นักร้องท้องถิ่น : หอบความฝันมาหลังเวที ใช้เสียงสู้ความจน

…เด็กตาดำๆ กอดวุฒิ ม.3 จบ กศน.
ภาพจำคือหน้าแม่พ่อ กับน้องที่ยังลำบาก
ออกเดินตามฝัน เพื่อหวังสักวันให้คนที่ฮัก
ได้มีที่พึ่งที่พัก มีชีวิตดีกว่านี้…

เนื้อร้องบางท่อนจากเพลง ‘หอบฝันมาหลังฮ้าน’ ขับร้องโดย อุ๋งอิ๋ง เพชรบ้านแพง เล่าถึงเยาวชนคนหนึ่งที่ออกจากระบบการศึกษาช่วงมัธยมต้น ภายใต้สถานะครอบครัวที่ยากลำบาก เธอตัดสินใจออกเดินตามความฝันของตัวเองด้วยการเป็นนักร้อง เพื่อหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ นี่คือบทเพลงที่เขียนขึ้นจากชีวิตของ อุ๋งอิ๋ง–รัตนาภรณ์ อุดทุม เยาวชนจากจังหวัดศรีษะเกษ เข้าสู่วงการหมอลำด้วยวัยเพียง 16 ปีที่ใช้เสียงเพลงผลักดันให้ชีวิตดีขึ้น จนกลายมาเป็นนางเอกสาวหมอลำน้องใหม่คลื่นลูกใหม่ของคณะหมอลำสาวน้อยเพชรบ้านแพง

ชีวิตวัยรุ่นของอุ๋งอิ๋งไม่เหมือนเด็กทั่วไป เพราะในขณะที่เพื่อนวัยเดียวกันใช้ชีวิตไปตามวัยอย่างการเข้าเรียนในระดับมัธยม แต่เธอหยุดการศึกษาใว้เพียง ม.3 และเริ่มเป็นนักร้องสมัครเล่น ขึ้นเวทีละแวกบ้านเพื่อหารายได้เลี้ยงดูพ่อแม่ที่มีอาชีพเกษตรกร ด้วยเหตุผลนี้เธอกับแม่จึงตัดสินใจเดินทางมาหลังเวทีหมอลำคณะใหญ่ คณะสาวน้อยเพชรบ้านแพง ในวันที่วงมาทำการแสดงใกล้บ้าน เพื่อสมัครเข้าร่วมวงหมอลำ ในวันนั้นเธอเล่าให้หัวหน้าวงฟังว่า

“หนูเพิ่งฝึกร้องเพลงได้ไม่กี่เดือน หนูเคยรับจ้างร้องเพลงบนรถแห่ เคยร้องวงหมอลำซิ่ง พอเห็นวงหมอลำสาวน้อยเพรชบ้านแพงเปิดรับสมัครนักร้อง ก็เลยมาลองสมัครดู”

อุ๋งอิ๋ง เพชรบ้านแพง

ในมุมมองของอุ๋งอิ๋ง นอกจากเธอจะเลือกร้องเพลงเพราะเป็นสิ่งที่เธอชื่นชอบแล้ว การร้องเพลงหรือการเป็นศิลปินยังเป็นทางเดียวที่จะทำให้พ่อแม่น้องพ้นจากความลำบาก เรื่องราวชีวิตที่ต้องสู้ของเธอ จึงทำให้มีแฟนคลับคอยเอาใจช่วยจำนวนมาก

“…ทุกวันนี้น้อง ๆ เยาวชนให้ความสนใจมาสมัครเป็นนักร้องเป็นจำนวนมาก พ่อแม่พามาร้องให้ฟังถึงหลังเวที อายุน้อยสุดที่มาขอสมัครคือ 8 ขวบ เยาวชนที่มาตรงนี้ล้วนมีความฝัน และมองว่าพื้นที่เวทีหมอลำตรงนี้คือพื้นที่แห่งโอกาสที่ให้เขาได้ทดลองคว้าฝันนั้นเอาใว้…”

คำบอกเล่าของ หนุ่มโจ ยมนิล นามวงษา หัวหน้าหมอลำสาวน้อยเพชรบ้านแพง ผู้ผลักดันเยาวชนสู่การเป็นศิลปินอาชีพมาแล้วหลายคน

