“นักศึกษาเอาเนื้อความจาก ChatGPT มาเขียนส่งกันเยอะมาก หลายคนก็อปมาเป๊ะเหมือนกัน”
ข้อความข้างต้น มาจากโพสต์เฟสบุ๊กของ รองศาสตราจารย์ ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความกังวลนี้เสมือนปรากฏการณ์ของแวดวงการศึกษาทั่วโลกที่มีต่อ ChatGPT ซึ่งเป็นแชทบอทปัญญาประดิษฐ์ที่เปิดให้ใช้งานฟรีผ่าน https://chat.openai.com/ ที่ถูกใช้งานอย่างกว้างขวางและถูกพูดถึงตลอดเวลา นับตั้งแต่บริษัท OpenAI เปิดตัวแชทบอทดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายน 2022
มหาวิทยาลัยเริ่มปรับการเรียนการสอน
มกราคม 2023 อาจารย์ด้านกฎหมายอย่างโจนาธาน ชเว จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ทดลองใช้ ChatGPT ทำข้อสอบกฎหมาย แบ่งเป็นปรนัย 95 ข้อ และอัตนัย 12 ข้อ ผลคือ เจ้าแชทบอทได้เกรด C+
มีนาคม 2023 การมาถึงของ ChatGPT-4 ซึ่งเป็นเวอร์ชันล่าสุด สามารถวินิจฉัยโรคหายากได้จากการทดสอบของแพทย์และไอแซค โคเฮน นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด GPT-4 ยังสามารถทำข้อสอบสำหรับขอใบอนุญาตทางการแพทย์ของสหรัฐฯ และมีความถูกต้องแม่นยำกว่า 90%
ขณะที่โลก Tiktok มีคอนเทนต์เกี่ยวกับการใช้ ChatGPT ในหมู่นักศึกษาชนิดช่วยเหลือกันสุด ๆ เช่น TikToker แอคเคาท์ getcouch.ai ลงคลิปคลาสเรียนหนึ่งที่ถูกอาจารย์จับได้ว่านักศึกษากว่าครึ่งของตนใช้ ChatGPT ช่วยทำงาน น้ำเสียงของอาจารย์ค่อนข้างหัวเสียและลงโทษโดยการให้เขียนข้อสอบปลายภาคกว่า 50 หน้า แอคเคาท์ดังกล่าวจึงแนะนำ AI ตัวใหม่ที่แม้แต่ Turnitin หรือ GPTZero แพลตฟอร์มตรวจจับ AI ก็ตรวจหาลำบาก คลิปดังกล่าวมียอดกดถูกใจถึง 4.2 ล้าน และยอดเซฟเก็บไว้สูงถึง 9 แสนปลาย
ในทำนองเดียวกัน อาจารย์และครูผู้สอนในสหรัฐอเมริกาได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนขนานใหญ่ เช่น เลี่ยงการมอบหมายการบ้านแบบ take home หรือการสอบแบบ open book โดยเน้นการมอบหมายงานในชั้นเรียน การสอบปากเปล่า ใช้กระดาษกับปากกาในชั้นเรียนมากขึ้น หรือกระทั่งปรับเกณฑ์การให้คะแนนเสียใหม่ให้เคี่ยวมากขึ้นเมื่ออะลุ่มอล่วยให้ใช้ AI ช่วยทำงานได้
สำหรับฟากฝั่งผู้บริหารในสถานศึกษา ก็มีมาตรการกับปัญหาการใช้ ChatGPT เช่นกัน อาทิ มหาวิทยาลัยเท็กซัสที่มีแผนการบรรจุประเด็น AI ในหลักสูตรภาคบังคับ หรือมหาวิทยาลัยฝั่งออสเตรเลีย ก็มีมาตรการป้องกันการใช้ AI ทำข้อสอบอย่างการตัดคะแนน พักการเรียน หรือถึงขั้นยกเลิกวีซ่าสำหรับนักศึกษาต่างชาติ
ข้อสังเกตคือ ความเข้มข้นในการเอาผิดนักศึกษาที่ใช้ ChatGPT อาจแตกต่างกันไป เพราะบางคนอาจเพียงใช้เพื่อเป็นไกด์ไลน์ ขณะที่บางคนอาจคัดลอกมาทั้งดุ้น บทลงโทษที่เหมาะสมจึงยังไร้ข้อสรุป
สิ่งที่แน่ใจคือ การมาของ ChatGPT ได้เร่งรัดให้ครูอาจารย์ปรับวิธีการสอนและจำเป็นต้องตามให้ทันมากกว่าการสรรหาบทลงโทษ เพราะไม่ว่าอย่างไร กระแสของ AI ย่อมต้องถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษา และบทลงโทษก็ใช้ไม่ได้กับนักเรียนหัวใสที่มีอยู่เสมอตาม #ChatGPT บนโลก TikTok
ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio อาจารย์พิเศษ ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงมุมมองของตนในบล็อกอย่างน่าสนใจ
ในคลาสเรียน Data Science จะมีการสอบเขียนโค้ดเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างโมเดล เสมือนจำลองการทำงานจริง วิโรจน์เล่าว่า ลูกศิษย์ของตนที่ทำงานเป็น Data Scientist ก็สามารถใช้ ChatGPT ระหว่างทำงานได้ ตนจึงให้นักศึกษาใช้ ChatGPT ทำข้อสอบ แต่เงื่อนไขคือต้องส่ง Chat log (หน้าที่ป้อนคำสั่งให้ ChatGPT ตอบคำถาม) มาตรวจด้วย เพื่อที่ตนจะได้ประเมินการสอนต่อไป
ข้อสังเกตของวิโรจน์คือ การใช้ ChatGPT จะได้ผลมากขึ้น เมื่อนักศึกษาป้อนคำสั่งที่ละเอียด สำหรับคำถามปลายเปิด แชทบอทจะมีประโยชน์ในฐานะเพื่อนช่วยคิด อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่ายากที่จะประเมินทักษะการเขียนโค้ดของนักศึกษา ความเก่งกาจจึงอาจเป็นทักษะในการตั้งคำถามเพื่อเอาคำตอบที่เหมาะสมที่สุดจากปัญญาประดิษฐ์
คำตอบจาก ChatGPT คำถามต่อไปสำหรับมนุษย์
เมื่อนำคำถามที่ว่า ในเชิงจริยธรรม คิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนักเรียนใช้ ChatGPT ทำข้อสอบ มาถามเจ้าตัว หลังจากกดปุ่ม send message ตัวอักษรก็ค่อย ๆ โผล่ทีละตัว จังหวะมั่นคง กลายเป็นคำ กลายเป็นประโยค และกลายเป็นหนึ่งย่อหน้าในพริบตา
คำตอบของ ChatGPT แยกเป็นส่วนๆ อย่างชัดเจน มีบทนำ ข้อดีข้อเสีย บทบาทของสถานศึกษา ประเด็นความซื่อสัตย์ทางวิชาการ และบทสรุป
แชทบอทเริ่มจากการกล่าวถึงยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งประโยชน์ของเทคโนโลยีในการศึกษาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ คำถามที่เกิดขึ้น จึงเป็นคำถามของจรรยาบรรณเมื่อนักเรียนใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยในการสอบ
ถัดจากนั้น ChatGPT ชี้ว่า การสอบเป็นการประเมินความรู้ ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ การแก้ปัญหา และความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การพึ่งพาระบบประสาทเทียมนี้ ย่อมเป็นการบ่อนทำลายเป้าหมายทางวิชาการ รวมถึงความซื่อสัตย์ทางวิชาการ
“สถาบันการศึกษาควรมีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ในการสอบ รวมถึงการสอนนักเรียนเกี่ยวกับผลกระทบทางจรรยาบรรณของการพึ่งพาแหล่งข้อมูลภายนอก รวมถึง AI ในการประเมิน…
…การหาสมดุลระหว่างการยอมรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการรักษาความซื่อสัตย์ทางวิชาการเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเตรียมนักเรียนไม่เพียงแค่สำหรับการสอบของพวกเขา แต่ยังสำหรับบทบาทในอนาคตในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากปัญญาประดิษฐ์อย่างมาก”
ChatGPT ยังเสนอว่า สถาบันการศึกษาควรสอนวิธีการใช้ปัญญาประดิษฐ์โดยที่บ่มเพาะทักษะการวิเคราะห์ของนักเรียนด้วยเช่นกัน
หากพิจารณา คำตอบจาก ChatGPT มีลักษณะรัดกุม แม้ดูเป็นคำตอบกลาง ๆ เมื่อถามคำถามปลายเปิด ถือว่าเป็นคำตอบที่ไม่เลวทีเดียว
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้สะท้อนทักษะของ ChatGPT ที่เข้าใกล้วิถีชีวิตมนุษย์มากกว่า AI ตัวอื่น ๆ และแน่นอนว่า การถูกแย่งงานยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อ GPT-4 วินิจฉัยโรคได้
คำตอบของ ChatGPT มีเท่าที่ข้อมูลบนโลกออนไลน์มีและถูกใช้งานภายใต้ข้อจำกัดที่ผู้พัฒนามอบไว้ โดยสตีเฟน ฮอว์กิง นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษผู้ล่วงลับเชื่อว่า หากมนุษย์สร้างไวรัสตัวหนึ่งขึ้นมา ก็ย่อมมีมนุษย์อีกคนที่สร้าง AI เพื่อจัดการกับไวรัสนั้น คำถามคือ ใครหรือสิ่งใดจะรับบทเป็นผู้ประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลจาก ChatGPT หรือ AI ตัวอื่น ๆ
กล่าวได้ว่า แม้ว่าการเรียนการสอนโดยมี AI เป็นผู้ช่วยจะเป็นอนาคตของการศึกษา สิ่งที่ควรระวังคือการใช้ AI เป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูล เพราะฐานข้อมูลนี้จะมีจำนวนมหาศาล ทั้งยังบรรจุวิธีการคิดและชีวิตของมนุษย์ในทุกมิติ ฮอว์กิงยังเคยแสดงความคิดเห็นไว้ว่า ความสามารถของ AI อาจจะพัฒนาเหนือมนุษย์และเทคโนโลยีเหล่านี้จะแทนที่มนุษย์โดยสิ้นเชิง
ข้อคิดเห็นที่ฮอว์กิงเปรยไว้ตั้งแต่ปี 2017 ค่อย ๆ ปรากฏออกมาในปัจจุบัน จากสถานการณ์ที่การเรียนการสอนกลายเป็นสนามที่ AI เข้ามามีบทบาทอย่างไม่เคยมีมาก่อน และแชทบอททำข้อสอบกฎหมายผ่านฉลุย ขณะที่นักศึกษากฎหมายต้องตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือทั้งเทอม
การหาจุดตรงกลางของการใช้ ChatGPT กับการเรียนการสอน อาจนำไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่า เช่น แล้วมนุษย์โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ควรอยู่ตรงไหนท่ามกลางโลกที่ AI ถูกพัฒนาเรื่อย ๆ หรือระบบการประเมินทดสอบความสามารถของผู้เรียนควรเปลี่ยนแปลงหรือมีหน้าตาอย่างไร เพื่อจะสามารถประเมินทักษะของผู้เรียนได้อย่างตอบโจทย์ของคุณค่าความเป็นมนุษย์มากที่สุด
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อ้างอิง
- ChatGPT ฉลาดแกมโกง มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกเร่งเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน
- ‘As a machine…’ แชทบอททักษะมนุษย์ มันสมองแห่ง AI กับคำเตือนของสตีเฟน ฮอว์กิง
- เป็นเครียด! ‘แชทจีพีที’ สอบกฎหมายสหรัฐฯ ผ่านฉลุย
- เมื่อผมอนุญาตให้นักศึกษาใช้ ChatGPT ทำ Data Science Proficiency Test …
- The newest version of ChatGPT passed the US medical licensing exam with flying colors — and diagnosed a 1 in 100,000 condition in seconds