กลไกสภาเด็กและเยาวชนกับนโยบายสาธารณะเป็นได้จริงหรือแค่ไม้ประดับ

“เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน”

หากจะพูดถึงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในประเทศไทย ทุกคนต่างต้องนึกถึงพระราชบัญญัติการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 เพราะเป็นกฎหมายที่กำหนดบทบาทของรัฐในการพัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งยังเป็นกลไกในการจัดทำนโยบายด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน แต่สิ่งที่น่าสนใจในกฎหมายฉบับนี้ คือ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มเด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่ง คือ สภาเด็กและเยาวชน โดยได้ระบุไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนว่าสภาเด็กและเยาวชนมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง และมีในระดับใดบ้าง ถือว่าเป็นกลไกของเด็กและเยาวชนที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงองค์กรเดียวก็ว่าได้สำหรับประเทศไทย

สภาเด็กและเยาชน เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2547 ต่อมารัฐบาลในขณะนั้น ได้มีมติให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนนำร่อง 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสตูล จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดเชียงราย ต่อมาปี พ.ศ.2548 รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ภายใต้หลักการ “เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” ใน ปี พ.ศ.2550 จึงได้ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 กำหนดให้มีสภาเด็กและเยาวชนขึ้น จำนวน 3 ระดับ ประกอบด้วย ระอำเภอ จังหวัด/กรุงเทพมหานคร และระดับชาติ

กระทั้ง ปี พ.ศ.2560 พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีสภาเด็กและเยาวชนครบทั้ง 4 ระดับ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานและประสานงานในกิจกรรมด้านต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชนในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย ระดับตำบล/เทศบาล ระดับอำเภอ/เขต ระดับจังหวัด/กรุงเทพมหานคร และระดับประเทศ ภายใต้หลักคิดที่ว่า “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน”

สภาเด็กและเยาวชนเป็นกลไกเด็กและเยาวชน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลโดยผ่านกระบวนการจัดให้มีตามแนวทางที่รัฐกำหนด (กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) มีบทบาทหลักในการเป็นพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนและเชื่อมระหว่างเด็กเยาวชนกับภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเสนอแนะแนวทางการทำงานการพัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งประเทศ โดยที่รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดให้มีสภาเด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีต่าง ๆ หากจะพูดถึงบทบาตามข้างต้นแล้ว สภาเด็กและเยาวชนถือว่าเป็นองค์กรที่มีความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก 

การจัดทำนโยบายสาธารณะที่ใช้กลไกของสภาเด็กและเยาวชน จะมีอยู่หลายรูปแบบแต่ในบทความนี้ผู้เขียนขอพูดถึง 2 รูปแบบที่เกิดขึ้นตามกฎหมายฉบับนี้ คือ 

  1. สมัชชาเด็กและเยาวชน เกิดขึ้นตาม มาตรา 19 (10) ระบุว่าให้สำนักงาน (กรมกิจการเด็กและเยาวชน) ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จัดสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติอยางน้องปีละ 1 ครั้ง เวทีสมัชชาเด็กและเยาชน เป็นการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อมาแลกเปลี่ยนและทำข้อเสนอแนะที่เด็กและเยาวชนมองว่าเป็นปัญหา และต้องการให้รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขต่อไป แต่หากมองจากเวทีนี้แล้วจะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้มีการจัดเพื่อหาปัญหาและวิธีการแก้ไขในมุมมองของเด็กและเยาวชน ช่องทางนี้จะเป็นช่องทางในการได้มาของข้อเสนอแนะนโยบายที่สภาเด็กและเยาวชนต้องการเสนอไปยังรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนจะเป็นนโยบายได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความต้องการของรัฐบาลในขณะนั้น 
  2. เวทีของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ในมาตรา 10 โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐในองค์กรต่าง ๆ เป็นกรรมการ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ และได้กำหนดให้มีผู้แทนสภาเด็กและเยาวชน เข้าไปเป็นกรรมการ จำนวน 3 คน ประกอบด้วย ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ผู้แทนเด็กและเยาวชนชาย 1 คน  หญิง 1 คน มีหน้าที่หลักในการดำเนินงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศไทย ในส่วนนี้จะเป็นช่องทางของสภาเด็กและเยาวชนในการนำเสนอนโยบายด้านเด็กและเยาวชนที่สภาเด็กและเยาวชนได้รวบรวมหรือได้มาจากเวทีต่าง ๆ และเสนอต่อให้รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขต่อไป แต่สิ่งที่น่าสนใจของคณะกรรมการชุดนี้ กลับมีผู้แทนจากเด็กและเยาวชนเพียง 3 คน ที่มาจากสภาเด็กและเยาวชนซึ่งน้อยมามากเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ในวงประชุมที่เต็มไปด้วยข้าราชการชุดสีกากี ที่มาพร้อมตำแหน่งที่ใหญ่โตของแต่ละหน่วยงาน เป็นบรรยายการที่สร้างความกดดันในการทำให้เด็กและเยาวชนที่จะพูดในวงประชุมลดลง หรือบางครั้งในการประชุมผู้แทนเด็กและเยาวชนแทบจะไม่ได้เสนอความเห็นเลย หรือที่จริงแล้วเด็กและเยาวชนตัวเล็กเกิดไปจนทำให้ไม่มีใครสนใจ หรือที่จริงแล้วเสียงของเด็กและเยาวชนไม่ดังพอที่รัฐจะได้ยิน หรือที่จริงแล้วรัฐเลือกที่จะปิดหูและปิดตาตัวเอง หรือแท้จริงแล้วรัฐเพียงแค่ต้องการสร้างเวทีนี้ขึ้นมาและให้เด็กและเยาวชนเข้ามาเป็นเพียงไม้ประดับเท่านั้น ทั้งนี้ก็ขึ้นกับข้าราชการการเมืองที่นั่งหัวโต๊ะว่าจะสนใจหรือไม่

จากสองเวทีข้างต้นจะเห็นได้ว่ากลไกสภาเด็กและเยาวชนมีความสำคัญกับการจัดทำนโยบายสาธารณะ ถ้าหากเด็กและเยาวชนได้จัดทำนโยบายนั้นด้วยตัวเอง แต่มุมกลับกันการที่รัฐสร้างสภาเด็กและเยาวชนขึ้นมาไม่ใช่แค่การส่งเสริม การพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้เป็นไปตามเจตนารณ์ของ “กฎหมายที่ได้บัญญัติไว้” แต่กลับสร้างมาเพื่อเป็นเครื่องมือการทำงานของรัฐบาล ถึงแม้สภาเด็กและเยาวชนจะไม่ต้องการให้เกิดความครอบงำ. จากหน่วยงานรัฐก็ตาม แต่ระบบที่รัฐสร้างมากับเอื้อการทำงานของตนเอง ไม่ได้มุ่งให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง  ทุกครั้งที่รัฐต้องจะทำอะไร ต่างเชิญผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ทุกครั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าสภาเด็กและเยาวชนจะมีบทบาทในเสนอนโยบายสาธารณะจริง เมื่อรัฐต้องการให้มีนโยบายสาธารณะรัฐก็จะจับมือสภาเด็กและเยาวชนเขียน ไม่ต่างจากการเขียนตามคำบอก ถึงแม้สภาเด็กและเยาวชนจะมีส่วนร่วมบ้างแต่เป็นได้แค่ไม้ประดับของงาน ๆ นั้น จะเห็นได้ว่าระบบที่สร้างมันไม่ได้ตอบโจทย์ของการมีสภาเด็กและเยาวชน  ขาดเสถียรภาพในการทำงาน ไม่มีอิสระมากพอที่จะทำงานในฐานะของกระบวกเสียงของเด็กและเยาวชน ท้ายสุดแล้วสภาเด็กและเยาวชนก็เป็นได้เพียงกลไกที่สร้างนโยบายสาธารณะแบบไม้ประดับ จับมือเขียนตามคำบอก เท่านั้น

ท้ายนี้ หากเรามองเด็กและเยาวชนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เราก็จะมีทรัพยากรที่มีคุณภาพอยู่ในประเทศนี้ แต่หากเรามองเด็กและเยาวชนเป็นตัวปัญหา เราก็จะหาแต่วิธีแก้ปัญหานั้น ๆ กลไกสภาเด็กและเยาวชนจะเป็นกลไกที่ดีในการเสอนโยบายสาธารณะได้นั้น สภาเด็กและเยาวชนต้องมีอิสระทางความคิดและระบบของรัฐต้องเลิกแทรกแซงการทำงานของสภาเด็กและเยาวชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ถึงจะเรียกได้ว่า กลไกสภาเด็กและเยาวชนเป็นกลไกที่เป้นกระบอกเสียงให้กับเด็กและเยาวชนในการนำเสนอนโยบายสาธารณะที่สมบูรณ์ ไม่ใช่แค่ไม้ประดับ หรือนโยบายที่เขียนตามคำบอก…

สุดท้ายนี้การเขียนบทความเรื่องนี้ ผู้เขียนได้เล่ามาจากประสบการณ์ของตัวเองในการทำงานในสภาเด็กและเยาวชนในยุคหนึ่ง แต่ในปัจจุบันสภาเด็กและเยาวชนอาจจะเปลี่ยนแปลงบทบาทไปแล้วก็ได้ ตามยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ผลงานชิ้นอื่นๆ
+14

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Categories