Local Youth Local Space : ‘สภาเด็กและเยาวชน’ พื้นที่นอกห้องเรียนในท้องถิ่น ที่ให้เด็กเยาวชนมีโอกาสเติบโตและส่งเสียงของตนเอง

ระบบการศึกษาไทยให้พื้นที่ในการส่งเสียงและโอกาสเติบโตแก่เด็กและเยาวชนหรือไม่?

หากคุณเป็นหนึ่งคนที่ลังเลจะตอบว่าประโยคข้างต้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ อยากให้คุณลองย้อนกลับมาถามตัวเองว่า แล้วพื้นที่ไหนที่ให้คุณในวัยเด็กมีโอกาสเติบโตและพัฒนาตัวเองอย่างถ่องแท้แน่นอน

เอาเข้าจริงแล้ว ที่ลังเลจะตอบไปเช่นนั้น อาจเป็นเพราะเราต่างหากที่ไม่รู้จัก ‘สภาเด็กฯ’ ที่แท้จริง

เพราะ ‘สภาเด็กและเยาวชนท้องถิ่น’ อาจเป็นหนึ่งในคำตอบที่เสียงดังฟังชัด จากเด็กต่างจังหวัดนอกเมืองหลวงที่มองว่า สิ่งนี้แหละ คือพื้นที่ที่จะทำให้พวกเขาได้มีโอกาสส่งเสียงและเติบโต

แล้วสภาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นคืออะไร? 

ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 แก้ไขฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2560 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขับเคลื่อนงานในภาคส่วนของเด็กและเยาวชน จึงส่งผลให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบล จำนวน 7,774 แห่ง ทั่วประเทศไทย โดยผู้มีรายชื่อตามทะเบียนบ้านตั้งแต่  0-25 ปี จะถูกนับเป็น ‘สมาชิกสภาเด็กและเยาวชน’ ในท้องถิ่นนั้นๆ

แต่คณะบริหารสภาเด็กและเยาวชน จะต้องผ่านการคัดเลือกและมีจำนวนไม่เกิน 21 คน เมื่อเด็กและเยาวชนเข้ามาเป็นคณะบริหาร จะมีบทบาทหน้าที่ในการร่วมออกแบบและจัดกิจกรรมหรือโครงการสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ ‘พี่เลี้ยง’

“สิ่งที่เราได้จากการทำงานสภาเด็กฯ กลายมาเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เรารู้สึกอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตั้งแต่เข้ามาทำสภาเด็กฯ ผลการเรียนที่ในโรงเรียนก็ดียิ่งขึ้น และรู้ว่าอนาคตโตขึ้นอยากเป็นอะไรต่อไป” นี่คือเสียงจาก พิน-ลลิตา คงคาคูณ อดีตสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านคา จังหวัดราชบุรี ที่ดำรงตำแหน่งเป็นคณะบริหารสภาเด็กฯ ตลอดระยะเวลากว่า 3-4 ปี ที่ในวันนี้จะมาเล่าให้ฟังว่า สภาเด็กฯ ให้โอกาสและเป็นพื้นที่ในการเติบโตให้กับเด็กๆ เยาวชนท้องถิ่นเช่นเธอได้อย่างไร

พินเป็นเยาวชนที่อาศัยอยู่ตำบลข้างเคียง และเข้ามาเป็นสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนในตำบลที่อาศัยอยู่ ซึ่งช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายเธอได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนบ้านคาวิทยา จังหวัดราชบุรี โดยคุณครูที่โรงเรียนมองว่า พินเคยทำงานสภาเด็กและเยาวชนมาก่อน จึงให้พินมาทำสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านคา

article_2024_10pic3

“ไม่ใช่เราไม่รักตำบลที่อยู่ แต่เราเติบโตมาจากตำบลบ้านคา”

“จริงๆ แล้ว ตอนอยู่โรงเรียนเราไม่ได้เป็นคนที่เรียนเก่งหรือสนใจกิจกรรมมากเท่าไรนัก แต่คุณครูก็ได้ชักชวนเราเข้ามาทำงานที่สภาเด็กฯ บ้านคา หลังจากนั้นเข้ามาทำงานที่นี่ เราจึงมีส่วนร่วมในการประชุมระดมความคิดเห็นในการจัดกิจกรรม และเมื่อได้ไอเดียแล้ว หลังจากนั้นเราก็ลงมือทำกิจกรรมให้เกิดขึ้นจริง ผ่านการสนับสนุนจากท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยง ซึ่งเมื่อหลังจากจบกิจกรรมเราก็ได้มีการประชุมถอดบทเรียนอยู่เสมอ ว่าเราได้รับคำชมอะไรบ้าง หรือมีปัญหาอะไรบ้างที่เกิดขึ้น ซึ่งมันทำให้เรามีกำลังใจในการทำและมีแบบแผนในการทำงานหรือจัดกิจกรรมต่อไป”

พินเล่าให้ฟังเพิ่มเติมถึงการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นเหล่านั้นว่า “อย่างแรก คือ ‘ความกล้าพูด’ เมื่อก่อนพอเราพูดหรือเพียงแค่ยืนหน้าชั้นเรียน ก็จะมีอาการสั่นและตื่นเต้น พูดจับคำไม่ได้ แต่ตอนนี้เราสามารถทำมันได้อย่างดี อย่างที่สอง คือ ‘การจัดการเวลา’ พอเรามีกิจกรรมที่อยากทำเยอะ เราก็ต้องมีการแบ่งเวลาและจัดลำดับความสำคัญ ต่อเนื่องมาถึงสิ่งสุดท้ายอย่าง ‘การเป็นผู้ฟังที่ดี’ และการบริหารงานจัดสรรทรัพยากรคนให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยคำนึงถึงความสมัครใจเป็นหลัก”

article_2024_10pic2

“สิ่งหนึ่งที่พื้นที่สภาเด็กฯ ทำให้เราเติบโต แต่พื้นที่อื่นทำไม่ได้ คือการรับฟังความคิดเห็น เพราะในสภาเด็กฯ เขารับฟังทุกความคิดเห็นของเรา”

การรับฟังเสียงและการเป็นผู้ฟังที่ดีของผู้ใหญ่ในพื้นที่สภาเด็กฯ กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้พินและเพื่อนๆ ได้เติบโตขึ้น 

“ถ้าคนที่รับฟังเขาสนใจเรา มันจะช่วยให้เสียงของเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นแข็งแรงได้จริง เพราะเขาจะเอาเสียงของเราไปเข้าที่ประชุม เช่น มีครั้งหนึ่งในการประชุมมีผู้บริหารนั่งเป็นประธาน เป็นการประชุมเกี่ยวกับการทำกองทุน ผู้บริหารก็ถามว่าแล้วมีอะไรบ้างที่อยากทำ เขาก็ช่วยคิดว่าสิ่งที่เราต้องการ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน โดยไม่ใช่เพียงการสนับสนุนเงินเท่านั้น แต่รวมถึงสถานที่และความคิดด้วย สุดท้ายเราก็ได้เป็นกองทุนแยมสับปะรดและมันเผามา เพื่อขายหาเงินเข้ากลุ่มสภาเด็กและเยาวชน” พินเล่าขยายให้เราฟัง

บทบาทหลักในการทำงานสภาเด็กฯ ของพินคือ การทำกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน โดยการทำกิจกรรมทุกครั้งพินมีส่วนร่วมประชุมระดมไอเดีย นำไอเดียไปออกแบบกิจกรรมให้เกิดขึ้นจริงในท้องถิ่น และเมื่อกิจกรรมเสร็จสิ้นจะมีการถอดบทเรียนการดำเนินงานอยู่เสมอ เพื่อให้การทำงานครั้งถัดไปดีมากยิ่งขึ้น

article_2024_10pic1

“เด็กทุกคนมีความสามารถเป็นของตัวเอง แค่เพียงผู้ใหญ่ต้องลองเปิดใจรับฟังพวกเขา”

ปัจจุบันพินเป็นนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง พ่วงด้วยตำแหน่งนายกองค์การนักศึกษาภาคปกติ ตามความฝันของตัวเอง แต่กว่าจะเข้าเรียนได้ตามที่ฝันพินเกือบตัดสินใจไม่ศึกษาต่อ เพราะกังวลเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจของที่บ้าน แต่เนื่องด้วยการทำกิจกรรมสภาเด็กฯ มาโดยตลอด ทางมหาวิทยาลัยจึงรับเป็นนักศึกษาทุน ส่งผลให้พินได้เดินตามความฝันของตัวเอง 

พินพูดทิ้งท้ายไว้ว่า “อนาคตเราอยากสอบราชการเป็นนักพัฒนาชุมชน และอยากกลับไปสนับสนุนสภาเด็กฯ ตำบลบ้านคา เพราะเราอยากให้มันอยู่ต่อไปเรื่อยๆ จากการที่เคยเติบโตจากตรงนั้น”

เรื่องราวของพินอาจจะคลายข้อสงสัยว่า พื้นที่สภาเด็กฯ จะให้โอกาสเด็กและเยาวชนได้เติบโตได้อย่างไร เพราะพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้ให้แค่เด็กเข้ามาร่วมกิจกรรมแล้วจบไป หรือเป็นเพียงไม้ประดับเพื่อให้งานหรือกิจกรรมมีคนเยอะๆ เท่านั้น 

พื้นที่แห่งนี้ได้ให้เด็กเยาวชนร่วมคิด ร่วมออกแบบ และร่วมตัดสินใจ พร้อมกับรับฟังเสียงของเด็กเยาวชน ที่ส่งผลมาสู่การดำเนินงานหรือกิจกรรมจริงในพื้นที่ และส่งเสริมให้เสียงของเด็กและเยาวชนให้แข็งแรงและมีความหมาย

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เกี่ยวกับผู้เขียน

Wannida_about2
วรรณิดา เครือมณี
ผลงานชิ้นอื่นๆ

นักวิชาเกิ๊น และนักเขียนยามสันโดษ ผู้เสพสุขผ่านเสียงดนตรี คาเฟอีนในร่างกายคือเสียงเพลง เพื่อนคลายเหงาคือหนังสือ จิตวิญญาณอยู่บนขุนเขา ปัจจุบันกำลังออกเดินทางตามหาตัวตนอย่างค่อยเป็นค่อยไป

+1

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Categories