- เป็นเรื่องปกติหากเราเคยมีคำถามกับตัวเองว่า “ฉันเป็นใคร” รวมถึงสารพัดคำถามคลาสสิคเกี่ยวกับตัวตนของตัวเอง แต่หากหมกมุ่นจนถึงขั้นวิตกกังวลหรือส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ก็อาจเรียกได้ว่า นี่คืออาการของ “วิกฤตตัวตน” หรือ Identity Crisis
- Identity Crisis มีแนวคิดพื้นฐานมาจากอีริค อีริคสัน นักจิตวิทยาพัฒนาการชาวเยอรมัน เขาเชื่อว่าอัตลักษณ์หรือตัวตนเป็นความขัดแย้งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ เขาตั้งข้อสังเกตว่า ขั้นตอนการพัฒนาตัวตนจะสำคัญมากที่สุดในช่วงวัยรุ่น (12-18 ปี) ซึ่งเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงในด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และพัฒนาการทางสังคม
- นอกจากมิติจิตวิทยาแล้ว วิกฤตตัวตนยังใกล้ชิดกับคำถามเชิงปรัชญา เพราะ “ฉันเป็นใคร” เป็นคำถามระดับอภิปรัชญาที่มีการอภิปรายมาตั้งแต่นักปราชญ์ยุคกรีกจนถึงนักคิดในศตวรรษที่ 21
- ถัดจากนี้คือมุมมองทางจิตวิทยาและปรัชญาที่มีต่อวิกฤตตัวตน มุมมองเหล่านี้ไม่ได้มอบคำตอบตายตัว แต่เป็นหลักยึดให้วัยรุ่น (และวัยอื่น ๆ) สามารถคลำทางหาคำตอบได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว มีแต่ตัวเราเท่านั้นที่จะมอบความหมายให้เราเอง
เป็นเรื่องปกติหากเราเคยมีคำถามกับตัวเองว่า “ฉันเป็นใคร” รวมถึงสารพัดคำถามคลาสสิคเกี่ยวกับตัวตนของตัวเอง สิ่งนี้มักปรากฏในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของชีวิต แต่หากหมกมุ่นจนถึงขั้นวิตกกังวล ครุ่นคิดแล้วก็หาคำตอบไม่ได้ หรือส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ก็อาจเรียกได้ว่า นี่คืออาการของ “วิกฤตตัวตน” หรือ Identity Crisis
Identity Crisis มีแนวคิดพื้นฐานมาจากอีริค อีริคสัน (Erik Erikson, 1902-1994) นักจิตวิทยาพัฒนาการชาวเยอรมัน เขาเชื่อว่าอัตลักษณ์หรือตัวตนเป็นความขัดแย้งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ อีริคสันตั้งข้อสังเกตว่า ขั้นตอนการพัฒนาตัวตนจะสำคัญมากที่สุดในช่วงวัยรุ่น (12-18 ปี) ซึ่งเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงในด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และพัฒนาการทางสังคม แต่เมื่อเราก้าวผ่านช่วงวัยรุ่นแล้ว การพบประสบการณ์ใหม่ ๆ หรือความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ในชีวิต ก็ทำให้ตัวตนของเราเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
แล้วหน้าตาของ Identity Crisis เป็นอย่างไรล่ะ มันอาจเริ่มจากคำถามง่ายๆ ที่พุ่งพรวดเข้ามาในหัว เช่น “ฉันมีความสุขกับอะไร” “ฉันเชื่อในอะไร” “ตัวฉันมีค่ารึเปล่า” “ฉันอยู่ตรงไหนในสังคมนี้” “เป้าหมายในชีวิตคืออะไรกันแน่” และ “ฉันคือใคร” อาการของวิกฤตตัวตนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคำถามเหล่านี้เริ่มทำให้เรารู้สึกแย่ ไม่สบายใจ หรือมีความรู้สึกด้านลบ
บางคนสามารถก้าวผ่านหรือตอบคำถามระดับอภิปรัชญาข้างต้นได้อย่างง่ายดาย หรือมีวิธีรับมือที่ได้ผล สิ่งสำคัญคือ เราต้องตระหนักและสำรวจตัวเองเสมอว่า คำถามเกี่ยวกับตัวตนนำไปสู่อารมณ์ความรู้สึกแบบใด และหากมันทำให้รู้สึกแย่จนเหมือนแรงโน้มถ่วงบดร่างจนละเอียด นี่อาจเป็นสัญญาณของอาการซึมเศร้า และจำต้องวางแผนคุยกับผู้เชี่ยวชาญ
อีริคสันเชื่อว่า ตัวตนของเราถูกถักทอมาจากพฤติกรรมและบทบาทที่หลากหลายผ่านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ขณะที่เจมส์ มาร์เซีย (James Marcia, 1937-ปัจจุบัน) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ต่อยอดแนวคิดของอีริคสันโดยชี้ว่า การสร้างสมดุลระหว่างตัวตนและความขัดแย้งสับสนขึ้นอยู่กับการสร้างความสัมพันธ์และการเลือกใช้ตัวตนใดตัวตนหนึ่งในแต่ละสถานะ
ทั้งนี้ มาร์เซียวิเคราะห์ 3 ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาตัวตน ได้แก่ บทบาททางอาชีพ ความเชื่อ และเพศวิถี เขาสรุปว่า วัยรุ่นจะมีตัวตน 4 สถานะ ประกอบด้วย
- Foreclosure คือการเลือกตัวตนใดตัวตนหนึ่งตามที่สังคมรอบตัวให้คุณค่า โดยที่วัยรุ่นผู้นั้นไม่ได้สำรวจหรือทำความเข้าใจตัวเอง
- Diffusion เกิดขึ้นเมื่อวัยรุ่นไม่มีวิกฤตตัวตน ประสบความล้มเหลวในการแสดงความเป็นตัวเอง หรือกระทั่งอัตลักษณ์ของตัวเองถูกทำลาย ทำให้วัยรุ่นกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะรู้สึกแปลกแยก ไม่เข้าพวก เลวร้ายที่สุดอาจมีอาการซึมเศร้าและหลงทางในการแสวงหาตัวเอง
- Moratorium คือสถานะของวัยรุ่นที่ผ่านการสำรวจตัวเองแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าจะแสดงตัวตนแบบไหน หรือยังคงมีข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วตัวตนของฉันเป็นแบบไหนกันแน่
- Archievement คือการเลือกใช้หรือแสดงตัวตนที่เป็นตัวของตัวเอง หลังจากสำรวจตัวเองอย่างทะลุปรุโปร่ง
มาร์เซียเชื่อว่า การเกิดวิกฤตตัวตนจะช่วยให้วัยรุ่นค่อย ๆ เปลี่ยนจากสถานะหนึ่งไปสู่อีกสถานะหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนต้องผ่านทุกสถานะข้างต้น
โดยทั่วไป วิกฤตตัวตนเกิดขึ้นกับคนทุกช่วงวัย ส่วนมากจะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เช่น มีลูก ตกงาน โรคระบาด หรือคนใกล้ตัวเสียชีวิต แต่อย่างที่กล่าวไปช่วงต้น สิ่งนี้เกิดกับกลุ่มวัยรุ่นมากที่สุด ดังนั้น วิธีการก้าวข้ามวิกฤตตัวตนได้ดีที่สุด คือการค่อย ๆ ตระหนักและทำความเข้าใจตัวเอง เริ่มจากตอบคำถามง่าย ๆ เช่น ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร สบายใจเวลาอยู่กับใคร มีความสุขกับอะไร ฯลฯ สิ่งสำคัญ คือการขอคำปรึกษาและหาแรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง เพราะเชื่อเถอะว่า อาการครุ่นคิดกับตัวตน ไม่ได้ดีดเรากระเด็นออกจากโลกแบบที่เราอาจเผลอคิดแน่นอน
เกิดมาแล้วก็ต้องหาความหมายให้ตัวเอง?
นอกจากมิติจิตวิทยาแล้ว วิกฤตตัวตนยังใกล้ชิดกับคำถามเชิงปรัชญา เพราะ “ฉันคือใคร” เป็นคำถามระดับอภิปรัชญาที่มีการอภิปรายมาตั้งแต่นักปราชญ์ยุคกรีกจนถึงนักคิดในศตวรรษที่ 21
ประวัติการค้นหาตัวตนโดยสังเขป เริ่มจากความเสื่อมถอยของคริสต์ศาสนาในปลายยุคกลาง พร้อมกับการเติบโตของแนวคิดมนุษยนิยม (humaism) ในช่วงศตวรรษที่ 13 ที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถแสวงหาความสุขได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แรงดลบันดาลจากพระเจ้าแต่ถ่ายเดียว ซึ่งสอดรับกับยุคเรเนซองส์หรือการฟื้นฟูศิลปวิทยาการที่ขับเน้นความเป็นปัจเจก สิ่งนี้ต่อยอดมาสู่การปฏิวัติภูมิปัญญา การขยายตัวของชนชั้นกลางกับทุนนิยม และส่งผลต่อสำนึกเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในยุคโมเดิร์น (กลางศตวรรษที่ 15 ถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2)
จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 โลกเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เป็นเหตุให้ปรัชญาสำนักอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ปรัชญาแขนงนี้เชื่อว่า ชีวิตของมนุษย์มีความตายอยู่ปลายทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นทำให้ชีวิตไม่ได้มีความหมายอะไร แต่ความหมายของชีวิตเกิดขึ้นได้เมื่อเราเลือกหรือตัดสินใจเองว่าชีวิตคืออะไร กล่าวอย่างง่าย มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าเราคือใคร มีชีวิตเพื่ออะไร ไม่ว่ามาตรฐานคุณค่าภายนอกอย่างศาสนาหรือสังคมจะวางกฎเกณฑ์อะไรให้ชีวิตก็ตาม
ความตายเป็นใบไม้ร่วงในยุคสงครามโลกเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดนักปรัชญาอัตถิภาวนิยมหลายคน เช่น วิกเตอร์ แฟรงเคิล (Viktor Frankl, 1905-1997) นักประสาทวิทยา นักจิตวิทยา และนักปรัชญาชาวออสเตรีย-ยิว ผู้เคยอยู่ในค่ายกักกันนาซี เขาพบว่า ความหมายในการดำรงอยู่ของมนุษย์เป็นสิ่งจำเป็น เพราะชาวยิวในค่ายกักกันต่างรู้ว่าสักวันตนต้องตาย ซึ่งจำนวนไม่น้อยชิงลงมือฆ่าตัวตายก่อน เพราะสภาวะที่ไม่รู้ว่าตนจะมีชีวิตอย่างทรมานเพื่ออะไร
ส่วนฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre, 1905 – 1980) นักปรัชญาชางฝรั่งเศส มองว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมเสรีภาพในการกำหนดชีวิตตัวเอง และต้องเลือกทุกสิ่งทุกอย่าง นี่คือภาระอันหนักอึ้งและนำมาสู่ความวิตกกังวลอย่างง่ายดาย หลายครั้งเราอาจรู้สึกว่า ไม่รู้จะไปทางไหนหรือตัดสินใจอย่างไรดี ภาวะของความสับสนนี้ทำให้เราเข้าหาคุณค่าที่สังคมกำหนดไว้แล้ว อาจเป็นศาสนาหรือบรรทัดฐานสังคม จึงกกลายมาเป็นคำกล่าวอันลือลั่นของเขาว่า “มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ”
ขณะที่อัลแบต์ กามูส์ (Albert Camus, 1913-1960) เพื่อนนักปรัชญาของซาทร์กลับมองว่า ความตายที่รออยู่ปลายทางของทุกชีวิต ทำให้โลกนี้ไร้ความหมาย การเกิดมาของมนุษย์จึงเป็นการเดินทางเพื่อตามหาและกำหนดความหมายของตัวเอง กามูส์เคยยกตัวอย่างความไร้เหตุผลคู่กับปกรนัมกรีกเรื่อง ชะตากรรมของซิเซอฟัส (Le Mythe de Sisyphe, 1942) เรื่องมีอยู่ว่า ซิเซอฟัส เทพผู้ถูกพระเจ้าลงทัณฑ์ให้เข็นก้อนหินขึ้นยอดเขาเพียงเพื่อให้หินก้อนนั้นตกลงมาที่ตีนเขา และซิเซอฟัสต้องขนหินก้อนนั้นขึ้นยอดเขาอีกครั้งในวันถัดมา เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะไม่มีการลงโทษใดจะทรมานไปมากกว่าการลงมือทำในสิ่งที่ไร้ผลลัพธ์
ในมุมกลับกัน กามูส์ชี้ว่า การลงทุนลงแรงขนก้อนหินสู่ยอดเขามีความหมายเพียงพอที่จะบันดาลความสุขแก่ซิเซอฟัสเอง การดิ้นรนอย่างหนักหน่วงทุก ๆ วัน ทำให้เขามีหัวใจที่เต็มเปี่ยม ปฏิเสธว่าพระเจ้ามีอยู่จริง และยอมรับในชะตากรรมของตัวเอง สรุปคือ มนุษย์ต้องยอมรับก่อนว่าชีวิตและโลกไร้ความหมาย เราจึงควรใช้ชีวิตเพื่อเติมเต็มความหมายด้วยตัวเอง จุดนี้เองที่กามูส์เห็นต่างกับซาร์ตร์ว่า เมื่อเราค้นพบหรือเข้าใจตัวเองในชนิดที่ความกระจ่างปกคุลมทุกส่วนของตัวเองแล้ว มาตรฐานใด ๆ จากภายนอกก็ใช้การกับเราไม่ได้
เราจะเห็นได้ว่า พื้นฐานสำคัญของ Existentialism คือการเชื่อในการมีอยู่ของตัวตน แม้บางครั้ง การมีอยู่จะทำให้เรามี ‘วิกฤตการมีตัวตน’ (Existential Crisis) ตั้งคำถามต่าง ๆ นานาว่า “ฉันมีอยู่เพื่ออะไร” “ชีวิตนี้มีความหมายอะไร” ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราต้องนั่งจมปลักในหล่มคำถามนี้ตลอดเวลา บ้างอาจหาความหมายจากความรัก ความสัมพันธ์ งานอดิเรก การเล่นกับสัตว์เลี้ยง การดูแลต้นไม้สักต้น วาดรูป หรือเรียบง่ายอย่างการนอนหลับให้เต็มอิ่ม และหากศาสนาทำให้เราสบายใจโดยไม่เบียดเบียนใคร นั่นก็อาจเป็นคำตอบที่ได้ผลต่อตัวเราได้เช่นกัน
ที่สุดแล้ว การได้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่มีความผันผวนมากที่สุดยุคหนึ่ง ย่อมทำให้วัยรุ่น (และคนวัยอื่น ๆ) ถามตัวเองเสมอว่า “เขาคือใคร” อาจไม่ต้องตอบเชิงปรัชญา เพราะว่ากันตามตรง ตัวตนหนึ่งของเราเกิดจากหลาย ๆ อัตลักษณ์ทับซ้อนกัน เช่น เพศ เชื้อชาติ อาชีพ ศาสนาหรือจิตวิญญาณ แนวคิดเชิงปรัชญา อุดมการณ์ทางการเมือง ฯลฯ ตัวแปรเหล่านี้เป็นจุดตั้งต้นให้เรายึดเกาะ ไม่ไหลไปตามกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากในสังคมอย่างเลื่อนลอยไร้จุดหมาย นั่นอาจนำไปสู่การที่เราสร้างคำนิยามของตัวเราเองในทุกมิติก็ได้ ดังวรรคทองของ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw, 1856-1950) นักเขียนบทละครชาวไอริชที่กล่าวว่า
“ชีวิตไม่ใช้การค้นหาตัวตน หากแต่คือการสร้างตัวตนต่างหาก”