4 ทศวรรษสไตล์การแต่งตัวที่เปลี่ยนไปกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

หากมองเพียงผิวเผินเสื้อผ้าอาจเป็นเพียงสิ่งสามัญธรรมดาที่มีไว้เพื่อปกปิดร่างกาย แต่ลึกลงไปกว่านั้นเสื้อผ้ายังเป็นสิ่งที่ผู้คนหลากหลายช่วงวัยนิยมสวมใส่เพื่อความสวยงาม เพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพรวมไปถึงเสริมสร้างความมั่นใจให้ตัวของพวกเขาเอง การสวมใส่เสื้อผ้ายังสัมพันธ์โดยตรงกับค่านิยมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย สไตล์การแต่งตัวหรือเสื้อผ้าที่เป็นที่นิยมในยุคต่าง ๆ จึงมีความหลากหลายและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไปตามการให้คุณค่าของสังคมในแต่ละช่วงเวลา บทความชิ้นนี้ผู้เขียนจึงจะพาผู้อ่านทุกท่ายย้อนเวลาไปสำรวจความนิยมและรูปแบบการแต่งกายในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาและยังทรงอิทธิพลมาถึงแฟชั่นในยุคปัจจุบัน

แฟชั่น กฎเกณฑ์ และการแบ่งแยกสามัญชนกับชนชั้นปกครองในสมัยโบราณ

การสวมใส่เสื้อผ้า ปรากฎให้เห็นมานับร้อยปีตั้งแต่ยุคโรมันซึ่งเป็นยุคที่เครื่องแต่งกายเปรียบได้กับเครื่องมือในการบ่งบอกสถานะ และลำดับชั้นทางสังคม เสื้อผ้าที่สวยงามในยุคสมัยนี้จึงเน้นความประณีตทำจากวัสดุที่มีราคาแพงอย่างผ้าไหมและขนสัตว์ อีกทั้งการแต่งกายยังวางอยู่บนกฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนจากชนชั้นปกครองที่ออกกฎเหล็กห้ามสามัญชนคนธรรมดาสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีสันฉูดฉาด

“สีม่วง” ถือเป็นสีที่หายากและมีราคาสูงถึง 1,600 ล้านบาทต่อจำนวนสี 1 ปอนด์ ซึ่งถือว่าแพงกว่าทองคำในช่วงกว่าหลายร้อยปีที่ผ่านมา สาเหตุที่ทำให้สีม่วงมีราคาสูงมากเช่นนี้ เนื่องจากกระบวนการผลิตสีม่วงในยุคโบราณไม่ได้สกัดมากจากหิน แร่หรืออัญมณีทั่ว ๆ ไป หากแต่สกัดมาจากหอยทากทะเลในเมืองไทร์ (Tyre) ปัจจุบันคือประเทศเลบานอน ซึ่งต้องใช้ทากทะเลมากถึง 10,000 ตัวต่อการผลิตสีม่วง 1 กรัม ทำให้ทากทะเลกลายเป็นสัตว์หายากหรือแทบจะสูญพันธ์เลยทีเดียว

article_2024_pic8
หอยทากทะเลเมืองไทร์ต้นกำเนิดสีม่วง (ที่มา : www.pinterest.com/pin/426364289739098335/ )

ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่มีความแปลกประหลาดกว่าสีอื่น ๆ ทำให้สีม่วงเป็นสินค้าที่มีราคาสูงและกลายเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงอำนาจ บารมีและความร่ำรวยของผู้ครอบครองโดยอัตโนมัติ สีม่วงจึงเป็นสีที่ถูกสงวนไว้สำหรับชนชั้นปกครอง หากผู้ใดละเมิดกฎเกณฑ์ดังกล่าวจะมีโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต ชาวบ้านธรรมดาจึงมักสวมใส่เสื้อผ้าสีขาวหรือสีธรรมชาติ เช่น สีน้ำตาล สีฟ้า สีเทา เนื่องจากเป็นสีที่หาได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไปและมีราคาไม่แพง รูปแบบการแต่งกายในยุคโรมันจึงมุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญต่อสถานะทางสังคมซึ่งแบ่งแยกกลุ่มคนชนชั้นสูงออกจากสามัญชนอย่างชัดเจน

1960s แฟชั่นแห่งสีสัน อิสระและการก้าวข้ามกฎเกณฑ์

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป วัสดุอย่างขนสัตว์ ผ้าไหมและวัตถุดิบในการผลิตสีต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องหมายบ่งบอกสถานะของกลุ่มชนชั้นสูง สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นตามท้องตลาดทำให้บุคคลธรรมดาสามารถครอบครองและสวมใส่ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น กฎเกณฑ์ในการแบ่งแยกชนชั้นด้วยสีสันและความปราณีตของเครื่องแต่งกายจึงเริ่มเสื่อมถอยลงไป ประจวบกับช่วงยุค 60 ซึ่งเป็นสมัยที่เพิ่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายอย่าง ผู้คนโหยหาการแสดงออกและความอิสระเสรี เรียกร้องความเท่าเทียม หันหน้าเข้าสู่ธรรมชาติมากขึ้นโดยมีการแต่งตัวเป็นหนึ่งในวิธีการแสดงออกถึงความเป็นตัวเองที่ง่ายและชัดเจนที่สุด เสื้อผ้าที่วัยรุ่นยุคนี้สวมใส่จึงวางอยู่บนแนวคิดการต่อต้านทุนนิยม คือ ไม่ได้เน้นเสื้อผ้าที่ผลิตมาจากโรงงานแต่เน้นเสื้อผ้าที่ถักด้วยมือ เสื้อผ้าลายดอกหรือลายที่เกี่ยวกับธรรมชาติ

นอกจากนี้แนวคิดที่สำคัญของแฟชั่นยุคนี้คือการพยายามพาตัวเองให้หลุดพ้นจากกรอบที่สังคมเคยตีเอาไว้ซึ่งสะท้อนผ่านการแต่งตัวแนว Mod look หรือแฟชั่นที่เน้นสีสันแสบทรวง ประดับด้วยลวดลายเรขาคณิตหรือลายเส้น จากที่เคยสวมใส่ถุงหน่องสีทางการอย่างสีเนื้อ สีดำ ผู้คนต่างหันไปนิยมใส่ถุงหน่องสีสันสดใส เช่น สีเหลือง สีส้ม สีฟ้า และที่สำคัญคือการใส่กระโปรงสั้นเหนือเข่าอย่าง ‘มินิสเกิร์ต’ ถือเป็นเอกลักษณ์ของยุคและกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนการล้มล้างจารีตทางสังคมในเรื่องเพศได้ดี เนื่องจากการที่เด็กสาวยุคนั้นพากันใส่มินิสเกิร์ตเดินตามถนน จึงเป็นการบ่งบอกว่าพวกเธอไม่จำเป็นจะต้องใส่เสื้อผ้าตามกฎเกณฑ์ที่รุ่นพ่อแม่ส่งต่อมา อีกทั้งกระโปรงสั้นยังทำให้รู้สึกอิสระ สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกและทำให้พวกเธอสนุกสนานกับการแต่งตัวและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น แฟชั่นยุค 60 จึงถือเป็นยุคที่ส่งเสริมอิสระภาพและเสรีภาพทางการแต่งกายของผู้หญิงที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบันมากที่สุดยุคหนึ่ง

1970s แฟชั่นฮิปปี้ vs แฟชั่นดิสโก้

เมื่อเข้าสู่ยุค 1970 เรียกได้ว่า เป็นยุคที่เปิดกว้างมุมมองเรื่องแฟชั่นและรสนิยมการแต่งกาย มีการรับเอาวัฒนธรรมของชาติตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับสไตล์การแต่งตัวของตัวเองมากขึ้น ผู้หญิงเริ่มหยิบการแต่งกายของผู้ชายมาประยุกต์ให้กลายเป็นแฟชั่นหรือเรียกได้ว่าการแต่งกายแบบไม่ระบุเพศ (unisex) รวมถึงเป็นช่วงที่สไตล์การแต่งตัวแบบ His and Her outfits หรือการแต่งตัวแบบชุดคู่เริ่มต้นและได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นเป็นอย่างมาก ยุค 70 จึงเป็นช่วงเวลาที่เทรนแฟชั่นเฟื่องฟู สไตล์การแต่งตัวที่โดดเด่นในช่วงยุค 1970 คือการแต่งตัวสไตล์ ‘ฮิปปี้’ มีจุดเด่นคือลายผ้าจะมีความซับซ้อน สีสันสดใส กางเกงขาบาน มีเครื่องประดับติดตัวเช่น แว่นตา หมวก รวมถึงถุงน่องสีสันต่าง ๆ

นอกจากการแต่งตัวสไตล์ฮิปปี้แล้วการแต่งตัวแนวดิสโก้ เป็นแฟชั่นที่เกิดบนฟลอร์เต้นรำและในไนท์คลับซึ่งถูกสร้างขึ้นจากการเลียนแบบไอดอลบนเวทีและนักดนตรี เช่น Diana Ross, ABBA, Boney M, Bee Gees เป็นต้น รวมถึงอิทธิพลจากภาพยนตร์เรื่อง “Saturday Night Fever” ซึ่งฉายบนจอแก้วในปี 1977 โดยมี Young John Travolta  รับบทเป็นคนขายของในร้านค้าเล็ก ๆ ซึ่งชีวิตในตอนกลางวันของเค้านั้นแทบจะไม่มีอะไรโดดเด่นแต่ในตอนกลางคืนเขากับกลายเป็นดาราประจำฟลอร์เต้นรำที่ Odyssey club ด้วยการแต่งกายแนวดิสโก้ที่สะดุดตา

จุดเด่นของสไตล์ดิสโก้คือเสื้อผ้าที่ปักเลื่อม เนื้อผ้ามันวาว สีเมทาลิก นิยมใส่กางเกงขาสั้นที่ฟิตหรือเรียกว่า ฮอตแพนท์ (Hot Pants) ช่วยเน้นให้เห็นรูปร่างและสัดส่วนมากขึ้น สำหรับกางเกงขายาวต้องเป็นกางเกงที่ช่วงสะโพกฟิตและบานออกช่วงใต้เข่า อย่างกางเกงขากระดิ่ง (Bell Bottom) ยิ่งขาบานมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดูเก๋และมีสไตล์มากเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีกางเกงดิสโก้แพนท์ (Disco Pants) หรือกางเกงเอวสูงหาซื้อได้ง่ายและเป็นที่นิยมในการสวมใส่เนื่องจากคล่องตัวและช่วยเพิ่มความเซ็กซี่เบา ๆ

1980s กับความเท่แบบย้อนยุค

เมื่อก้าวเข้าสู่ยุค 1980 ผู้คนเริ่มนิยมแฟชั่นสไตล์ชิล ๆ สบาย ๆ แต่คงความเท่อย่างลุค Dadcore ซึ่งนิยมใส่แจ็คเก็ต เสื้อกันลม Sweater หรือลุคสุดฮิตที่ทรงอิทธิพลมาจนถึงวัยรุ่นยุคปัจจุบันอย่างเสื้อยีนส์และรองเท้าผ้าใบสีขาว บ้างก็เพิ่มความเนี้ยบด้วยการสวมใส่เสื้อโปโลเน้นโทนสีสดใส เช่น  ฟ้า เหลือง เป็นต้น

ลุค Dadcore ( ที่มา : Pinterest )

นอกจากสไตล์ลำลองสบาย ๆ แล้ว การแต่งตัวในยุค 80 ยังเต็มไปด้วยสีสันและการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์และได้รับอิทธิพลจาก Subculture เช่น แนว Punk ที่นิยมใส่เสื้อหนัง กางเกงยีนส์ขาด สีสันจัดจ้าน และ เป็นยุคทองของ Hip-Hop นิยมแต่งตัวสไตล์กีฬา เสื้อตัวหลวม ๆ หรือทรง  Oversized โทนสีเข้ม เน้นความดุ ความเถื่อน ที่กลุ่มนักแสดง หรือนักดนตรีนิยมสวมใส่ เช่น Johnny Depp, Tom Cruise , David Bowie ผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นต้น

1990s จากความไม่สนใจแฟชั่นจนกลายเป็นแฟชั่นแห่งทศวรรษ

        ในขณะที่ทศวรรษที่ 90s แฟชั่นได้เปลี่ยนไปสู่การแต่งกายที่มีความเรียบง่ายและไม่เป็นทางการ แฟชั่นยุค 90s ในบางช่วงมีจุดเด่นอยู่ที่ความเรียบง่ายหรือสไตล์มินิมอลดังจะเห็นได้จากลุคยอดนิยมอย่างการใส่ “เดรสทรง สลิป” บนเสื้อยืดสีขาว ดังเช่นในมิวสิกวีดีโอ Baby one more time ของ Britney Spears  โดยกางเกงขาสั้น เสื้อ sweater ขนาดใหญ่ยังคงได้รับความนิยมสำหรับผู้หญิง รวมถึงแฟชั่นในยุค 1960 และ 1970 อย่างมินิสเกิร์ต และสไตล์พังก์ เริ่มฟื้นตัวให้เห็นในยุคนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ ในยุค 90 ยังได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแนวเพลงกรันจ์และร็อคส่งผลให้เสื้อผ้าแนววินเทจเป็นที่ต้องการมากขึ้น ร้านเสื้อผ้ามือสองจึงขยายตัวเป็นจำนวนมาก โดยรูปแบบเสื้อผ้าที่เป็นที่นิยมคือ กางเกงยีนส์ทรงหลวม กางเกงยีนส์ทรงขาด ผ้าใบเรียบ ๆ รวมไปถึงรองเท้าบูท อีกทั้งเสื้อเชิ้ตกางเกงยีนส์ได้กลายเป็นชุดลำลองทั่วไปเนื่องจากกระแสดนตรีแนวกรันจ์อย่างเช่น วง Nirvana และ Pearl Jam มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เสื้อยืดวงดนตรี เสื้อสเวตเตอร์ รองเท้าคอนเวิร์ส ซึ่งมี Kurt Cobain วง Nirvana สวมใส่ในลักษณะที่ดูไม่ได้เรียบร้อย และไม่ได้ตั้งใจเน้นเรื่องของแฟชั่นแต่กลับกลายเป็นกระแสแฟชั่นที่โด่งดังแห่งยุคมาจนถึงยุค 2000

2000s Gen Z กับแฟชั่นย้อนยุคแบบ ‘Y2K’

         แฟชั่นที่ได้รับความนิยมในช่วงยุค 2000s  คือแฟชั่นที่หลาย ๆ  คนคุ้นหูอย่าง แฟชั่นแบบ Y2K ซึ่งย่อมาจากคำว่า Year (Y), 2, Kilo (K) ในภาษาละตินหมายถึง 1000 เมื่อรวมกันจึงกลายเป็นคำว่า “Year 2000” หรือ “ปี 2000”  โดยผู้คนส่วนใหญ่นิยมเขียนหรือเรียกแบบย่อว่า “Y2K” แทน เอกลักษณ์ของการแต่งตัวแนว Y2K จะนิยมใส่เสื้อครอปท็อป เสื้อยืดขนาดพอดีตัวพิมพ์ลายกราฟิก กระโปรงมินิสเกิร์ต กางเกงเอวต่ำ พร้อมกับเครื่องประดับ เช่น กระเป๋าใบจิ๋ว หูฟัง Y2K ครอบหู แว่นตากันแดด หมวกสีสันสดใส แนวการแต่งตัวจะเน้นไปที่ความสนุก แฝงไปด้วยความขี้เล่นและความกล้า เนื่องจากเสื้อผ้าส่วนใหญ่เน้นโชว์สัดส่วนของคนแต่งได้อย่างชัดเจน ผิดกับแฟชั่นในยุคก่อนหน้าที่จะนิยมใส่เสื้อโคร่ง ๆ ซึ่งช่วยพรางหุ่นหรือปกปิดสัดส่วนของตนเองมากกว่า

        โดยแฟชั่น Y2K กลับมาเป็นที่นิยมสูงสุดอีกครั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักร้อง และคนดังจากทั่วโลก เช่น  Bella Hadid, Beyoncé, NewJeans และศิลปินไทย เช่น Bowkylion หันกลับมานิยมสวมใส่อีกครั้งประกอบกับในช่วงต้นยุค 2000 ไซส์เสื้อผ้ายังค่อนข้างจำกัดเฉพาะคนที่มีรูปร่างผอมบางเนื่องจากเสื้อผ้าจะมีความพอดีตัว และในสมัยนั้นยังไม่มีการผลิตไซส์สำหรับคนอวบ แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันมุมมองการแต่งตัวเริ่มเปลี่ยนไป     โดยแฟชั่น Y2K เปิดกว้างให้คนทุกรูปร่างสามารถสนุกกับการแต่งตัวในสไตล์นี้ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น วัยรุ่น Gen Z จึงต่างหันมามิกซ์แอนด์แมตช์แฟชั่นดังกล่าวอย่างล้นหลามจนถึงปัจจุบัน

สุดท้ายนี้รูปแบบการแต่งกายและความนิยมของแฟชั่นที่แตกต่างกันออกไปถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าและค่านิยมที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งทำให้แฟชั่นในแต่ละแบบมีความเฉพาะตัว มีเสน่ห์และมีความพิเศษในตัวของตัวเอง อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไปแฟชั่นเหล่านี้ต่างมีการปรับตัวให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมของสังคมในแต่ละช่วงเวลาอยู่เสมอ อีกทั้งยังผสมผสานกับอิทธิพลจากวงการบันเทิงและแวดวงดนตรีในยุคสมัยต่าง ๆ ทำให้แฟชั่นกลายเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง สามารถสร้างใหม่ และกลับมานิยมซ้ำได้อีกอย่างไม่จำกัดตราบเท่าที่การแต่งตัวยังอยู่คู่กับคนในสังคมไปอีกนาน

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อ้างอิง

+3

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Categories