โลกร้อน หัวร้อน : ภาวะโลกร้อนกลายปัจจัยสำคัญ ในการ“เลือกงาน”ของคน Gen Z

  • การสำรวจของ Verywellmind ระบุว่าคน Gen Z เป็นกลุ่มที่รู้สึกกังวลเรื่องภาวะโลกร้อนมากที่สุด ทั้งยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับแรก
  • การสำรวจของบริษัท Deloitte ในปี 2018 ระบุว่า กว่า 77% ของกลุ่มคน Gen Z ในสหรัฐอเมริกา คิดว่าการทำงานในองค์กรที่มีจุดยืนแบบเดียวกับพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญ
  • อัตราคนทำงานในสายสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทว่า งานเหล่านี้จ่ายค่าแรงน้อย คนทำงานได้รับค่าแรงไม่คุ้มกับแรงงานที่ต้องเสียไป ทำให้อัตราการหมดไฟ (Burnout) สูง และกลายเป็นงานของกลุ่มคนที่มีฐานะทางครอบครัวดีหรือเป็นคนมีฐานะ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่อง ‘ค่าตอบแทน’ ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของกลุ่มคน Gen Z
article_2024_6pic1
เครดิตภาพ : iStock

กลุ่มคน Gen Z ถูกมองว่าเป็นอนาคตของสังคมโลก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับบริบทสังคมยุคใหม่ที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทำให้ Gen Z ถูกรายล้อมด้วยเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ทว่า ในโมงยามของความทันสมัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาประดับโลก ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change กลายเป็นปัญหาสำคัญ ที่คน Gen Z รู้สึกกังวลมากที่สุด

ความกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของคน Gen Z แสดงออกมาผ่านการเลือกงานและสถานที่ทำงานที่ “คำนึงถึงโลก” มากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เราไปหาคำตอบด้วยกันเลยดีกว่า!

โลกร้อนกับเสียงสะท้อนของ Gen Z

หากลองมองดูตลอดช่วงปี 2023 ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าโลกของเราได้เผชิญกับ “ภัยธรรมชาติ” ที่รุนแรงหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก คลื่นความร้อนที่ส่งผลให้อากาศร้อนจัดในหลายประเทศ หรือปัญหาไฟป่าที่สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมาย

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติได้ออกมาประกาศว่าโลกได้เข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” (Global Boiling) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

จากการสำรวจของ Verywellmind ระบุว่าคน Gen Z เป็นกลุ่มที่รู้สึกกังวลเรื่องภาวะโลกร้อนมากที่สุด ทั้งยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับแรก สอดคล้องกับงานวิจัยของมินเทล ผู้เชี่ยวชาญด้านความต้องการของผู้บริโภค ที่ระบุว่า Gen Z ในประเทศไทยมากกว่า 36% ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ไม่เพียงแค่พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคของคน Gen Z เท่านั้นที่เปลี่ยนไป แต่พวกเขายังแสดงออกถึงความเชื่อและจุดยืนเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านอาชีพการงาน เช่น ลิลเลียน โจว เด็กสาวผู้เติบโตในรัฐมิชิแกนผู้ผ่านเหตุการณ์ภัยพิบัติมาหลายครั้ง ทำให้เธอเลือกทำงานกับ GRID Alternative องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมไม่แสวงหาผลกำไรที่เน้นเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์

“การได้รู้ว่าฉันทำงานให้กับองค์กรที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม ก็ทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเองกำลังทำบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าการได้รับเงินเดือน ซึ่งนั่นแหละที่ทำให้ฉันรู้สึกมีคุณค่า” ลิลเลียนกล่าว

เลือกงานที่สอดรับกับความเชื่อตัวเอง

ผลการสำรวจของบริษัท Deloitte ในปี 2018 ระบุว่า กว่า 77% ของกลุ่มคน Gen Z ในสหรัฐอเมริกา คิดว่าการทำงานในองค์กรที่มีจุดยืนแบบเดียวกับพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากปัญหาทางสังคมเป็นประเด็นที่คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อม

