การพักผ่อนมากเกินไป อาจเป็นเรื่องค่อนข้างผิดปกติในประเทศเกาหลีใต้ เพราะคนเกาหลีต่างถือคติว่าต้องเรียนและทำงานให้หนักหน่วงเพื่อแลกกับความสำเร็จอันหวานชื่นในชีวิต
ไม่ได้เป็นเรื่องเกินจริงนัก เพราะคนเกาหลียุคมิลเนียลกำลังกดดันและเจ็บปวดรวดร้าวต่อกับดักค่านิยมความสำเร็จทางสังคม หากชีวิตล้มเหลวเพียงครั้งเดียว ความหลงใหลใฝ่ฝันของพวกเขาอาจพังทลายไร้ทางออก เป็นเหตุผลว่าทำไมคนยุคมิลเลนเนียลและคนรุ่นใหม่ในเกาหลีถึงชอบเรียกตัวเองว่าซัมโป (Sampo) ซึ่งมีความหมายราวๆ ว่าเจเนอเรชั่นแห่งการเสียสละ 3 ประการ ได้แก่ เสียสละความสัมพันธ์ เสียสละการแต่งงาน เสียสละการจะมีลูกหลาน เพื่อให้ชีวิตของแต่ละคนอยู่รอดต่อไปได้ และดูเหมือนว่าสิ่งที่พวกเขาต้องสละในอนาคตจะเพิ่มขึ้นจากสามข้อเหมือนนับค่าอนันต์ เพราะสภาพเศรษฐกิจที่บีบรัด อัตราการว่างงานที่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งยังไม่รวมคนที่มีงานทำแล้ว แต่ได้รับค่าตอบแทนเพียงน้อยนิด มิหนำซ้ำแนวโน้มของสังคมยังมีอัตราของผู้สูงอายุที่มากขึ้น มีอัตราการเกิดและการแต่งงานต่ำ ทว่าการหย่าร้างยังสูงขึ้นด้วย
ทุกครั้งที่เราถกเรื่องวัฒนธรรมเกาหลีร่วมสมัย ด้านหนึ่งเราเห็นคนไทยชื่นชมยินดีกับเมือง เทคโนโลยีและสังคมที่พัฒนาไกลรุดหน้า แต่อีกด้านเรามักได้ยินการสะท้อนกลับว่าท่ามกลางความเจริญล้ำหน้าที่ได้มา คนเกาหลีมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปมหาศาล ใช่ พลเมืองเหล่านี้ต้องแลกกับความเครียดและความกดดันทางสังคมที่มากล้นเกินต้านทาน
จากข้อมูลปี 2019 เกาหลีใต้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในกลุ่ม 36 ชาติอุตสาหกรรม OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ) ซึ่งคาดว่ามีคนเกาหลีฆ่าตัวตายเฉลี่ยเกือบ 40 คน/วัน
Ha Ji-Hyun จิตแพทย์และศาสตราจารย์จาก Konkuk University’s Medical Center เผยว่าภาวะซึมเศร้าของหมู่เยาวชนเกาหลีอยู่ในระดับสูงตลอดเวลา จากข้อมูลของ the Health Insurance Review & Assessment Service พบว่าจำนวนคนในวัย 20 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วง 5 ปีนี้
นั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อไม่ให้ชีวิตห่อเหี่ยวและชอกช้ำจนกลายเป็นคนพ่ายแพ้ต่อชีวิต และเลือกจากโลกใบนี้ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ คนเกาหลีกลุ่มหนึ่งตัดสินใจทำโปรเจกต์สร้างพื้นที่ปลอดภัย หลุมหลบภัยแห่งความรู้สึกเพื่อมอบโอกาสด้านการเยียวยาจิตใจให้คนได้ลุกขึ้นมาใช้ชีวิตใหม่อีกครั้ง
เรากำลังพูดถึง Don’t Worry Village โครงการที่ก่อตั้งด้วยพลังของคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 20-30 ปี ที่ตั้งอยู่ที่เมืองท่า Mokpo ในจังหวัดชอลลาใต้ บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาหลี โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นในปี 2018 โดยได้รับการช่วยเหลือด้านเงินทุนจากรัฐบาล ซึ่งต้องการพัฒนายูนิตอาคารร้างไร้การใช้งาน ที่กระจายอยู่ในเมืองให้กลับมาฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง โครงการที่ว่านี้มีสโลแกนว่า “ไม่เป็นไรหากจะพักผ่อน ไม่เป็นไรหากจะล้มเหลว”
พูดง่ายๆ คือโครงการดังกล่าว เกิดขึ้นเพื่อรองรับผู้คนยุคใหม่ที่กำลงทดท้อใจจากโลกแห่งการแข่งขันอย่างบ้าคลั่งของสังคม ให้เข้ามารวมตัวกันโดยใช้เวลา 6 สัปดาห์เพื่อพักผ่อน ฟื้นฟูและเยียวยาตัวเองจากความคาดหวังอันสูงลิบของมาตรฐานอันเคร่งเครียด และทดลองทำโปรเจกต์ที่ตัวเองต้องการแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการใช้พื้นที่ร้างทำงานครีเอทีฟแบบคนรุ่นใหม่ อย่างเช่น การทำงานร้านอาหาร ร้านกาแฟ จัดแสดงงานศิลปะ และผลิตสารคดีที่อยากจะทำ
Park Myung-Ho วัย 33 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการร่วมกับ Hong Dong-Woo วัย 34 ปีกล่าวว่าหมู่บ้านมีความปรารถนาที่จะรวบรวมสิ่งที่เรียกว่า ‘sohwakhaeng’ ซึ่งมีความหมายประมาณว่าความสุขเล็กๆ ทว่ามั่นคง (small but certain hapiness) อันเป็นแนวคิดของ ‘ฮารูกิ มูราคามิ’ นักเขียนชาวญี่ปุ่นชื่อก้องโลกจากงานเขียนของเขาที่ชื่อว่า Afternoon in the Islets of Langerhans ซึ่งได้รับความนิยมอยู่พักใหญ่ในประเทศ
“แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับเหตุการณ์สำคัญยิ่งใหญ่ ชาวเกาหลีอายุน้อยกำลังค้นหาโซฮวากัง ไม่ว่าจะเป็นการดื่มด่ำกับชีสเค้กชิ้นหนึ่งที่ร้านเบเกอรี่ในพื้นที่ของตัวเอง เขียนเพลง เขียนหนังสือ หรือสิ่งละอันพันละน้อย แต่คุณเป็นเจ้าของมันทั้งหมด”
มยองโฮกล่าว
การหาความสุขเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของคนเกาหลีสะท้อนว่าพวกเขามุ่งโฟกัสไปยังเป้าหมายใหญ่ๆ ที่มีความยากแทบตลอดเวลา เทรนด์นี้จึงเป็นเหมือนการปฏิเสธสังคมที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากจนมองหาความสำเร็จต่างๆ ได้ยากยิ่ง
Hong Dong-woo เริ่มต้น Don’t Worry Village ด้วยการตั้งใจให้มันเป็นบ้านหลังที่สองสำหรับหนุ่มสาวชาวเกาหลีที่เหน็ดเหนื่อยจากการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่หรือกำลังมองหาสถานที่สำหรับครุ่นคิดหาก้าวต่อไปในชีวิต
หลังจากย้ายมาที่มกโพในปี 2017 ดงวูเริ่มทำงานในการสร้างชุมชนเยาวชนแห่งอนาคตแห่งนี้โดยได้รับแรงบันดาลใจจากผู้คนที่เขาเคยพบขณะออกเดินทางแบบ road trip ดงวูเล่าถึงหมู่บ้านของเขาว่า “มันเป็นความรู้สึกของการเป็นชุมชน และการที่พวกเขาอยากจะบอกคนอื่นเกี่ยวกับความกังวล พวกเขาแค่อยากบอกใครบางคนว่าตัวเองกำลังลำบากเท่านั้นเอง”
การที่จะเข้ามาพักใน Don’t Worry Village ได้ ผู้เข้าร่วมจะต้องได้รับการคัดเลือกหลังจากผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์หลายขั้น โดยมีการคิดค่าธรรมเนียมผู้เข้าพักเพียง 200,000 วอน (172 เหรียญสหรัฐ หรือห้าพันกว่าบาทไทย) ซึ่งจะได้รับเงินคืนเมื่อจบหลักสูตร 6 สัปดาห์ โดยรับสมาชิกเข้าร่วมโปรเจกต์ 30 คน/ครั้ง นอกจากทุกคนจะอยู่ในหมู่บ้านเพื่อพักผ่อนและพักฟื้นตัวเอง ยังสามารถสร้างเครือข่ายและเรียนรู้องค์ความรู้ต่างๆ ที่ตัวเองสนใจ ทั้งการทำอาหารและงานหัตถกรรม ทักษะที่ทุกคนรับในขณะที่อยู่ในหมู่บ้านจะช่วยให้บางคนสามารถจัดตั้งธุรกิจของตัวเองในมกโพต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารมังสวิรัติ คาเฟ่ และการเวิร์คช็อปต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือชีวิตในเมืองใหญ่ที่มีเวลาน้อยและต้องใช้เงินจำนวนมากในการครองชีพอย่างโซล ไม่ได้เอื้อให้เกิดการเรียนรู้แบบนี้ได้ง่ายดายนัก
ผู้ก่อตั้งและทีมงานของชุมชนคนรุ่นใหม่แห่งนี้จะจัดทริปให้ทุกคนได้ออกเดินทางร่วมกันในเมืองเล็กๆ ที่สงบเงียบ ด้วยการออกไปชมธรรมชาติ อย่างทะเล ภูเขาและเกาะต่างๆ ทั้งยังมีการเปิดตลาดนัด จัดงานเทศกาล เท่าที่เวลา 2 เดือนจะเอื้อให้ผู้เข้ารวมได้มีโอกาสสร้างเมืองที่ใฝ่ฝันถึงสันติภาพและความสามัคคีที่อยู่เหนือศาสนาและการเมืองเป็นระยะเวลาสั้นๆ
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือการจัดช่วงเวลาพักผ่อน ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่อยู่อย่างไม่ตั้งเป้าหมาย แล้วคิดเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมและโลกอันแสนสงบ โปรเจกต์นี้รวมคนที่เจอปัญหาจากสังคมคล้ายๆ กัน มีความชอบคล้ายๆ กัน ดึงให้ชีวิตของปัจเจกชนในเมืองอันแสนโดดเดี่ยวได้กลับมามีสังคม จนได้รับการโอบอุ้มจากเพื่อนๆ ในหมู่บ้าน และเมื่อก้าวเข้ามา ทุกคนจะใช้นามสมมติ และถอดความคาดหวังจากโลกภายนอกลง เพราะสังคมเกาหลีส่วนใหญ่มักถามถึงนามสกุล คู่ครอง บริษัทที่ทำงาน มหาวิทยาลัยที่คุณเรียนจบแทบตลอดเวลา และนั่นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมเนียมการรักษาหน้าตาและการเปรียบเทียบอันไม่มีสิ้นสุดที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมเกาหลีที่ Don’t Worry Village ตั้งใจให้ผู้เข้าร่วมไม่ต้องกังวลเรื่องพวกนี้ เมื่ออยู่ในพื้นที่ของโครงการ
ในความเป็นจริงจากผู้อยู่อาศัย 76 คนที่เคยเข้าพักใน Don’t Worry Village นับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2018 มีคนจำนวนถึง 31 คนที่ไม่เคยออกไปจากชุมชนในเมืองมกโพ พวกเขาริเริ่มทำธุรกิจของตัวเองหรือหางานในท้องถิ่นเพื่อใช้ชีวิตที่สงบในเมืองแห่งนี้ต่อไป
Lee Jin-ah อายุ 36 ปี เป็นหนึ่งในผู้อยู่อาศัยเดิมของหมู่บ้านที่ไร้ความกังวล จินอาตัดสินใจทิ้งชีวิตในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยความกดดัน เพื่อมาสร้างบ้านใหม่ที่มกโพหลังจากเข้าพักได้ 6 สัปดาห์ เธอเคยเป็นอดีตผู้จัดการร้านขายของชำนอกกรุงโซล แต่ปัจจุบันผันตัวมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การเงินให้กับองค์กร Empty Public Space ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุน Don’t Worry Village
“ วันหนึ่งจู่ๆ ฉันก็ถามตัวเองว่าทำไมต้องรอจนเกษียณ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตตามความฝัน”
“ในโซลทุกอย่างแพงขึ้นเรื่อย ๆ และฉันไม่มีเงินไปทำสิ่งที่อยากทำ แต่ที่นี่สิ่งต่างๆ มีราคาที่เหมาะสมกว่าและไม่มีสิ่งที่ต้องเสียเงินมากเท่า”
เธอเล่า
สภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำ ความคาดหวังสูงลิ่ว และการเจริญเติบโตทางหน้าที่การงานที่กดทับความสำเร็จเป็นปัญหาที่เยาชนเกาหลีต้องประสบมาตลอด แม้แต่ K-pop ความงามแบบเกาหลี และวัฒนธรรมอันน่าเย้ายวนใจต่อผู้คนทั่วโลก ก็ไม่อาจช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากความทุกข์ทนนี้ได้
รัฐบาลเกาหลีใต้เองรู้ดีว่าประชากรรุ่นหลังกำลังกดดันจากความคาดหวังของสังคมที่บอกให้เขาประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย หน่วยงานรัฐจึงจัดงาน Fail Expo ครั้งแรกในโซลขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากวันแห่งความล้มเหลวสากล ซึ่งจัดทำขึ้นในฟินแลนด์ในปี 2010 และพิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลวในสวีเดนซึ่งเปิดในปี 2017 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของสาธารณชนว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นหนทางหนึ่งของความสำเร็จ ซึ่งประธานาธิบดีมุน แจ-อิน เองก็สนับสนุนให้ผู้คนใช้ชีวิตช้าๆ ลงด้วย
โมเดลของ Don’t Worry Village เป็นเพียงโปรเจกต์เล็กๆ ที่ช่วยระบายความอัดอันตันใจของคนยุคใหม่ที่เหน็ดเหนื่อยจากการต่อสู้ฝ่าฟันทางสังคม ดงวูผู้ริเริ่มโครงการสำทับว่า
“เราอยู่ในสังคมที่คุณไม่สามารถมั่นใจในตัวเองได้ ถ้าคุณไม่มีงานที่ทำตามมาตรฐานของสังคม เราต้องการให้หมู่บ้านของเราแสดงให้เห็นว่าการทำในสิ่งที่คุณอยากทำ จะทำให้คุณทำอะไรได้ดีกว่าสิ่งที่สังคมบอกว่าคุณควรทำ”
อาจดูเป็นโปรเจกต์หรือนวัตกรรมที่แสนธรรมดาสำหรับสังคมประเทศอื่น แต่สำหรับสังคมเกาหลี ชุมชนเล็กๆ ที่สามารถดึงให้คนหนุ่มสาวลดความตึงเครียดและความคาดหวังต่อชีวิตของตัวเอง ดูจะเป็นเรื่องไม่ง่าย แถมท้าท้ายต่อค่านิยมที่พวกเขาถูกวัฒนธรรมหล่อหลอม ซ้ำร้ายยังยากเย็นต่อการที่พวกเขาจะก้าวข้ามการถูกตราหน้าว่าเป็นเจเนอเรชั่นที่ไม่อดทนมาตั้งแต่ยังเล็กอีกด้วย
อ้างอิง
https://qz.com/work/1714750/south-koreas-government-is-trying-to-teach-people-how-to-fail
https://thematter.co/brief/goodsmorning/goodsmorning-1592355145/115017
เกี่ยวกับผู้เขียน
ปวรพล รุ่งรจนา
ปัจจุบันเป็นนักสร้างเรื่องราวประจำ echo สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและเพศวิถี สนใจงานแสดงเหมือนกัน แต่ยังไม่มีใครจ้าง
- ปวรพล รุ่งรจนา#molongui-disabled-link