สึสดีค่ะคุณน้า! ว่าด้วย “ศัพท์” สุดโฮ่ง สู่ Pop Culture ของคนทุกเจน

  • วัฒนธรรมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) กลายเป็นวัฒนธรรมที่ถูกโอบรับจากคนในสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ต้องการรับรู้ชุดข้อมูลแปลกใหม่อยู่เสมอ จนคล้ายกับว่าวัฒนธรรมของกลุ่ม LGBTQ+ ค่อยๆ กลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ ที่มีอิทธิพลกับการใช้ชีวิตของคนยุคนี้ไปแล้ว
  • “ศัพท์กะเทย” ก็มีการเกิดขึ้นและต่อยอดกันไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด คำศัพท์ใหม่ ๆ ถูกประดิษฐ์ หยิบยืม หรือเอามาให้ความหมายใหม่อยู่เสมอ เพื่อใช้สื่อสารในกลุ่มและสร้าง “อรรถรส” ในการพูดคุย สร้างเสียงหัวเราะและความตลกขบขัน โดยเฉพาะในยุคที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลกับวิถีชีวิตของคนในสังคมมากขึ้น
  • คำศัพท์กะเทยคือภาษาสแลงที่เกิดขึ้นและดับไป เช่นเดียวกับคำศัพท์สแลงในยุคก่อนที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนในแต่ละยุคสมัยนั้น ๆ โดยหน้าที่หนึ่งของคำศัพท์เหล่านี้คือช่วยสะท้อนสภาพสังคมและความเป็นไปของคนในช่วงนั้น ได้รับความนิยมในช่วงสั้น ๆ และอาจสูญหายไปตามกาลเวลาได้
  • ในขณะที่ศัพท์กะเทยถูกคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนเจน Z นำมาใช้ในโลกออนไลน์และในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลาย คำศัพท์เหล่านี้กลับสร้างความสับสนให้กับคนเจนอื่นอยู่ไม่น้อย จนอาจจะกลาย “กำแพงภาษา” ของคนต่างรุ่น 

โฮ่ง, นอยด์อ่า, ฉ่ำ, คนไทยคนแรก, กูจะเครซี่, ทำถึง, คุณน้า, ชั้น G, อ่อม ฯลฯ

เชื่อว่าชาวเน็ตหลายคนคงเคยเห็นคำศัพท์เหล่านี้ผ่านตามาบ้าง เวลาท่องโลกออนไลน์ที่สุดแสนจะกว้างใหญ่ไพศาล คำศัพท์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีที่มาจากกลุ่ม LGBTQ+ ผู้มีอิทธิพลในอินเทอร์เน็ต พวกเขาคิดค้น หยิบยืม หรือให้ความหมายใหม่กับคำศัพท์มากมาย เพื่อนำมาใช้สื่อสารกันภายในกลุ่ม จนกลายเป็นคำศัพท์ปัง ๆ ที่ถูกอกถูกใจวัยรุ่น และถูกนำไปใช้ต่อเป็นวงกว้าง ต่อมาจึงกลายเป็นวัฒนธรรมศัพท์กะเทยที่ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ ที่ไม่เพียงถูกใช้สื่อสารในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ใช้พูดคุยสื่อสารในชีวิตประจำวันกับคนรอบข้างอีกด้วย

การเกิดใหม่ของภาษาที่ส่วนใหญ่มีที่มาจาก “พี่กะเทย” บนโซเชียลไม่ใช่เรื่องใหม่ การก่อร่างสร้างคำศัพท์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่โซเชียลมีเดียคือพื้นที่ส่งต่อและขยายความนิยมให้กับคำศัพท์เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจคำศัพท์สุดโฮ่งที่วัยรุ่นใช้กัน จึงต้องมีการเรียนรู้และปรับจูน เพื่อสร้างความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างคนต่างเจน โดยเฉพาะในยุคที่โลกหมุนเร็วขึ้นด้วยพลังของเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์เหมือนในปัจจุบันนี้

ศัพท์กะเทย = ภาษาที่เปลี่ยนแปลงได้

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) กลายเป็นวัฒนธรรมที่ถูกโอบรับจากคนในสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ต้องการรับรู้ชุดข้อมูลแปลกใหม่อยู่เสมอ จนคล้ายกับว่าวัฒนธรรมของกลุ่ม LGBTQ+ ค่อยๆ กลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ ที่มีอิทธิพลกับการใช้ชีวิตของคนยุคนี้ไปแล้ว โดยเฉพาะ “ศัพท์กะเทย” ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในโลกออนไลน์และพื้นที่สื่อโทรทัศน์ จนกลายเป็นคำศัพท์สุดฮิตที่ผู้คนต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ ไม่อย่างนั้นอาจคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง

ภาษามีวิวัฒนาการ เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและสภาพสังคมฉันใด  วัฒนธรรมศัพท์กะเทยก็มีการเกิดขึ้นและต่อยอดกันไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุดฉันนั้น คำศัพท์ใหม่ ๆ ถูกประดิษฐ์ หยิบยืม หรือเอามาให้ความหมายใหม่อยู่เสมอ เพื่อใช้สื่อสารในกลุ่มและสร้าง “อรรถรส” ในการพูดคุย สร้างเสียงหัวเราะและความตลกขบขัน โดยเฉพาะในยุคที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลกับวิถีชีวิตของคนในสังคมมากขึ้น คำศัพท์ที่อินฟลูเอนเซอร์ใช้กันจึงถูกนำมาใช้ต่อ จนกลายเป็นไวรัลคำฮิตที่คนอื่นๆ ใช้ตามกันทั่วบ้านทั่วเมือง

หากลองมองย้อนกลับไป คำศัพท์จาก “ซีรีส์ไดอารี่ตุ๊ดซีส์เดอะซีรีส์” เช่น ยิ้ม, อรรถรส, แซ่บ, เบอร์นี้, ลำไย ฯลฯ ถูกหยิบมาใช้พูดคุยสื่อสารในโลกโซเชียลและโลกจริง คำศัพท์เหล่านี้ถูกใช้ในบทสนทนาของตัวละครในซีรีส์ ที่สะท้อนสภาพสังคม ความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต และความสัมพันธ์ที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ชมได้เป็นอย่างดี จึงเกิดการนำคำศัพท์เหล่านั้นมาใช้ในสถานการณ์ชีวิตที่คล้ายกันของคน ก่อนจะได้รับคำนิยมและถูกใช้อย่างแพร่หลายในช่วงเวลาเดียวกัน

article_2024_12pic1
 ที่มา : บันทึกของตุ๊ด

ปรากฏการณ์การสร้างสรรค์หรือสร้างคำศัพท์กระเทยแบบนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ได้มาจากสื่อซีรีส์โทรทัศน์เพียงอย่างเดียว แต่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหรืออินฟลูเอนเซอร์ก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างคำศัพท์ใหม่ๆ เพื่อใช้สร้างรสชาติของการสื่อสารในกลุ่ม เช่น ชีวิตแบบใดห์,  ได้อยู่, นาตาชา, ตัวแม่ตัวมัม, เด๋อ, บ้ง, ปังปุริเย่, แกง, ยม ฯลฯ ซึ่งคำศัพท์เหล่านี้กลายเป็นคำคุ้นเคยของคนรุ่นใหม่ ที่เอาไว้ใช้พูดคุยกับคนทั้งในและนอกโซเชียล 

เปิดคลังศัพท์ใหม่สุดโฮ่ง 

เมื่อลองดูความเป็นไปของโซเชียลมีเดียไทยในตอนนี้ เราจะเห็นศัพท์กะเทยใหม่ๆ ที่กำลังฮิตและถูกใช้เป็นวงกว้าง ซึ่งเราได้รวบรวมคำศัพท์กะเทยสุดฮิตและที่มาที่ไปของแต่ะคำมาฝากกันเล็กๆ น้อยๆ ให้พอได้ทราบที่มาและความหมายกันหน่อย ดังต่อไปนี้ 

  • นอยด์อ่า 

คำศัพท์ “นอยด์อ่า” เริ่มได้รับความนิยม หลังจาก “ฟลุ๊ค กะล่อน” เน็ตไอดอลสายความงามเริ่มทำ VLOG WEEK ซึ่งเป็นวิดีโอแบบ VLOG ที่มีความยาวไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งฟลุ๊ค กะล่อน ได้พาคนดูไปดูเรื่องราวในชีวิตประจำวันของตัวเอง นัดเจอ ไปเที่ยว พูดคุยกับกลุ่มเพื่อน ๆ ของเธอ ซึ่งมีความหัวไว สร้างสรรค์ และสนุกสนาน โดยมักจะมีคำศัพท์ที่ติดปากฟลุ๊ค กะล่อน คือคำว่านอยด์อ่า หมายถึงรู้สึกไม่ดี รู้สึกแย่หรือน้อยใจ รวมถึงคำว่า “กูจะเครซี่” ที่ทำเอาชาวเน็ตเอาไปใช้ตาม ๆ กัน ซึ่งมีความหมายว่า “จะเป็นบ้า เหนื่อยใจกับเพื่อน” 

  • โฮ่ง

“แก๊งหิ้วหวี” ถือเป็นกลุ่ม LGBTQ+ อินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงและมีแฟนคลับเป็นจำนวนมาก โดยพวกเธอมักจะคอนเทนต์ตลก ๆ ที่ใช้คำศัพท์กะเทยพูดคุยกัน จนเป็นที่ถูกใจชาวเน็ตที่ติดตาม โดยเฉพาะคำว่า “โฮ่ง” ซึ่ง “มิกซ์ เฉลิมศรี” หนึ่งในสมาชิกแก๊งหิ้วหวี ได้ออกมาอธิบายความหมายว่า “เริ่ด ดี จึ้ง”  ซึ่งเป็นความหมายในเชิงบวก เอาไว้ชื่นชมคนอื่น เช่น วันนี้แต่งหน้าโฮ่งมาก เป็นต้น

  • ทำถึง

คำว่า “ทำถึง” ก็เป็นคำศัพท์อีกหนึ่งคำที่ได้รับความนิยม แปลว่า “ทำได้ดีมาก ทำได้ดีเกิดคาด” ทำถึงแก่น ทำถึงรากถึงโคน ใช้กล่าวชื่นชมคนฟัง ซึ่งคำนี้ไม่มีที่มาที่แน่ชัดว่าใครเป็นคนเริ่มพูดหรือเริ่มพูดในบริบทไหน

article_2024_12pic2
ที่มา: โลกของคนมีหนวด
  • คุณน้า

ก่อนหน้านี้มีคำศัพท์ว่า “คุณแม่” สื่อถึงผู้หญิงหรือกะเทยที่มีความสามารถ (ด้านใดก็ตาม) เป็นที่เคารพของกลุ่ม ถูกยกให้เป็นคนที่เลิศ ใคร ๆ ก็รัก ก็ชื่นชม จนกลายเป็นวลี “เริ่ดมากแม่” หรือ “งงมากแม่” รวมถึงคำว่าซิส, พส หรือเจ๊ แต่ตอนนี้วัยรุ่นนิยมใช้คำว่า “คุณน้า” ซึ่งเป็นขั้นกว่าของแม่ อย่างไรก็ตาม ฟลุ๊ค กะล่อน มักจะใช้คำนี้่ต่อท้าย เช่น “นอยด์อ่าคุณน้า” เป็นต้น

  • ชั้น G

“ชั้น G” มีความหมายว่า “ชนชั้นล่าง” ใช้เป็นคำพูดเหยียดเพื่อน เวลาที่เพื่อนพูดหรือทำอะไรที่ไม่ถูกใจหรือดูไม่แพง โดย “นินิว เพชรด่านแก้ว” อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ใช้คำศัพท์นี้พูดกับเพื่อนสนิท จนถูกเอามาแฉ ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจของชาวเน็ต จนหยิบยืมมาใช้ในการสื่อสารกับกลุ่มเพื่อน และได้รับความนิยมในตอนนี้

