การศึกษายุคใหม่ควรไปทางไหนดี กับสถิติจากนานาประเทศ

หนึ่งในความขัดแย้งยอดนิยมเรื่องการศึกษาคือการปะทะทางความคิดกันระหว่าง “การศึกษาที่เน้นความรู้พื้นฐานวิชาการ เสริมสร้างวินัย” กับ “การศึกษาที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นตัวของตัวเอง” อย่างเช่นเรื่องการแต่งเครื่องแบบที่ฝ่ายหนึ่งจะมองว่าทำให้เด็กมีระเบียบวินัย ส่วนอีกฝ่ายมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเด็ก เด็กควรมีสิทธิเลือกว่าเขาควรแต่งตัวแบบที่เขารู้สึกสบายใจ

ความขัดแย้งที่ว่าไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นกันทั่วโลก Pew Research Center สถาบันวิจัยจากสหรัฐได้ทำการสำรวจ 19 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า 14 ประเทศ และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังเติบโตอีก 5 ประเทศ ได้ผลออกมาดังนี้

1. เศรษฐกิจยิ่งก้าวหน้า ยิ่งส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง

ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า พบว่าส่วนใหญ่มองว่าความคิดสร้างสรรค์และการเป็นตัวของตัวเองสำคัญกว่า อย่างไรก็ตาม ช่องว่างระหว่างกลุ่มที่เลือกความคิดสร้างสรรค์กับระเบียบวินัยก็ต่างกันไม่มาก และประเทศพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสก็มองว่าวินัยและความรู้พื้นฐานสำคัญกว่าความคิดสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง

ส่วนในประเทศเศรษฐกิจกำลังเติบโตส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับวินัยและความรู้พื้นฐานมากกว่า แต่เซอร์ไพรส์ที่ประเทศจีน ประเทศที่ปกครองแบบอำนาจนิยมคนที่ตอบแบบสำรวจมองว่าความคิดสร้างสรรค์และการเป็นตัวของตัวเองสำคัญกว่า

2. การเลือกว่าการศึกษาควรเน้นวินัยหรือความคิดสร้างสรรค์ เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองของคนตอบแบบสอบถาม

คนที่มีแนวคิดค่อนไปทางฝั่งซ้าย (ลิเบอรัล) มักจะชอบการศึกษาที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ ส่วนคนที่มีแนวคิดค่อนไปทางขวา (คอนเซอร์เวทีฟ) มักจะสนับสนุนการศึกษาที่เน้นระเบียบวินัย โดยเฉพาะในสหรัฐที่ช่องว่างระหว่างคอนเซอร์เวทีฟกับลิเบอรัลห่างกันชัดเจน 67 ต่อ 33 นอกจากนี้ อีกสิ่งที่เห็นได้ชัดคือกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจก้าวหน้า คนที่เป็นลิเบอรัลมีมากกว่า

3. คนยิ่งอายุน้อย ก็ยิ่งสนับสนุนการศึกษาที่เน้นความคิดสร้างสรรค์มากกว่าวินัย

คนอายุ 18-34 ส่วนมากคิดว่าความคิดสร้างสรรค์สำคัญกว่าวินัย ในขณะที่คนอายุ 50 ปีขึ้นไปต้องการเน้นวินัยในการศึกษามากกว่า (ซึ่งก็คือแนวคิดของ Gen Y หรือ มิลเลนเนียล ปะทะกับ Baby Boomer นี่เอง) ซึ่งเมื่อดูจากชาร์ตแล้วจะเห็นความแตกต่างของ 2 เจเนอเรชั่นได้อย่างชัดเจน ยกเว้นในประเทศจีนทั้งสองรุ่นมีความต่างทางความคิดไม่มากนัก

4. ประเทศจีนมองว่าการสอนที่ดีที่สุดต้องมีความคิดสร้างสรรค์และวินัยพอ ๆ กัน

ถึงแม้ในภาพรวมประเทศจีนจะให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์มากกว่า คนตอบแบบสอบถามจากจีนจำนวนไม่น้อย (28%) มองว่าควรให้ความสำคัญกับทั้งสองอย่าง ทาง Pew Research Center มองว่า เพราะการสอบวัดผลของประเทศจีนยังเน้นไปที่การท่องจำเนื้อหาจากตำราอยู่

ส่วนในประเทศไทยนั้น ถึงแม้ทาง Pew Research Center ไม่ได้มาเก็บสถิติ แต่เมื่อดูจากนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว พบว่าเน้นไปที่ความคิดสร้างสรรค์และให้นักเรียนเป็นตัวของตัวเอง อย่างเช่นในโครงการการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ที่วางแผนโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เน้นไปที่การพัฒนา 3 ทักษะนี้

1) ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

2) การคิดอย่างมีวิจารณญานและการแก้ปัญหา

3) การสื่อสารและความร่วมมือ

นอกจากนี้ ยังกำหนดบทบาทของครูใหม่ จากการเป็นผู้สอนโดยตรง เปลี่ยนเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และมีหน้าที่กระตุ้นความคิด ให้นักเรียนสามารถประยุกต์ความรู้ที่เกิดขึ้นในห้องมาเป็นทักษะชีวิตได้

แต่ทว่าในทางปฏิบัติแล้วยังคงมีปัญหาอยู่ เช่น ต้องการความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ต้องการให้นักเรียนไว้ผมตามกฎและใส่เครื่องแบบให้ถูกระเบียบ เช่นเดียวกับการตากแดดเข้าแถวตอนเช้า รวมถึงการสอนก็ยังคงเน้นท่องจำและไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกทางความคิดเท่าที่ควร

“นักเรียนเป็นคนที่มีอำนาจน้อยสุดในโรงเรียน การที่เด็กไปอธิบาย ต่อรองกับครู สุดท้ายก็แพ้ เพราะครูมีอำนาจมากกว่า… หรืออย่างเราเคยแย้งว่าข้อมูลที่ครูพูดมาไม่ถูก แล้วครูคงโกรธ ถามกลับมาว่าไปเอาข้อมูลมาจากไหน เราก็บอกว่าเคยได้ยินมาจากคนอื่น ครูก็อ้างว่าถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีหลักฐาน เหมือนครูไม่ได้ยอมรับ”

วริษา สุขกำเนิด อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ให้สัมภาษณ์เอาไว้

เพราะถึงแม้ส่วนกลางจะมีนโยบายให้เปลี่ยน แต่ความคิดของครูผู้สอนอาจจะยังไม่สามารถปรับได้เร็วตามแผนของกระทรวง รวมถึงวิธีคิดของหน่วยงานรัฐด้านการศึกษาก็ยังไม่ได้เปลี่ยนไปตามแผน

“ปัญหาคือเข้ามาในโครงสร้างอำนาจเหมือนเดิม มีการสั่งงานแบบเดิมอยู่ ครูรุ่นใหม่คิดว่าตัวเองจะมีอิสระเต็มที่แต่จริง ๆ คือไม่มี เพราะถูกสั่งจากเขตพื้นที่ จากส่วนกลาง ต้องรับโครงการนั้นนี้มา”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็น

“ท่ามกลางความพยายามปฏิรูปการศึกษาด้วยวิธีต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีผู้เรียนอยู่ในสมการ ไม่ว่าจะปฏิรูปกันอีกสักกี่ครั้ง สิ่งที่ยังคงเดิมตลอดกาล ไม่ถูกทำให้เปลี่ยนผ่านเสียที คือ สุดท้ายแล้วเราไม่ได้มีการศึกษาอย่างเป็นประชาธิปไตย เป็นการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของผู้เรียน โดยผู้เรียน และเพื่อผู้เรียน”

เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ นักสื่อสารและผู้ก่อตั้ง Newground

สุดท้าย มันก็ไม่สามารถสรุปได้ตายตัวหรอกว่าการเรียนการสอนแบบใดดีที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่เราบอกได้คือถ้าวางแผนอะไรไว้ เราก็หวังว่าจะเป็นไปได้ตามนั้น แล้วประเมินกันว่าการศึกษาแบบเน้นวินัยหรือความคิดสร้างสรรค์ อันไหนเวิร์คกับสภาพสังคมปัจจุบันมากกว่ากัน

ที่มา

https://www.weforum.org/agenda/2017/09/this-is-how-people-around-the-world-view-education?utm_content=buffer5f02b&utm_medium=social&utm_source=facebook.com&utm_campaign=buffer

https://prachatai.com/journal/2016/07/66674

https://thematter.co/pulse/active-citizen/24144

https://webs.rmutl.ac.th/assets/upload/files/2016/09/20160908101755_51855.pdf

เกี่ยวกับผู้เขียน

139617677_428310095054236_534354255549930898_n
วิภาพรรณ วงษ์สว่าง
| ผลงานชิ้นอื่นๆ

ผู้ก่อตั้งโครงการสื่อสารเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ Thaiconsent.in.th, นักออกแบบเกมและนักออกแบบเพื่อการแก้ปัญหาสังคม ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาโท สาขา Social Design ที่ L'École de Design Nantes ประเทศฝรั่งเศส

+2

Categories

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments