การศึกษาที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมและมักพบเห็นได้ทั่วไปในห้องเรียนทั่วโลกคือ การเรียนรู้ด้วยการรับรู้ (knowledge acquisition) เช่น การบรรยาย การสัมมนา การส่งผ่านหรือเล่าต่อความรู้ เพื่อให้นักเรียนได้ฟังและรับความรู้โดยตรง และมักจบด้วยการสอบเพื่อวัด “ความรู้” ว่าผู้เรียน “รู้อะไร” แต่เมื่อเด็ก ๆ ต้องเผชิญกับโลกความเป็นจริงนอกห้องเรียน นักเรียนจากระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมกลับไม่สามารถโอนถ่ายความรู้ในห้องเรียนไปสู่สถานการณ์จริงในชีวิตหรือบริบทรอบ ๆ ในชีวิตประจำวันได้ แสดงให้เห็นว่าการกรอกกระดาษคำตอบในห้องสอบได้ถูกต้องไม่ได้หมายความว่าคนผู้นั้นสามารถใช้ความรู้ไปแก้ไขปัญหาในชีวิตจริงได้อีกต่อไปแล้ว ถึงแม้เราจะใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาสอดแทรกในการเรียนรู้หรือการใช้ชีวิต แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเสียใหม่ เด็กและเยาวชนในอนาคตก็อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรในชีวิตได้เลย
ดังนั้นโจทย์ใหม่ในอนาคตคือ การแก้ไขปัญหาสังคมและวัฒนธรรมอันสลับซับซ้อนในโลกสมัยใหม่ ความเชี่ยวชาญแบบผสมผสานและการคิดเชิงบูรณาการซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชาเป็นสิ่งจำเป็น หลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ของฟินแลนด์จึงพยายามเผยแพร่องค์ความรู้นี้ให้กับคณะครู นักการศึกษา ผู้ปกครอง และตอบโจทย์นี้ด้วยการนำเสนอการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์พร้อมกับการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้และตอบโจทย์ว่าผู้เรียน “รู้ได้อย่างไร” เข้ามาแทนที่การตอบโจทย์ว่าผู้เรียน “รู้อะไร” แนวทางนี้ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการการเรียนรู้และการแก้ไขปัญหาผ่านการคิดและใช้เหตุผลอย่างสร้างสรรค์ด้วยการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ (Phenomenal Learning)
การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ (Phenomenal Learning) คืออะไร
แต่เดิมผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชามักเน้นศึกษาความรู้และตรรกะของสาขาวิชาตนเอง และมักไม่ค่อยนึกถึงเยาวชนที่ระบบการรู้คิดไม่ได้พัฒนาขึ้นตามสาขาวิชา การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ จึงเป็นการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) ซึ่งให้ความสำคัญกับความสนใจ แรงจูงใจ และการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ความขวนขวายที่จะเรียนรู้ของผู้เรียนในกระบวนการไม่ใช่ลักษณะนิสัยส่วนบุคคล แต่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยครูจะต้องลดบทบาทลงมาเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (Learning facilitator) และให้ผู้เรียนเป็นคนกำหนดทิศทางและหัวข้อที่ต้องการเรียนรู้เองตามความสนใจ
งานสำคัญของคุณครูจะเปลี่ยนจากการสอนในชั้นเรียนเป็นการอำนวยการเรียนรู้ของนักเรียนการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์จึงเป็นการเรียนรู้แบบองค์รวม ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความคิดว่า นักเรียนต้องเรียนรู้ที่จะร่วมมือกันสร้างทางออกใหม่ ๆ และผสมผสานความรู้จากวิชาต่าง ๆ เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหา ความรู้ที่โรงเรียนต้องเชื่อมโยงกับปัญหาในชีวิตจริง เจตนารมณ์ของวิธีการนี้ไม่ใช่เพื่อทดแทนการเรียนเนื้อหารายวิชา แต่เป็นการมองวิชาต่าง ๆ ในมุมที่กว้างขึ้น
อีกทั้งเรายังสามารถศึกษาเนื้อหารายวิชาด้วยการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ได้ด้วย ซึ่งเมื่อผู้เรียนสืบเสาะหาความรู้โดยตั้งต้นจากคำถามของพวกเขาเอง ความสร้างสรรค์ก็จะได้รับการปลูกฝังลงไปด้วย คำถามเหล่านี้มักข้ามเส้นแบ่งของเขตรายวิชาและผู้เรียนจะได้พัฒนาโมเดลความคิดที่ยืดหยุ่น ได้รู้จักคิดวิเคราะห์ปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในโลก เช่น ความยากจน การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือเศรษฐกิจโลกจากหลากหลายมุมมอง
รูปแบบการสอนของการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์มีหน้าตาอย่างไร
รูปแบบการสอนสามารถจัดอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์โดยใช้โมเดลการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ซึ่งครอบคลุมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้และให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหลากหลายวิธี ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงความสนใจและอารมณ์ให้เข้าหากันด้วย กระบวนการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ไม่ใช่วิธีการที่ตรงไปตรงมาแต่เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ ซึ่งมักเริ่มต้นด้วยปัญหาและข้อสังเกตที่ได้มาจากโลกความจริงนอกห้องเรียน รวมถึงคำถามสืบเนื่องมาจากสิ่งเหล่านั้น
ความจริงรอบตัวผู้เรียนและปรากฎการณ์ที่พวกเขาสนใจเป็นจุดเริ่มต้นของการเสาะแสวงหาความรู้ โดยคุณครูมีหน้าที่สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เอื้อให้นักเรียนเกิดคำถามเกี่ยวกับปรากฎการณ์หลักได้อย่างธรรมชาติ ปัญหาที่มาจากโลกความเป็นจริงนอกห้องเรียนของผู้เรียนทำให้พวกเขามีส่วนร่วมและรู้สึกว่าเป็นเจ้าของกระบวนการดังกล่าว ความเป็นเจ้าของและอำนาจในตนเองจึงเป็นประสบการณ์หลักในการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์
การสอนผ่านปรากฎการณ์มักใช้วิธีการสร้างความรู้ร่วมกันโดยสร้างทักษะและความรู้ใหม่ขึ้นจากความรู้เดิมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างความรู้ที่มีความหมาย หรือเป็นโมเดลความคิดที่มีต่อเนื่องนั่นเอง โดยทั่วไปกระบวนการการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเริ่มต้นจากการทำแผนผังความรู้ ทัศนคติ และทักษะที่มีอยู่เดิมของนักเรียน การกระตุ้นความรู้เดิมผลักดันให้นักเรียนแต่ละคนคิดถึงกิจกรรมตรงหน้าในแบบของตนเอง พวกเขาจึงมีโอกาสที่จะพัฒนาความสนใจส่วนตัว เมื่อนักเรียนได้แสดงวิธีคิดของตนเองกับเพื่อนในกลุ่มและครูหรือผู้นำในการเรียนรู้ (facilitator) ก็จะเกิดการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ที่แท้จริง โครงงานแบบเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ไม่ได้เกี่ยวกับกิจกรรมในระดับผิวเผินเท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นเจตนารมณ์ ความคิด และแผนการของนักเรียน จุดสำคัญของการเรียนรู้จึงไม่ได้อยู่ที่การสอนอีกเรียนรู้ในแบบของตัวเอง
จากการเรียนรู้… สู่การประยุกต์ใช้การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ในชั้นเรียน
ในการเรียนรู้แบบปรากฎการณ์ ไม่มีวิธีการสอนใดที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว ในการเรียนรู้แบบปรากฎการณ์ ชั้นเรียนในระดับต่าง ๆ มีแนวปฏิบัติในการสร้างความรู้ที่แตกต่างกันออกไปตามระดับความเข้าใจและปฏิสัมพันธ์ ส่วนใหญ่แล้วสถานศึกษามักดำเนินการสอนรายวิชาแยกตามสาขา แน่นอนว่าการเรียนตรรกะความคิดวิชาต่าง ๆ นั้นสำคัญ แต่เมื่อมองความรู้อย่างเป็นระบบโดยใช้การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ ช่วยให้เราสามารถพัฒนาแนวปฏิบัติในการสร้างความรู้ใหม่ ๆ ลบเส้นแบ่งระหว่างสาขาวิชาต่าง ๆ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลดีแต่อย่างใด และยังช่วยให้ชุมชนโรงเรียนได้เรียนรู้ปฏิสัมพันธ์สร้างสรรค์แบบใหม่ด้วย
การใช้โมเดลสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Engaging Learning Environment- ELE) อาจมีประโยชน์ในการเป็นกรอบความคิดในการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ โดยกระบวนการที่สำคัญเริ่มต้นตั้งแต่ การสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยตั้งแต่ต้น ทุกคนควรรู้สึกว่าตนเองสามารถเสนอความคิดเห็นได้อย่างอิสระโดยไม่รู้สึกถึงการตัดสินใจผู้ใหญ่หรือผู้ฟังคนอื่น ๆ ความรู้สึกปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นจะยิ่งดึงดูดความสนใจให้เด็ก ๆ ทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การระดมความคิดเพื่อกระตุ้นความรู้ ทักษะ และคำถามที่นักเรียนมีอยู่ก่อนหน้า เพื่อนำไปสู่การสร้างโมเดลเบื้องต้นว่าปรากฎการณ์นั้นอาจเกี่ยวข้องกับตัวพวกเขา ชุมชน และสังคมอย่างไรบ้าง
โดยทั่วไปแล้ว การเลือกปรากฎการณ์เป็นส่วนที่ยากที่สุด เราต้องร่วมกันอภิปราย และอาจจะยังไม่ได้คำตอบชัดเจนหลังการพูดคุยครั้งแรกหลังจากได้ปรากฎการณ์ที่จะศึกษาแล้ว ขั้นตอนสำคัญต่อไปคือการตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกัน นอกจากนั้น การแบ่งงานก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะผู้ร่วมทำโครงงานอาจจะมีความสนใจในจุดแข็งต่างกัน ขณะเดียวกันควรแน่ใจด้วยว่าผู้ร่วมทำโครงงานแต่ละคนได้เรียนรู้ทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ ดังนั้นการแจกแจงงานและบทบาทของผู้ร่วมทำโครงงานทุกคนจึงสำคัญมาก
คุณครูจำเป็นต้องช่วยเสริมต่อการเรียนรู้ของนักเรียนให้เพียงพอ รวมทั้งช่วยดูแลเป้าหมายของกระบวนการเรียนรู้ แม้ว่าครูกับนักเรียนจะร่วมกันตั้งเป้าหมาย ความสำคัญของคุณครูก็ไม่ได้ลดลง เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ ความสำคัญของการสอนรายวิชาก็ไม่ได้หมดไปเช่นกัน นักเรียนยังต้องเรียนรู้และจำเนื้อหาวิชามากมาย แต่เชื่อมโยงเนื้อหาเข้ากับบริบทที่มีความหมายเพื่อช่วยให้จดจำได้ในระยะยาวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ไม่ใช่คำตอบของทุกปัญหา เป็นเพียงวิธีการวางกรอบกิจกรรมให้กับเยาวชนในโรงเรียนได้รู้จักตัวเองพร้อม ๆ ไปกับเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับชุมชนและสังคมภายนอกทำให้เกิดการเรียนรู้ที่อย่างอิสระและสร้างสรรค์
ตัวอย่าง Phenomenon – Based Learning ในประเทศต่าง ๆ
จะเห็นว่าลักษณะของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน หรือ PhenoBL นั้นค่อนข้างยืดหยุ่นจึงเอื้อให้ครูสามารถนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทและลักษณะของผู้เรียน ทำให้ PhenoBL ได้รับการยอมรับและนำไปใช้ทั้งในประเทศฟินแลนด์และประเทศต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ในประเทศฟินแลนด์ นักเรียนที่อยู่ในช่วงอายุ 7 – 16 ปี จะถูกกำหนดให้เข้าร่วมโมดูลการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานอย่างน้อย 1 โมดูลในหนึ่งปีการศึกษา ซึ่งโมดูลดังกล่าวจัดในลักษณะสหวิทยาการหรือ Multidisciplinary และออกแบบให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ในโลกจริงหรือชีวิตจริงของเด็ก ๆ
นอกจากในประเทศฟินแลนด์แล้ว แนวคิด PhenoBL ยังได้รับการยอมรับและนำไปปรับใช้อย่างแพร่หลาย เช่น ประเทศอินเดียจะยึดหลักการการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานโดยเชื่อมโยงบทเรียนในรายวิชาต่าง ๆ กับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าผู้เรียนไม่มีทักษะชีวิต และไม่สามารถนำความรู้จากในชั้นเรียนไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อผู้เรียนได้ทำการสืบค้นข้อมูลที่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ทำให้ผู้เรียนมีความสนใจและตระหนักให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม สภาพการเมือง และสภาพสังคมซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกรับผิดชอบในความเป็นพลเมืองของสังคม ซึ่งน่าจะดีกว่าการจัดการเรียนการสอนในอดีตที่มุ่งเน้นเนื้อหามากกว่าทักษะ
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อ้างอิง
Finnish National Board of Education. (2016). National Core Curriculum for Basic Education 2014.
Helsinki, Finland: Finnish National Board of Education.Mattila P. and Silander P. (2015). How to create the school of the future: revolutionary thinking and design from Finland. Finland: Multprint, Oulu.
Nguyen, H. P. (2018). Phenomenon-based learning in Finnish and Vietnamese upper secondary
school curriculum for English as a foreign language. Master thesis. Department of Education
University of Jyväskylä, Jyväskylä. Tissington, S. (2019). Learning with and through phenomena: An explainer on phenomenon-based
learning. Paper presented at the Association of Learning Developers in Higher Education Northern Symposium, Middlesbrough UK