คนรุ่นใหม่กับอนาคตนอกเมืองหลวง (ตอน 1)

ความคาดหวังให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่กลับบ้านไปเป็นเกษตรกร หรือ หันหน้าออกสู่ต่างจังหวัดเพื่อเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ กลายเป็นกระแสสังคมที่มีให้เห็นผ่านตาอยู่เรื่อย ๆ เช่น ในโฆษณาประกันชีวิต 

ในอดีตความไม่มีอะไรสักอย่างผลักคนต่างจังหวัดต้องออกไปแสวงหาโอกาสนอกบ้าน สู่ตลาดแรงงานหลากหลายวงการ มองไปในต่างจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับหมู่บ้าน ยิ่งมองไม่เห็นคนหนุ่มสาวและวิถีชีวิตสมัยใหม่ ธุรกิจร้านค้า การเกษตร ขาดคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่สืบทอด ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจในอนาคต บทความนี้ผู้เขียนไม่ได้เรียกร้องให้คนหนุ่มสาวกลับคืนถิ่น และไม่ได้คิดว่าการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ของผู้คนเป็นปัญหา เพียงแต่เป็นการสำรวจความเป็นไปของวิถีชีวิตและหาความเป็นไปได้อื่น ๆ ในการทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่กับอนาคตของพวกเขาที่อยู่นอกเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ 

ASEAN Youth and the Future of Work สำรวจเยาวชนอายุต่ำกว่า 36 ปี พบว่าคนรุ่นใหม่มีความกระตือรือร้นอยากจะเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur) มากขึ้น แทนที่จะใฝ่ฝันอยากจะเป็นข้าราชการและพนักงานบริษัท สำหรับประเทศไทยมีสัดส่วนคนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอยากเป็นผู้ประกอบการสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ในทศวรรษที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่เริ่มกลับต่างจังหวัด มีการทำธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็กเพิ่มขึ้นพวกเขากลับท้องถิ่นด้วยทักษะผู้ประกอบการบางอย่าง สร้างทางเลือกหนึ่งให้กับชีวิต ขณะที่หลายคนกลับไปตั้งหลักที่ต่างจังหวัด แต่ต้องหวนกลับมาทำงานในเมืองหลวงเพื่อหาโอกาสใหม่อีกครั้ง คำถามคือการออกไปใช้ชีวิตนอกกรุงเทพฯ เหมาะสำหรับทุกคนหรือไม่ สำหรับคนที่ไม่มีต้นทุนเท่าไหร่นัก จะเป็นจริงและดำรงอยู่ได้อย่างไร ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจและเห็นความเป็นจริงอยู่นอกเมืองหลวงเสียก่อนแล้วอนาคตที่อยู่นอกกรุงเทพฯ หน้าตาเป็นอย่างไร ? งานภาพถ่ายศิลปะนิพนธ์ชิ้นหนึ่งชื่อ in my place ของณัฐวุฒิ เตจา ได้สำรวจตนเองผ่านพื้นที่บ้านเกิดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เล่าเรื่องการเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อสำรวจตนเองในพื้นที่ที่เปลี่ยนไป พร้อมกับค้นหาคำตอบของความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งต่อพื้นที่เพื่อสำรวจว่าที่ไหนกันแน่คือที่ของเรา เขาอธิบายว่า

“ตั้งแต่เกิดจนเรียนจบมัธยมเราอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ สิ่งที่รู้สึกมาตลอดเลยคือไม่ชอบ อยากหนีออกไปให้ไกล แต่เมื่อเวลาล่วงผ่าน พื้นที่เปลี่ยนไปและสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือความรู้สึกของเราที่มีต่อพื้นที่นี้ก็เปลี่ยนไปด้วย เมื่อได้มีโอกาสกลับมาอีกครั้งการบอกว่าไม่ชอบที่นี่ก็พูดออกไปได้ไม่เต็มปากเหมือนเดิมอีกแล้ว การกลับมาครั้งนี้ทำให้เรารู้สึกว่าที่นี่ก็ไม่ได้แย่เท่าไหร่นัก แต่ความรู้สึกนี้มันจะยั่งยืนหรือชั่วคราวก็ยังไม่มั่นใจ จนมาถึงตอนนี้จากความรู้สึกที่ยังไม่มั่นใจเปลี่ยนเป็นภาพที่บันทึกไว้มันทำให้มั่นใจแล้วว่าเราสามารถเป็นคนในพื้นที่นี้ในแบบของเราได้จริง ๆ”

ผลงานนี้สะท้องถึงให้เห็นว่าชีวิตต่างในจังหวัดสำหรับหนุ่มสาวไม่ได้ง่าย มันไม่มีวิถีชีวิต (lifestyle) ที่เหมาะกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ แต่อย่างน้อยก็มีความผูกพันบางอย่างว่ามันยังเป็น “พื้นที่ของเรา”

ผู้เขียนได้สนทนากับ วีรวรรธน์ สมนึก หนุ่มนักข่าวอิสระในอีสาน ผู้เดินทางผลิตงานเขียนบนเว็บไซด์ ดิอีสานเด้อ (The Isaander) และผู้ร่วมก่อตั้ง Abdul Books ตั้งหลักชีวิตที่จังหวัดขอนแก่น เล่าถึงชีวิตนอกเมืองหลวงว่า ชีวิตต่างในจังหวัดไม่ได้ง่ายสำหรับคนที่ไม่มีต้นทุน สิ่งสำคัญที่คอยเตือนก็คือการไม่มองเห็นว่าต่างจังหวัดน่าอยู่และงดงาม ใคร ๆ ก็กลับไปพำนักอยู่ที่ต่างจังหวัดอย่างเรียบง่ายได้ ต่างจังหวัดในแต่ละจังหวัดก็มีความแตกต่างกัน อำภอเมืองหนองบัวลำภู คงไม่เหมือนกับอำเภอเมืองขอนแก่น ที่มีมีร้านหนังสือ มีโรงหนัง มี art space ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตหนุ่มสาว

 สำหรับหรับ Abdul Books มีเป้าหมายในการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน และขยายฐานผู้อ่านหนังสือในต่างจังหวัด คนหนุ่มสาวที่ต้องการทำงานสร้างสรรค์และเป็นผู้ประกอบการในต่างจังหวัด ไม่สามารถยืนอยู่ได้เพียงลำพัง เมื่อตัดสินใจหันหลังให้เมืองแล้วภารกิจที่สำคัญสิ่งสำคัญยิ่งคือการสร้างชุมชนร่วมกันสร้างบรรยากาศและชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เป็นฐานที่มั่นทางความคิดและความสร้างสรรค์ของผู้คนให้ได้ เช่นเดียวกับ Abdul Books ที่พยายามเป็นมากกว่าร้านหนังสือ เปิดพื้นที่ให้มีการเสวนา ฉายหนัง workshop นอกจากนี้ยังต้องสร้างเครือข่ายคนหนุ่มสาวที่ทำงานด้านอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียง เช่น art space ร้านไอติม ครูสอนหนังสือ เป็นต้น เพื่อสร้างชุมชนคนทำงานสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกิจกรรมกันในอนาคต

ผู้เขียนเห็นว่าเราไม่ควรมองว่าต่างจังหวัดจะดีงามหรือบ้านนอกอย่างตายตัว ชีวิตของผู้คนที่มีเคลื่อนย้ายของคน วัตถุสิ่งของและทุน ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารไหลข้ามโลก และกระบวนการเคลื่อนย้ายในระดับท้องถิ่นขนาดเล็ก เช่น การเดินทางไปมาระหว่างวันที่สะดวกมากขึ้น เทคโนโลยีการสื่อสารที่ว่องไวที่กำลังจะเชื่อมโลกไว้ด้วยกัน ทำให้ผู้คนมีอิสระและมีความต้องการที่ซับซ้อนขึ้นกว่าที่เคย

 ต่างจังหวัดไม่ใช่สังคมเกษตรกรรม และไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ การปรับตัวทางเศรษฐกิจของผู้คนไม่ได้อยู่บนฐานของการติดอยู่อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือที่เรียกว่าแนวความคิด “การติดอยู่กับที่” (sedentarism) ที่มองงว่าหากไม่อยู่ที่ต่างจังหวัดก็ต้องย้ายถิ่นไปนอกพื้นที่ และต้องตัดขาดจากชีวิตทางเศรษฐกิจ ชีวิตของผู้คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มีความสลับซับซ้อนเกินกว่าจะนิยามว่าเขาฝากคนนาคตไว้ที่นี่ที่นั้น การดารงชีวิตทางเศรษฐกิจที่หลากหลายในห้วงเวลาเดียวกัน 

ไม่ว่าชีวิตนอกกรุงเทพฯจะเป็นอย่างไร สิ่งที่สำคัญคือหน่วยงานรัฐได้เห็นถึงความสำคัญกับเรื่องนี้และสนใจจะแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างหรือไม่ บทเรียนจากญี่ปุ่นมีให้เห็น เช่นในปัจจุบันโตเกียวประสบปัญหาความหนาแน่นของประชากร ขณะที่หลายเมืองในชนบทญี่ปุ่นต้องรถร้าง โรงเรียนกว่า 7,000 แห่งต้องปิดตัวลง นำไปสู่การขาดแคลนแรงงานในชนบท เมื่อชนบทไม่มีคนหนุ่มสาวอาศัยอยู่ไม่มีความคิดใหม่ การพัฒนาแบบใหม่ รวมทั้งเศรษฐกิจในชนบทไม่ถูกขับเคลื่อน รัฐบาลญี่ปุ่นจูงใจคนหนุ่มสาวให้ออกจากโตเกียว ด้วยการเงิน 3,000,000 เยน หรือคิดเป็นเงินไทยเกือบ 900,000 บาท เพื่อให้ผู้คนโดยเฉพาะวัยทำงานเดินทางไปพักอาศัยหรือประกอบธุรกิจนอกโตเกียว 

เรื่องของ“คนรุ่นใหม่กับอนาคตที่อยู่ข้างนอก” สะท้อนว่าไม่ควรมองเห็นศักยภาพและความเป็นไปได้ของบุคลเท่านั้น แต่จำเป็นต้องเห็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่ผูกพันธ์กับการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น หากภาครัฐต้องการส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวหันหลังให้เมืองใหญ่เพื่อสร้างเศรษฐกิจในต่างจังหวัด อาจเริ่มจากการทำความเข้าใจวิถีของคนหนุ่มสาว สร้างการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในการออกแบบนโยบายท้องถิ่น ไม่ยึดติดหรือโรแมนติกกับการส่งเสริมด้านเกษตรกรรมเท่านั้น มีการสนับสนุนหลากหลายรูปแบบ และมองหาการยกระดับและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในท้องถิ่น รวมไปถึงนโยบายรัฐที่เอื้อต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและและการคมนาคมที่เพียงพอ โอกาสทางธุรกิจในระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ แบบเปิดให้รายเล็กได้มีโอกาสเกิด มากกว่าการผูกขาดไว้กับทุนใหญ่ ดังนั้นแล้วอนาคตที่อยู่ข้างนอกไม่ได้หมายถึง “การกลับบ้าน” ในความหมายที่เป็นครอบครัวสิ่งปลูกสร้าง แต่หมายถึงชีวิตของผู้คนที่ยึดโยงโอกาสที่เกิดขึ้นและสามารถมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ 

(โปรดติดตามตอนที่ 2)

ข้อมูลอ้างอิง

  • เจ้าสิเมือเฮือนมื้อได๋ : การกลับบ้านของลูกอีสาน บนเส้นทางของความสร้างสรรค์
  • https://qz.com/1472845/japans-government-is-considering-offering-cash-to-lure-people-away-from-tokyo
  • ร้านหนังสือ Abdul Books  ตั้งอยู่ที่ 48/92 ม.14 ซอยวัดป่าอดุลยราม 1/5 ถ.มิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมือง เทศบาลนครขอนแก่น 40000 FB: Abdul books
  • ผลงาน in my place ของ ณัฐวุฒิ เตจา จาก https://issuu.com/natthawut.taeja/docs/final_ebook

เกี่ยวกับผู้เขียน

ผลงานชิ้นอื่นๆ

นักมานุษยวิทยา เขียนนิยาย ทำวิจัย และฝันอยากเห็นสังคมไทยก้าวหน้า เท่าเทียม

+2

Categories

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments