สอนงาน ตามงาน ให้คำปรึกษา เลี้ยงข้าวขนม คุยเล่น คำเหล่านี้คงสะท้อนภาพความเป็นพี่เลี้ยงได้ อย่าง กว้างๆ ความเป็นพี่เลี้ยงนั้นมีอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ ในทุกที่ที่ผู้มีความรู้และประสบการณ์รวมถึงมีความสามารถเข้าถึงทรัพยากรมากกว่า ถ่ายทอดสิ่งดีไปยังผู้ที่มีประสบการณ์น้อยกว่าในเรื่องนั้นๆ แต่สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยากจะเอาจริงเอาจังกับการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ หรือที่เรียกสั้นๆว่า งานสภาเด็ก คำว่า พี่เลี้ยง คงเป็นคำที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ที่ได้รับมอบหมายหรือมีหน้าที่รับผิดชอบงานสภาเด็กและเยาวชน
พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 22 และ 23 กําหนดให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบลทั่วประเทศ ทำให้เกิดสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบลทั่วประเทศ จำนวน 7.774 แห่ง ในขณะเดียวกันกฎหมายดังกล่าวก็เรียกร้องให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้ดูและรับผิดชอบงานสภาเด็กและเยาวชน หรือพี่เลี้ยงสภาเด็กเพื่อเป็นกำลังและจุดประกายงานคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น
เราคงคาดหวังว่า ทุกท้องถิ่นจะเต็มไปด้วยพี่เลี้ยงที่รู้บทบาทหน้าที่ของตน ทำหน้าที่ของเขาอย่างดีที่สุด แต่ความเป็นจริงกลับไม่ได้ง่ายขนาดนั้น งานสภาเด็กและเยาวชนในองค์กรปกครองท้องถิ่นมีความท้าทายอยู่มาก ถือเป็นเรื่องใหม่และต้องอาศัยความสามารถของผู้ที่เป็นพี่เลี้ยงอยู่ไม่น้อย โดยทั่วไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้มีตำแหน่งนักพัฒนาเด็กและเยาวชน (youth worker) หรือมีกำลังคนที่จะรับผิดชอบงานดังกล่าวโดยตรง เจ้าหน้าที่คนใดจะเป็นผู้รับผิดชอบงานสภาเด็ก ก็ขึ้นอยู่กับนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจะเห็นสมควรมอบหมายงานดังกล่าวให้กับเจ้าหน้าที่ผู้มีความเหมาะสม
ภาพฝัน กับความจริงที่รู้อยู่ แต่เมื่อถึงเวลา ก็น่าลำบากใจ
ภาพฝันในการทำงานการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ผ่านกลไกสภาเด็ก ในสายตาของพี่เลี้ยงคนหนึ่ง คงเห็นภาพตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างให้เกิดสังคมแห่งการมีส่วนร่วม ตามสโลแกนที่ได้ยินอย่างหนาหู เมื่ออยู่ในวงการงานสภาเด็กและเยาวชนคือ “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ” ผู้ใหญ่หนุน” และคาดหวังว่าน้องสภาเด็กจะเป็นฝ่ายที่เดินมาบอกเราว่าอยากทำอะไร
เราในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้เป็นพี่เลี้ยงเองก็คงต้องการกำลังใจจากเพื่อนร่วมงาน อยากให้คนในวงการมองว่าเราคือต้นแบบ และได้รับคำชมจากนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือผู้บังคับบัญชาของตนว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
แต่ทว่าในช่วงแรกของการตั้งไข่งานสภาเด็กและเยาวชน “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ” อาจไม่เป็นจริงสักเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือมีเครือข่ายคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นมาก่อน หลายครั้งพี่เลี้ยงอาจพบว่า มีแต่ตัวเราเองทั้งนั้นที่ต้องลงมือทำอะไรบางอย่างก่อนเสมอ และพบกับความขัดแย้งภายในใจว่าเราเองก็อยากทำงานสภาเด็กให้ได้ผลดี แต่ภารกิจความรับผิดชอบอื่นของเราก็มีมากมายอยู่แล้ว และคาดหวังว่าจะมีคนมาช่วย แต่เมื่อมองไปรอบตัวก็อาจพบว่ามีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่ตั้งใจ อย่างดีก็มีคนในทีม 1-2 คน ที่พร้อมร่วมเดินทางไปกับเรา ผู้บริหารก็รับปากว่าจะสนับสนุน แต่ความจริงที่เป็นรูปธรรมก็คงไม่เห็นชัดเจนนัก การเตรียมใจเผชิญหน้ากับความเป็นจริงที่ท้าทายของการเป็นพี่เลี้ยงสภาเด็กและเยาวชนคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับผู้ที่ได้รับมอบหมายงานดังกล่าว
พี่เลี้ยงสภาเด็กท้องถิ่น ความท้าทายที่ถูกมอบหมายถึงคนธรรดาคนหนึ่ง
ในบรรดาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเจ็ดพันกว่าคนที่ได้รับมอบหมายจากนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้รับผิดชอบงานสภาเด็กและเยาวชน คุณแอม ญาณิกา เหลี่ยมวัฒนกุล เป็นหนึ่งในนั้น เริ่มต้นจากสิ่งที่เธอให้คำนิยามกับตนเองในวันแรกที่ได้รับภารกิจกที่ยิ่งใหญ่นี้ เธอบอกว่าตัวเอง “เป็นตัวใสๆ ไม่มีความรู้อะไรที่เป็นพื้นฐานเกี่ยวกับงานนี้เลย” จากวันนั้นเป็นเวลากว่า 4 ปี เทศบาลตำบลเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี ได้รับการประกาศจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้เป็น “ตำบลต้นแบบด้านกิจการสภาเด็กและเยาวชน”
คุณแอมเล่าว่า ทุกวันนี้เกินความคาดหมายที่เธอเคยคิดไว้มาก ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมีน้องๆ มาเป็นกำลังให้กับท้องถิ่น เพราะเคยได้ยินหลายคนพูดอยู่เสมอว่างานสภาเด็กนั้น เด็กๆ พร้อมที่จะเติบโตและทิ้งเราไป เคยได้ยินเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคนอื่นพูดเสมอว่า “ไม่มีหรอกเด็กคิดเด็กนำ มีแต่เรานี้ละทำ นี้ละหนุน” แต่ปัจจุบันนี้กลับกลายเป็นว่าคุณแอมเองเป็นคนที่คอยปลอบใจและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ให้ยังคงมีความหวังในการทำงานสภาเด็กต่อไป
“ตอนที่แอมเข้ามาทำแรกๆ มันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ แหละ แต่เชื่อสิ มันจะต้องมี แต่เราไม่รู้หรอกว่าเราจะเจอน้องแบบนั้นเมื่อไหร่ เจอเร็วก็โชคดี แต่ถ้าทิ้งงานไปก่อนหรือเจอน้องที่ดีช้าก็โชคร้าย”
“ทุกวันนี้เวลาไปงาน ไปเดินตลาด ถ้าได้เจอเด็กที่ทำกิจกรรมเปิดหมวกรับบริจาคก็จะให้ความร่วมมือตลอด ถือว่าทำบุญให้ได้เจอเด็กคนใหม่ๆ มาเพิ่มทีมให้ทำงานต่อเนื่องมากขึ้น” คุณแอมกล่าวอย่างติดตลกเมื่อพูดถึงความมูเตลูของตนในการทำงาน
คุณแอมเล่าถึงการทำงานกับเด็กในช่วงแรกว่าเป็นเรื่องที่จุกจิกมาก ทั้งเรื่องการไปรับไปส่งที่บ้าน การขออนุญาตผู้ปกครอง โดยเฉพาะถ้าทำงานกับเด็กเล็ก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนทำงานสภาเด็กท้องถิ่นรู้สึกว่าเป็นความยากลำบาก หลังจากทำงานสภาเด็กมาได้สักพัก จึงเกิดข้อสรุปต่อตนเองว่าเราควรทำงานกับเด็กที่โตในระดับหนึ่ง เขาต้องดูแลตัวเองได้ และตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานในช่วงแรก ว่าการที่เราจะสนิทกับพวกเขาโดยที่เราไม่ได้เป็นครู ไม่ได้พบเจอเขาทุกวัน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การที่จะมีบทสนทนาอย่างต่อเนื่องในกลุ่มไลน์ที่เราตั้งไว้คุยกันในทีมงานสภาเด็กก็เช่นกัน เพราะเขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาจะต้องคุยกับเรา เขามักมองเราเป็นคนแปลกหน้า
พี่ต้องทำขนาดนี้เลยหรอ ?
