เมื่อพูดถึง “ของเล่น” เชื่อว่าความทรงจำวัยเด็กของหลาย ๆ คนที่มีต่อของเล่นคงจะแตกต่างกันออกไปด้วยเหตุผลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัวรวมไปถึงการให้ความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนมักจะคุ้นชินคือ “การแบ่งเพศให้กับของเล่น” บ่อยครั้งเด็กผู้ชายมักจะถูกคาดหวังให้ชื่นชอบของเล่นประเภท รถถังหรือหุ่นยนต์ รวมไปถึงของเล่นที่จำลองการต่อสู้และแข่งขัน อาทิ อุปกรณ์สงครามอย่าง ปืน และดาบ ในขณะที่เด็กผู้หญิงมักจะถูกคาดหวังให้ชื่นชอบของเล่นอย่างเช่น ตุ๊กตา รวมถึงของเล่นที่เกี่ยวข้องกับความสวยงามและความอ่อนโยนต่าง ๆ เป็นต้น
การแบ่งเพศให้กับของเล่นเช่นนี้ เป็นผลสะท้อนมาจากอุตสาหกรรมของเล่นในภาพรวม ซึ่งมักสร้างภาพจำการเลือกซื้อของเล่นตามเพศสภาพให้กับเด็ก นอกจากจะเป็นการปิดกั้นจินตนาการของเด็กในวัยแห่งการเรียนรู้แล้วยังส่งผลกระทบไปถึงสังคมในวัยทำงาน ดังจะเห็นได้ว่าอาชีพหรือบทบาทบางประการมักจะถูกกำหนดให้เป็นเพียงเฉพาะหน้าที่ของเพศใดเพศหนึ่ง ซึ่งมุมมองเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการสร้างความเหลื่อมล้ำทางเพศ และทำให้สังคมเต็มไปด้วยปัญหาความไม่เท่าเทียมและการกีดกันทางเพศมากขึ้น
วิวัฒนาการของ “ของเล่น”กับบทบาททางเพศ
หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าการแบ่งเพศให้ของเล่นเป็นเรื่องธรรมดาและมีในสังคมมายาวนาน แต่ความจริงแล้ว อลิซาเบธ สวีท (Elizabeth Sweet) ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยซานโฮเซสเตทในสหรัฐอเมริกาเล่าว่า ในช่วงศตวรรษที่ 20 ของเล่นยังไม่เป็นสินค้าทั่วไป ทำให้หลายครอบครัวยังมีการทำของเล่นเด็กด้วยตัวเอง และเพศก็ยังไม่ใช่สิ่งสำคัญในการจัดแบ่งหมวดหมู่ของเล่น ตุ๊กตาจึงเป็นของขวัญยอดนิยมที่มอบให้กับทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ดี การจัดแบ่งของเล่นรวมถึงเครื่องแต่งกายสำหรับเด็กตามเพศเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น ด้วยความพยายามที่จะสั่งสอนวิธีการแสดงบทบาททางเพศที่เหมาะสมให้กับเด็ก ทำให้การส่งต่อสิ่งของระหว่างพี่น้องต่างเพศเป็นไปได้ยากขึ้น ครอบครัวจึงจำเป็นต้องซื้อสิ่งของชิ้นใหม่ให้ตรงตามเพศของเด็ก ทำให้ในช่วงทศวรรษที่ 1940 ผู้ผลิตของเล่นและเสื้อผ้าเด็กมองเห็นหนทางทำกำไรมากขึ้นด้วยการกำหนดเพศ รวมถึงการกำหนด “สีชมพู” สำหรับเด็กผู้หญิง และ “สีฟ้า” สำหรับเด็กผู้ชายที่เริ่มขยายตัวในอุตสาหกรรมของเล่นอย่างแพร่หลาย
ในช่วงเวลาถัดมาของเล่นมักเน้นไปที่ความชื่นชอบหรืออาชีพในอนาคตสำหรับเด็ก เช่น ชุดไม้กวาดและ ไม้ถูพื้นสำหรับเด็กผู้หญิง ชุดอุปกรณ์งานช่างและการก่อสร้างสำหรับเด็กผู้ชาย แม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ 1970 กระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรีในสหรัฐอเมริกาจะทำการจัดจำหน่ายของเล่นมีเครื่องหมายระบุเพศน้อยลง แต่ภายหลังจากศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมของเล่นได้เปลี่ยนจากการกำหนดบทบาททางเพศผ่านอาชีพหรือกิจกรรมต่าง ๆ สู่บทบาทของความแฟนตาซีมากขึ้น โดยโซนของเล่นเด็กผู้หญิงมักจัดแสดงตุ๊กตาบาร์บี้หรือเจ้าหญิงด้วยโทนสีชมพูซึ่งให้ความรู้สึกอ่อนหวานสวยงาม ขณะที่โซนของเล่นเด็กผู้ชายจะถูกตกแต่งด้วยโทนสีฟ้าที่เน้นความแข็งแกร่งดุดัน เป็นต้น
จนกระทั้งช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมเริ่มมีการตั้งคำถามมากขึ้นถึงความจำเป็นในการแบ่งแยกของเล่นตามเพศของเด็ก ด้วยผลกระทบต่าง ๆ ที่ไม่เพียงส่งผลต่อเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตในสังคมผู้ใหญ่ ที่ผ่านการหล่อหลอมเรื่องบทบาทหน้าที่ที่แยกขาดจากกันระหว่างสองเพศมาตั้งแต่วัยเยาว์ นำมาซึ่งความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ขณะที่ความหลากหลายทางเพศกลายเป็นสิ่งที่แทบจะไม่อยู่ในการรับรู้ของเด็กเหล่านี้เลย
ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยซาเลมสเตทในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ของเล่นแบบแบ่งเพศจะสร้างทัศนคติแบบเหมารวมทางเพศ (gender stereotypes) และสร้างทักษะที่แตกต่างกันให้กับเด็ก ๆ เนื่องจากของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิงมักส่งเสริมทักษะด้านความเอาใจใส่และความอ่อนโยน ส่วนของเล่นของเด็กผู้ชายมักจะเน้นความโลดโผน
การวิจัยของผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่อย่าง LEGO Group ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองและเด็กอายุ 6-14 ปีเกือบ 7,000 คนในหลายประเทศ พบว่า อาชีพบางประเภทได้รับการมองว่าเป็นอาชีพสำหรับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยมีมากถึง 85% ที่มองว่านักวิทยาศาสตร์และนักกีฬาเป็นอาชีพสำหรับผู้ชาย มีเพียง 15% เท่านั้นที่มองว่าเป็นอาชีพของผู้หญิง หรืออย่างวิศวกรที่ถูกมองว่าเป็นอาชีพของผู้ชายถึง 89% เทียบกับ 11% ที่มองว่าผู้หญิงก็เหมาะที่จะเป็นวิศวกรได้
สิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากของเล่นและกิจกรรมที่ผู้ปกครองส่งเสริมให้เด็กทำ จนกลายเป็นทัศนคติแบบเหมารวมที่ทำให้โอกาสในการเข้าถึงอาชีพหรือการเลือกเส้นทางชีวิตตามความต้องการของเด็กถูกปิดกั้นด้วยเรื่องเพศ ดังที่ผู้ผลิต Lego ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เด็ก ๆ กำลังทดลองทางความคิดเกี่ยวกับความสนใจและความถนัดของตนเอง และบางทีอาจหมายถึงบทบาทในอนาคต แต่จะเป็นปัญหาเมื่อคุณจำกัดขอบเขตของตัวเลือก และบอกว่าสิ่งนี้มีไว้สำหรับเด็กผู้หญิงและสิ่งนี้สำหรับเด็กผู้ชายเท่านั้น”
สลายกรอบของเล่นที่แบ่งเพศอย่างไร
ทางหนึ่งบทบาทของพ่อแม่มีส่วนสำคัญในการจัดการปัญหานี้ รีเบคกา เฮนส์แนะนำว่า หากต้องซื้อของเล่นที่มีการระบุเพศให้กับเด็ก วิธีการหนึ่งที่สามารถทำได้คือการกำจัดเครื่องหมายระบุเพศนั้นออกไป อย่างการนำของเล่นออกจากบรรจุภัณฑ์ก่อนจะมอบให้เด็ก หรือการผสมผสานของเล่นเพื่อเปิดพื้นที่สำหรับจินตนาการให้กับเด็ก เช่น หากเด็ก ๆ ชื่นชอบเจ้าหญิง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมอบตุ๊กตาเจ้าหญิงพร้อมกับรถดับเพลิง หรือของเล่น เช่น ดาบ หรือ อาวุธต่าง ๆ ให้กับเด็ก เพียงเท่านี้เด็ก ๆ ก็สามารถสวมบทบาทเป็นเจ้าหญิงที่สามารถดับไฟและมีบทบาทในการปกป้องและต่อสู้ไปพร้อม ๆ กันด้วยเป็นต้น
