การเล่น เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 และศตวรรษที่ 20 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากิจกรรมดังกล่าวถูกนิยามและให้ความหมายในหลากหลายรูปแบบ เช่น การเล่นในฐานะหนทางของการฝึกฝนสัญชาติญาณ การเล่นในฐานะหนทางของการระบายความเครียด หรือกิจกรรมที่ช่วยเติมเต็มความคิดสร้างสรรค์และพลังงานให้ร่างกาย จนกระทั้งเกิดทฤษฎีเกี่ยวกับการเล่นขึ้นโดย Thomas Henricks การเล่นจึงไม่เพียงแต่เป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานแต่ยังเป็นกิจกรรมที่มีส่วนช่วยพัฒนาตัวตน ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และยังช่วยสร้างการตระหนักรู้ของเด็กคนหนึ่ง ๆ ขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
สนามเด็กเล่นกับการออกแบบประสบการณ์ของเด็ก
เมื่อพูดถึงการเล่น “สนามเด็กเล่น” ถือเป็นพื้นที่ยอดฮิตของเด็ก ๆ ที่ผู้ปกครองหลาย ๆ คนมักจะพาลูกหลานไปปลดปล่อยพลัง ความเครียดและเปิดโอกาสให้เด็กได้ออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ดีความนิยมที่เพิ่มขึ้นต่อสนามเด็กเล่นก็มาพร้อมกับเสียงสะท้อนถึงปัญหาจากเด็กและผู้ปกครองอยู่บ่อยครั้ง เช่น ‘สนามเด็กเล่นฟรีและมีคุณภาพมีน้อยและหาได้ยาก’ ‘เด็กที่นั่งรถเข็น ไม่สามารถใช้สนามเด็กเล่นได้เหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปเนื่องจากอุปกรณ์การเล่นที่ไม่รองรับ’ อีกทั้งการออกแบบสนามเด็กเล่นในปัจจุบันมักจะหลงลืมสิ่งสำคัญอย่าง ความสนุกสนานและความเพลิดเพลินในการเล่นของเด็กไป เนื่องจากสนามเด็กเล่น มักถูกออกแบบจากมุมมองของสถาปนิกหรือผู้ใหญ่ซึ่งเน้นการจัดสรรพื้นที่ให้มีระเบียบแบบแผน และความเรียบร้อยเป็นหลัก
แต่แท้จริงแล้วเด็ก ๆ จะชอบเล่นในพื้นที่ที่มีลักษณะตรงข้ามกับมุมมองที่ผู้ใหญ่มองว่าควรจะเป็น เด็ก ๆมักจะรู้สึกตื่นเต้นที่ได้สำรวจและทำความรู้จักกับสิ่งรอบตัว ส่งผลให้การเล่นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่แม้จะไม่มีเครื่องเล่นก็ตาม โดยเด็กจะสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างอิสระในการหยิบจับธรรมชาติรอบตัวให้กลายเป็นองค์ประกอบที่ใช้ในการเล่น และพวกเขาจะสามารถร้อยเรียงวิธีการเล่นขึ้นมาเองโดยไม่ได้มีรูปแบบที่ชัดเจนและตายตัว ดังนั้นการจะออกแบบพื้นที่เล่น ผู้ใหญ่จึงไม่ควรให้ความสำคัญแต่เพียงการออกแบบตามคู่มือและทฤษฎีทางการออกแบบเท่านั้น แต่จำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการเล่นของเด็ก รูปแบบการเล่นของเด็กในแต่ละช่วงวัย ลักษณะการใช้งานพื้นที่สำหรับการเล่นของเด็ก และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการรับฟังความต้องการของผู้ใช้บริการสนามเด็กเล่นเพื่อให้การออกแบบพื้นที่เล่นนั้นเหมาะสมกับเด็ก ๆ ในแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น
เด็กเล่นอย่างไรในแต่ละช่วงวัย?
