เกษตรกรรุ่นใหม่กลางภาวะสังคมสูงวัยในญี่ปุ่น

ภาพของชนบทไกลลิบ พืชพรรณสีเขียว สีท้องฟ้าที่ตัดผืนดินอย่างสะอาดเนียนตา พร้อมใบหน้ายิ้มแย้มของคนรุ่นใหม่ คือภาพของเกษตรกรยุคใหม่ในประเทศญี่ปุ่น

การผลัดเปลี่ยนจากแปลงเกษตรที่ส่งต่อรุ่นต่อรุ่นกำลังจางหาย ประกอบกับการเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรนานนับทศวรรษ ปัญหานี้ยึดโยงกับสังคมสูงวัย มาตรการภาครัฐที่ต้องการเพิ่มผลผลิต และปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ

แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะมีวิธีแก้ไขปัญหาที่น่าสนใจ แต่ก็เป็นเรื่องท้าทายของชาวญี่ปุ่นที่หันหน้าเข้าสู่อาชีพเกษตรกร ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรยังไม่คลี่คลาย แต่ถือว่าญี่ปุ่นเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่รายได้จากการเกษตรเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอเลี้ยงปากท้อง และเกษตรกรต้องผันตัวเป็นผู้ประกอบการ

article_2024_2pic1
( ที่มา : https://japantoday.com/category/picture-of-the-day/next-generation-urban-agriculture )

จากหลักสูตรในรั้วโรงเรียน สู่นโยบายภาครัฐ

โดยทั่วไป เด็กชาวญี่ปุ่นจะได้เรียนรู้การทำเกษตรกรรมตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้นในฐานะวิชาเลือก เช่น วิชาเกษตรกรรม พืชสวน การเพาะพันธุ์ปศุสัตว์ ป่าไม้ การผลิตทางการเกษตร ฯลฯ

ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จะมีหลักสูตรเกษตรกรรมโดยเฉพาะสำหรับนักเรียนที่สนใจประกอบอาชีพเกษตรกร จากโรงเรียนที่มีหลักสูตรเกษตรกรรมทั้งหมด 886 แห่ง ในจำนวนนี้มี 494 โรงเรียนที่สอนเกษตรกรรมแบบเต็มรูปแบบ โดยหลักสูตรเกษตรยังแบ่งย่อยลงไปอีกตามความสนใจ เช่น สาขาพืชสวน สาขาการปรับปรุงพันธุ์ปศุสัตว์ วิศวกรรมโยธาการเกษตร ป่าไม้ ฯลฯ แต่มีเด็กเรียนหลักสูตรเหล่านี้เพียง 5% ของนักเรียนมัธยมปลายทั้งหมด ทั้งนี้ ความเข้มข้นทางวิชาการการเกษตรจะเพิ่มขึ้นตามสาขาและระดับการศึกษา ตั้งแต่การเรียนหลักสูตรระยะสั้น อนุปริญญา ไปจนถึงระดับปริญญาเอก

สอดคล้องกับตัวเลข 5% จากรายงานในปี 2017 ญี่ปุ่นมีค่าอายุเฉลี่ยของเกษตรกรสูงถึง 66.7 ปี สิ่งที่น่าตกใจคือ ในปี 2000 ญี่ปุ่นมีเกษตรกรกว่า 3.9 ล้านคน แต่ลดฮวบเหลือเพียง 1.7 ล้านคน ในปี 2020 และพื้นที่ทางการเกษตรกว่า 2.5 ล้านไร่ถูกทิ้งร้าง

ภาครัฐจึงมีนโยบายจูงใจให้คนหนุ่มสาวหันหน้าเข้าสู่ภาคการเกษตร เช่น นับแต่ปี 2011 มีการให้เงินอุดหนุนเกษตรกรหน้าใหม่ (ที่ไม่มีปูมหลังครอบครัวเป็นเกษตรกร) จำนวน 1.5 ล้านเยนต่อปี รวมถึงให้เงินอุดหนุนฟาร์มที่จ้างคนกลุ่มนี้เข้าไปฝึกงาน

การอุดหนุนดังกล่าว ส่งผลต่อคนรุ่นใหม่อย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะก่อนมีนโยบายอุดหนุน มีคนอายุต่ำกว่า 45 ปี ราว 1,000 คนเท่านั้นที่เริ่มทำฟาร์มของตัวเองในแต่ละปี เมื่อนับจากมีมาตรการนี้ ตัวเลขข้างต้นกระโดดขึ้นมาที่ 2,500 คน เนื่องจากเป็นการแก้ไขปัญหาการไม่มีรายได้ในช่วงฝึกฝนทดลองงานอย่างตรงจุด

นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมด้านการเกษตรสำหรับเยาวชนในโรงเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และมีกองทุน Young Farmer’s Fund สำหรับกู้ยืมเงินปลอดดอกเบี้ย โดยในปี 2012 กว่า 43,500 คนที่ลงทะเบียนกองทุนดังกล่าว มีอายุต่ำกว่า 45 ปี

ขณะที่ตัวแปรสำคัญคือ หน่วยงานท้องถิ่นที่ต้องสนับสนุน ให้คำปรึกษา ร่วมกันวางแผนกับเกษตรกรรายใหม่ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นในพื้นที่เพาะปลูก

ดอกผลของการออกแรงของภาครัฐ อาจสะท้อนได้จากเรื่องราวของ Weeraya Vichayaprasertkul ผู้ใช้เฟสบุ๊กที่มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์กับเกษตรกรรุ่นใหม่อย่างเกนย่าและฟุคิ คู่รักวัย 28 ปี เกษตรกรจากเมืองนิเซโกะ ซึ่งทั้งสองได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นในการตั้งต้นทำเกษตรกรรม

ไล่เรียงตั้งแต่หลักสูตรมัธยมปลายเมืองนิเซโกะเน้นให้เด็กทำเกษตร เด็กทุกคนต้องเริ่มตั้งแต่เพาะเมล็ด ไปจนถึงทำบรรจุภัณฑ์และการตลาด นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนเงินทุนให้เปล่า 5 ล้านเยน สำหรับการเริ่มเป็นเกษตรกรครั้งแรก ที่สำคัญ พวกเขาไม่ต้องทำรายงานให้วุ่นวาย เพียงแค่ทำไดอารี่การทำงานแต่ละวันส่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเท่านั้น และยังมีทุนเรียน Business School ฟรี โดยเกนย่าต้องเรียนทุกวันพุธ ตั้งแต่ 17.00 น.-22.00 น. เป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 เดือน

เมื่อเน้นให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้ประกอบการ ผ่านการเรียนรู้ตั้งแต่การเพาะปลูก ไปจนถึงแพ็คสินค้าเตรียมขายแล้ว รัฐบาลยังจัดพื้นที่ “Supermarket เกษตรกร” ในย่านใจกลางเมือง เพื่อให้เกษตรกรนำผลผลิตมาขาย โดยเกษตรกรเป็นผู้กำหนดราคาเองทั้งหมด

ตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการดึงคนกลับเข้าภาคการเกษตรของญี่ปุ่นไม่ใช่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอย่างเดียว แต่ยังเป็นการเพิ่มผู้ประกอบการ และเพิ่มช่องทางสร้างรายได้เข้ากระเป๋าอย่างครบวงจรอีกด้วย

article_2024_2pic2
( ที่มา : https://medium.com/@omololamercy06/the-journey-of-our-food-how-ethical-farming-practices-benefit-everyone-6fb07f656e48 )

