“เพราะบ้านนอก จึงเจ็บปวด” สำรวจ ความเหลื่อมล้ำและการกระจายอำนาจ ผ่าน 3 เยาวชนท้องถิ่นในหนังไทย

  • ภาพยนตร์ไทยจำนวนไม่น้อยมีตัวเอกเป็นเด็กต่างจังหวัด ฉากที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ฉากการเดินทางจากต่างจังหวัดสู่เมืองกรุง หรือจากเมืองกรุงสู่บ้านเกิด ถ่ายโอนไปมาด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่หน้าตาไม่เปลี่ยนไปมากระหว่างหนังย้อนยุคกับหนังที่ใช้เส้นเรื่องปัจจุบัน

  • นี่คือเรื่องราวของ 3 ตัวละครเด็กต่างจังหวัดในหนังไทยที่สะท้อนความแปลกแยกอย่างมีมิติ เอใน Blue Again (2022) ซูใน Where We Belong (2019) และเฮียป่องจากจักรวาล ไทบ้านเดอะซีรี่ส์ (2017-ปัจจุบัน) ชีวิตของพวกเขานั้นไม่ง่าย แม้มีศักยภาพเอื้อมถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการ

  • ความเหลื่อมล้ำในภาพใหญ่ดูเป็นเหตุเป็นผลอย่างดีว่า ทำไมไฟถนนที่ต่างจังหวัดยังคงส่องสว่างไม่เท่าเมืองหลวง ทำไมความเงียบสงบจึงผลักไสไล่ส่งให้เด็กต่างจังหวัดโหยหาสิ่งที่ดีกว่าจนคล้ายเป็นแรงขับในระดับจิตไร้สำนึก และเมื่อพวกเขาทะยานออกไปได้ไม่ไกลพอ ก็ต้องใช้ชีวิตต่อไปจนถึงตอนจบของหนังที่มักทิ้งไว้เป็นคำถามปลายเปิด

ภาพยนตร์ไทยจำนวนไม่น้อยมีตัวเอกเป็นเด็กต่างจังหวัด ฉากที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ฉากการเดินทางจากต่างจังหวัดสู่เมืองกรุง หรือจากเมืองกรุงสู่บ้านเกิด ถ่ายโอนไปมาด้วยขนส่งสาธารณะที่หน้าตาไม่เปลี่ยนไปมากระหว่างหนังย้อนยุคกับหนังที่ใช้เส้นเรื่องปัจจุบัน

ทว่าในหลายเรื่อง ภาพของต่างจังหวัดมีลักษณะแช่แข็ง คล้ายสถานที่ตากอากาศให้เหล่าตัวละครพักผ่อน นึกย้อนถึงวัยเด็กอันหอมหวาน ปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่จึงมีน้อย ทิ้งให้ร่องรอยของความไม่เท่าเทียมระหว่างเมืองกับชนบทเป็นสิ่งสามัญ 

บางเรื่องก็ทำหน้าที่ถ่ายทอดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสได้อย่างถึงแก่น เช่น ฉากและชีวิต (2018) ของบุญส่ง นาคภู่ ที่เล่าเรื่องราวชีวิตทั่วหมู่บ้าน ‘วังพิกุล’ ในสไตล์สมจริง ซึ่งฉากสุดท้ายของหนัง คือพ่อที่ขี่มอเตอร์ไซค์มาส่งลูกสาวที่ท่ารถ ลูกสาวกำลังเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำในโรงงาน เป็นตั๋วเที่ยวเดียวจนกว่าเธอจะใช้หนี้จนหมด

ขณะที่กลุ่มตัวละครชนชั้นกลางในต่างจังหวัด ก็มักเผชิญภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ติดแหง็กระหว่างความรู้สมัยใหม่จากการศึกษากับสิ่งเดิม ๆ ที่เป็นรากเหง้า ฝังทับอยู่ในดีเอ็นเอ ให้ทั้งความอบอุ่นและความซังกะตาย ครั้นจะหาที่ทางของตัวเองก็เผชิญอุปสรรคมากมาย 

ในต่างจังหวัด พวกเขามีสิ่งร่วมกัน 2 สิ่ง หนึ่ง-มอเตอร์ไซค์สำหรับขับขี่ลากเลื้อย เชื่อมแต่ละสถานที่ที่รถประจำทางเชื่อมไม่ถึง สอง-ความรู้สึกโหยหาถึงสิ่งที่ดีกว่า อาจจะเป็นที่อยู่ งาน การเรียน หรือครอบครัว (บางคนก็ไม่รู้ว่าต้องการอะไร แต่ที่แน่ ๆ คือไม่ต้องการสิ่งที่เป็นอยู่)

ถัดจากนี้คือ 3 ตัวละครเด็กต่างจังหวัดในหนังไทยที่สะท้อนความแปลกแยกอย่างมีมิติ เอ หญิงสาวสกลนคร ปณิธานสืบทอดโรงย้อมครามของเธอถูกทดสอบใน Blue Again (2022) ซู เด็กสาวท่าใหม่ จันทบุรี ผู้ต้องเตรียมตัวเรียนต่อที่ฟินแลนด์ ประเทศที่เธอรู้แต่เพียงว่าหนาวกว่าที่ไทยใน Where We Belong (2019) และเฮียป่องจากจักรวาล ไทบ้านเดอะซีรี่ส์ (2017-ปัจจุบัน) ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของผู้ใหญ่บ้าน ผู้หอบปริญญาจากเมืองหลวงมาพบความล้มเหลวทางธุรกิจที่บ้านเกิด   

พวกเขาคือตัวละครที่ดีพอจะกำหนดเส้นทางชีวิตของตัวเอง หากแต่หนทางไม่เรียบง่ายนักใน พ.ศ. ที่ดัชนีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นในบ้านเรา

article_2024_7pic1
ฉากและชีวิต (2018)

เอ | ย้อมคราม (และจูน) ไม่ติดที่บ้านเกิด

เอจับรถทัวร์กลับบ้านช่วงปลายปี แววตาเธอสะท้อนความกังวลต่ออนาคตอันใกล้ โปรเจคต์จบปริญญาตรีของเธอขึ้นอยู่กับการย้อมคราม หากครามย้อมไม่ติดดั่งใจหวัง ภาพของบัณฑิตแฟชั่นมีอันสลายหายไป

Blue Again (2022) ภาพยนตร์โดย ฐาปณี หลูสุวรรณ เล่าเรื่องราวชีวิตมหาลัยของ เอ (ตะวัน จริยาพรรุ่ง) สาวลูกครึ่งฝรั่ง-สกลนคร ผู้ร่ำเรียนแฟชั่นในกรุงเทพฯ เพื่อหวังต่อยอดโรงย้อมครามที่บ้านเกิด แน่นอนว่าชีวิตมหาลัยของเอไม่ง่าย ทั้งภาระค่าใช้จ่ายแสนแพง ความทะเยอทะยานส่วนตัว ไลฟ์สไตล์ที่ไม่ถูกจริตกับเพื่อนในคณะ สภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อต้นคราม แม่ที่โหยหาชีวิตที่ดีกว่า อัตลักษณ์ลูกครึ่งตาฟ้า ไหนจะสภาพการเมืองกลางทศวรรษ 2550 (เส้นเวลาของหนัง) ที่เสกให้ภาวะพะอืดพะอมเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า

เรื่องราวตัดสลับระหว่างเทอมสุดท้ายของเอที่ต้องปลุกปั้นคอลเลคชั่นผ้าครามให้เสร็จกับชีวิตมหาลัยตั้งแต่ปี 1 เอสมัยเฟรชชี่คือคนโนสนโนแคร์ เธอมีเป้าหมายในการเรียนออกแบบชัดเจน ดังนั้น กิจกรรมเสริมสร้างความเป็นหมู่คณะจึงอยู่นอกสายตาเธอ จนกระทั่งแพร (อสมาภรณ์ สมัครพันธ์) เพื่อนสาวพลังบวกชวนเธอเข้ากิจกรรมรับน้อง 

แพรคือมนุษย์สายพันธุ์ที่อยากเป็นเพื่อนกับทุกคน เธอสนับสนุนแบรนด์ผ้าครามเล็ก ๆ ของเอ ร่วมหัวจมท้ายตั้งแต่ตัดเย็บ แพ็คและส่งของ แลกกับโจ๊กเจ้าโปรดกับส่วนแบ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ทว่าสิ่งที่ค่อย ๆ แยกทั้งสองคน คือกิจกรรมคณะที่แพรดูปันใจให้มากกว่า

เอรู้ตัวว่าเพื่อนคนเดียวในกรุงเทพฯ เริ่มห่างเหิน ประกอบกับความแปลกแยกของเอจากอัตลักษณ์ลูกครึ่งฝรั่งแต่กลับเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่พอ ก็ยิ่งทำให้เธอแตกต่างจากคนอื่น สิ่งนี้เผยให้เห็นในฉากหนึ่ง ริชชี่ เพื่อนชาวกรุงเทพฯ อาสาขับรถพาเอไปส่งหอพัก เมื่อริชชี่รู้ว่าเอมาจากสกลนคร ก็พูดไปว่า “ก็คนลาวอะสิ”

“เอาจริง คนแถวบ้านมีเชื้อสายเวียดนาม เรียกว่าคนญวน บางคนก็พูดฝรั่งเศสได้” เอตอกกลับ พร้อมย้ำว่า ความเป็นลูกครึ่งของริชชี่ก็ไม่ได้ทำให้ทักษะภาษาอังกฤษถึงขั้นดีเลิศ ฉากนี้สะท้อนภาพเหมารวม การตอบโต้ และการกลบเสียงของความเห็นที่ไม่ลงรอย เพราะท้ายสุด ริชชี่พูดเพียงว่า “โธ่ จริงจังไปได้” และฉากก็เปลี่ยนไป ขณะเดียวกัน ฐานะทางบ้านของเอก็ไม่ได้มั่นคง เราอนุมานจากหนังได้ว่า เธอกู้ กยศ. ตั้งแต่ ม.ปลายและที่ดินซึ่งใช้ปลูกต้นครามที่บ้านเกิดถูกขายโดยที่เธอไม่รู้ตัว

เอโอบรับเงื่อนไขทุกอย่างในชีวิต ใช้มันเป็นแรงผลักดันให้เธอมุ่งตามเป้าหมาย ถึงอย่างไร เธอก็ไม่ใช่ตัวละครที่เราอยากเอาใจช่วย ความทะเยอทะยานของเธอนำไปสู่การใช้อัตตาเพื่อแก้ปัญหา พร้อมใช้งานเพื่อนและรุ่นน้องชนิดขูดรีด ละเลยการประนีประนอม ปฏิเสธความเห็นและความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง แต่มองในอีกมุม นั่นเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เธอมีปากมีเสียงขึ้นมาในคณะ เป็นเสียงที่ไม่เสนาะหู แต่ถูกรับฟัง จน คอลเลคชั่นของเอได้โหวตให้เป็นธีสิสปิดในแฟชั่นโชว์แสดงผลงานปีสุดท้าย