มิลเดรด พาร์เทน (Mildred Parten) นักสังคมวิทยาผู้สนใจศึกษาการเล่นของเด็ก เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า เด็ก ๆ มักจะมีส่วนร่วมในโลกของการเล่นหลากหลายรูปแบบ ซึ่งการเล่นในแต่ละรูปแบบช่วยสะท้อนให้เห็นพัฒนาการของเด็กแต่ละคนผ่านการมีส่วนร่วมในการเล่นประเภทต่าง ๆ โดยการเล่นประเภทแรกเป็นการเล่นตามลำพัง เกิดขึ้นตั้งแต่วัยทารกถึงเด็กอายุประมาณ 2 ขวบ การเล่นตามลำพังเรียกได้ว่าเป็นความพยายามครั้งแรกในการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกใบใหม่ของพวกเขา การเล่นของพวกเขาจะอยู่ในลักษณะการสังเกตสภาพแวดล้อมรอบตัวและเคลื่อนไหวร่างกายไปมาเพื่อเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหวของร่างกาย พวกเขาด้วยความอยากรู้อยากเห็น เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งรอบตัว สร้างความมั่นใจและความเป็นอิสระ ฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ แม้การเล่นลักษณะนี้ อาจจะดูไม่เหมือนการเล่นแบบที่หลาย ๆ คนคุ้นชิ้น แต่ถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาทักษะและร่างกายในอนาคต
การเล่นประเภทที่สอง คือการเล่นแบบคู่ขนานและการเล่นร่วมกับผู้อื่น เป็นการเล่นที่เกิดขึ้นกับเด็กอายุ 3-5 ขวบ เด็ก ๆ วัยนี้จะสนใจการกระทำของผู้อื่นมากขึ้น พวกเขาจะเริ่มมีส่วนร่วมกับเพื่อนรอบตัวในขณะที่ได้เล่น แต่พวกเขายังคงทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น เด็กอาจวาดภาพบนกระดาษแผ่นเดียวกันโดยไม่ตัดสินการออกแบบของกันและกัน หรืออาจแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าระหว่างกันขณะเล่นเกมแต่งตัวเป็นต้น การเล่นร่วมกันจะช่วยให้พวกเขาฝึกฝนทักษะที่ได้รับจากการเล่นระยะอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น การสื่อสารด้วยวาจา การทำงานเป็นทีม และการแบ่งปัน อีกทั้งพวกเขายังจะได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เช่น ความมีน้ำใจ ความเห็นอกเห็นใจ และการประนีประนอมจากกิจกรรมต่าง ๆ ขณะการเล่น ซึ่งทักษะเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสร้างพัฒนาทางสังคมและอารมณ์ในวัยเด็กขึ้น
การเล่นร่วม : หัวใจของการออกแบบสนามเด็กเล่นในศตวรรษที่ 21
การทำความเข้าใจรูปแบบการเล่นของเด็กในช่วงวัยต่าง ๆ ถือเป็นมุมมองสำคัญที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการออกแบบสนามเด็กเล่นในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยสนามเด็กเล่นควรถูกออกแบบให้สอดรับกับพัฒนาการและการเคลื่อนไหวของเด็กในแต่ละช่วงวัย การสร้างสนามเด็กเล่นจึงควรให้ความสำคัญต่อการจัดสรรพื้นที่ให้กว้างขวางและเพียงพอต่อการทำกิจกรรมทางกายของเด็ก เพื่อส่งเสริมการรับรู้และกระตุ้นประสาทสัมผัสทางด้านการมองเห็น การได้กลิ่น การได้ยิน การสัมผัส รวมถึงสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน และวัตถุสิ่งของรอบตัว เปิดโอกาสให้เด็กได้มีกิจกรรมที่ได้ขยับร่างกายอย่างอิสระและท้าทายความสามารถตนเอง เช่น การปีนป่าย การวิ่งเล่น และการกระโดดข้ามเครื่องเล่นไปมา การสร้างพื้นที่เล่นของเด็กจึงควรให้ความสนใจต่อแง่มุมของความปลอดภัยและให้ความสำคัญต่อการออกแบบที่สอดรับกับการใช้งานของเด็กไปพร้อม ๆ กัน
ในแง่มุมของความปลอดภัย ‘สนามเด็กเล่น’ ถือเป็นจุดเสี่ยงอันตรายลำดับต้น ๆ ที่มักพบปัญหาอุบัติเหตุเกิดกับเด็กมากที่สุดเนื่องจากสนามเด็กเล่นจะมีเครื่องเล่นให้เด็ก ๆ ได้สนุกกันเต็มที่ เช่น อุปกรณ์ปีนป่าย อุปกรณ์เคลื่อนไหว ชิงช้ากระดานลื่น เป็นต้น แม้ความเสี่ยงจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกสนุกสนาน สิ่งที่ทำได้มากที่สุดคือการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แล้วออกแบบพื้นที่เพื่อช่วยลดอันตรายเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด โดยเครื่องเล่นที่ปลอดภัยเหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็ก พบว่าไม่ควรสูงเกิน 120 เซนติเมตร พื้นสนามเด็กเล่นควรเป็นพื้นเรียบและปูด้วยวัสดุอ่อน เช่น ทราย พื้นยางสังเคราะห์ EPDM (Ethylene Propylene Diene monomer) เป็นต้น จะช่วยรองรับแรงกระแทกและกันลื่น ถ้าหากเด็กพลัดตกจากเครื่องเล่นผู้ดูแลสถานที่ควรต้องตรวจสอบว่าเครื่องเล่นยึดติดกับพื้นอย่างแน่นหนาหรือไม่ โดยเฉพาะเครื่องเล่นที่หมุนหรือเคลื่อนที่ได้ เช่น ชิงช้า เพื่อไม่ให้เครื่องเล่นล้มทับเด็ก หากพบเครื่องเล่นชำรุดควรรีบแจ้งช่างมาดำเนินการแก้ไขทันที
การออกแบบพื้นที่เล่นที่ดียังควรออกแบบให้รองรับกับการใช้งานของเด็กหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือควรออกแบบพื้นที่เล่นให้เด็กทุกคนสามารถพูดคุย สร้างปฏิสัมพันธ์และเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นระหว่างกันได้โดยไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง การออกแบบและการเข้าถึงพื้นที่ในลักษณะนี้เรียกว่า Inclusive playground หรือเรียกได้ว่าเป็นการออกแบบพื้นที่เพื่อการเล่นร่วมกัน ถือเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่เล่นที่เน้นความสนุกสนานไปพร้อม ๆ กับสร้างพื้นที่เล่นที่พยายามโอบรับเด็กที่มีเงื่อนไขทางร่างกาย สภาวะทางอารมณ์และจิตใจที่แตกต่างกัน การสร้างพื้นที่เล่นและอุปกรณ์ในการเล่นจึงมีรูปแบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการเล่นให้กับเด็ก ๆ ทุกกลุ่ม เช่น มีทางลาดที่อำนวยความสะดวกให้กับเด็กที่ใช้รถเข็นหรือมีความพิการทางการเคลื่อนไหว มีอุปกรณ์และสัญลักษณ์นำทางเพื่อช่วยเหลือเด็กที่เป็นผู้พิการทางสายตา หรือเด็กที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมก็สามารถเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อเล่นร่วมกันกับเพื่อนคนอื่น ๆ ได้ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมกับการเล่นในพื้นที่ของเด็กด้วยเช่นกัน ซึ่งช่วยกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างตัวเด็กและผู้ปกครองให้แน่นแฟ้นกันมากขึ้น การที่ผู้ปกครองเข้ามาดูแลผู้เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ทำความรู้จักบุตรหลานของตัวเองในแง่มุมใหม่ ๆ ที่อาจไม่เคยปรากฏในชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไปแต่ปรากฏได้เล่นหรือได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่น ๆ
การออกแบบพื้นที่เล่นตามแนวคิดการเล่นร่วมกันนี้ชักชวนให้ผู้ใหญ่และนักออกแบบหลาย ๆ คนหันไปให้ความสนใจต่อการเสริมสร้างประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสที่หลากหลายในการเล่นของเด็ก ๆ มากขึ้น เช่น การเลือกเครื่องเล่นที่มีสีสันสดใส มีรูปร่างรูปทรงมองเห็นได้ชัดเจน ใช้เสียงดนตรีเข้ามามีส่วนร่วมกับการเล่นของเด็ก รวมไปถึงการออกแบบพื้นที่เล่นที่เอื้อให้เด็กได้สัมผัสกับพื้นผิวที่หลากหลาย พร้อมไปกับส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้เคลื่อนไหวและขยับตัวอย่างอิสระไปพร้อม ๆ กันโดยไม่ได้ทิ้งเด็กคนหนึ่งคนใดไว้ข้างหลัง การสร้างพื้นที่เล่นที่เอื้ออำนวยให้ทุกคนเล่นด้วยกัน ช่วยเหลือกัน และเติบโตไปพร้อมกัน ถือเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่สำคัญของการเติบโตทางร่างกาย อารมณ์และพัฒนาการในวัยเด็กที่เป็นรากฐานสำคัญในการเจริญเติบโตในอนาคต
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อ้างอิง
http://eprints.mdx.ac.uk/5028/%0Awww.playengland.org.uk.
https://files.eric.ed.gov/fulltext/EJ1023798.pdf