เมื่อคนรุ่นใหม่ยังเป็นชาวนาไม่พอ

อย่างไรก็ดี การเป็นเกษตรกรหน้าใหม่วัยเยาว์ใช่ว่าจะมีหนทางไร้รอยขีดข่วนในสังคมญี่ปุ่น งานศึกษาเรื่อง Agrarian pathways for the next generation of Japanese farmers (2018) ได้สำรวจเกษตรกรรายใหม่ในเมืองนากาโนะและเกียวโต พบว่าในบางหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นชุมชนอย่างเหนียวแน่น เช่น การใช้ระบบชลประทานร่วมกัน หรือกระทั่งความขัดแย้งในการขายที่ดินให้คนนอก ฯลฯ เกษตรกรหน้าใหม่เผชิญความยากลำบากที่จะลงหลักปักฐานและเป็นนายของตนเอง แม้แต่คนกลุ่ม U-turn (คนที่มาจากครอบครัวเกษตรกร แต่ทำงานในเมือง ก่อนกลับมารับมรดกครอบครัว ทำเกษตรอีกครั้ง) ก็ยังมีอุปสรรคจากความเป็นชุมชนนี้ การทำฟาร์มจึงต้องอาศัยเวลาและเครือข่ายคนในท้องถิ่นไม่น้อย

มากไปกว่านั้น กลุ่มเกษตรกรหน้าใหม่ที่ผันตัวเป็นผู้ประกอบการมักมองว่า รายได้ของตนมาจากทั้งผลผลิต สินค้าแปรรูป งานฝีมือ และการท่องเที่ยว ซึ่งสะท้อนถึงมาตรการต่าง ๆ ที่ดึงเกษตรกรหน้าใหม่ แม้จะเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ในทางหนึ่งกลับเป็นการกระตุ้นให้พวกเขาทำฟาร์มเพื่อผลกำไรและตอบสนองต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การสนับสนุนให้มีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทั้งระยะสั้นและระยะยาว ช่วยเปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีพื้นฐานสามารถเริ่มจับหัดงานเกษตรได้โดยตรง แต่ในภาพกว้าง ญี่ปุ่นยังคงผลิตอาหารได้เพียง 40% ของความต้องการทั้งหมดของประเทศ 

รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง และที่ปรึกษาบริษัทจัดหางาน ไทนิชิ ยูโก จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ PPTV ถึงประเด็นแรงงานในภาคเกษตรกรรมญี่ปุ่นมีไม่เพียงพอ เขามองว่า เดิมอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพอนุรักษ์ของคนญี่ปุ่น ประกอบกับอยู่ในข่ายอาชีพ 3K (Kitsui-หนัก เหนื่อย, Kitanai-สกปรก, Kiken-อันตราย) เป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดปัญหาและไม่ว่าจะมีมาตรการส่งเสริมคนรุ่นใหม่อย่างไร ภาวะขาดแคลนแรงงานก็เหมือนเดิม

“คนรุ่นใหม่ที่ยูเทิร์นกลับมาทำการเกษตรมีจำนวนน้อยมาก เพียงหลักร้อยหลักพันคนเท่านั้น ไม่มีผลในเชิงปริมาณหรือมีนัยสำคัญทางสังคม จำนวนเกษตรกรทั้งญี่ปุ่นมีถึง 70-80% ที่อายุมากกว่า 60 ปี จำนวนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่กลับเข้าไปกับความต้องการแรงงานภาคการเกษตรมันต่างกันโดยสิ้นเชิง” สมชายกล่าว

เมื่อสถานการณ์ภาพรวมยังไม่ดีขึ้น สมชายอธิบายว่า ญี่ปุ่นจึงหันมาพึ่งพาแรงงานจากต่างประเทศ เช่น การผ่านกฎหมายฝึกทักษะทางเทคนิค โดยการนำผู้เข้ารับการฝึกงานเข้าไป เริ่มจากได้โอกาสทำงาน 3 ปี และสามารถขยายเวลาได้อีก 2 ปี ถ้าอยู่ครบ 5 ปี ก็สามารถต่อวีซ่าทำงาน 5 ปี ได้ 2 ครั้ง ถึงที่สุดแล้ว หากทำงานเกิน 10 ปี พวกเขาก็มีสิทธิ์ได้รับวีซ่าระยะยาว

สอดคล้องกับโครงการหนึ่งที่น่าสนใจคือ โครงการฝึกงานผู้นำเยาวชนเกษตรไทยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคัดเลือกผู้ไปฝึกงานด้านการเกษตรแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เริ่มตั้งแต่การฝึกบทสนทนาภาษาญี่ปุ่น ฝึกฝนร่างกาย ฝึกกระทั่งการรดน้ำต้นไม้ ก่อนคัดเลือกและออกเดินทาง โครงการนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2526 ส่งเยาวชนไทยไปทำงานแล้วกว่า 500 คน และสะท้อนความจริงจังในการแก้ปัญหาระดับภูมิภาคได้เป็นอย่างดี

article_2024_2pic3
( ที่มา : https://japantoday.com/category/picture-of-the-day/next-generation-urban-agriculture )

การดึงคนกลับมาอาจไม่ใช่ทางเลือกเดียว

ในปี 2019 ญี่ปุ่นมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม ป่าไม้ การประมง และอาหารคิดเป็นจำนวนถึง 912.1 พันล้านเยน แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีแผนจะบรรลุเป้าหมายการส่งออกที่ 2 ล้านล้านเยนภายในปี 2025 แต่อายุเฉลี่ยของคนงานในฟาร์มญี่ปุ่นในปัจจุบันยังคงสูงถึง 67 ปี

นโยบายหลักของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ของญี่ปุ่น (MAFF) จึงประกาศกลยุทธการขยายธุรกิจเทคโนโลยีและบริการการเกษตร โดยร่วมมือกับบริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย สถาบันการวิจัย และมีเป้าหมายชัดเจน คือ หนึ่ง-แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สอง-รักษาคุณภาพการผลิตทางการเกษตร

รัฐบาลให้การสนับสนุนทางการเงินกับความต้องการของเกษตรกรและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาใช้ในภาคเกษตรกรรม รวมถึงปล่อยเงินกู้และเงินอุดหนุนสำหรับเกษตรกรที่ฝึกฝนการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรในพื้นที่ที่มีภูมิประเทศเป็นเนินเขาและภูเขา และองค์กรขนาดเล็ก

การมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยี นับเป็นคลื่นการปฏิวัติการเกษตรของญี่ปุ่นครั้งใหญ่ เช่น การปลูกพืชและผลไม้ได้บนฟิล์มพอลิเมอร์ใสที่น้ำซึมผ่านได้ ซึ่งพัฒนาโดยยูอิจิ โมริ นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น การปลูกด้วยวิธีนี้ลดการใช้น้ำถึง 90% ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงและป้องกันไวรัสกับแบคทีเรียได้ นอกจากแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานแล้ว ยังแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินไม่เพียงพออีกด้วย หรือการที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนการพัฒนาหุ่นยนต์กว่า 20 แบบ เพื่อช่วยตั้งแต่การหว่านเมล็ดจนถึงการเก็บเกี่ยว

อีกตัวอย่างคือ โรงเรียนมัธยมเกษตรกรรมและพืชสวนแห่งกรุงโตเกียว (Tokyo Metropolitan High School of Agriculture and Horticulture) มีพื้นที่ทดสอบสำหรับเกษตรกรรมในเมืองยุคใหม่ ที่สนับสนุนและดำเนินการโดยบริษัท NTT AgriTechnology Corp

จะเห็นได้ว่า สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้ว ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรสัมพันธ์กับสังคมสูงวัยที่รุนแรง การแก้ไขปัญหาจึงไม่เพียงแต่ใช้มาตรการดึงคนรุ่นใหม่ในประเทศกลับมา แต่ยังแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ และสนับสนุนเทคโนโลยีการเกษตรอย่างแข็งขัน ทำให้ภาคการศึกษาและเอกชนทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน เกษตรกรรุ่นใหม่จึงจำเป็นต้องตื่นตัวเสมอ ซึ่งแน่นอนว่า ภาพการทำฟาร์มหรือการปลูกผัก กำลังเปลี่ยนไปทั้งในแง่ของวัฒนธรรม วิธีการผลิต และวิธีการสร้างรายได้

แม้ว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะยังคงอยู่ แต่ความเอาจริงเอาจังและหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมญี่ปุ่น

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อ้างอิง

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Categories