เมื่อถามคุณแอมว่า เคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่าพี่ต้องทำขนาดนี้เลยหรอ เพื่อให้ได้มาซึ่งทีมงานสภาเด็กที่เข้มแข็งแบบนี้ คุณแอมตอบว่า ‘เคย’
“มากกว่าแค่การตั้งคำถาม แต่คิดไว้เลยว่า ฉันทำไม่ได้หรอก ฉันไม่ได้อยากทำงานเสาอาทิตย์ ต้องเสียสละเวลาส่วนตัวขนาดนี้เลยหรอ พูดตรงๆ คนทำงานเด็กท้องถิ่นได้หยุดเสาร์-อาทิตย์ น้อยมาก และหลายครั้งที่ต้องทำงานนอกเวลางาน”
“พี่ต้อง รู้สึก กับพวกเขามากขนาดนี้เลยหรอ น้องมีที่เรียนไหม มีปัญหาส่วนตัวอะไร เมื่อได้เห็นสเตตัสใน social media ของพวกเขา”
คุณแอมนิยามความสัมพันธ์ระหว่างพี่เลี้ยงกับน้องสภาเด็กว่า “เป็นเพื่อนสนิทคนนึง” ที่เมื่อเราอยู่ในความสัมพันธ์แบบนั้นแล้ว ความเป็นอยู่และเป็นไปของน้องๆ ก็จะเป็นเรื่องที่คุณแอมหยิบยกมาพูดคุยกันในทีมงานอยู่เป็นปกติ และรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยพวกเขาอยู่เสมอ หรือแม้กระทั้งเรื่องความสัมพันธ์หรือปัญหาในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วย ประสบภัยพิบัติ ก็จะคอยดูแล ซื้อข้าวซื้อน้ำเข้าไปให้ “เราคอยสังเกตความเป็นไปของพวกเขา เราเชื่อมต่อกับพวกเขาไม่ใช่แค่เรื่องงาน แต่เราเชื่อมต่อในชีวิตและการเติบโตของเขาด้วย”
“พี่จะต้องอ่านหนังสือ มากขนาดนี้เลยหรอ อยากรู้ว่าจะต้องมีเทคนิคอย่างไรในการทำงานกับน้องๆ หรือในเรื่องที่เราให้น้องทำ เราก็ต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นก่อนด้วย ไม่งั้นเดี๋ยวน้องถามแล้วจะตอบไม่ได้ ตอนเรียนพี่ยังไม่อ่านหนังสือเยอะเท่านี้เลย แต่พอมาทำงานที่นี้แล้วอ่านหนังสือหาความรู้เยอะมาก อยากคุยกับเขารู้เรื่อง อยากรู้ว่าถามอย่างไรให้พวกเขาตอบ อยากรู้จักพวกเขามากกว่านี้
คุณแอมขอแถมอีกหนึ่งประเด็นทิ้งท้ายที่สะท้อนถึงความใส่ใจในเพื่อนผู้ร่วมเดินทางอย่างน้องสภาเด็กว่า
“พี่ต้องใส่ใจเรื่องบุคลิกภาพของน้องๆ ขนาดนี้เลยหรอ เวลาที่น้องเราจะไปเจอคนอื่น น้องเราจะแต่งตัวอย่างไร มีกลิ่นเต่า ก็ให้ซื้อโรออน คิดกันกับพี่ในทีมว่าจะมีวิธีพูดอย่างไรให้เขารู้ตัว ให้รักษาภาพลักษณ์ ไม่อยากให้น้องเสียบุคลิก”
“ไปเดินห้างกับน้อง ไปเลือกซื้อน้ำหอม สงสัยว่าทำไมน้องผู้ชายถึงไปเลือกน้ำหอมกลิ่นผู้หญิง แอมเลยบอกน้องว่า ผู้หญิงเขาไม่ได้ชอบผู้ชายใช้น้ำหอมกลิ่นผู้หญิงหรอกนะ น้องก็บอก หรอครับพี่!!! ถ้าอยากได้กลิ่นหวานๆ ก็เลือกน้ำหอมของผู้ชายที่กลิ่นหวานๆ ไม่ใช่ไปใช้น้ำหอมของผู้หญิง มันไม่เท่ห์
เรื่องราวของคุณแอมบอกเล่าให้เราเห็นชัดเจนว่าการทำงานตามหน้าที่และการพัฒนาความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนผู้ร่วมเดินทางในงานสภาเด็กนั้นต้องควบคู่ไปพร้อมกัน การยอมเสียสละเวลาบางส่วนมาทุ่มเทให้กับงานนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่แลกให้ได้มาซึ่งงานสภาเด็กที่เข้มแข็ง และเมื่อถามว่าทำมาจนถึงขนาดนี้แล้วยังจะทำต่อไปไหม คุณแอมบอกกับเราว่า
“สำหรับพี่ พี่จะต้องทำต่อไปเพราะทำมาแล้ว น้องๆ ก็มาได้ดีแล้ว สิ่งที่พวกเขาทำก็ดีแล้ว แล้วมันจะมีเหตุผลอะไรที่จะไม่ทำต่อ เราเห็นการเติบโต ปลูกแล้วมันงอกเงย ก็รดน้ำต่อ ใส่ปุ๋ยหน่อย บางต้นจะตายแล้วก็ดูแลเป็นพิเศษ เราผ่านจุดที่แย่ที่สุดคือทำอยู่คนเดียวมาแล้ว จนกระทั้งวันนี้มีคนมาช่วย ก็อยากทำให้มันดีต่อไป”
คุณแอมยังกล่าวอีกว่า ไม่ได้มองว่างานสภาเด็กเป็นงานของเราคนเดียว แต่เป็นของทุกคน ของน้องๆ ของเจ้าหน้าที่ท่านอื่นๆ ในท้องถิ่นด้วย ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากหลายคนที่ปลุกปั้นกันมา “ถ้ามีใครบอกว่างานสภาเด็กเป็นของแอมคนเดียว มันไม่ใช่”
ให้ลองทำแบบตั้งใจสัก 1 ครั้ง คือทำให้ดี ไม่ใช่แค่ทำให้พอผ่านไป
SIY ชวนให้พี่แอม กล่าวถึงเพื่อนๆ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับมอบหมายให้เป็นพี่เลี้ยงสภาเด็กและเยาวชน หรือมีใจอยากทำงานคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น
“ให้ลองทำ แบบตั้งใจทำ 1 ครั้ง คือทำให้ดี แบบไม่ใช่แค่ทำให้พอผ่านไป”
“ในมุมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เขาจะมองว่างานสภาเด็กเป็นงานที่ยุ่งยาก เด็กมันไม่มาต่อเนื่องหรอก มันไม่สนใจทำหรอก เขาก็อาจจะทำแค่พอให้มันผ่านไป เข้าใจพวกเขาเหมือนกัน บาง อปท. ที่มีขนาดเล็ก เจ้าหน้าที่ หนึ่งคนทำหลายอย่าง ทั้งฉีดยาหมาแมว แจกเบี้ยผู้สูงอายุ คนพิการ เราก็เข้าใจในมุมเขา แต่เราพูดในมุมที่เรารับผิดชอบงานสภาเด็กที่ชัดเจน”
“อยากให้ลองทำแบบคุณภาพสักครั้งหนึ่ง แล้วจะไม่ชอบ ไม่เห็นประโยชน์ ก็ค่อยว่ากันอีกที แต่อยากให้ลอง เพราะแอมเองเป็นคนหนึ่งที่ได้ลอง และเราคิดว่างานที่เราทำมันมีคุณค่า มันน่าจะมีเหตุผลบางอย่างที่บอกกับตัวเองได้ว่า ทำต่อเหอะ เสียดาย” คุณแอมกล่าวสรุปสุดท้ายให้กับเพื่อนๆ ผู้ร่วมโชคชะตาในสายงานเดียวกันกับเธอ
เราต่างทราบดีว่าไม่มีงานใดที่จะประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี หากไม่มีผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่คอยทำงานอย่างหนักและใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราอยู่ในสถานการที่ต้องเป็นผู้ริเริ่ม บุกเบิกงานคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น อยากชวนเราตั้งคำถามกับตนเอง ว่างานคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นมีคุณค่าและความหมายพอที่จะให้เราได้ลงมือใส่แรงแบ่งเวลาเพื่อทำมันอย่างมีคุณภาพสักครั้งหนึ่งหรือเปล่า ? หากใช่ ชวนตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่เราจะทำมันให้สำเร็จได้และตั้งเป้าหมายใหม่ที่ท้าทายขึ้นในทุกครั้งที่ทำ และหากจะไม่มีใครเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำในช่วงแรกก็ไม่เป็นไร แต่เป็นตัวเราเองที่เฝ้าสังเกต รับรู้ และอิ่มเอมถึงการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตทั้งของตัวเราเองและของน้องเลี้ยงของเรา
เราเชื่อว่าสังคมแห่งการมีส่วนร่วม สังคมที่ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกมีตัวตนและความหวังในท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะมี พี่เลี้ยง ที่พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับน้องๆ อยู่เบื้องหลังเสมอ
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เกี่ยวกับผู้เขียน
นักสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยร้อยยิ้ม ชื่นชอบศาสตร์แห่งการเป็นพี่เลี้ยงเพื่อพัฒนาเยาวรุ่นด้วยความคิดสร้างสรรค์
- ธนาธิป เทียมราษฎร์https://siythailand.org/author/ivysiy/9 December 2020
- ธนาธิป เทียมราษฎร์https://siythailand.org/author/ivysiy/29 September 2021
- ธนาธิป เทียมราษฎร์https://siythailand.org/author/ivysiy/7 June 2024
- ธนาธิป เทียมราษฎร์https://siythailand.org/author/ivysiy/