สอดคล้องกับรายงานของบริษัทประกันชีวิต Bupa ในสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2021 ที่พบว่า 64% ของผู้ตอบแบบสอบถาม อายุระหว่าง 18 – 22 ปี คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ที่บริษัทจะออกมาขับเคลื่อนในประเด็นสิ่งแวดล้อม ขณะที่ 59% เลือกจะทำงานในบริษัทที่คิดถึงสังคม

เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ในออสเตรเลียก็เลือกจะลาออกจากบริษัทที่ไม่ยอมแสดงท่าทีต่อปัญหา Climate Change

ความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้อยู่ในแวดวงการทำงานเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายเข้าไปในแวดวงการศึกษาด้วย 

เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยมองหาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มหาวิทยาลัยจึงต้องเปิดสอนหลักสูตรที่มีความเกี่ยวเนื่องกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานที่ผันตัวมาให้ความสำคัญกับปัญหาสภาพแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) ที่เปิดสอนหลักสูตรเรื่อง “ความยั่งยืน”  ตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งจำนวนผู้เข้าเรียนก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี

งานนี้เงินน้อย (ก็ไม่เป็นไร)

แม้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ขณะที่คนรุ่นใหม่มากมายก็อยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทว่า จำนวนงานที่เปิดรับกลับสวนทางกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ โดยรายงาน Global Green Skills ของเว็บไซต์ LinkedIn ประจำปี 2022 ระบุว่า บุคลากรที่มีความสามารถในการสร้างผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม (Green Talent) มีอัตราการเพิ่มขึ้น 38.5% จากสัดส่วน 9.6% ในปี 2015 เป็น 13.3% ในปี 2021 

ขณะที่อัตราคนทำงานเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี แต่งานเพื่อโลกเหล่านี้กลับจ่ายค่าแรงน้อย คนทำงานได้รับค่าแรงไม่คุ้มกับแรงงานที่ต้องเสียไป เป็น “งานอุดมการณ์” ที่ได้เงินน้อย อัตราการหมดไฟ (Burnout) สูง จึงทำให้มันกลายเป็นงานของกลุ่มคนที่มีฐานะทางครอบครัวดีหรือเป็นคนมีฐานะ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องค่าตอบแทน ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของกลุ่มคน Gen Z ผลการสำรวจล่าสุดของสหรัฐฯ ชี้ว่า คน Gen Z มากกว่า 51% ยอมรับเงินเดือนที่น้อยกว่า หากบริษัทนั้นตระหนักถึงเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือโลกใบนี้

article_2024_6pic2
เครดิตภาพ : Pexel

สุดท้าย ปัญหาสภาพแวดล้อมจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หากมนุษย์ยังเดินหน้า ‘ทำร้าย – ทำลาย’ ธรรมชาติอย่างไม่หยุดยั้ง คนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติตั้งแต่เกิดหรือจำความได้ จึงจำเป็นต้องลุกขึ้นมาปกป้องโลกใบนี้เพื่ออนาคตของพวกเขา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกในตอนนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผลลัพธ์ของการกระทำของเราทุกคน 

ดังนั้น ไม่ว่าจะอายุมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นสมาชิก Gen อะไร ก็จำเป็นต้องตระหนักอยู่เสมอว่าไม่ควรทำร้ายโลกใบนี้ให้บอบช้ำมากไปกว่านี้อีกแล้ว

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อ้างอิง

https://news.linkedin.com/2022/february/our-2022-global-green-skills-report

https://grist.org/fix/advocacy/how-gen-z-is-mentoring-their-elders-climate-action/

https://www.bbc.com/worklife/article/20220225-how-climate-change-is-re-shaping-the-way-gen-z-works

https://www2.deloitte.com/us/en/pages/consumer-business/articles/understanding-generation-z-in-the-workplace.html

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Categories