หัวหน้าวงยังบองอีกว่า พออุ๋งอิ๋ง เพรชบ้านแพง เป็นนักร้องหมอลำอายุน้อยที่มีชื่อเสียงมีแฟนคลับติดตามมากมาย เธอกลายเป็นแรงบัลดาลใจให้เยาวชนรุ่นเล็ก ๆ หันมาสนใจหมอลำและกล้าทำเพื่อคว้าความฝัน ทางวงสาวน้อยเพชรบ้านแพงก็ยังไม่อยากรับเยาวชนที่มีอายุน้อยเกินไป ส่วนใหญ่ถ้าต่ำกว่า 15 ปี ก็ไม่ค่อยอยากรับเพราะอยากให้เขาเรียนให้จบก่อน หรือสามารถจัดสรรเวลาได้ก่อน

article_2024_11pic1
(ภาพจาก:มูลนิธิ SIY)

อย่างไรก็ตามถ้าเยาวชนได้เขามาอยู่ในวงเราก็สนับสนุนเขาเต็มที่ เยาวชนบางคนเขาเห็นอนาคตเขาอาจจะพักการเรียนใว้ก่อนแล้วเข้ามาเป็นศิลปินเต็มตัว เพราะเขามองว่าการได้เป็นศิลปินมันคือโอกาสที่หาได้ยาก ในมุมมองอของหนุ่มโจ มองว่าตรงนี้เป็นโอกาสที่ดีที่เยาวชนสนใจศิลปะวัฒนธรรม ภาครัฐควรสนับสนุนทั้งวงหมอลำและเยาวชนที่สนใจ เช่น ถ้ามีงานเทศกาลใหญ่ ๆ ก็อยากให้นึกถึงหมอลำ อยากให็เชิญศิลปินไปแสดงมากขึ้นกว่าปัจจุบัน และอยากให้มีพื้นที่แห่งโอกาสให้เยาวชนจะได้มีเวทีแสดงความสามารถและศิลปะวัมนธรรมอีสานจะได้เผยแพร่และเป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย

article_2024_11pic5
(ภาพจาก:มูลนิธิ SIY)

เช่นเดียวกันกับ เนย ญาดา เด็กสาววัย 18 ปีชาวกาฬสินธุ์ ที่เริ่มต้นร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กมัธยม เธอเป็นเด็กคนหนึ่งที่มีฝันอยากเป็นนักร้อง และมองว่าเส้นทางนี้จะนำไปสู่รายได้ที่มากขึ้นของครอบครัว เนยเริ่มร้องเพลงจากเวทีประกวดไกล้บ้าน และตามงานต่าง ๆ จนมี “นายห้าง”เจ้าของกิจบันเทิงท้องถิ่นให้ความสนใจและชักชวนไปร่วมงาน จนมีผลงานเพลงในสื่อต่าง ๆ มียอดชมมากว่า 1 ล้านวิวต่อเพลง เริ่มมีเวทีที่ต้องขึ้นประจำและเริ่มมีรายได้เพียงพอให้กับตัวเองและครอบครัว

เมื่อมีชื่อเสียง การร้องเพลงก็เริ่มกระทบการเรียน เนยเริ่มลาเรียนไปร้องเพลงบ่อยขึ้น แต่ครูและเพื่อน ๆ ก็เข้าใจ เมื่อจบ ม.6 และไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เธอกำลังอยู่บนทางแพร่งที่ต้องเลือกระหว่างการเรียนและการเป็นศิลปินเต็มตัว ทว่าเธอตัดสินใจสมัครเรียนต่อระดับอุดมศึกษา และยังหวังว่าอาชีพร้องเพลงจะช่วยเป็นช่องทางหารายได้ให้เธอระหว่างเรียนได้ และยังพอมีรายได้ส่งให้ครอบครัวด้วย แต่นั้นเป็นเพียงสิ่งที่คาดเดาว่าจะเป็น เนยยังบอกอีกว่า

“… กิจการค่ายเพลงท้องถิ่น รถแห่หรือเวทีประกวดต่าง ๆ เป็นโอกาสของเด็กต่างจังหวัดอย่างมาก เด็กบ้านนอกในท้องถิ่นไม่มีต้นทุนอะไรนอกจากเสียง ซึ่งบางคนมีพรสวรรค์ บางคนก็ฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อที่จะใช้เสียงเป็นบันใดไปสู่ชีวิตใหม่ พ่อแม่ผู้ปกครองก็สนับสนุนอย่างยิ่ง บางคนพามาฝากกับวงหมอลำ บางคนขับรถพาลูกไปทดสอบเสียงกับค่าย บางคนพาลูกไปประกวด อาจเพราะวงการเพลงท้องถิ่นเป็นสิ่งเข้าถึงได้ไม่ยากนัก ถึงแม้บางรายจะไปไม่ถึงฝัน แต่นี่ก็จะเป็นประสบการณ์ที่ติดตัว..”

เนย ญาดา

ดูราวกับว่าการร้องเพลงและอุตสาหกรรมความบันเทิงในท้องถิ่นที่กำลังเติบโตขึ้น เป็นประตูไปสู่โอกาสการเป็นศิลปินของเยาวชน

ใช้เสียงสู้ความจน : ความดราม่าในรายการเพลงไทย

ย้อนไปในอดีต การประกวดร้องเพลงในไทย เริ่มมาตั้งแต่ราวๆ พ.ศ. 2480 ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในวัด และการประกวดร้องเพลงมีอยู่ไม่กี่วัดที่ได้รับความสนใจอย่างสูงจากประชาชน วัดที่มีการจัดงานและการประกวดร้องเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในกรุงเทพเวลานั้น คือวัดภูเขาทองหรือวัดสระเกศ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ มีชื่อเสียง ทำให้ผู้คนนิยมมาเที่ยวชมงานมาก เมื่อการร้องเพลงได้รับความนิยมมากขึ้น จึงมีการจัดประกวดเรื่อยมาจนมีการนำเสนอผ่านทางโทรทัศน์ ต่อมาเมื่อความนิยมของรายการเพลงมากขึ้น จึงมีการจัดแข่งขันร้องเพลง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างยิ่งจากผู้ชมชาวไทยเรื่อยมา

เมื่อมีการแข่งขันก็มีผู้ชนะ ซึ่งผู้ชนะก็สามารถพลิกชีวิต มีชื่อเสียงเงินทองจากการประกวดได้ ที่ขาดไม่ได้เลยคือ ‘ความดราม่า’ ที่แฝงอยู่ตามรายการต่าง ๆ ซึ่งหลายครั้งได้กลายเป็นปัจจัยทำให้รายการฮิตเปรี้ยงขึ้นมา
ตัวรายการสนุกสนานทั้งในส่วนเนื้อหาการแข่งขัน ความเป็นดราม่าก็ทำให้เกิดจุดพีคของรายการไม่ต่างกับดูหนังหรือละคร โดยเฉพาะความดราม่าที่มาจากความยากจน การสู้ชีวิต ที่ทำให้ผู้ชมต้องคอยเอาใจช่วย

รายการแข่งขันประเภท ดวลเพลงเพื่อชิงทุนการศึกษา การประกวดร้องเพื่อหมดหนี้ ได้นำเสนอเรื่องการสู้ชีวิต และเสริมความดราม่าเข้าไปในรายการ รายกายเหล่านี้อาจเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่า เด็กเยาวชนและครอบครัวส่วนหนึ่งมีปัญหาเรื่องรายได้ ทุนการศึกษา เป็นต้น เสียงเพลงที่เปล่งออกมาจึงไม่ใช่เพียงความรักในการร้องเพียงเท่านั้น แต่คือเสียงของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอีกด้วย

การใช้เสียงเพลงของนักร้องท้องถิ่น ที่ขับกล่อมสังคมไทยทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่แค่ความบันเทิงเท่านั้น เบื้องหลังเสียงเพลง ยังนำมาซึ่งการมีชื่อเสียงนำมาสู่รายได้ และสิ่งที่ช่วยเลื่อนสถานะทางสังคมของผู้คนเสมอมา

คุณอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ นักประวัติศาสตร์ ผู้สนใจเพลงลูกทุ่งและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อธิบายว่า
การเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคมในอดีต ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยวิธีการต่าง ๆ ในการจะผลักดันหรือยกสถานะทางสังคมของตนเองได้ ถ้าผู้ชายต้องบวชพระ เพราะการเป็นพระหมายถึงการได้เรียนหนังสือและได้เติบโตทางสังคมคม นอกจากบวชพระการเป็น “นักมวย” ที่มีชื่อเสียงก็เป็นเส้นทางชีวิตหนึ่งที่ช่วยยกสถานะทางสังคมและเศรฐกิจได้ ซึ่งการเป็นพระและอาชีพนักมวยจะมีแค่ผู้ชายเท่านั้น จนมาถึงยุคของการมีรายการเพลงบนวิทยุ โทรทัศน์

“…การเป็นนักร้องกลายมาเป็นหนทางหนึ่งที่คนทั่วไปหรือคนชนชั้นล่างลูกชาวบบ้าน สามารถเอื้อมถึงได้ไม่ยากนัก การเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงก็สามารถยกสถานะทางสังคมและเศรฐกิจไม่ต่างกับการเป็นดารา
หรือการเป็นซุปเปอร์สตาร์วางการอื่น ๆ…”

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

ในยุคปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงโชเซียลมีเดียหลายหลาย ผู้ชมผู้ฟังส่วนใหญ่อยู่ในออนไลน์ การมีน้ำเสียงที่ดีก็สามารถดังจากออนไลน์ได้ง่าย ๆ โอกาสในการเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงก็ยิ่งมากขึ้นด้วย ทว่าสิ่งที่พ่วงมากับการมีน้ำเสียงที่ดีคือการมีเรื่องเล่า “ดราม่า” ของนักร้อง ซึ่งก็ยังมีให้เห็นอยู่เสมอ

article_2024_11pic4
(ภาพ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : นักประวัติศาสตร์ )

เมื่อสุริยนย่ำสนธยา : การศึกษาและโอกาสของเยาวชนในท้องถิ่น

อุ๋งอิ๋ง เพชรบ้านแพง และเนย ญาดา เยาวชนจากท้องถิ่นที่เป็นภาพแทนในการใช้เสียงเพลงสู้กับความจน อุ๋งอิ่ง เรียนจบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และเป็นนักร้องอาชีพเต็มตัวตั้งแต่อายุ 16 ปี ส่วนเนย กำลังวางแผนในการเรียนไปด้วยร้องเพลงเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไปด้วย และเธอเองก็ตั้งเป้าเอาใว้ว่าถ้าหากการร้องเพลงไปต่อได้อยาก อาจจะใช้การเรียนเป็นเส้นทางไปสู่การทำงานอาชีพอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งอาชีพอื่น ๆ
เช่นเป็นพนักงานลูกจ้าง ข้าราชการ ก็ยากที่จะทำให้ตัวเองและครอบครัวอยู่อย่างสบายได้อย่างรวดเร็วเหมือนเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง

เมื่อเรามองไปในท้องถิ่น พบว่าการศึกษายังไม่ทั่วถึงในพื้นที่ห่างไกล เยาวชนอีกหลายคนขาดแคลนทุนการศึกษา ครอบครัวประสบปัญหาเศรษฐกิจต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา เยาวชนยังขาดการได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองตามที่พวกเขาสนใจ ตลอดจนไม่มีโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับความฝันแบบอื่น ๆ ของเยาวชนในท้องถิ่น

….เด็กตาดำๆ กอดวุฒิ ม.3 จบ กศน.
ภาพจำคือหน้าแม่พ่อ กับน้องที่ยังลำบาก
ออกเดินตามฝัน เพื่อหวังสักวันให้คนที่ฮัก
ได้มีที่พึ่งที่พัก มีชีวิตดีกว่านี้…

ท่อนแรกของเนื้อเพลง “หอบฝันมาหลังฮ้าน” คอยย้ำเตือนสังคมไทยว่า จะทำอย่างไรที่เด็กเยาวชนจะสามารถเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตโดยไม่ต้องดิ้นรนมากนัก ไม่ต้องใช้เสียงมาแข่งกับใครเพื่อปลดหนี้หรือชิงทุน การร้องเพลงหรือการเป็นศิลปินควรจะเป็นทางเลือกหนึ่งของชีวิต ที่ไม่ใช่เป็นทางรอดในการพลิกชีวิตของเด็กเยาวชน

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อ้างอิง

ธนพร แวกประยูร (2557) การสำรวจการประกวดร้องเพลงสมัยนิยม ระหว่างปี พ.ศ.
2519-2530 : กรณีศึกษาเวทีการประกวด นักร้องสมัครเล่นยอดเยี่ยม
แห่งเอเชีย และเวทีการประกวดร้องเพลงของสยามกลการ มิวสิคฟาวเดชั่น

เกี่ยวกับผู้เขียน

ผลงานชิ้นอื่นๆ

นักมานุษยวิทยา เขียนนิยาย ทำวิจัย และฝันอยากเห็นสังคมไทยก้าวหน้า เท่าเทียม

+1

Categories

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments