“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ปัญหาและการพัฒนาแบบไทยๆ

  • ข้อมูลจากปี พ.ศ.2564 ระบุว่า ประเทศไทยมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวนทั้งสิ้น 20,123 แห่งทั่วประเทศ ทว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กในประเทศไทยจำนวนมากยังขาดความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน 

  • ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหลายแห่งยังเผชิญหน้ากับปัญหาการไม่มีนโยบายด้านการศึกษาที่ชัดเจน ผู้บริหารท้องถิ่นไม่ให้ความสำคัญกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ขาดแคลนทรัพยากรและสิ่งเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งปัญหาบุคลากรที่มีน้อยสวนทางกับจำนวนนักเรียน

  • ปัญหาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในประเทศไทยเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายต่างหยิบยกมาถกเถียงและพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไข อย่างไรก็ตาม วิธีการแก้ไขดังกล่าวก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมนัก เมื่อหน่วยงานด้านเด็กปฐมวัยก็ยังขาดความชัดเจน ทั้งยังขาดประสิทธิภาพในการบูรณาการและทำงานร่วมกัน 

  • การดูแลและจัดการศึกษาให้เด็กที่เหมาะสม ให้การส่งเสริมด้านอารมณ์ และประสบการณ์ที่เด็กได้รับ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสำคัญในการที่เด็กคนหนึ่งจะพัฒนาต่อไปได้อย่างประสบผลสำเร็จ อาจกล่าวได้ว่าการลงทุนในเด็กเล็กนั้นคือการลงทุนในมนุษย์ที่คุ้มค่า หากมีการส่งเสริมพัฒนาการของพวกเขาอย่างถูกต้องและเหมาะสม ประเทศชาติก็จะได้ผลตอบแทนเป็นผลิตผลคนคุณภาพสูงถึง 7 เท่า 

“การศึกษา” คือเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาที่มุ่งเน้นเรื่องพัฒนาการของ“วัยเด็ก” ที่ถือเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญกับชีวิต จึงควรได้รับการส่งเสริมและเสริมสร้างทักษะชีวิตต่างๆ เพื่อเป็นพื้นฐานชีวิตของตัวเอง เช่นเดียวกับ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ที่ถือเป็นสถานที่สำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ โดยประเด็นเรื่องศูนย์พัฒนาเด็กเล็กถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน และมีความพยายามที่จะสร้างระบบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ตอบโจทย์ของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ทว่า ปัญหาของศูนย์เด็กเล็กในประเทศไทยก็ยังปรากฏให้เห็นมากมาย พร้อมกับประเด็นเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนดูคล้ายกับว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เหมาะสมสำหรับเด็กทุกคนจะค่อย ๆ ห่างไกลจากความเป็นจริงมากขึ้น

แล้วศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่พอจะเป็นไปได้ในสังคมที่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำกำลังขยายตัวออกจากกันมากกว่าเดิมควรเป็นอย่างไร SIY ชวนสำรวจความเป็นไปได้ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเมืองไทย ที่จะรองรับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของเด็กและเพื่ออนาคตที่สดใสของประเทศชาติ

article_2024_21pic1

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในประเทศไทย

กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้นิยามศูนย์พัฒนาเด็กเล็กว่าเป็น “สถานศึกษาที่ให้การอบรมเลี้ยงดู จัดประสบการณ์ และส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ให้เด็กเล็กมีความพร้อม ด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา สังกัดองค์กรส่วนท้องถิ่น” พร้อมกำหนดว่าเด็กเล็ก หมายถึง “เด็กอายุระหว่าง 2 – 5 ปี ที่เข้ารับการอบรมเลี้ยงดู และพัฒนาความพร้อม ด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ และสติปัญญา ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”  

