อาหารกลางวันเป็นมากกว่าความอิ่มท้อง : วิกฤติอาหารกลางวันในเยาวชนไทย

หลาย ๆ คนอาจจะเคยเห็นกระแสวิพากวิจารณ์ประเด็นปัญหาอาหารกลางวันของเด็กวัยเรียนที่น้อยทั้งปริมาณและคุณภาพบนหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง มีคนเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ส่วนตัวจำนวนมากว่า หลาย ๆ คนเคยเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ รวมทั้งลูกหลานก็เคยบ่นว่ากินข้าวโรงเรียนไม่อิ่ม มีแต่เศษผักและวิญญาณเนื้อ แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่นักเรียนทุกโรงเรียนจะมีประสบการณ์ต่ออาหารกลางวันที่ดีหรือได้รับประทานอาหารกลางวันที่อิ่ม อร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพออย่างที่ควรจะเป็น

อาหารกลางวันที่โรงเรียนสำหรับหลาย ๆ ครอบครัวที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาเพียงพอในการเตรียมอาหารเช้า มื้อกลางวันที่โรงเรียน จึงถือเป็นมื้อสำคัญและเป็นมื้อแห่งความหวังที่พวกเขาคิดว่าลูกจะได้กินอิ่มท้องพร้อมกับได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน

โดยเฉลี่ยแล้วปัญหาอาหารกลางวันและความไม่สมดุลของภาวะโภชนาการจะเกิดขึ้นได้ง่ายเป็นพิเศษกับโรงเรียนรัฐบาลภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนจากรัฐบาลตามขนาดของโรงเรียนมื้อละ 21 บาทต่อคน เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น ค่าแม่ครัว ค่าวัสดุที่ต้องใช้ในการปรุงอาหาร เหลือค่าวัตถุดิบอาหารจริง ๆ ประมาณ 10 กว่าบาท 

อุปสรรคหนึ่งที่สำคัญคือ งบประมาณอาหารกลางวันที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบในท้องตลาด กล่าวคือ ราคาสินค้าและวัตถุดิบในปัจจุบันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันสูงตาม ในขณะที่งบประมาณยังจำกัดอยู่เท่าเดิม 

การแก้ไขปัญหาอาหารกลางวันในปัจจุบันมักถูกผลักให้ไปอยู่ที่การบริหารจัดการภายในของแต่ละโรงเรียน ซึ่งยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับโรงเรียนที่มีต้นทุนและทรัพยากรที่กว่าในการจัดสรรอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ หากรัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนการจัดเตรียมอาหารกลางวันเพิ่มเติม เช่น แก๊ส หม้อหุงข้าวหรืออุปกรณ์ในการทำอาหารให้ โดยทางโรงเรียนไม่จำเป็นต้องจะต้องจัดซื้อเองก็จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนในการจัดเตรียมอาหารเพื่อจะได้มีงบประมาณมากขึ้นในการใช้จ่ายกับวัตถุดิบเพื่อจัดสรรอาที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอต่อความต้องการของเด็กได้       

หลาย ๆ คนอาจจะเคยเห็นประเด็นอาหารกลางวันของเด็กวัยเรียนบนหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง โดยคลิปหนึ่งที่เป็นกระแสใน Tiktok ที่ผู้ใช้รายหนึ่ง @kungkang187 ได้โพสต์คลิปอาหารกลางวันของนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมระบุข้อความว่า ‘กับข้าวและข้าวสำหรับเด็กนักเรียน 24 คน อิ่มไหม? ร้องเรียนใครได้ วอนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองใครพอจะช่วยเด็กได้บ้าง’ ซึ่งในคลิปเป็นภาพหม้อที่ใส่ต้มข่าไก่ใส่ฟักที่มีเพียงน้อยนิด เรียกได้ว่าแทบจะติดก้นหม้อ มีเนื้อกับผักน้อยมาก โดยในคลิปมีการตักต้มข่าขึ้นมาแทบจะมีแต่น้ำ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเพียงพอสำหรับนักเรียน 24 คนให้อิ่มท้อง หรือในช่วงวันที่ 11 กันยายน 2566 เพจนิราศเมืองแกลงในเฟซบุ๊ก ได้แชร์ภาพถาดอาหารกลางวันของเด็กอนุบาลโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดระยอง ซึ่งมีข้าวเต็มถาดส่วนกับข้าวมีลูกชิ้น 1 ลูก หมูยอบาง ๆ 2 แผ่นในน้ำซุปและผลไม้ พร้อมข้อความเชิงประชดและเสียดสีว่า ‘คุณค่าโภชนาการมาเต็มจริง ๆ อาหารกลางวันเด็กน้อย #ผู้ปกครองจะไม่ทน’ 

แต่ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ภายหลังจากคลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกไปกลับทำให้มีคนเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ส่วนตัวในอดีตและประสบการณ์ของคนใกล้ชิดจำนวนมากว่า หลาย ๆ คนเคยเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ รวมทั้งลูกหลานก็เคยบ่นว่ากินข้าวโรงเรียนไม่อิ่ม มีแต่เศษผักและวิญญาณเนื้อเป็นต้น ซึ่งความคิดเห็นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้อาหารกลางวันจะเป็นหนึ่งในประสบการณ์เล็ก ๆ ในช่วงวัยเรียนที่ทุกคนเคยสัมผัส แต่ไม่ใช่นักเรียนทุกโรงเรียนจะมีประสบการณ์ต่ออาหารกลางวันที่ดีหรือได้รับประทานอาหารกลางวันที่อิ่ม อร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพออย่างที่พวกเขาสมควรได้รับ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เราไปหาคำตอบพร้อมกันในบทความนี้        

อาหารกลางวันสำคัญอย่างไร ? 

อาหาร (กลางวัน) เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญในการดำรงชีวิตของคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยเด็กหรือวัยเรียน ซึ่งเป็นวัยที่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารเพียงพอ อิ่มท้องเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต และเพิ่มเรี่ยวแรงในการศึกษาเล่าเรียน สถาบัน Food Research & Action Center ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า อาหารกลางวันที่โรงเรียนมีความสำคัญต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของนักเรียนมากกว่าที่หลาย ๆ คนคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนที่มีรายได้น้อย อาหารกลางวันช่วยให้นักเรียนได้รับสารอาหารที่จำเป็นตลอดทั้งวันในการเรียนรู้ การมีอาหารกลางวันที่โรงเรียนฟรีและมีสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการของเด็ก หรือลดราคาอาหารให้ย่อมเยาขึ้นสำหรับนักเรียนที่ต้องซื้ออาหารทานเองจะมีส่วนช่วยลดความไม่มั่นคงด้านอาหาร และอัตราโรคอ้วนในหมู่นักเรียนลงได้

จากการพูดคุยกับผู้ปกครองผู้ไม่ประสงค์เปิดเผยตัวตนของเด็กประถมท่านหนึ่งย่านดินแดง สะท้อนให้ผู้เขียนฟังว่า อาหารกลางวันที่โรงเรียนถือเป็นมื้อที่สำคัญสำหรับเด็กเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วงเช้าตนมีหน้าที่ต้องเตรียมวัตถุดิบและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อไปค้าขาย คนอื่น ๆ ในบ้านต้องเตรียมตัวไปทำงาน ไปรับจ้างต่าง ๆ จึงไม่มีเวลาเพียงพอที่จะเตรียมอาหารเช้าให้ลูกได้ อย่างมากที่สุดทำได้แค่รองท้อง และให้ไปทานมื้อกลางวันที่โรงเรียนเป็นมื้อหลัก มื้อกลางวันสำหรับเธอจึงเป็น ‘มื้อแห่งความหวัง’ ที่เธอคิดว่าลูกจะได้รับประทานอาหารที่อิ่มท้อง มีคุณค่าทางโภชนาการที่สมบูรณ์มากกว่าที่เธอจะสามารถทำได้ที่บ้านในแต่ละวัน 

เชื่อว่าคงมีผู้ปกครองอีกหลาย ๆ บ้านที่ไม่มีเวลา รวมถึงไม่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เพียงพอต่อการซื้อและจัดเตรียมอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ ถ้าหากโรงเรียนสามารถจัดเตรียมอาหารได้ถูกต้องตามหลักทางโภชนาการจะมีส่วนช่วยให้อาหารกลางวันถึงแม้จะเป็นเพียงมื้อเดียวที่โรงเรียน แต่อาจเป็นมื้อหลักของเด็กบางครอบครัวให้เป็นมื้อคุณภาพ ซึ่งมีส่วนช่วยให้สติปัญญาของเด็กได้รับการพัฒนาถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ในห้องเรียนและโลกรอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

21 บาทกับการจัดสรรอาหารกลางวัน : ต้นทุน งบประมาณและนโยบายที่ไม่สอดคล้อง

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขออกมาเปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่าเด็กไทยตั้งแต่อายุ  0 – 14 ปี มีมากถึง         1 ล้านคนที่การเจริญเติบโตไม่ได้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น รวมถึงระบบอาหารในปัจจุบันก็ส่งผลให้เกิดภาวะโภชนาการไม่สมดุลในเด็กวัยเรียน โดยเด็กวัยเรียนมีปัญหาขาดสารอาหารถึงร้อยละ 20 อีกทั้งยังพบการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกหลักโภชนาการทำให้เด็กวัยเรียนเป็นโรคอ้วนได้ถึงร้อยละ 80 โดยปัญหาและความเสี่ยงดังกล่าวมีส่วนสัมพันธ์กับอาหารกลางวันของเด็กที่ไม่มีคุณภาพและสารอาหารที่ไม่เพียงพอ

ประเทศไทยจึงพัฒนาโปรแกรม Thai School Lunch โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สวทช) เพื่อช่วยให้โรงเรียนสามารถคำนวณปริมาณและสัดส่วนทางโภชนาการที่พอเหมาะต่อมื้ออาหารของเด็กได้ ในโปรแกรมจะช่วยกำหนดได้ว่าจะต้องใช้จำนวนปริมาณแคลอรี่เท่าไหร่ ใช้วัตถุดิบเท่าไหร่ต่อเด็ก 1 คนในหนึ่งมื้อ หรือใน 1 สัปดาห์เด็กต้องการอาหารรูปแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับช่วงวัยและร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น เมนูกะทิควรจะให้มี 1 วันต่อสัปดาห์ ข้าวพร้อมกับข้าว 2 อย่าง 3 วันต่อสัปดาห์ และอาหารจานเดียว 1 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปสร้างสรรค์เมนูอาหารได้เหมาะสม เป็นต้น

โดยเฉลี่ยแล้วปัญหาอาหารกลางวันและความไม่สมดุลของภาวะโภชนาการจะเกิดขึ้นได้ง่ายเป็นพิเศษกับโรงเรียนรัฐบาลภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนจากรัฐบาลตามขนาดของโรงเรียน แม้ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2564 ครม.มีมติเห็นชอบ ให้ปรับเงินสนับสนุนค่าอาหารกลางวันโรงเรียนจากมื้อละ 20 บาท เป็นมื้อละ 21 บาทต่อคนครอบคลุมเด็ก ๆ 5.9 ล้านคน รวมถึงมีโปรแกรม Thai school lunch ที่ช่วยคำนวณสัดส่วนและปริมาณสารอาหารที่เหมาะสมต่อวัน แต่อุปสรรคที่สำคัญคือปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างการจัดการงบประมาณอาหารกลางวันที่ไม่ค่อยสอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบ หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ ราคาสินค้าและวัตถุดิบในปัจจุบันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันสูงตาม ในขณะที่งบประมาณยังจำกัดอยู่เท่าเดิม สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คุณภาพอาหารกลางวันของเด็กไม่ได้มาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น

ครั้งหนึ่ง ผอ.อรัญญา พิสุทธากุล ผู้อำนวยการโรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนต้นแบบด้านการจัดการอาหารกลางวันให้สัมภาษณ์ถึงความไม่สอดคล้องของงบประมาณกับการจัดสรรอาหารกลางวันกับสำนักข่าว PPTV ไว้ว่า เมื่อมีงบประมาณมื้อละ 21 บาท ต้องนำไปจัดการค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น ค่าแม่ครัว ค่าวัสดุที่ต้องใช้ในการปรุงอาหาร พอหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วเหลือค่าวัตถุดิบอาหารจริง ๆ แค่สิบกว่าบาท ในสิบกว่าบาทการที่จะจัดให้เด็ก ๆ ได้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่และมีคุณค่าทางโภชนาตามที่แนะนำเป็นไปได้ยาก ประกอบกับบางโรงเรียนที่จ้างเหมาอาหารจากผู้ประกอบการภายนอกพอที่เห็นแก่ได้พอเขาได้เงินน้อย แต่ขณะเดียวกันเขาก็ต้องทำกำไร ผลเลยตกไปอยู่ที่เด็กถูกลดทอนคุณภาพและปริมาณของอาหารลงมาโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่ย้อนกลับมาสู่ตัวเด็กสักเท่าไหร่ หลาย ๆ ครั้งเราจึงเห็นเศษผักและวิญญาณเนื้อสัตว์ปรากฏบนจานอาหารเด็กอย่างที่เป็นข่าวเป็นประจำ

นอกจากงบประมาณที่สวนทางกับราคาวัตถุดิบในตลาดแล้ว การไม่ได้บังคับใช้นโยบายหรือข้อแนะนำทางโภชนาการถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาหารกลางวันขาดคุณภาพ แม้ประเทศไทยจะมีแนวทางในการดูแลอาหารกลางวันให้แก่เด็กวัยเรียนมากมาย อาทิเช่น โรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวันตามจังหวัดและภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพซึ่งเน้นการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ มีการออกแบบมาตรฐานอาหารกลางวันสําหรับเด็กไทย ได้แก่ การดูแลความสะอาดและคุณภาพของเครื่องปรุง การปรุงประกอบอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม ส่งเสริมให้ใช้เกลือไอโอดีนในการประกอบอาหาร ส่งเสริมนักเรียนให้ได้ดื่มนมรสจืดทุกวัน มีโรงอาหารผ่านเกณฑ์มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน เป็นต้น เมื่อหลักเกณฑ์และนโยบายเหล่านี้ไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการและเป็นมาตรฐานเดียวกันทำให้หลาย ๆ ครั้งคนทำงานในภาคส่วนต่าง ๆ กลับรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องทำก็ได้หรือไม่ทำก็คงจะไม่เป็นไร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหลาย ๆ  ภาคส่วนของประเทศจึงพยายามเสนอให้ผลักดันหลักเกณฑ์เหล่านี้ให้เป็นระเบียบปฏิบัติ มีตัวบทที่ชัดเจน มีบทลงโทษ มีการตรวจสอบ และมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอจะมีส่วนช่วยให้ภาคส่วนต่าง ๆ  เคร่งครัดต่ออาหารและโภชนาการของเด็กมากขึ้น

เมื่อระบบพัง อาหารกลางวันต้องพึ่งพาตนเอง

ในสถานการณ์ที่หลาย ๆ โรงเรียนต้องเผชิญกับงบประมาณที่ไม่เพียงพอต่อการจัดสรรมื้ออาหารที่มีคุณภาพ การแก้ไขปัญหาในปัจจุบันมักถูกผลักให้ไปอยู่ที่การบริหารจัดภายในของแต่ละโรงเรียน                  หลาย ๆ โรงเรียนหันมาประกอบอาหารตามวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารบางส่วน ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือเกษตรกรและพ่อค้ารายย่อยในชุมชนให้มีรายได้ หรือโรงเรียนไหนมีพื้นที่ว่างเพียงพอ ก็หันมาปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อใช้ประกอบอาหาร เช่น ผักปลอดสารพิษ เพาะเห็ด หรือสวนกล้วย โดยประยุกต์เป็นกิจกรรมให้เข้ากับการเรียนการสอนรายวิชานอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ตัวเด็กเองจะได้มีส่วนร่วมในมื้ออาหารของตนเองมากขึ้น ได้เรียนรู้การปลูกต้นไม้ด้วยตัวเอง มองเห็นคุณค่าและการเจริญเติบโตของสิ่งที่ตัวเองปลูก ว่าสุดท้ายสิ่งที่พวกเขาได้ร่วมกันสร้างมันมีประโยชน์กับเขาในช่วงที่เขาได้รับประทานเอง

บางโรงเรียนที่ผู้ปกครองมีทุนทรัพย์เพียงพอก็ช่วยสนับสนุนวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ในบางกรณีโรงเรียนต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ใจดีภายนอกเพื่อให้ 1 มื้อของเด็กมีคุณภาพมากที่สุด เช่น โรงเรียนบ้านนาหลวง จังหวัดอุดรธานี เป็นโรงเรียนบนเขา ไม่มีแม้แต่ร้านขนมหรือร้านขายอาหาร คุณครูท่านหนึ่งชื่อ ครูโมณิกา ผู้พยายามสร้างโรงอาหารในฝันของเด็ก ๆ ขึ้น เพื่อให้เด็ก ๆ ได้กินอิ่มและได้ทานเมนูที่อยากทาน ในแต่ละสัปดาห์คุณครูจะคอยถามเมนูอาหารของเด็ก ๆ เพื่อเตรียมตัวลงไปซื้อวัตถุดิบในเมือง เพื่อนำมาทำชุดอาหารกลางวันแบบชุดใหญ่ มีทั้งน้ำ ขนม ผลไม้ให้นักเรียนใน 1 มื้อ และทุกครั้งคุณครูจะถ่ายคลิปอาหารกลางวันเมนู ต่าง ๆ ที่เด็กได้รับประทานลง Tiktok อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ผู้ใหญ่ใจดีหลาย ๆ ท่านติดต่อมาร่วมสมทบทุนค่าอาหารกลางวันกับทางคุณครูเนื่องจากอยากให้นักเรียนได้กินอิ่มและเห็นว่าเงินที่บริจาคถึงเด็ก ๆ จริง โดยวันไหนคุณครูได้เงินบริจาคก็จะเก็บงบประมาณค่าอาหารกลางวันของโรงเรียนในวันนั้นไว้ใช้สำหรับมื้อถัดไปแทน

article_2024_4pic6
ที่มา : https://www.facebook.com/Monikachunkor

เมื่อการแก้ไขปัญหาถูกผลักให้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการของแต่ละโรงเรียนซึ่งมีข้อจำกัดทั้งในแง่ของ ศักยภาพ และทรัพยากรในการจัดสรรวัตถุดิบและอาหารกลางวันที่แตกต่างกันจึงยิ่งเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้กับโรงเรียนที่มีความพร้อมน้อยกว่าท้ายที่สุดผลกระทบจึงตกมาอยู่ที่ตัวเด็ก ต้องรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์และผักอันน้อยนิดอย่างที่เราเห็นกัน การเพิ่มงบประมาณค่าอาหารกลางวันให้ครอบคลุมต่อราคาวัตถุดิบหรือค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมอาหารถือเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยโรงเรียนหลาย ๆ แห่งได้อย่างเท่าเทียม เนื่องจากเป็นการแก้ไขปัญหาที่โครงสร้างโดยตรง แต่การจะแก้ไขนโยบายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนต้องอาศัยเวลาและความใจเย็น อย่างน้อยที่สุดหากรัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนการจัดเตรียมอาหารกลางวันเพิ่มเติมได้ เช่น มีแก๊ส หม้อหุงข้าวหรืออุปกรณ์ในการทำอาหารให้ โดยทางโรงเรียนไม่จำเป็นต้องจะต้องจัดซื้อเองก็จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนในการจัดเตรียมอาหารเพื่อจะได้มีงบประมาณมากขึ้นในการใช้จ่ายกับวัตถุดิบเพื่อจัดสรรอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอต่อความต้องการของเด็กได้

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อ้างอิง

https://www.facebook.com/Monikachunkor

http://hsmi2.psu.ac.th/food/project/223

https://hp.anamai.moph.go.th/th/manuals-of-official/211834

https://www.facebook.com/photo/?fbid=619753223672678&set=pb.100069140174428.-2207520000

https://www.tiktok.com/@monika1136

https://today.line.me/th/v2/article/KwJapJo

https://www.pptvhd36.com/health/food/860

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/144833

+1

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Categories