สงครามความคิดเก่า-ใหม่ แพ้ชนะ วัดกันที่ตรงไหน ?

ถ้านึกถึงคำว่า “สงคราม” ทุกคนก็คงจะนึกถึงภาพการรบราฆ่าฟัน การใช้อาวุธเข้าต่อสู้ห้ำหั่นกัน มีคนเจ็บคนตายในสนามรบ และจบด้วยชัยชนะหรือการพ่ายแพ้ของอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่ชนะก็อาจจะได้ดินแดนได้ผลประโยชน์ ฝ่ายที่แพ้ก็อาจจะเสียอิสรภาพและเสียความสามารถในการปกรครองตนเอง

เราทุกคนอาจจะกำลังอยู่ในสงคราม เป็นสงครามที่ต่อสู้กันด้วยสมองสองมือที่สื่อความคิดเห็น การต่อสู้นี้ก็แลดูคล้ายกับสงครามเย็น คือสู้กันแบบอ้อมๆ ไม่ตรงไปตรงมา เราไม่ได้จับปืนจับมีดไปยิงแทงคนที่เห็นต่างจากเรา (แม้ว่าในกมลสันดานด้านมืดลึกทีสุดในใจเราอาจจะอยากทำอย่างนั้นก็ตาม) เราอาจจะกำลังต่อสู้ในสงครามนี้ด้วยนิ้วโป้งทั้งสองข้างผ่านอาวุธที่สุดจะทันสมัยที่เรียกว่า Smart Phone เราสามารถพบสมรภูมิรบได้ในโลกออนไลน์เช่น Facebook, Twitter เวลามีการถกเถียงประเด็นทางสังคมต่างๆ และถ้าคุณหิว อาหารก็ดี แต่พอมีใครสักคนมาชวนคุยสักเรื่องหนึ่ง แล้วคุณก็คิดในใจว่า “กินข้าวไม่อร่อยแล้วกู” สมรภูมิรบสงครามความคิดนี้ก็อาจจะมาอยู่บนโต๊ะกินข้าวที่บ้านคุณแล้วก็ได้

เรากำลังอยู่ในสงครามอะไร ?

สงครามนี้เป็น “สงครามทางความคิด” ที่อาจจะพอนิยามได้ว่าคู่ขัดแย้งคือ “คนที่มีความคิดแบบเก่า” และ “คนที่มีความคิดแบบใหม่” สงครามนี้กินความหมายไปมากกว่าการเมืองว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล แต่มันหมายถึงวิถีชีวิตความคิดความเชื่อและการให้คุณค่าความสำคัญสิ่งต่างๆ ของคนในสังคม อันที่จริงการต่อสู้ทางความคิดแบบเก่าและใหม่เป็นเรื่องปกติที่ปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เสมอมา ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตเป็นอยู่ของคนในสังคม หรือไม่ก็ก่อให้เกิดสงครามที่มีคนล้มตายเสมอ 

 แต่ในปัจจุบันภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น ผู้คนไม่สนับสนุนสงครามที่มีการรบราฆ่าฝันเต็มรูปแบบอีกต่อไป และด้วยสื่อออนไลน์ ก็เป็นพื้นที่สมัยใหม่ให้เขาและเธอที่มีความคิดออกมากให้เห็นกัน และการเปลี่ยนไปของโลกในยุคปัจจุบันทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น สามารถเรียนรู้จนนำไปสู่การสังเคราะห์ข้อมูลเกิดเป็นความคิด โดยที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยการขัดเกลาจากสถาบันในยุคก่อนอย่างครอบครัวและสถาบันการศึกษาทางเดียวอีกต่อไป สิ่งนี้เร่งเร้าให้ผู้คนในสังคมเกิดความคิดและตั้งคำถามกับค่านิยมจารีตประเพณีวิธีปฏิบัติแบบดั่งเดิม รวมไปถึงความจริงและค่านิยมหลักที่ถูกสถาปนาโดยรัฐ ว่ายังเหมาะสมกับสังคมในยุคปัจจุบันหรือไม่ และสงครามนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ผู้ถูกกระทำหรือผู้ได้รับผลกระทบทางลบมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ใครเป็นใครในสงครามนี้ ?

สงครามนี้เป็นสงครามแบบงงๆ ไม่มีฝ่ายหรือพรรคพวกที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นต่อประเด็นนั้น ๆ ของคนในสังคม ไม่สามารถเหมารวมได้ว่าคนที่อยู่ฝั่งหนึ่งจะต้องคิดเห็นเป็นแบบเดียวไปตลอด คนหนึ่งคนอาจจะอยู่ทั้งสองฝ่ายเลยก็ได้ แต่ก็พอจะนิยามให้เห็นคู่ขัดแย้งในสงครามได้ดังนี้ 

  1. กลุ่มความคิดเก่า เชื่อมั่นในระบบ ให้คุณค่ากับวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามและบาปบุญ ชอบความสงบเรียบร้อยและคนดี มองคนที่เห็นต่างเป็นจุดด่างพร้อยของสังคมที่ทำให้เกิดความไม่สงบ ละเลยปัญหาเชิงโครงสร้าง มองว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคมนั้นดีอยู่แล้ว ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร
  2. กลุ่มความคิดใหม่ เป็นกลุ่มคนที่น่าปวดเศียรเวียนเกล้ามากที่สุด เพราะพวกเขาตั้งคำถามกับทุกอย่าง  ท้าทายอำนาจทุกรูปแบบที่เค้าคิดว่ามันล้าสมัย พร้อมที่จะตีกับคนอื่นพอๆ กับที่จะตีกับพวกเดียวกันเองถ้าเห็นต่าง ความดีความงามของคนกลุ่มนี้คืออะไรก็ได้ และทุกปัญหาล้วนเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น

คนทั้งสองกลุ่มนี้มิได้ถูกแบ่งแยกด้วยช่วงอายุ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่อง Genaration ก็มีผลอยู่พอสมควร เพราะการที่แต่ละคนจะคิดอ่านและมีความเห็นเช่นไรก็เป็นเพราะสภาพสังคมที่โอบล้อม เช่น การรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ  คนในวัยหนึ่งก็จะรับสารจากทางหนึ่งและเต็มไปด้วยเนื้อหาที่อยู่ในแวดวงสังคมของเขา ชวนคิดง่ายๆ ตื่นเช้ามาเราคุยกับใครเป็นคนแรก คนที่เราคบค้าสมาคมมีความสัมพันธ์ด้วยนั้นเป็นคนแบบไหน เป็นคนที่มีความคิดเก่าหรือความคิดใหม่ พอเปิด Facebook เราเจอข่าวแบบไหน เราชอบอ่านหรือกดไลค์เพจอะไร ถ้าเราลองแอบไปเปิด Facebook ของพ่อแม่หรือลูกเราดู เราอาจจะหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่งเลยก็ได้ 

ความโหดร้ายของสงครามนี้

ในโลกออนไลน์ เมื่อมีการพูดถึงประเด็นทางสังคมที่ “เรียกแขก” คือเป็นประเด็นที่ถูกท้าทายและสังคมยังหาข้อสรุปกันไม่ได้ว่าเราจะโอเคกับอะไร เราก็จะเห็นการออกแม่ไม้ภาษาไทยที่แต่ละฝ่ายจะยกทั้งอาวุธหนักอาวุธเบาเข้ามาห้ำหั่นกัน ยกตัวอย่าง เช่น อีป้า อีเด็กเปรต สลิ่ม ควายส้ม ควายแดง (พอเท่านี้ก่อน) ถ้อยคำเหล่านี้คือ Hate Speech ซึ่งเป็นภาพสะท้อนถึงความเกลียดชัง ความรุนแรง ความอาฆาตมาดร้าย ตอกย้ำความรุนแรงของสงครามนี้อย่างชัดเจน 

ผลกระทบที่สำคัญของสงครามนี้คือการถ่างช่องว่างระหว่างวัยของคนในสังคมให้กว้างขึ้นไปอีก และแบ่งเขาแบ่งเราในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เช่น คนรักชาติ VS อีพวกชั่งชาติ, ลิเบอรัล VS สลิ่ม เป็นต้น

การแสดงความคิดเห็นเหล่านี้เป็นการผลิตซ้ำ การผลิตซ้ำทำให้เกิดความเชื่อ และความเชื่อก่อให้เกิดอคติ จนในที่สุดอคติส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะแสดงออกซึ่งกันและกัน เราอาจจะคุยกับคนในครอบครัวของเราน้อยลงโดยไม่รู้ตัว เพราะในใจเราคิดเป็นเองแล้วว่า “พูดไปเขาก็เถียง” “พูดไปเขาก็ไม่เข้าใจหรอก” “เขาโดนล้างสมองไปแล้ว” หรือถ้าเราเจอญาติ พ่อแม่ คนรู้จักของเรา แล้วก็ได้แต่คิดรำพึงรำพันในใจว่า “กูเจอสลิ่ม, ความแดง, ควายส้ม เข้าแล้ว” ถ้าหากเรากำลังคิดอย่างนี้อยู่แล้วละก็ เรากำลังได้รับผลกระทบจากสงครามครั้งนี้แล้วละครับ

อีกผลกระทบของสงครามที่ชวนหงุดหงิดใจก็คือถ้าหากมีใครสักคนแสดงความคิดในเชิงเป็นกลาง หรือให้เหตุผลแต่ไม่ถูกใจ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็พร้อมที่จะถูกผลักไสไล่ส่งให้กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่เหลือเยื่อใย แทนที่จะหาแนวร่วมความคิดของตัวเองเพิ่ม

บทเรียนในประวัติศาสตร์เดือนตุลา 2519 ทำให้เราเห็นว่าการผลิตซ้ำความเกลียดชังผ่านสื่อต่าง ๆ ที่ในยุคนั้นอยู่ภายใต้อำนาจรัฐเป็นส่วนใหญ่ ได้ทำให้สงครามทางความคิดที่เป็นสงครามเย็นกลายเป็นสงครามร้อนที่มีการจับอาวุธขึ้นมาทำร้ายคนที่มีความคิดต่างให้ถึงแก่ความตายได้จริง ๆ เป็นเรื่องดีที่ยุคปัจจุบันพื้นที่ของการสื่อสารได้พัฒนาและมีความหลากหลายมาก ไม่มีใครสามารถสร้างความจริงเพียงชุดเดียวได้อีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสงครามทางความคิดจะไม่สามารถพัฒนาจนกลายเป็นสงครามร้อนได้ 

แพ้ชนะ วัดกันที่ตรงไหน?

สงครามทางความคิดนี้ตัดสินกันที่ประเด็นทางสังคมหรือข้อเรียกร้องของคู่ขัดแย้ง กลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในสังคม พูดให้ทันยุคทันสมัยคือสู้กันจนกลายเป็น New Normal สู้กันจนถ้าเกิดปรากฏการณ์แบบนี้แล้วคนในสังคมส่วนใหญ่ก็ไม่รู้สึกว่าผิดปกติอะไร

เราพบเห็นการต่อสู้ในหลากหลายประเด็น เช่น เกมส์มีประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน เด็กมันคิดได้เองหรือมีคนอยู่เบื้องหลัง ข้าราชการยังคงเป็นอาชีพที่ดีหรือเปล่า นักเรียนยังควรต้องสวมชุดนักเรียนอยู่หรือไม่ ประวัติศาสตร์ไทยที่เรียนกันอยู่เป็นเรื่องจริงแน่หรือ

บางสมรภูมิก็อาจจะบอกได้ว่าฝ่ายความคิดใหม่ชนะไปแล้ว (แต่ถ้าเกิดขึ้นใกล้ตัวมาก ๆ เช่นกับลูกหลานตัวเองก็อาจจะไม่) เช่น ประเด็นการยอมรับกลุ่มคนมีความหลากหลายทางเพศ, การยอมรับคนที่มีรอยสัก

แต่ในอีกมุมหนึ่ง จะแพ้ชนะก็แล้วแต่นิยามและความเห็นของแต่ละคน เพราะการเปลี่ยนแปลงจนเกิดเป็นการยอมรับใหม่ของสังคมนั้นมักจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คนกลุ่มหนึ่งอาจจะยอมรับแล้ว แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งก็อาจจะยังไม่ยอมรับก็ได้ และสิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ในตอนนี้ก็อาจจะถูกตั้งคำถามและถูก รื้อสร้าง จากคนรุ่นใหม่กว่าในอนาคต

(ไม่มี) บทสรุปของสงคราม

สงครามนี้ยังอีกยาว แต่ขอบอกตรงนี้เลยว่าถ้าเราสวมแว่นรับบทเป็นผู้สังเกตการณ์แล้วละก็ สงครามนี้ โคตรสนุก อยากชวนทุกคนลองใช้ หิริโอตะปะ อดทนนะจ๊ะ เปิดใจเข้าไปเปิดโลกอีกโลกหนึ่ง ในสังคมและพื้นที่ที่คนคิดเห็นต่างจากตัวเราเขาสมาคมกันอยู่ ลองไปส่องดูว่าเขาคิดอ่านกันอย่างไร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยความสุภาพบ้างบางโอกาส ข้อความของท่านอาจจะไปเปลี่ยนใจใครบางคนก็เป็นได้ หรือไม่ก็จบที่ทัวร์ลง

อยากจะตั้งคำถามกับทุกคนว่า เรากำลังเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับสงครามนี้อยู่หรือไม่ และเราใช้วิธีใดในการต่อสู้ เรากำลังต่อสู้แบบอารยชนใช้เหตุผลบนพื้นฐานว่าทุกคนมีสิทธิคิดและตัดสินใจตามข้อมูลที่เขาได้รับ หรือเรากำลังต่อสู้ด้วยวิธีการที่เราก็ไม่ชอบเหมือนกันถ้าถูกกระทำด้วยความเกลียดชังอยู่ ?

และไม่ว่าสงครามจะจบลงอย่างไร แต่ประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติหมื่นปีได้สอนเราว่า สงครามนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงซึ่งจะกลายเป็นชีวิตวีถีใหม่ของคนรุ่นต่อไปเสมอ

และอย่าลืมว่าสัจธรรมก็คือ เก่าไปใหม่มา วนเวียนแบบนี้อยู่เรื่อยไป วันนี้เราอาจจะเป็นผู้ต่อสู่เพื่ออนาคต แต่วันหนึ่งเราอาจจะกลายเป็นผู้ปกป้องอดีตก็เป็นได้

เกี่ยวกับผู้เขียน

Creative Changemaker | ผลงานชิ้นอื่นๆ

นักสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยร้อยยิ้ม ชื่นชอบศาสตร์แห่งการเป็นพี่เลี้ยงเพื่อพัฒนาเยาวรุ่นด้วยความคิดสร้างสรรค์

+10

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments

Categories