คำศัพท์กะเทยคือภาษาสแลงที่เกิดขึ้นและดับไป เช่นเดียวกับคำศัพท์สแลงในยุคก่อนที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนในแต่ละยุคสมัยนั้นๆ โดยหน้าที่หนึ่งของคำศัพท์เหล่านี้คือช่วยสะท้อนสภาพสังคมและความเป็นไปของคนในช่วงนั้น ได้รับความนิยมในช่วงสั้นๆ และอาจสูญหายไปตามกาลเวลาได้ 

ศัพท์ใหม่ที่คนรุ่นอื่นไม่เข้าใจ

ในขณะที่ศัพท์กะเทยถูกคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนเจน Z นำมาใช้ในโลกออนไลน์และในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลาย คำศัพท์เหล่านี้กลับสร้างความสับสนให้กับคนเจนอื่นอยู่ไม่น้อย จนอาจจะกลาย “กำแพงภาษา” ของคนต่างรุ่น ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการสื่อสารตามมา  

Preply แพลตฟอร์มสำหรับการเรียนออนไลน์ ได้เปิดเผยข้อมูลจากสำรวจ พบว่ากว่า 25% ของคนทำงานมีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนละเจนกับพวกเขา โดยคนทำงานเจน X ประมาณ 30% ระบุว่าพวกเขาไม่ค่อยเข้าใจเพื่อนร่วมงานเจนมิลเลนเนียลและเจน Z 

คนเจน Z คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น ทำให้คนเจน Z มักจะมีมุมมองเรื่องการทำงานแตกต่างจากคนเจนอื่น ๆ ทั้งในเรื่องยูนิฟอร์มการทำงาน เวลาการทำงาน รวมถึงการสื่อสาร ที่คนเจน Z มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนวิธีการสื่อสารให้เป็นกันเองมากขึ้น ดูเป็นมิตรมากกว่าเดิม และลดพิธีรีตองลง ซึ่งทำให้คนเจนก่อนหน้าหลายคนรู้สึกว่าเป็นกันเองเกินไป เล่นหัวมากเกินไป หรือคนเจน Z ดูเป็นคนไม่มีสัมมาคารวะ 

อย่างไรก็ตาม คนแต่ละเจนก็พยายามทำความเข้าใจและเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ในยุคนี้เช่นกัน โดยคนเจน Y หรือมิลเลนเนียล พยายามเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ  จากยูทูบ (YouTube) หรือโซเชียลมีเดีย และพยายามใช้คำสแลงสื่อสารกับคนเจน Z มากขึ้น ในขณะที่กลุ่มเจน X เลือกจะถามคนอายุน้อยกว่าถึงความหมายของคำศัพท์สแลง เพื่อทำความเข้าใจการสื่อสารของคนเจน Z ที่มักเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ จากแพลตฟอร์มติ๊กต็อก (TikTok)

ความนิยมในการใช้ภาษาพี่กะเทยทั้งในโลกออนไลน์และในชีวิตประจำวันอาจมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงและเกิดใหม่อยู่เสมอ ๆ แต่สิ่งสำคัญคือการใช้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับช่วงเวลาที่จะหยิบคำเหล่านั้นมาใช้ ระลึกอยู่เสมอว่าการใช้ต้องไม่ล้ำเส้นคนอื่น เพื่อสร้างอรรถรสและความสนุกสนานให้กับบทสนทนา 

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา

เครดิตกราฟิกภาพปก

  1. https://mgronline.com/entertainment/detail/9670000011612 
  2. https://www.thairath.co.th/entertain/movie/2758049 

https://www.facebook.com/photo/?fbid=717688297194017&set=pcb.717717520524428

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Categories