กระแสและการขับเคลื่อนของเล่นในศตวรรษที่ 21
ในปัจจุบันอุตสาหกรรมของเล่นได้พยายามขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เคน ซีเตอร์ (Ken Seiter) รองประธานฝ่ายสื่อสารการตลาดของสมาคมของเล่น (Toy Association) ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ของเล่นที่เป็นกลางทางเพศกำลังแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและยังจะเป็นเทรนด์ที่ดำเนินต่อไปในอนาคต โดยในปี 2017 สมาคมของเล่นได้ยกเลิกการจัดหมวดหมู่ของเล่นด้วยคำว่า “เด็กชาย” และ “เด็กหญิง” แต่เปลี่ยนไปใช้คำว่า “แอ็กชันฟิกเกอร์แห่งปี” หรือ “ตุ๊กตาแห่งปี” แทน
ในปี 2021 รัฐแคลิฟอร์เนียยังได้มีการออกกฎหมายใหม่ กำหนดให้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ต้องมีโซนของเล่นที่เป็นกลางทางเพศภายในปี 2024 แม้ว่าจะยังไม่ห้ามการจัดโซนของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายโดยเฉพาะ แต่ก็นับเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมของเล่นที่ต้องคำนึงถึงความเป็นกลางทางเพศมากขึ้นเช่นกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว การเรียนรู้ที่จะเข้าใจและอยู่ร่วมกับความแตกต่างหลากหลายทางเพศของเด็กยังขึ้นอยู่กับผู้ปกครองที่ต้องเปิดใจยอมรับและส่งเสริมพัฒนาการควบคู่ไปกับจินตนาการของเด็ก สิ่งนี้จะช่วยให้เด็กสามารถเติบโตขึ้นมาได้อย่างมั่นใจและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
ท้ายที่สุดนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าวงการอุตสาหกรรมของเล่นจะขับเคลื่อนและสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้กับวงการของเล่นเด็กในอนาคตให้มีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือของเล่นควรเป็นสิ่งที่มีไว้สำหรับเด็กทุกคนให้พวกเขาได้เล่นอย่างอิสระโดยไม่มีกรอบเรื่องเพศมาจำกัดจินตนาและความต้องการในการเล่นของพวก เช่นเดียวกันกับสิทธิและโอกาสในชีวิตอื่น ๆ ที่มนุษย์ทุกคนควรที่จะสามารถเข้าถึงได้ไม่ว่าจะเพศใด
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อ้างอิง
“Why gender-neutral holiday presents matter for your children” โดย Lisa Selin Davis จาก edition.cnn.com
“The Future of Kids and Toys” โดย Grace Mahas จาก www.innovationstrategy.com
“5 Ways Kids Benefit from Gender-Neutral Toys and Activities” โดย Rebecca Macatee จาก www.parents.com
“Why gender-neutral toy options matter, according to experts” โดย Korin Miller จาก www.yahoo.com
“The fightback against gendered toys” โดย Kira Cochrane จาก www.theguardian.com