‘Childhood เมืองไทย’ จงฝันให้ไกล แต่ไปไม่ถึง?

ภาพจากภาพยนต์ Childhood : https://filmfreeway.com/Childhood-1

‘Childhood (Barndom) โรงเรียนริมป่า’ ภาพยนตร์เล็กๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวในโรงเรียนอนุบาล “ออโรรา” สถานที่อันสงบรื่นรมย์ ภายใต้ภูมิอากาศริมผืนป่าประเทศนอร์เวย์ ห้องเรียนที่การเรียนรู้เป็นไปอย่างสุขสงบท่ามกลางธรรมชาติ อากาศที่แปรปรวนตลอดทั้งปีของประเทศนอร์เวย์ สร้างวัฒนธรรมการมองธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต ให้กับวันวัยซึ่งค่อยๆ เรียนรู้ขณะกำลังก้าวเดินบนโลกที่เต็มไปด้วยปัญหา 

ในหนัง เสียงหัวเราะของเด็กๆ คือท่วงทำนองไพเราะ เราจะมีโอกาสเฝ้ามองแมกไม้และสายลมไปพร้อมกันกับพวกเขา ยามเส้นผมของเด็กๆ พริ้วไหวภายใต้ฟ้ากว้าง โรงเรียนอนุบาล “ออโรรา” วาดภาพการเรียนรู้พร้อมเล่นซุกซน และจินตนาการของวัยเยาว์ที่ถูกประคองโอบกอด

มาร์เกร็ธ โอลิน ผู้กำกับ Childhood โรงเรียนริมป่า เชื่อว่า ‘อิสรภาพ’ สำคัญยิ่งในระบบการศึกษา “การเพ่งความสนใจไปที่ผลการเรียนและการแข่งขัน เป็นปรากฏการณ์ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในโรงเรียนทุกระดับไม่เว้นแม้แต่อนุบาล เราเร่งรีบให้เด็กได้เรียนรู้วิชาการกันตั้งแต่อายุน้อยลงๆ ทุกที ฉันห่วงใยว่าเรากำลังพลาดโอกาสที่จะเห็นเด็กๆ พัฒนาตัวตนของตนเองขึ้นมา” เพราะเด็กทุกคนมีศักยภาพแตกต่าง โรงเรียนริมป่าจึงสร้างบรรทัดฐานอีกแบบ ที่ความลับอันซุกซนและการเล่นสนุกที่พวกผู้ใหญ่ไม่มีวันเข้าใจถูกยอมรับ ถัดจากนั้น เสรีภาพและความฝันของพวกเขาจึงผลิบาน 

ทั้งหมดนี้ คือภาพฉายที่ใครหลายคนอาจคาดหวังจะได้พบ หากแต่ในโลกความจริง ระบบการศึกษาบนแผ่นดินประเทศเรา ‘Childhood เมืองไทย’ ดูจะห่างไกลยิ่งนัก

ภาพจากภาพยนต์ Childhood : https://filmfreeway.com/Childhood-1

ทุกๆ ปี ‘คุณภาพการศึกษา’ ของแต่ละประเทศทั่วโลกจะถูกจัดลำดับ ไม่นานมานี้ สถิติจาก World Data on Education (UNESCO) น่าจดจำไม่น้อย เพราะเด็กไทยในวัย 11 ปี ขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่งของเด็กมีเวลาเรียนเยอะที่สุดในโลก นั่นคือ มากถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปี หรือ 8-10 คาบต่อวัน ภายใน 5 วันต่อสัปดาห์ ยังดี… ที่ตัวเลขนี้ นับเฉพาะการเรียนในโรงเรียน ไม่ได้หมายรวมเวลาเรียนพิเศษเข้าไปด้วย เพราะเวลาที่ใช้ในการเรียนพิเศษของเยาวชนไทย มองเผินๆ ยังรู้ว่า ชั่วโมงบินต่ำกว่าชั่วโมงเรียนในโรงเรียนไม่มากเท่าไรนัก

และประเทศที่จัดวางการเรียนการสอนอย่างหนักหน่วงเพื่อพัฒนาเยาวชน ก็ควรหมายรวมถึงกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ? แต่เหตุใด ประเทศญี่ปุ่น จึงมีชั่วโมงเรียนน้อยกว่าไทยเกือบครึ่ง ขณะประเทศขึ้นชื่อเรื่องการศึกษาดีที่สุดในโลกอย่างฟินแลนด์ มีชั่วโมงเรียนเพียง 600 ชั่วโมงกว่าต่อปี

แล้วกฎการเรียน วันละ 8-10 คาบ 5 วันต่อสัปดาห์ จันทร์ถึงศุกร์ เกิดขึ้นมานานแล้วหรือยัง ชั่วโมงการเรียนที่ยาวนานที่เด็กไทยต้องแบกรับมีที่มาที่ไปอย่างไร ? 

ชั่วโมงเรียนของเด็กๆ มีที่มาไม่ต่างจากการทำงานห้าวันต่อสัปดาห์ของพวกผู้ใหญ่ ในประเทศไทยที่ผู้คนในเมืองหลวงทำงานยาวนานที่สุดติดอันดับห้าของโลก นั่นคือ 42.5 ชั่วโมง ทว่าในความเป็นจริงสูตรทำงานห้าวัน (ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเพียง 100 กว่าปี) ถูกยกเลิกในต่างประเทศไปนับตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 

ก่อนศตวรรษที่ 20 แรงงานทำงานวันละ 14 ชั่วโมง เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายแรงงาน นั่นคือยุคสมัยที่มีแม้แต่ ‘แรงงานเด็ก’ ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กลุ่มแรงงานในหลายประเทศมีการประท้วงพร้อมนัดหยุดงานเป็นวงกว้าง การส่งเสียงของพวกเขาผลักดันให้บางชาติถึงกับผ่านกฎหมายให้การทำงานวันละ 8 ชั่วโมงเป็นมาตรฐาน แต่เวลานั้น แรงงานยังต้องทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน ในปี 1926 เฮนรี ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ ได้เริ่มทดลองให้คนงานในบริษัทของเขาทำงานแค่ 5 วันต่อสัปดาห์ และพบว่าการทำงานสร้างผลผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะคนงานได้พักผ่อนอย่างเต็มพลัง เจ้าของโรงงานแห่งอื่นๆ พากันทำตาม แต่การประท้วงยังไม่จบเพียงเท่านั้น เสียงของกลุ่มแรงงานยังคงดังชัด โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ส่งผลในปี 1940 อเมริกาออกกฎหมายไม่ให้แรงงานทำงานเกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง 

ในประเทศไทย กฎหมายแรงงานกล่าวถึงการทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมงเช่นกัน แต่กฎยังอนุญาตให้ประชาชนทำงานได้สูงสุดสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง หลายคนยังคงต้องทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ ขณะการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์คือเป็นเรื่องปกติอย่างมากในต่างประเทศ เพราะพวกเขารู้ดีว่า การทำงานและการเรียน ไม่ใช่ ‘ทั้งหมด’ ของ ‘ชีวิต’

‘ชั่วโมง’ ที่เคร่งครัดหนักหน่วงไม่เพียงนำมาซึ่งกฎระเบียบและกรอบเกณฑ์อีกมากมายในโรงเรียน หากยังสะท้อนค่านิยมและ ‘สภาพความเป็นอยู่’ 

ไม่นานมานี้ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาที่จะตอบโจทย์วิถีทาง เพื่อการเบ่งบานงอกงาม คู่สนทนาของเรากล่าวไว้ว่า ‘ฝัน’ เป็นไปได้ยากในบ้านเรา เมื่อการศึกษาของเด็กไทย ยังเป็นไปเพื่อขยับชนชั้นให้หลุดพ้นจากการความเหลื่อมล้ำ บรรทัดฐานของชั่วโมงเรียนและกรอบเกณฑ์ในสถานศึกษาจึงสอดรับกับการเป็น ‘ประตู’ ที่จะทำให้คนสามารถเลื่อนฐานะ มีที่ทางในสังคม การทำให้คนเข้ามามีการศึกษาในระบบสำคัญมากกว่า ‘วิธีการ’ การศึกษา เพื่อเรียนรู้และมอบการใช้ชีวิต เมื่อปัญหาปากท้องยังคงอยู่ การเรียนรู้อย่างแท้จริงจึงไม่ใช่เป้าหมายหลัก

ภาพจาก : https://www.pinterest.com/pin/271975264981522657/

มองในบริบทของประเทศฟินแลนด์ซึ่งขึ้นชื่อว่าการศึกษาดีที่สุดในโลก เมื่อพวกเขาไม่ต้องคอยขยับสถานะทางสังคม การเรียนรู้ของพวกเขาจึงมีไว้เพื่อสอดรับ ‘ชีวิต’ ที่แท้จริง ไม่แน่ใจนักว่า ฟินแลนด์คล้ายคลึงกับภาพฉายในหนังเรื่อง ‘Childhood โรงเรียนริมป่า’ หรือไม่ แต่อย่างน้อยวิถีชีวิตของเด็กๆ ที่นั่นก็คงใกล้เคียงสิ่งที่โอลินคาดหวังไว้มากกว่าโรงเรียนในบ้านเรา 

กลับมามองประเทศไทย บนข้อจำกัดและเงื่อนไขที่คนส่วนมากในประเทศเข้าเรียนเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง และใบปริญญาคือสถานะที่ขยับเลื่อนขึ้น สิ่งนี้ยังได้สร้างการมองเห็นคนเก่งกลุ่มเดียว ก่อกำเนิดค่านิยมที่มองเห็นว่าเด็กในบางคณะ อาทิ คณะแพทย์ คือ เด็กที่เก่งที่สุด ทั้งที่ไม่ได้มีเพียงสองสามอาชีพที่เป็นฟันเฟืองของสังคม และพาให้คุณค่าของสิ่งอื่นถูกปัดหายไปในขนบนิยม

สองปีมานี้ หนทางอันขรุขระของระบบการศึกษายิ่งแจ่มชัด บาดแผลของความเหลื่อมล้ำบอบช้ำมากกว่าเก่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทิ้งทวนนานมาตั้งแต่ปี 2563 การเรียนการสอนออนไลน์ของเยาวไทยไม่พร้อมอย่างมาก ทั้งอุปกรณ์การเรียนและอินเตอร์เน็ต  กระทั่งปัญหาพื้นฐานอย่างไฟฟ้า ยังคงเข้าไม่ถึงในบางพื้นที่ ประสิทธิภาพของระบบการศึกษาจึงหดตัวลงเหลือเพียง 40% โรงเรียนและเด็กๆ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่ดีพอ เยาวชนจำนวนไม่น้อยขาดโอกาสจนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ดังที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เปิดเผยไว้เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2564 ว่ามีเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 6,568 คน และคาดการณ์ว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 อาจมีเด็กหลุดจากระบบมากถึง 65,000 คน

ระหว่างดิ้นรนเพื่อลืมตา วัยเยาว์-ผู้ที่จักรวาลยังคงเป็นของพวกเขา อาจเผลอทำฝันหล่นหายไปในระหว่างทาง

ภาพยนตร์ Childhood โรงเรียนริมป่า ราวภาพสะท้อน ชวนให้มองการส่งเสียงประท้วงของเด็กๆ แต่ไม่ใช่เด็กๆ ในประเทศนอร์เวย์ …เด็กๆ ในประเทศเราต่างหาก 

‘Childhood เมืองไทย’ ยังคงอีกยาวไกล กว่าจะได้มีฝัน

การ์ตูนเซีย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, https://images.app.goo.gl/7qQiVKZQWEuXLf419

อ้างอิง

https://www.youtube.com/watch?v=omtDAtd9CZ4

https://www.youtube.com/watch?v=gH1ih4-efhs&t=60s

https://www.tnews.co.th/contents/400668

https://nordichouse.is/en/event/childhood-nordic-film-festival/

https://www.matichon.co.th/education/news_2696116

https://aflcio.org/about-us/history

https://www.prachachat.net/education

นิตยสารสารคดี ฉบับพิเศษ LGBTQ+ , เพศ (ในระบบการ) ศึกษา ผ่านสายตา ‘เคท ครั้งพิบูลย์’

เกี่ยวกับผู้เขียน

sunisa-tongtha
นิสากรม์ ทองทา
ผลงานชิ้นอื่นๆ

ผู้ตกหลุมรักอิสระยามจรดปลายปากกา ชื่นชอบศิลปะอย่างมาก แม้จะวาดภาพห่วย มีความฝันอยากนอนอ่านหนังสือเป็นอาชีพหลัก

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Categories