แม้เอจะแสดงท่าทีขบถต่อวัฒนธรรมรวมหมู่ แต่เธอกลับไม่ได้ต่อต้านอย่างเบ็ดเสร็จ เอยอมใช้สเปรย์พ่นผมดำจนจบรับน้องและมีท่าทีลังเลว่าควรจ่ายค่าทริปภาคหรือไม่ แตกต่างจากกันต์ เพื่อนมหาลัยซึ่งมีสถานะเป็น ‘หลืบคณะ’ เขาปฏิเสธวัฒนธรรมเจืออำนาจนิยมอย่างเปิดเผยและมั่นคง ทำให้กันต์และเอมีความรู้สึก ‘เป็นอื่น’ เชื่อมโยงเข้าไว้ ความน่าสนใจคือ สิ่งเหล่านี้ดูจะไม่ใช่ความเป็นอื่นมากนักหากท้องเรื่องเกิดในทศวรรษ 2560 ที่กลุ่มนักศึกษาสั่นคลอนหลากหลายประเด็นในสังคม กล่าวอีกอย่างคือ Blue Again นำเสนอภาวะน้ำท่วมปากในทศวรรษ 2550 ได้อย่างดี

ภาวะเงียบจนอึดอัดยังสะท้อนอย่างอ่อนๆ ผ่านวรรคทองของหยก รุ่นพี่ดาวคณะที่อธิบายให้เอฟังว่า ครอบครัวของเธอเคยล้มละลายและกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง นั่นเป็นเหตุให้เธอทำงานทุกวี่ทุกวัน (จนต้องเรียกรุ่นน้องสายรหัสมาช่วย) 

“เวลาแกเห็นฉันอยู่กับกลุ่มคน ไม่ได้หมายความว่าฉันอยู่กับเพื่อนหรอก แค่มันต้องอยู่” หยกชี้ให้เอเห็นว่า เธอไม่ได้ใกล้ชิดกับเพื่อนรุ่นเดียวกันอย่างสนิทใจ

กล่าวได้ว่า ตัวละครอย่างเอ กันต์ หรือหยก เพียงแต่ตระหนักถึงตัวเองมากพอจนไม่ไหลไปกับกระแสธารของยุคสมัยที่ใช้คุณค่าของหมู่คณะอันน่ากังขาเป็นกาวยึดสังคมมหาลัยไว้ และ Blue Again นำเสนอภาวะนี้ได้อย่างลุ่มลึก

เอ สาวมหาวิทยาลัยปี 4 เหม่อมองไปที่ไฟถนนเรื่อแสงฟุ้งๆ ตามรายทาง เธอกลับบ้านเพื่อย้อมครามเองและเที่ยวเทศกาลแห่ดาว ก่อนพบว่า แม่ของเธอเดทออนไลน์กับฝรั่งและมีแผนย้ายประเทศในอีก 3 เดือน มากไปกว่านั้น สุเมธเพื่อนรักก็ปลงใจบวชพระให้ย่า เพราะคิดว่าการเบนเข็มจากพระคริสต์สู่พระพุทธจะช่วยชีวิตย่าของเขา ดังนั้น เอจึงรู้อยู่เต็มอกว่า เมื่อเธอเรียนจบในอีกไม่กี่เดือน เธอจะไม่เหลือใคร ทั้งที่สกลนครและกรุงเทพฯ บาดแผลที่เธอได้รับจะไม่มีวันหายเหมือนกับพันธุกรรมคอเคซอยด์ของเธอ ขณะเดียวกัน แผลใจที่เธอมอบให้คนรอบข้างก็ไม่หายไปเช่นกัน 

ตลอด 3 ชั่วโมงของหนัง โลกถีบให้เอต้องหัดยิ้มกับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาและก้าวออกไป สิ่งเดียวที่มั่นใจได้ เอจะพบหนี้ กยศ. ที่มีระยะปลอดหนี้ 2 ปีหลังเรียนจบ และเธอต้องชำระหนี้ กยศ. ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี นับแต่วันชำระหนี้ หากอยู่ในเมืองหลวงต่อ เธอต้องแบกค่าเช่าที่พักจนหลังแอ่น หวังเพียงแต่ฝีไม้ลายมือในการตัดเย็บจะช่วยให้เธอมีรายได้เพียงพอ

 ซู | ไปไหนก็ได้ เพราะบ้านไม่ belong

article_2024_7pic4
Where We Belong (2019)

“Why did you choose Finland?”

“I just picked anywhere to get away from here.”

บทสนทนาข้างต้นมาจากฉากที่ซู (เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) เตรียมตัวขอทุนเรียนต่อต่างประเทศ เมื่อครูสอนพิเศษถามว่า ทำไมถึงเลือกประเทศฟินแลนด์ เธออมยิ้มแก้เขิน ก่อนค่อยๆ ตอบอย่างจริงใจว่า หนูแค่เลือกที่ไหนก็ได้ที่ไกลจากที่นี่

ฉากนี้ปรากฏใน Where We Belong (2019) เล่าเรื่องราว ‘การเก็บกระเป๋า’ ของซูในอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ก่อนบินไปเรียนต่อที่ฟินแลนด์ โดยมีเบล (แพรวา สุธรรมพงษ์) เพื่อนรักรับหน้าที่พาขี่มอเตอร์ไซค์ร่ำลาผู้คน เพื่อน บ้านเกิด รวมถึงชำระแก้ปมอดีตกับแม่ผู้ล่วงลับ

เส้นเวลาของ Where We Belong อยู่ระหว่างหลังจบ ม.6 จนถึงกำหนดบินของซู เพื่อนหลายคนทำงานพิเศษรอผลสอบมหาวิทยาลัย และทุกคนดูพึงพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ แต่การที่ซูรับบทช่วยพ่อขายก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงที่บ้าน พร้อมกับแบกรับความคาดหวังว่าต้องเป็นผู้สืบทอดกิจการ เธอกลับรู้สึกปฏิเสธภาระนี้ ก่อนเลือกขอทุนเรียนต่อที่ฟินแลนด์จนสำเร็จ

ความรู้สึกแปลกแยกของซูกับบ้านเกิดคุกรุ่นอยู่ในใจ คลอเคลียไปกับภาพของต่างจังหวัดที่บรรยากาศของทุกวันเหมือนกันอย่างแยกไม่ออกจนคล้ายเป็นภาพสีพื้นน่าเบื่อ กลางคืนผ่านไปช้าเชือนแม้จะมีเสียงท่อเด็กแว้นบรรเลงอยู่พื้นหลัง ตลาดสดยามเช้าก็ปรากฏใบหน้ารู้จักมักคุ้นที่ลูกค้าประจำจับจ่ายซื้อของ สิ่งเหล่านี้ดำเนินต่อไป แม้ว่าการไปต่างประเทศจะน่าตื่นเต้นก็ตามที กล่าวคือ ความตื่นตาตื่นใจที่รอซูถูกฝังด้วยความซังกะตายในชีวิตประจำวันอย่างน่าเสียดาย

สิ่งที่ทำให้ไดนามิกของชีวิตซูกระเตื้องขึ้น คือการเข้ากรุงเทพฯ เป็นเพื่อนเบล เพื่อเยี่ยมแม่ของเบล สิ่งนี้แสดงความต่างระหว่างเมืองหลวงกับต่างจังหวัดในตัวของมันเอง กรุงเทพฯ ทำให้จังหวะของหนังดูเร็วขึ้นเล็กน้อย แม้แต่บทของแม่เบลก็ดูเร็วขึ้นผิดแผกจากบทสนทนาของเหล่าตัวละครในจันทบุรี หลังร่ำลากับแม่เบลที่สถานีขนส่งเอกมัย เบลทิ้งข้าวของทั้งหมดที่แม่ซื้อให้ นั่งรถทัวร์กลับจันทบุรีอย่างเหนื่อยล้า ไฟทางค่อย น้อยลงตามระยะทางที่ห่างจากกรุงเทพฯ ในที่สุดถนนก็มีเพียงไฟหน้ารถและแสงสะท้อนจากป้ายข้างทาง เบลถึงบ้าน รู้ตัวเองชัดเจนยิ่งกว่าเก่า ชีวิตเธออยู่ที่นี่ ไม่ใช่เมืองอื่น ชีวิตของพวกเขาจึงเข้าสู่ระนาบปกติ เหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

article_2024_7pic5
Where We Belong (2019)

Where We Belong ออกฉายในมิถุนายน 2562 ขณะที่ฉากขอทุนของซูมีปัญหาบางอย่าง เธออ้างว่าเธอมีสิทธิเลือกตั้งแล้ว จึงสมควรได้ทุนโดยไม่จำเป็นต้องมี ‘ผู้ปกครอง’ ยินยอม ทว่ากรรมการตอบกลับแกมขันว่า “แล้วเธอได้เลือกตั้งสักครั้งยังล่ะ” สิ่งนี้สะท้อนว่า แม้ซูจะมีศักยภาพเพียงพอ แต่ชีวิตของเธอก็ไปต่อไม่ได้หากพ่อไม่อนุมัติ คล้ายสภาวะทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 ที่สังคมไทยพร้อมแล้วสำหรับการเลือกตั้งที่โปร่งใส

ส่วนพ่อของซูลงทุนไปหาร่างทรงเพื่อคุยกับแม่ผู้ล่วงลับให้รั้งซูไว้ แต่ผลกลับกลายเป็นว่า แม่ซูก็ไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ที่นี่’ เช่นเดียวกัน

ความแปลกแยกในใจซูจึงอาจเป็นผลมาจากนิยามของบ้านที่ต่างกัน บ้านเป็นทั้งสถานที่ที่อบอุ่นและปลอดภัย เป็นทั้งภาพสวยงามที่ควรธำรงวิถีเดิมไว้ และเป็นทั้งภาพฝันที่ตัวละครจะได้กำหนดชีวิตตัวเองเหมือนที่ซูสักอักษรจีนคำว่า ‘บ้าน’ บริเวณไหล่ขวา สิ่งที่ผลิตความแปลกแยกจากบ้านเกิดของซู จึงอาจเป็นนิยามบ้านที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างพ่อกับซู และการข้ามหัวกรุงเทพฯ ก็แสดงถึงมุมมองของซูว่า กรุงเทพฯ ไกลไม่พอจากจันทบุรีและไกลไม่พอสำหรับวัฒนธรรมที่บ่มเพาะเธอขึ้นมา แต่บทสรุปของเรื่องดูค้างเติ่ง ทิ้งให้คนดูครุ่นคิดถึง นิยาม ‘ความเป็นส่วนหนึ่ง’ พอสมควร

เฮียป่อง | มองการณ์ไกลกับสโตร์ผักกลางทุ่งนา

“สิ่งที่ผมเรียนมาจากกรุงเทพฯ มันมีค่า ผมสามารถมีงานดี ๆ ในกรุงเทพฯ ได้ แต่ผมถามตัวเองเสมอว่า อะไรคือสิ่งที่มีค่ามากที่สุด การได้มีงานดี ๆ หรือการที่ทำให้บ้านเกิดน่าอยู่ขึ้น”

เฮียป่อง (สมชาย สายอุทา) กล่าวในฉากเปิดสโตร์ผักกลางทุ่งนาใน ไทบ้าน เดอะซีรี่ส์ 2.2 (2018) หลังเรียนจบจากกรุงเทพฯ เฮียป่องกลับบ้านเกิด แสดงท่าทีต่อต้านต่อผู้ใหญ่คำตัน (ตำตัน จินดามล) พ่อของเขา เฮียป่องคิดแบบคนกรุงเทพฯ ใช้ภาษากลางในการสื่อสาร และปรับใช้องค์ความรู้ที่ร่ำเรียนอย่างตรงไปตรงมา

เขาเปิดร้านขายผักที่บ้านเกิด ใช้ผลผลิตจากโดมผักออร์แกนิกที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน มีเพจออนไลน์เพื่อประชาสัมพันธ์ มีคอนเทนต์เล่าเรื่องราวของสินค้า แต่กลับไม่มีลูกค้า เพราะสโตร์ผักดันตั้งอยู่กลางทุ่งนาที่ห่างไกล ‘คนเมือง’ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก

ป่องมองว่า การมีแลนด์มาร์คกลางทุ่งนาจะทำให้มูลค่าที่ดินโดยรอบสูงขึ้น เมื่อที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น บ้านเกิดของเขาก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการแบ่งขายที่ดิน สโตร์ผักประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ชาวบ้านไม่ได้กินผักสลัดเป็นกิจวัตร คนเมืองอยู่ไกลเกินกว่าจะเสียค่าน้ำมันถ่อมาซื้อผัก นอกจากนั้น โดมผักออร์แกนิกของเขาไม่ผ่านการรับรอง เพราะน้ำจากทุ่งนารอบ ๆ ได้หอบสารเคมีเข้ามาเจือปน หนำซ้ำไฟถูกตัด ไม่มีเงินจ่ายลูกน้อง พ่ายแพ้จวนหมดรูป

แต่การล่มสลายของอาณาจักรธุรกิจกลับมีแสงรำไรสาดส่อง การตลาดช่องทางออนไลน์ผลิดอกออกผล มีเสียงตอบรับเชิงบวกในโพสต์ที่หมอปลาวาฬ (สิริอมร อ่อนคูณ) ถ่ายรูปโปรโมตร้าน ภาพสดใสของผักสลัดใบเขียวกับหมอในยูนิฟอร์มอนามัยประจำตำบลสร้างความน่าเชื่อถือ น่าเลือกสรร น่ากดสั่งซื้อ นี่เป็นครั้งแรกที่เฮียป่องจับกลุ่มเป้าหมายของเขาได้ และเป็นครั้งแรกที่เขาเห็นความสำคัญของพ่อใหญ่คำตัน พ่อบังเกิดเกล้าที่ทำนาส่งเสียเขาเรียนและสนับสนุนทุกการตัดสินใจของลูกชายหัวสมัยใหม่

แน่นอนว่า ตัวละครไทบ้านที่โดดเด่นมีมากมาย แต่เฮียป่องเป็นคนเดียวในแก๊งที่มีโอกาสเรียนจนจบปริญญาตรี มีฐานะทางบ้านที่ได้เปรียบคนในชุมชน ทว่าชีวิตเขาก็ติด ๆ ขัด ๆ เหมือนคนอื่น ปัญหาอาจไม่ได้มาจากความร้อนวิชาเสียทีเดียว เพราะเชื่อเถอะว่า ไอเดียที่ดีไม่เพียงพอต่อโอกาสในการขยับฐานะเสมอไป

ฉันไปได้ไกลกว่านี้ แต่ทำไมถึงยากจัง

ความน่าสนใจของเอ ซู และป่อง คือการที่พวกเขาเป็นตัวละครเด็กต่างจังหวัดที่มีศักยภาพเอื้อมถึงการศึกษาที่ดีกว่าในบ้านเกิด หากครุ่นคิดให้ถี่ถ้วน พวกเขาล้วนมีแรงขับไปข้างหน้าเพื่อเติมเต็มความขาดของตัวเอง สิ่งนี้บีบให้พวกเขามีความต้องการระยะสั้น (short-term requirement) แทนการต่อยอดทักษะที่ตนมีเพื่อเป้าหมายระยะยาว (long-term reward) เพราะไร้ซึ่งสวัสดิการพื้นฐานรองรับหากอาศัยที่บ้านเกิด

เอดิ้นรนเรียนเพื่อที่หนึ่งและทุนเรียนฟรี ชดเชยสิ่งที่ความรู้สึกแปลกแยกของตัวเองโดยการสร้างตัวตนให้แข็งแรง ซูดั้นด้นหาทุนเรียนเมืองนอก เธอเชื่อว่าการศึกษาที่ดีจะช่วยค้นหาเป้าหมายในชีวิตของตัวเอง และเฮียป่องทะเยอทะยานสร้างสโตร์ผักเพื่อลบภาพความแร้นแค้นที่เขาเห็นมาตั้งแต่เด็ก ใช้ทั้งอัตลักษณ์อีสานและภาคกลาง สร้างบ้านเกิดที่น่าอยู่ในแบบที่ตัวเองจินตนาการ

ตัวละครเหล่านี้ถือเป็นชนชั้นกลางที่เผชิญความยากลำบากในการขยับฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพราะพวกเขามีความรู้ไม่เพียงพอ แต่เป็นผลมาจากปัญหาการกระจายอำนาจจากศูนย์กลาง

ในงานเสวนาสาธารณะ ‘เมื่อบันไดหัก : มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา’ ปี 2565 ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า ในช่วง 5-6 ปีหลังสุด เศรษฐกิจไทยเป็นการขยายแบบไม่มีส่วนร่วม (non inclusive growth) ทำให้ชนชั้นกลางค่อนล่างได้รับผลกระทบหนักสุด และคนที่ถือใบปริญญาตรีก็ไม่สามารถแข่งขันกับกลุ่มชนชั้นกลางค่อนบนที่มีทุนทางเศรษฐกิจหนุนอยู่ได้อย่างที่ควรจะเป็น

“ในประเทศอเมริกา การขยับฐานะของคนชั้นกลางเองเริ่มหยุดอยู่กับที่ แม้ว่าหลายคนจะมีการศึกษาสูงพอสมควร เพียงแต่ระบบเศรษฐกิจไม่เอื้อให้เขามีส่วนร่วม จนช่วงหลังภาพนี้เริ่มรุนแรงขึ้นพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน หรือใช้น้อยลง คนที่มีส่วนร่วมในงานที่เหลือจึงเป็นเหมือนซุปเปอร์แมน คือมีการศึกษาดี มาจากครอบครัวที่มีฐานะ มีโอกาสในชีวิตที่มากกว่า เทียบกับที่จบปริญญาตรีจากนอกเมือง โลกของคนกลุ่มหลังแคบกว่า เลยทำให้โอกาสทางเศรษฐกิจของเขาน้อยลง” สมชัยกล่าว

ขณะเดียวกัน ปี 2564 ไทยมีสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) ของรายได้ 43.3% สูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก คิดเป็นอันดับที่ 13 จาก 63 ประเทศที่มีการรายงานข้อมูลสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาคของรายได้ ระดับความเหลื่อมล้ำยังสูงมากขึ้นเมื่อพิจารณาการกระจุกตัวของรายได้และความมั่งคั่ง เนื่องจากประชากรที่รวยที่สุดเพียง 10% ถือครองความมั่งคั่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ

ความเหลื่อมล้ำในภาพใหญ่ดูเป็นเหตุเป็นผลอย่างดีว่า ทำไมไฟถนนที่ต่างจังหวัดยังคงส่องสว่างไม่เท่าเมืองหลวง ทำไมความเงียบสงบจึงผลักไสไล่ส่งให้เด็กต่างจังหวัดโหยหาสิ่งที่ดีกว่า จนคล้ายเป็นแรงขับในระดับจิตไร้สำนึก และเมื่อพวกเขาทะยานออกไปได้ไม่ไกลพอ ก็ต้องใช้ชีวิตต่อไปจนถึงตอนจบของหนังที่มักทิ้งไว้เป็นคำถามปลายเปิด

คำถามคือ ระบบเศรษฐกิจแบบไหนล่ะที่บีบคั้นให้คนต้องดิ้นรนซ้ำ ๆ และต้นทุนเพื่อคุณภาพชีวิตสูงขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับชีวิตที่ดีอยู่หลัง end credit ซึ่งยากจะนึกออก 

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อ้างอิง

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Categories