เครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำคุณภาพการศึกษา แต่ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
- การเรียนพิเศษถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อส่งเด็กเข้าศึกษาต่อในสถาบันในระบบชั้นนำ โดยติวเตอร์หรือครูสอนพิเศษจะทำการย่อยเนื้อหา ทบทวน แชร์เทคนิค เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กจะทำข้อสอบได้คะแนนดีที่สุดและเพิ่มโอกาสการสอบติดสถาบันที่ต้องการ
- การเรียนพิเศษถูกมองว่าเป็นบริการสำหรับเด็กที่มีกำลังทรัพย์ การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ที่ดีผ่านการเรียนพิเศษ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อรายได้ตลอดชีวิต ก็กล่าวได้ว่า การเรียนพิเศษนำไปสู่การเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม
- การเรียนพิเศษอาจเป็นเครื่องมือในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษาระหว่างเด็กในกรุงเทพฯ และเขตอำเภอเมือง กับเด็กที่อยู่นอกเขตเมือง
- คำถามคือ หากในอนาคต ชื่อของสาขาวิชาหรือสถาบันการศึกษาในกระดาษหนึ่งแผ่นไม่ได้สัมพันธ์กับงานและค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับการลงทุนลงแรง การเรียนพิเศษยังมีความจำเป็นหรือจะเปลี่ยนหน้าค่าตาไปอย่างไร และเด็กทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้หรือเปล่า
หลังเลิกเรียน นักเรียนหลายคนสะพายกระเป๋ามุ่งหน้าสู่สถาบันกวดวิชา ติวเข้มเรียนเพิ่มตั้งแต่ฟ้าสว่างยันฟ้ามืด แล้วจึงเดินทางกลับบ้าน บ้างมาเรียนต่อในวันเสาร์-อาทิตย์ บ้างสมัครเข้าค่ายติวในช่วงโค้งสุดท้าย เหตุผลหลักคือการเพิ่มโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน
การเรียนพิเศษในไทยถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อส่งเด็กเข้าศึกษาต่อในสถาบันในระบบชั้นนำ โดยติวเตอร์หรือครูสอนพิเศษจะทำการย่อยเนื้อหา ทบทวน แชร์เทคนิค เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กจะทำข้อสอบได้คะแนนดีที่สุดและเพิ่มโอกาสการสอบติดสถาบันที่ต้องการ
ขณะที่เป้าหมายหลักของการศึกษาคือการทำให้ผู้เรียนมีทักษะการทำงาน ใช้ชีวิต และปรับตัวได้ ดังนั้น การเรียนพิเศษเป็นเพียงทางเล็ก ๆ ที่นำไปสู่เป้าหมายนั้น ปรากฏการณ์นี้มักถูกเรียกว่า “เงาของระบบการศึกษา” (shadow education)
มุมหนึ่ง การเรียนพิเศษถูกมองว่าเป็นบริการสำหรับเด็กที่มีกำลังทรัพย์ การเข้าถึงความรู้นอกเหนือโรงเรียนในระบบของเด็กกลุ่มนี้อาจเพียงขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เพราะปฏิเสธได้ยากว่าพวกเขามีโอกาสเรียนต่อหรือเข้าถึงการศึกษาในระดับสูงยิ่งขึ้นได้ง่ายกว่า
ขณะเดียวกัน การเรียนพิเศษอาจนับเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษาระหว่างเด็กในกรุงเทพฯ และเขตอำเภอเมือง กับเด็กที่อยู่นอกเขตเมือง อีกทั้งหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถาบันกวดวิชาหลายแห่งพัฒนาคอร์สเรียนออนไลน์เพื่อให้สามารถเด็กเรียนที่บ้านได้ แทนที่การเข้ามาเรียนหน้าคอมที่สถาบันกวดวิชา
อย่างไรก็ตาม การเรียนพิเศษในไทยยังคงเสมือนการเรียนเสริมเพื่อเพิ่มโอกาสศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย และเป็นเรื่องของครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์ลงทุนกับการศึกษาของบุตรหลาน (แม้ว่าจะอยู่ต่างอำเภอไกลลิบก็ตาม) อาจกล่าวได้ว่า แม้การเรียนพิเศษจะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงกลุ่มเด็กที่มีฐานะทางบ้านไม่มั่นคง ความฝันในการเข้ามหาวิทยาลัยจึงเริ่มต้นหลังเด็กที่มีโอกาสเรียนพิเศษ
ลดความเหลื่อมล้ำคุณภาพการศึกษา แต่ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ข้อมูลสถิติของเด็กที่เรียนพิเศษจากศูนย์ความรู้และนโยบายเด็ก (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB ในปี 2022 เก็บข้อมูลจากเด็กไทยจำนวน 12,999 คน พบว่า เป็นกลุ่มนักเรียนที่อยู่นอกเมือง 35.6% ในอำเภอเมือง 33.9% กทม.และปริมณฑล 19.5%
ผลสำรวจยังพบว่า เด็กจากครอบครัวยากจนใช้จ่ายค่าเรียนพิเศษโดยเฉลี่ย 6,000 บาทต่อปี หรือกว่า 6% ของรายได้ครัวเรือน และใช้เวลาเรียนพิเศษเฉลี่ย 11-12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ถือว่ามากกว่าเด็กกลุ่มอื่น) ขณะที่เด็กจากครอบครัวมีฐานะ ใช้จ่ายค่าเรียนพิเศษราว 20,000-22,000 บาทต่อปี คิดเป็น 2-5% ของรายได้ครัวเรือน
และเมื่อคำนวนค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั้งหมดต่อปีแล้ว พบว่า เด็กจากครอบครัวยากจนใช้จ่ายค่าเล่าเรียนเฉลี่ย 20,000 บาทต่อปี หรือกว่า 19.4% ของรายได้ครัวเรือน ขณะที่เด็กจากครอบครัวมีฐานะ ใช้จ่ายค่าเล่าเรียนเฉลี่ย 40,000 บาทต่อปี แต่คิดเป็นเพียง 5% ของรายได้ครัวเรือน
จะเห็นได้ว่า ครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินด้อยกว่าจะลงทุนกับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาในสัดส่วนที่มากกว่าครอบครัวมีฐานะ แม้ว่าค่าใช้จ่ายนั้นจะน้อยกว่าเกือบเท่าตัว
นอกจากนี้ ผลสำรวจเยาวชนของคิด for คิดส์ 2022 โดย 101 PUB พบว่า เมื่อจำแนกตามพื้นที่ นักเรียนอายุ 15-18 ปี ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประสบปัญหาด้านบุคลากรและทรัพยากร (เช่น ครูไม่เปิดกว้างต่อความเห็นเด็ก ไม่มีเวลาสอน มีความรู้ไม่เพียงพอ คอมพิวเตอร์หรือหนังสือไม่เพียงพอ) น้อยกว่าเด็กในพื้นที่อื่น นี่อาจเป็นสาเหตุที่เด็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑลพึ่งการเรียนพิเศษน้อยกว่าเด็กต่างจังหวัดกว่า 15%
ในงานศึกษาปรากฏการณ์การติวแบบตัวต่อตัว (Private Tutoring) ของ Hai-Anh Dang และ F. Halsey Rogers (2008) ได้ตั้งคำถามว่า การเติบโตของการเรียนพิเศษทำให้ทุนมนุษย์สูงขึ้นและเพิ่มความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่ พร้อมอธิบายว่า ครัวเรือนที่มีอภิสิทธิ์ มีสถานะที่ดี หรืออาศัยในเขตเมือง มักลงทุนให้บุตรหลานเรียนพิเศษมากกว่าครัวเรือนอื่น และหากรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยการห้ามเรียนพิเศษ ก็อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก
เพราะท้ายสุด ครอบครัวที่ร่ำรวยก็ใช้ทรัพยากรที่มี ส่งเสริมบุตรหลานในด้านอื่น ๆ ได้ ขณะที่เด็กจากครอบครัวยากจนก็แข่งขันกับเด็กรวยลำบากมากขึ้น เพราะปราศจากการเรียนเสริม
แต่หากมองว่า การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ที่ดีในการเรียนผ่านการเรียนพิเศษ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อรายได้ตลอดชีวิต ก็กล่าวได้ว่า การเรียนพิเศษนำไปสู่การเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม
ดร.วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อธิบายปัญหาความเหลื่อมล้ำกับการเรียนพิเศษผ่านบทความใน The Standard ได้อย่างน่าสนใจ
เขามองว่า การเติบโตของธุรกิจสถาบันกวดวิชาในไทยเป็นผลจากความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษาระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด การเติบโตของธุรกิจนี้ สะท้อนว่า คนชนชั้นกลางในต่างจังหวัดมีกำลังซื้อคอร์สเรียนให้ลูกไม่ต่างจากคนกรุงเทพฯ ดังนั้น สถาบันกวดวิชาช่วยส่งเสริมเด็กต่างจังหวัดในระบบการศึกษาปกติ ให้สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ และแม้ว่าจะช่วยลดความเลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษา แต่ประเด็นเชิงเศรษฐกิจที่ขับให้เด็กกว่า 1.4 ล้านคน อยู่นอกระบบการศึกษา ก็เป็นอีกหนึ่งปมปัญหา
หลังโควิด-19 ธุรกิจกวดวิชายังคงตอบโจทย์ปัญหาการศึกษาไทย
ประชาชาติธุรกิจ ระบุว่า ในปี 2563 มีจำนวนโรงเรียนกวดวิชา 1,712 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 324 แห่ง ต่างจังหวัด 1,388 แห่ง มีนักเรียนรวม 415,806 คน
ขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ข้อมูลว่า โรงเรียนกวดวิชาจำนวนมากแจ้งยกเลิกกิจการในช่วงปี 2563-2564 สาเหตุสำคัญคือวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 การขึ้นค่าเช่าของห้างสรรพสินค้าที่มักเป็นที่ตั้งของโรงเรียนกวดวิชา และภาระภาษี
นั่นทำให้ธุรกิจที่มีเม็ดเงินสะพัดหลักพันล้านต่อปี มีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น
พัฐดลย์ โสภาจิตต์วัฒนะ นักพัฒนาหลักสูตรกวดวิชา แสดงทัศนะเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของการกวดวิชาหลังโควิด-19 ผ่านช่อง ThaiPBS ว่า สถาบันกวดวิชายังมีความจำเป็นแม้จะต้องปิดตัวลงจำนวนมาก
ในหลายสถาบันยังมีการสอนทั้งออนไลน์ ออนไซต์ เรียนแบบตัวต่อตัว รวมถึงติวเตอร์คนเดียวต่อนักเรียนหลายคน ขณะที่ในต่างจังหวัด จะมีการรวมตัวกันเพื่อติวเข้ามหาวิทยาลัยระดับภูมิภาค มีลักษณะคล้าย workshop งานสัมมนา หรือกลุ่มติวเตอร์อาจตะลอนสอนตามโรงเรียน และแน่นอนว่าเด็กทุกคนจะพิจารณาคอร์สของแต่ละสถาบันอย่างถี่ถ้วน มีการเลือก มีการเปรียบเทียบ ซึ่งนับเป็นข้อท้าทายของฝั่งโรงเรียนกวดวิชา
พัฐดลย์กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าครูรุ่นใหม่หลายคนมีความสามารถและตั้งใจสอนให้เด็กสอบติดมหาวิทยาลัย แต่ข้อจำกัดคือครูเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงข้อสอบที่เด็กต้องสอบจริงเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ขณะที่สถาบันกวดวิชาได้เปรียบจากการเข้าถึงข้อสอบและสามารถย่อยเนื้อหายากให้เด็กเข้าใจง่าย มากไปกว่านั้น เนื้อหาในข้อสอบไปไกลเกินกว่าสิ่งที่สอนในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน
นอกจากประเด็นการเก็งข้อสอบได้ตรงจุดมากกว่า การเรียนพิเศษยังผูกติดกับค่านิยมที่ว่า การเรียนจบจากสถาบันศึกษาระดับแนวหน้า สามารถเพิ่มโอกาสหางานและมีอนาคตสดใสในเส้นทางการทำงาน ซึ่งการเรียนพิเศษช่วยให้เข้าถึงเป้าหมายนั้นได้อีกก้าว
ไม่เพียงแต่ติวเตอร์จะสอนแบบคู่ขนานไปกับการเรียนในระบบ แต่ยังพบว่ามีครูในสังกัดโรงเรียนไม่น้อยที่รับสอนพิเศษเพิ่มเติมเช่นกัน ล้วนสะท้อนว่าการศึกษาไทยมีปัญหาเชิงระบบที่ไม่เอื้อให้ ‘ครูได้สอน’ หรือ ‘เด็กได้เรียน’ อย่างที่ควรจะเป็น
ในบทความ “การสอนพิเศษ: ความจำเป็นที่ถูกสร้างขึ้นจากโครงสร้างการศึกษา” (2558) ของกนกวรรณ รุ้งตาล ที่ตีพิมพ์ในวารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา ได้สำรวจประสบการณ์ของครูกลุ่มข้างต้น และค้นพบว่า ข้อจำกัดจากวิธีการทำงานในโรงเรียนเองที่เป็นสาเหตุให้ครูต้องสอนเสริม ได้แก่ ข้อจำกัดด้านเวลา คือ จำนวนชั่วโมงในการเรียนการสอนไม่สอดคล้องกับเนื้อหาที่กำหนดให้สอน วันหยุดราชการและภาระงานนอกเหนือการสอนทำให้โครงสร้างเวลาไม่เป็นไปตามแผน รวมไปถึงความไม่สอดคล้องของเนื้อหาที่ถูกกำหนดในโครงสร้างหลักสูตร
กนกวรรณยังชี้ว่า ครูกลายเป็นคนทำงานในระบบที่เห็นข้อบกพร่องของโครงสร้าง แต่กลับต้องทำงานภายในระบบเหล่านี้ต่อไป เช่น การขอเลื่อนวิทยฐานะเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งครูเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น ส่งผลต่อการจัดสรรเวลาของครูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีผลต่อประสิทธิภาพการสอนในห้องเรียน
ข้างต้นสะท้อนถึงอำนาจต่อรองที่จำกัดของครู แต่กนกวรรณชี้ว่า เงื่อนไขเหล่านี้เองที่ทำให้การสอนพิเศษของครูเติมเต็มการศึกษาในระบบของโรงเรียน
ถึงอย่างไร ไม่ได้มีเพียงแค่ไทยที่ประสบปัญหาภาระค่าใช้จ่ายด้านการเรียนพิเศษของผู้ปกครอง หรือการที่เนื้อหาข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยอยู่นอกเหนือหลักสูตรในโรงเรียน
มิถุนายน 2566 ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้ก็ประสบกับปัญหาเรียนพิเศษเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ถึงขนาดมีคำสั่งประธานาธิบดีให้ออกข้อสอบ ‘ซูนึง’ (ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้) ตามเนื้อหาของโรงเรียนเท่านั้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายเรียนพิเศษของผู้ปกครอง (ในปี 2565 สถาบันกวดวิชาในเกาหลีใต้มีเม็ดเงินสะพัดกว่า 6 แสนล้านบาท)
ที่สำคัญ เทรนด์การจ้างงานที่ยึดติดกับวุฒิการศึกษาก็ถูกสั่นคลอนพอสมควร ข้อมูลจากสำนักสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกา เผยว่า แรงงานกว่า 62% ในสหรัฐฯ ไม่ได้ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ประกอบกับผลสำรวจ ZipRecruiter บริษัทให้คำปรึกษา ชี้ว่า ในธุรกิจระดับเล็กจนถึงระดับกลางมีแนวโน้มการยกเลิกใช้ใบปริญญาเป็นเกณฑ์พิจารณาเข้าทำงาน 47% ธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ที่ 35% เพราะต้องการแรงงานที่มีประสบการณ์และพร้อมสอนให้คนที่พอจะมีทักษะมากกว่า
ท้ายสุด การเรียนพิเศษถือเป็นข้อถกเถียงอย่างยาวนาน หลังจากเป็นต้นทุนสำคัญเพื่อให้เด็กคนหนึ่งเข้าถึงใบปริญญา เป็นส่วนเสริมของการศึกษาที่ไม่ครบจบในระบบ ที่สำคัญ เพราะการศึกษาที่มีคุณภาพไม่ใช่ของฟรีและไม่สามารถเข้าถึงทุกคนได้ การนั่งหน้านิ่วติวเข้มในสภาพแวดล้อมนอกโรงเรียนจึงเกิดขึ้น
คำถามคือ หากในอนาคต ชื่อของสาขาวิชาหรือสถาบันการศึกษาในกระดาษหนึ่งแผ่นไม่ได้สัมพันธ์กับงานและค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับการลงทุนลงแรง การเรียนพิเศษยังมีความจำเป็นหรือจะเปลี่ยนหน้าค่าตาไปอย่างไร และเด็กทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้หรือเปล่า
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)