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ตั้งขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กเล็ก อายุระหว่าง 3 – 5 ปี ก่อนเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาอยู่ภายใต้การควบคุมของส่วนราชการต่าง ๆ เช่น กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กรมการศาสนา (ก่อนหน้านี้อยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ แต่ปัจจุบันอยู่ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม) ซึ่งดำเนินการในวัดหรือมัสยิด และสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ส่วนราชการต่าง ๆ ควบคุมดูแล ได้ถ่ายโอนให้กับเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อรองรับการกระจายอำนาจจากรัฐบาล เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแทน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากปี พ.ศ.2564 ระบุว่า ประเทศไทยมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวนทั้งสิ้น 20,123 แห่งทั่วประเทศ ทว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กในประเทศไทยจำนวนมากยังขาดความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ๆ ทั้งการเจริญเติบโตที่ล่าช้า โดยเฉพาะด้านภาษาและกล้ามเนื้อมัดเล็กที่เป็นรากฐานของสติปัญญา

article_2024_21pic2

ปัญหาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

เมื่อศูนย์พัฒนาเด็กเล็กถูกถ่ายโอนมาอยู่ใต้การควบคุมดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดทำมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้องค์กรส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติ ให้มีมาตรฐานและมีคุณภาพไปในแนวทางเดียวกัน โดยแบ่งออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ มาตรฐานด้านการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มาตรฐานด้านบุคลากร มาตรฐานด้านอาคาร สถานที่ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย มาตรฐานด้านวิชาการและกิจกรรมตามหลักสูตร มาตรฐานด้านการมีส่วนร่วมและส่งเสริมสนับสนุน และมาตรฐานด้านส่งเสริมเครือข่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัย

แม้จะมีมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กออกมา แต่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถไปถึงมาตรฐานเหล่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดการศึกษาปฐมวัยของครู ผู้บริหารและสถานศึกษา ซึ่งนำไปสู่การขาดแคลนความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย เช่นเดียวกับปัญหาระบบการผลิตครูปฐมวัย และการให้ความสำคัญด้านเนื้อหาและการวัดผลที่มุ่งเน้นให้เด็กท่องจำ 

เท่านั้นยังไม่พอ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหลายแห่งยังเผชิญหน้ากับปัญหาการไม่มีนโยบายด้านการศึกษาที่ชัดเจน ผู้บริหารท้องถิ่นไม่ให้ความสำคัญกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ขาดแคลนทรัพยากรและสิ่งเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งปัญหาบุคลากรที่มีน้อยสวนทางกับจำนวนนักเรียน แต่กลับได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการไม่เหมาะสม ไปจนถึงปัญหาเรื่องสภาพอาคารที่เก่าทรุดโทรม ขาดการบำรุงรักษา หรืออยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม และปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจของผู้ปกครองในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย และการไม่มีส่วนร่วมของชุมชน เป็นต้น

วิธีแก้ไขปัญหาแบบไทย ๆ

ปัญหาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในประเทศไทยเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายต่างหยิบยกมาถกเถียงและพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไข ซึ่งความพยายามหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงและยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคือการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2562 ให้ใช้ “มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ” เป็นมาตรฐานกลางของประเทศ โดยให้ทุกหน่วยงานและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งภาครัฐและเอกชน ใช้เป็นแนวทางในการประเมินผลการดำเนินงานและยกระดับคุณภาพ รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือประกันคุณภาพเพื่อรองรับการตรวจประเมินจากต้นสังกัด และจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา  

พร้อมกันนั้นยังได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้เด็กทุกคนได้รับความคุ้มครอง ดูแล พัฒนาให้การเรียนรู้และการศึกษาให้สมวัยอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึง เสมอภาค และมีคุณภาพ เพื่อให้เด็กได้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดี พร้อมกันนี้ ยังกำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ มีการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย 

อย่างไรก็ตาม วิธีการแก้ไขดังกล่าวก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมนัก เมื่อหน่วยงานด้านเด็กปฐมวัยก็ยังขาดความชัดเจน ทั้งยังขาดประสิทธิภาพในการบูรณาการและทำงานร่วมกัน อันเนื่องมาจากหน้าที่และอำนาจที่แตกต่างกันของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งตัวชี้วัดและมาตรฐานในการทำงานที่แตกต่างกัน และการขาดหน่วยงานกลางที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและขับเคลื่อนการทำงานให้ลุล่วงไปได้ 

article_2024_21pic3

ตัวอย่างความสำเร็จที่ทำตามได้

แม้ในภาพรวมของประเทศ ความพยายามแก้ไขปัญหาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอาจจะยังไม่สามารถทำได้สำเร็จลุล่วงได้ แต่ความพยายามของหน่วยงานเล็ก ๆ ที่จะสร้างพื้นที่สำหรับการพัฒนาเด็กเล็กให้เกิดผลและมีประสิทธิภาพ ก็มีออกมาให้เห็นอยู่ตลอด ซึ่งแต่ละแห่งก็ล้วนเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโพธิวราราม จังหวัดอุดรธานี ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดตัวให้เป็น “ต้นแบบ” ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอื่นๆ ได้ดำเนินการตาม โดยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อให้เด็กสะสมความรู้จนเกิดเป็นทักษะเพื่อการศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น ผ่านการจัดการเรียนการสอนแบบ BBL (Brain-based Learning) ซึ่งเป็นวิธีจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองเด็ก 

ไม่เพียงแต่การจัดการเรียนรู้ที่จะสอดคล้องกับสมองของเด็กแต่ละช่วงวัยเท่านั้น แต่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ยังเน้นการพัฒนาจิตใจของเด็ก ซึ่งครูจะเอาใจใส่และปฏิบัติกับเด็กเหมือนคนในครอบครัว สร้างความอบอุ่นและทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมอยากมาโรงเรียน ขณะที่ท้องถิ่นก็จะเป็นส่วนสำคัญในการร่วมดูแลเด็กเล็กในชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญให้เด็ก

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านราชคราม อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีิยุธยา ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่เน้นการส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยของเด็ก โดยไม่เร่งรัดให้เด็กท่องจำ แต่เน้นการพัฒนากล้ามเนื้อ อารมณ์ สุขภาวะ ผ่านการทำกิจกรรม ซึ่งจะมีการสื่อสารกับผู้ปกครองให้รับทราบถึงแนวทางนี้ร่วมกัน ทั้งนี้ ครูของที่นี่ต้องมีความรู้และความเข้าใจเรื่องพัฒนาการต่างๆ ของเด็กในเบื้องต้น เพราะครูจะเป็นคนคอยสังเกตว่าเด็กมีพัฒนาการช้าหรือไม่ เพื่อเข้าไปอุดช่องโหว่และผลักดันส่งเสริมเด็กได้อย่างทันท่วงที 

article_2024_21pic4
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านราชคราม

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมยังมีผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กอย่างมาก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านราชครามจึงพยายามสร้างความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ให้เด็กอยากมาโรงเรียน ด้วยการปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น มีพื้นที่กว้างๆ ให้เด็กได้กระโดดโลดเต้น พร้อมกับมีสื่อการสอนและของเล่นให้เด็กได้เลือกเล่น และเสาทุกต้นก็หุ้มเบาะนุ่ม ๆ เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ ที่วิ่งเล่นกันอยู่

ประสบการณ์ที่มีคุณภาพในช่วงแรกของชีวิตมีผลต่อพัฒนาการของเด็กเล็กเป็นอย่างมาก ดังนั้น การดูแลและจัดการศึกษาให้เด็กที่เหมาะสม ให้การส่งเสริมด้านอารมณ์ และประสบการณ์ที่เด็กได้รับ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสำคัญในการที่เด็กคนหนึ่งจะพัฒนาต่อไปได้อย่างประสบผลสำเร็จ

อาจกล่าวได้ว่าการลงทุนในเด็กเล็กนั้นคือการลงทุนในมนุษย์ที่คุ้มค่า หากมีการส่งเสริมพัฒนาการของพวกเขาอย่างถูกต้องและเหมาะสม ประเทศชาติก็จะได้ผลตอบแทนเป็นผลิตผลคนคุณภาพสูงถึง 7 เท่า ซึ่งจะสามารถนำพาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าและสามารถทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิแน่นอน

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อ้างอิง

https://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2017/4/2199_5930.pdf

https://www.the101.world/children-care-center-under-sao/

https://catalog.moe.go.th/dataset/dataset-15_24/resource/032d0765-0e72-4591-838a-f8013a88ec93

https://waymagazine.org/banrajcram/

https://www.thaipbs.or.th/news/content/297494

https://www.ombudsman.go.th/new

https://theactive.net/data/welfare-children-inclusive/

Categories

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments