6 การเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเยาวชนอเมริกาที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนกล้าตระหนักถึงสิทธิและชีวิตที่ดีกว่า

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องการไอเดียเจ๋งๆ รวมถึงวิธีการ หรือกลเม็ดเด็ดๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้ฝ่ายบริหาร รัฐบาล หน่วยงานในสังคม และประชาชนทุกคนได้ยินเสียง สนใจและตระหนักมองเห็นถึงความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในแต่ละด้านร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้นคือการขับเคลื่อนผลักดันอะไรสักอย่างเพื่อให้สังคมพัฒนาดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อาศัยแค่ความมุมานะอยากแก้ไขปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่เรายังต้องการทั้งนวัตกรรมใหม่ๆ และความหลงใหลในการทำงานประเด็นการเมืองมาเป็นตัวช่วย โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่นักเรียนวัยมัธยมฯ และนักศึกษาที่เชื่อมต่อตัวเองเข้ากับโลกทวิตเตอร์เพื่อใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียเป็นกระบอกเสียงสื่อสารความต้องการในฐานะพลเมือง และสร้างสรรค์โลกใบใหม่ด้วยมือของตัวเอง แม้อาจดูเป็นการก่อกวนในสายตาผู้ใหญ่บางคน แต่นี่คือการต่อสู้และการแสดงพลังให้โลกได้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้วยการส่งเสียงและออกมาใช้สิทธิของตัวเองอย่างเต็มที่ เพราะการเคลื่อนไหวทางสังคมมีหลายรูปแบบและหลายประเด็น ทั้งบนพื้นที่ออนไลน์และพื้นที่จริง ซึ่งเราได้รวบรวมลิสต์โปรเจกต์ที่น่าสนใจของคนรุ่นใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งโลกเสรีประชาธิปไตยมาให้ทุกคนได้ทำความรู้จักร่วมกัน ด้วยหวังว่าพลังของเยาชนสำคัญต่อการเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ ไม่ใช่แค่วัยรุ่นอเมริกาที่ทำได้ แต่วัยรุ่นไทยก็ทำได้เหมือนกัน

1. ประจำเดือนต้องไม่ใช่เรื่องเล่นๆ 

การมีประจำเดือนของผู้หญิงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นกลไกหนึ่งของร่างกายที่เกิดขึ้นในช่วงวัยเจริญพันธ์ุ หลายๆ คนคงรู้ดีว่าผ้าอนามัยเป็นสิ่งของจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในวันมามาก เพราะช่วยให้ชีวิตของผู้หญิงดำเนินต่อไปได้อย่างสะดวกสบาย ทว่าภาษีผ้าอนามัยเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เพราะแน่นอนว่าราคาที่สูงย่อมส่งผลต่อการเข้าถึงผ้าอนามัยที่ยากขึ้น

Nadya Okamoto คือนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เติบโตในเมืองพอร์ตแลนด์ เธออยู่ในกลุ่มองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ชื่อว่า OR. ซึ่งต้องการส่งเสริมผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงจัดทำ ‘Menstrual Movement’ เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงความสะอาดและความปลอดภัย โดยเธอได้เรียกร้องและต่อสู้เพื่อให้เกิดการขจัดภาษีผ้าอนามัย เพราะในแต่ละรัฐของอเมริกา ผ้าอนามัยถูกมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ทั้งนี้องค์กรที่นาเดียผลักดันยังจัดหาให้มีผ้าอนามัยแบบปกติ และผ้าอนามัยแบบสอดแจกจ่ายฟรีๆ ในโรงเรียน กลุ่ม OR. ได้จัดงานครั้งแรกในช่วงวันชาติเมื่อเดือนตุลาคม 2019 โดยมีการชุมนุม 60 ครั้งใน 50 รัฐ และในอีก 4 ประเทศ ซึ่งผู้คนใช้การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการมีเลือดออกทางจมูกเสมือนการต่อสู้กับความยากลำบากของช่วงเวลามีประจำเดือนที่แสนจะทำให้ชีวิตยุ่งยาก เวลาผู้หญิงมีเมนส์ เราอาจมองไม่เห็นความทรมาณภายนอก  ดังนั้นการมีเลือดออกบนใบหน้า น่าจะทำให้คนอื่นๆ ฉุกคิดว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือให้ผู้คนที่กำลังเดือดร้อนได้หายดี 

กุญแจแห่งความสำเร็จหนึ่งคือการสร้างแฮชแท็กที่น่าดึงดูดในโลกออนไลน์อย่าง #freetheperiod 

ความสำเร็จของ Menstrual Movement ส่วนหนึ่งเกิดจากวงสนทนาในแชทของกลุ่มที่ระดมไอเดียอย่างแข็งขัน เป็นอีกหนึ่งพลังของคนวัยมันที่อยากช่วยให้ผ้าอนามัยเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย เพราะนั่นหมายถึงชีวิตที่ดีและการมีโอกาสทัดเทียมกัน  

เว็บไซต์ https://period.org

อีเมล Policy@period.org

2. สิทธิของผู้อพยพทั่วโลกต้องไม่แพ้ใคร

โปรเจกต์ United We Dream (UWD) ริเริ่มโดยศูนย์กฎหมายคนเข้าเมืองแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (The National Immigration Law Center) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนสิทธิของผู้อพยพและสนับสนุนการคุ้มครองผู้อพยพทุกคนอย่างถาวร โดยไม่คำนึงถึงสถานะการย้ายถิ่นฐานโดยมีพันธมิตรที่นำโดยเยาวชนทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ผลักดันให้มีโครงการ Deferred Action for Childhood Arrivals (DACA) เพื่อป้องกันการเนรเทศเยาวชนที่ถูกส่งตัวไปยังสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้กลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลาย ดำเนินการเพื่อคนทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานะของเขา ไม่ว่าจะเป็นการย้ายถิ่นฐานมาจากสถานที่ใด รวมถึงการไม่เลือกเพศ เชื้อชาติ และรสนิยมทางเพศด้วย 

ในปี 2008 เมื่อรัฐบาลอเมริกันร่วมกันจัดตั้งวุฒิสภาเพื่อย้ายร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการบรรเทาทุกข์และการศึกษาสำหรับผู้เยาว์ต่างด้าว (ปัจจุบันเรียกว่า DREAM Act) ออกจากการปฏิรูปการย้ายถิ่นฐานให้ไปอยู่ภายใต้งบประมาณของกระทรวงกลาโหมแทน ทำให้ทีมงาน UWD พยายามอย่างมากที่จะปกป้องและป้องกันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ความน่าสนใจในการทำงานขับเคลื่อนของ UWD คือการเลือกใช้การเล่าเรื่องทางการต่อสู้ของผู้คนมานำเสนอในโลกออนไลน์เพื่อให้ผู้คนสนใจประเด็นของพวกเขาทั้งในแง่ที่มาที่ไปและปัญหา เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน และไม่ควรมีใครถูกไล่ออกไปจากสหรัฐอเมริกา เพียงเพราะเขาคือคนอพยพที่แค่ต้องการหนีร้อนมาพึ่งเย็น เห็นวัยรุ่นช่วยกันโอบอุ้มพี่น้องชาติพันธ์ุอื่นแบบนี้ ยิ่งทำให้สังคมโลกมีความหวังที่สดใสในทางข้างหน้า

เว็บไซต์ https://unitedwedream.org

3. โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย 

สหรัฐอเมริกาขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีเหตุการณ์การกราดยิงในโรงเรียนมากที่สุดในโลก Aalayah Eastmond คือหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุกราดยิงอันลือลั่นที่โรงเรียนมัธยม Marjory Stoneman Douglas ใน Parkland รัฐฟลอริดา อีสต์มอนด์ไม่เพียงรอดชีวิตจาก Parkland แต่ยังสูญเสียลุงไปเพราะความรุนแรง เธอและนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ตัดสินใจเข้าร่วมกับ Brady Campaign ในสังกัด the National Gun Violence Organization ซึ่งมี Team ENOUGH เป็นขบวนการเยาวชนที่เป็นหน่วยแยกย่อยออกมาผลักดันการทำงานโดยเฉพาะ เพราะทุกคนตระหนักว่าการใช้ปืนสร้างความรุนแรงมีการมุ่งเน้นไปที่การยิงหมู่ (Mass Shooting) มากขึ้น จึงมุ่งเน้นการทำงานขับเคลื่อนไปที่ความรุนแรงของปืน และประเด็นที่เกี่ยวข้องรวมกับความรุนแรงในครอบครัว การฆ่าตัวตาย ชุมชนชายขอบ และการยิงหมู่  โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นคนผิวดำจำนวนมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างพื้นที่และสะพานให้เยาวชนทุกกลุ่มได้มีบทสนทนาร่วมกัน เพื่อความใกล้ชิด ช่วยเหลือ และเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน

Team ENOUGH ไม่เพียงใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแบ่งปันแนวคิดการปกป้องและป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับนักเคลื่อนไหวเยาวชนคนอื่นๆ เข้าด้วยกัน ความเท่ของทีมนี้ ไม่ได้มีแค่การขับเคลื่อนเรื่องความรุนแรงของปืน แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ความโหดร้ายของตำรวจ และประเด็นอื่น ๆ ที่กำลังท้าทายสังคมด้วย กรณีของอีสต์มอนด์แสดงให้ทุกคนเห็นแล้วว่าหลังความอลหม่านจบลง จะมีผลผลิตของเหตุการณ์เลวร้ายที่ลุกขึ้นมาช่วยให้ทุกคนปกป้องและป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์ที่ไม่ดีขึ้นอีกด้วยสติปัญญาและความสามัคคี

เว็บไซต์ https://www.teamenough.org

4. ทุกคนต้องได้รับความยุติธรรม

หลังจาก Laquan McDonald ชายผิวดำอายุ 17 ปี และเหยื่อหลายๆ คนถูกตำรวจชิคาโกยิง Ja’Mal Green วัย 25 นักเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมทางเชื้อชาติและผู้สมัครนายกเทศมนตรีชิคาโกประจำปี 2018 ก็ลุกขึ้นมาทวงความยุติธรรมคืน

ไม่เพียงไร้ความเป็นธรรมจากผู้ควบคุมกฎหมาย เพราะเหยื่ออย่างแมคโดนัลด์พยายามเดินหนีตำรวจแต่ก็ถูกยิง รวมไปถึงกรณีที่นักเคลื่อนไหวอย่างกรีนเองก็เกือบถูกยิง ทำให้กรีนและกลุ่มคนต่างๆ ได้ออกมาสนับสนุนให้ตำรวจต้องรับผิดชอบ และตระหนักถึงสิทธิทางการเมือง ด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และการทำให้กัญชาถูกต้องตามกฎหมาย แต่พวกเขายังส่งเสริมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการริดรอนสิทธิของชาวชิคาโกที่ยากจนในการมีสิทธิเสียงทางสังคมมากขึ้น

ปัจจุบันกรีนและคนอื่นๆ กำลังมุ่งเน้นให้มีการเลือกตั้งผู้พิพากษา และผลักดันผู้สมัครหลายคนตั้งแต่ทนายความของรัฐไปจนถึงผู้พิพากษาในศาล เพราะเขาเชื่อว่านักกฎหมายเป็นตัวแทนของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และต่อสู้เพื่อแก้ไขสิ่งผิดให้ถูกต้อง ไปจนถึงหน้าที่ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กรีนไม่เพียงให้ความรู้คน แต่ในทวิตเตอร์ของเขายังนำเสนอเรื่องความบันเทิงเพื่อลดความตึงเครียดของคนอีกด้วย

ทวิตเตอร์ @JaymalGreen

5. เยาวชนต้องใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเอง

Future Coalition  ถือกำเนิดจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวจากองค์กรต่างๆ จนเป็นเครือข่ายระดับชาติขององค์กรที่นำเยาวชน และผู้จัดงานเยาวชนมารวมกันอย่างหลากหลาย ทั้งคนที่ทำงานเกี่ยวกับวิกฤตสภาพอากาศ การป้องกันความรุนแรงจากปืน ความเท่าเทียมทางเพศและอื่น ๆ จนเรียกได้ว่าครอบคลุมคนในกลุ่มการเมืองมากกว่า 50 กลุ่ม โดยที่ในปี 2020 Future Coalition มุ่งเน้นการระดมคนหนุ่มสาวทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาให้ไปลงคะแนนเสียงและมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองให้มากที่สุด เพื่อให้คนเจเนอเรชั่นใหม่มีส่วนต่อการกำหนดทิศทางอนาคตประเทศ โดยผลักดันให้มีการลงทะเบียนเยาวชนให้มากที่สุดเพื่อลงคะแนนเสียงในปี 2020 จากนั้นตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาออกมาใช้สิทธิเสียงของตัวเองในวันเลือกตั้ง ยิ่งไปกว่านั้นคนที่เป็นสมาชิกของกลุ่มยังขับเคลื่อนประเด็นที่หลากหลายเพื่อให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น เท่าที่คนหลายๆ คนวาดฝันไว้ว่าอยากให้โลกดีขึ้นได้

เว็บไซต์  https://futurecoalition.org

6. การเคลื่อนไหวทางสังคมต้องมีแพลตฟอร์มไว้ดูความคืบหน้า

Turnout คือแอพพลิเคชันของนักเคลื่อนไหววัยรุ่นที่ริเริ่มโดย Zev Shapiro นักเรียนมัธยมปลายจาก Cambridge ชาปิโรและทีมงานของเขาสร้างแอพฯ นี้ขึ้นมาเพื่ออัพเดตการเคลื่อนไหวและผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหมู่คนหนุ่มสาว เขากล่าวว่าเป้าหมายของ Turnout จะเป็นเหมือนแอพฯ Strava ที่นักปั่นจักรยานและนักวิ่งใช้เพื่อแชร์เส้นทางและการมีส่วนร่วมกันในเรื่องฟิตเนส แต่สำหรับแอพฯ ของเด็กหนุ่มมีไว้เพื่อเป็นหมุดหมายบทเรียนหน้าที่พลเมือง เป็นพื้นที่ฟีดกิจกรรมไว้ดูว่าเพื่อนๆ กำลังทำกิจกรรมอะไรกันอยู่ เพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูล เปิดให้ผู้คนลงเข้ามาทะเบียน โหวตความคิด และให้คะแนนผลกระทบต่อสิ่งที่แต่ละคนกำลังขับเคลื่อน

เมื่อมีการเชื่อมโยงคนให้มองเห็นการทำกิจกรรมทางสังคม นั่นอาจหมายถึงการยืนระยะในการทำโปรเจกต์ต่างๆ ให้ยาวขึ้นและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น Turnout  จึงเป็นเหมือนสถานที่สำหรับจัดระเบียบเพื่อให้การเคลื่อนไหวคงอยู่ต่อไป

เว็บไซต์และแอพพลิเคชัน https://www.turnup.us

เกี่ยวกับผู้เขียน

33132543_2121556294731985_6485814192245833728_o
ปวรพล รุ่งรจนา
ผลงานชิ้นอื่นๆ

ปัจจุบันเป็นนักสร้างเรื่องราวประจำ echo สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและเพศวิถี สนใจงานแสดงเหมือนกัน แต่ยังไม่มีใครจ้าง

+4

Categories

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments