึ้น 1 คน ซึ่ง 1 คนที่เพิ่มขึ้นนี้อาจจะเป็นเด็กเกิดใหม่หรืออาจจะเป็นการเพิ่มโดยการย้ายถิ่นเข้ามา 

จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่าอัตราการเกิดในระดับต่ำเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 23 ประเทศที่งานวิจัยระบุว่าในอีก 80 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะลดลงจาก 71 ล้านคน เหลือเพียง 35 ล้านคน สอดคล้องกับข้อมูลทางสถิติย้อนหลัง 3 ปีของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2563 จำนวนการเกิดของเด็กไทยลดต่ำกว่า 600,000 คนเป็นครั้งแรก และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจำนวนการเกิดที่ปรากฎยังพบว่ามีแนวโน้มเป็นเด็กเกิดจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมเป็นจำนวนมากอีกด้วย 

จาดอัตราการเกิดน้อยด้อยคุณภาพและการสูญเสียเด็กและเยาวชนไประหว่างทางจากปัจจัยรอบตัว ทั้งระบบการศึกษาที่ไม่ได้เอื้อให้เด็กทุกคนเข้าถึงหรือได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบและถนัด ปัจจัยจากครอบครัวบางครอบครัวที่ไม่ได้มีความเข้าใจในความเป็นปัจเจกของเด็กและเยาวชน สภาพสังคมที่ตีกรอบความคิดและกักขังตัวตนของเด็กและเยาวชนให้เดินไปตามเส้นทางที่สังคมบอกว่าดี หากเดินออกนอกเส้นทางหรือคิดต่างอาจะไม่ถูกยอมรับจากสังคม สภาพเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำอันนำมาซึ่งการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอันเป็นปัจจัยที่จะให้เด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย กลายเป็นประเด็นท้าทายสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยในช่วงเวลานี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน การพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่หน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทยทุกภาคส่วน ต้องเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีศักยภาพในการนำพาประเทศไปข้างด้าน หน่วยงานที่ใกล้ชิดเด็กและเยาวชนมากที่สุดคงหนีไม่พ้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญและต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

ในปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยที่มีศักยภาพในการส่งเสริมด้านการศึกษาและการพัฒนาอื่น ๆ ให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะมีท้องถิ่นในหลายพื้นที่จะมีทรัพยากรและแนวทางการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังมีเด็กและเยาวชนในอีกหลายท้องถิ่นจำนวนไม่น้อย ที่ประสบกับปัญหาไม่ได้รับการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น อันเนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่าง ดังนี้

1. ผู้บริหารท้องถิ่นไม่ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชน เนื่องจากเด็กและเยาวชนไม่ใช่ฐานเสียงทางการเมือง 

2. การพัฒนาเด็กและเยาวชนไม่อาจมองเห็นผลได้ในระยะสั้นเพียงแค่เวลา 1-2 ปี แต่เป็นการพัฒนาต่อเนื่องที่ใช้ระยะเวลานาน ทำให้ผลสัมฤทธิ์ที่มองเห็นไม่อาจเป็นรูปธรรมได้ในระยะเวลาสั้น เฉกเช่นการสร้างถนน สร้างสะพาน ที่เป็นรูปธรรมประจักษ์ต่อสายตประชาชน

3. การขาดความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ท้องถิ่น

4. การขาดแคลนทรัพยากรบุคคลในการปฏิบัติงาน เนื่องจากภาระงานของท้องถิ่นเองที่มีค่อนข้างมาก ทำให้บุคลากรของท้องถิ่น ปฏิบัติงานอื่น ๆเป็นผลให้ภารกิจด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับท้าย ๆ 

5. การขาดแคลนงบประมาณในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เนื่องจากงบประมาณที่รัฐบาลกลางจัดสรรให้ท้องถิ่น ไม่ได้มีจำนวนมากเพียงพอที่จะใช้ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมไปถึงเป็นการจัดสรรที่ให้อำนาจท้องถิ่นในการบริหารจัดการงบประมาณด้วยตนเอง จึงย้อนกลับไปที่ข้อหนึ่งว่า หากผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญการจัดสรรงบประมาณสำหรับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นก็แทบจะไม่เกิดกิจกรรมใด ๆ 

6. กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับพื้นที่ กฎหมายได้ระบุอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชนในลักษณะที่ค่อนข้างกว้างและไม่มีระเบียบรองรับ จึงทำให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งมีคุณภาพและมาตรฐานในการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ไม่ทัดเทียมกัน 

ในมุมมองของผู้เขียน ข้อท้าทายต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ท้องถิ่นหลายแห่งกำลังเผชิญ ในขั้นแรกสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ (1) การทำให้บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน รวมไปถึงผู้บริหารท้องถิ่นเห็นถึงความสำคัญและมีความเข้าใจในการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง (2) ในประเด็นเชิงโครงสร้าง การปรับแก้ระเบียบหรือกฎหมายให้เอื้อต่อการทำงาน มีความยืดหยุ่น และอำนวยความสะดวกมากกว่าการตีกรอบ และ (3) สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐบาลกลางเองต้องให้ความสำคัญ และกล้าลงทุนกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนมากกว่าที่เป็นอยู่ หากต้องการผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ในอนาคตการลงทุนกับเด็กและเยาวชนในวันนี้คือสิ่งที่ควรทำอย่างเร่งด่วน            

ข้อเสนอแนะต่อการการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานที่ผู้เขียนนำเสนออาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ ที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาร่วมกันแบบองค์รวม โดยการใช้ชุมชนเป็นฐานการพัฒนาโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ผนวกรวมภูมิปัญญาจากปูชนียบุคคลในชุมชนกับแนวคิดของคนรุ่นใหม่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่มีความต้องการต่างกัน แต่สามารถเติมเต็มซึ่งกันและกันได้ เกิดเป็นการพัฒนาคนทุกช่วงวัย สิ่งที่จะได้รับก็คือภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่สูญหาย ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ลดการไหลของประชากรเข้าสู่เมืองใหญ่ เพราะมีอาชีพสามารถอยู่ในชุมชนเพื่อพัฒนาอาชีพและพัฒนาชุมชนได้ ผู้สูงอายุมีผู้ดูแล ลดจำนวนครอบครัวข้ามรุ่น

“เมื่อเด็กและเยาวชนถูกพัฒนาอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย ได้เติบโตในสภาพแวดล้อมรอบข้างที่ดี มีการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนอย่างอิสระ สิ่งเหล่านี้จะช่วยคืนเด็กและเยาวชนที่อาจจะหล่อนหายไประหว่างทางให้กลับมาเติบโตและงดงามบนเส้นทางที่ควรจะเป็น”

 แนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับพื้นที่ จึงจำเป็นต้องได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วที่สุดเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาที่รุดหน้าไปทุกวินาทีในวันนี้เราทุกคนต้องช่วยกันพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อคืนทรัพยากรบุคคลให้ประเทศได้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ 

อ้างอิง

THE STANDARD TEAM.(2564).สธ. ชวนคนไทยปั๊มลูก จัดมีตติ้งคนโสด หลังปี 2563 อัตราการเกิดของเด็กลดต่ำกว่า 6 แสนคนเป็นครั้งแรก.สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2564.จาก https://thestandard.co

Older Population and Health System: A profile of Thailand.(2020).สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2564. จาก https://www.who.int

Population Reference Bureau 2002

บทความนี้ดีรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

+2

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Categories