- จากการลงพื้นที่และทำงานร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศของ SIY ปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงและดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือ “ปัญหาความเครียด”
- กรมสุขภาพจิตออกมาเปิดเผยผลประเมินสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นไทย อายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวนมากกว่า 1.8 แสนคน พบว่า วัยรุ่นไทยมีความเครียดสูงถึง 28% โดยเด็กวันรุ่นไทย 32% มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ขณะที่ 22% เข้าสังคมลดลง ติดจอและเกมออนไลน์มากขึ้น
- ครอบครัวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นไทย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากความคาดหวังและความกดดันของครอบครัว ความไม่เข้าใจและไม่ยอมรับในตัวตนของวัยรุ่นในครอบครัว ทว่า ความเครียดที่เกิดจากครอบครัวมักถูกละเลยและไม่ถูกพูดถึงเท่าไรนัก
- ประเทศไทยมีจิตแพทย์เด็กอยู่ทั้งหมด 295 คน แต่มากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ตามภูมิภาคต่างๆ ขณะที่ 23 จังหวัดไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่เลย และใน 17 จังหวัดมีจิตแพทย์เด็กคนเดียวที่ต้องรับภาระดูแลเด็กและวัยรุ่นทั้งจังหวัด
ว่ากันว่า “วัยรุ่น” คือวัยแห่งการเรียนรู้เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า วัยรุ่นจึงเป็นวัยที่ว้าวุ่นและเต็มไปด้วยปัญหา ช่วงชีวิตวัยรุ่นคือการลองผิดลองถูก หัวเราะสนุกสนานและร้องไห้อย่างเจ็บปวดสลับกันไป เพราะนี่คือวัยแห่งการทำผิดพลาด อย่างไรก็ตาม บางปัญหาของวัยรุ่นก็ไม่ใช่เพียงเรื่องเล็กน้อยที่ควรถูกมองข้าม โดยเฉพาะ “เรื่องสุขภาพจิต” ที่กลายเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนำไปสู่โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นทั่วโลก ขณะที่วัยรุ่นไทยก็สะท้อนออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่าปัญหาหัวใจของพวกเขาคือเรื่องสำคัญ ซึ่งผู้ใหญ่ในสังคมจำเป็นต้องหันกลับมามองและให้ความช่วยเหลือพวกเขาอย่างเร่งด่วน
SIY ชวนมองปัญหาจิตใจวัยรุ่นไทยผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยน และนำเสนอจากตัวแทนวัยรุ่นทั่วทุกภาค เพื่อเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ทุกคนมองเห็นปัญหาที่วัยรุ่นกำลังเผชิญ ขณะเดียวกันก็เป็นเสียงเล็ก ๆ ที่จะส่งไปถึงวัยรุ่นทุกคนที่กำลังปวดหัวใจว่า “ตัวเองไม่ได้อยู่คนเดียว และยังมีเพื่อนอีกมากมายกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเหมือนกันกับตัวเอง ดังนั้น อย่าเพิ่งยอมแพ้นะ!”
วัยรุ่น ความเครียด และโรคซึมเศร้า
จากการลงพื้นที่และทำงานร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศของ SIY ปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงและดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือ “ปัญหาความเครียด” ซึ่งมีสาเหตุที่แตกต่างหลากหลาย แต่มีแนวโน้มที่จะกระทบกับสุขภาพจิตของวัยรุ่น นำไปสู่การใช้สารเสพติด รวมถึงการเกิดโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย ที่แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้วัยรุ่นเกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นการไม่รู้วิธีแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม การแข่งขันด้านการเรียนและการดำรงชีวิต ความคาดหวังและความกดดันจากครอบครัว การไม่ถูกยอมรับในตัวตนของวัยรุ่นกลุ่ม LGBTQ+ การถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนรอบข้าง เป็นต้น
กรมสุขภาพจิตออกมาเปิดเผยผลประเมินสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นไทย อายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวนมากกว่า 1.8 แสนคน ซึ่งเก็บข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน Mental Helth Check-in ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 – 20 กันยายน 2564 พบว่า วัยรุ่นไทยมีความเครียดสูงถึง 28% โดยเด็กวันรุ่นไทย 32% มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ขณะที่ 22% เข้าสังคมลดลง ติดจอและเกมออนไลน์มากขึ้น มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งและความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่วัยรุ่นจะฆ่าตัวตาย ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนราชนครินทร์ ชี้ว่า เด็กวัยรุ่นอายุ 10 – 19 ปี มากกว่า 1,000 คน โทรเข้าสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อขอรับคำปรึกษา ซึ่งปัญหาที่พบมากที่สุดคือความเครียด ปัญหาความรัก และภาวะซึมเศร้า
แม้ว่าหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตวัยรุ่นเริ่มถูกมองเห็นและหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้นในวงกว้าง แต่รายงานหลายชิ้นก็ยืนยันตรงกันว่าปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชนมีมานาน แต่กลับไม่เคยถูกกล่าวถึงเท่าไรนัก โดยองค์การยูนิเซฟรายงานว่า เด็กที่มีอายุ 10 – 19 ปี มากกว่า 1 ใน 7 คนทั่วโลก มีภาวะป่วยทางจิตจากการวินิจฉัยจากแพทย์ ขณะที่วัยรุ่นเกือบ 46,000 คน เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ การฆ่าตัวตายถือเป็น 1 ใน 5 สาเหตุหลักของการเสียชีวิตในวัยรุ่นไทย โดยกรมสุขภาพจิตรายงานว่า ในปี พ.ศ.2562 เด็กและเยาวชนอายุ 10 – 29 ปี กว่า 800 คนฆ่าตัวตายได้สำเร็จ
ครอบครัวและสังคมคือปัจจัยสำคัญ
ครอบครัวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นไทย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากความคาดหวังและความกดดันของครอบครัว ความไม่เข้าใจและไม่ยอมรับในตัวตนของวัยรุ่นในครอบครัว ทว่า ความเครียดที่เกิดจากครอบครัวมักถูกละเลยและไม่ถูกพูดถึงเท่าไรนัก ซึ่งทำให้วัยรุ่นมากมายเลือกที่จะหันหลังให้ครอบครัว ไม่อยากอยู่บ้าน ไม่อยากคุยกับพ่อแม่ วัยรุ่นบางส่วนเลือกใช้ยาเสพติดเพื่อหลีกหนีจากครอบครัว ขณะที่วัยรุ่นบางส่วนเลือกที่จะเก็บตัวอยู่คนเดียว แต่ทั้งหมดล้วนจะส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพวกเขาแทบทั้งสิ้น
ไม่เพียงแต่ปัจจัยเรื่องครอบครัวเท่านั้นที่ส่งผลกระทบต่อหัวใจของวัยรุ่นไทย แต่ปัญหาการขาดพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่แสดงออกในชุมชน ซึ่งมีสาเหตุจากความต่างของช่วงอายุที่ทำให้วัยรุ่นหลายคนรู้สึกขาดบทบาทและถูกมองข้ามจากสมาชิกในชุมชนของพวกเขาเอง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ไม่ค่อยถูกหยิบยกมาพูดถึง โดยเฉพาะวัยรุ่นกลุ่ม LGBTQ+ ที่มีแนวโน้มจะถูกกลั่นแกล้งและดูถูกเหยียดหยามมากกว่า
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คลินิกเพศหลากหลายวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เคยกล่าวไว้ในเวทีเสวนาเรื่อง “ตั้งหลักใหม่ เติมความฝันเด็กและเยาวชนไทย” ในปี พ.ศ.2564 ระบุว่า “ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นมีความสำคัญมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากเด็กเติบโตมาในสังคมที่ไม่โอบอุ้มความฝันที่จะได้เป็นตัวของตัวเอง เช่น จะเป็นเพศไหนก็มีอุปสรรค อยากทำอาชีพอะไรก็ไม่สามารถเลือกเองได้ เพราะอยู่ในสังคมที่ถูกกดทับด้วยคำว่าต้องอยู่รอด และระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งคุณภาพชีวิต คุณภาพการศึกษาไม่รองรับ รวมถึงปัญหาเศรษฐฐานะ ทำให้ความฝันของเด็กไม่ถูกตอบรับ”
วัยรุ่นป่วยใจแต่จิตแพทย์ไทยขาดแคลน
แม้ปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นจะเริ่มได้รับความสนใจและมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าถึงบริการทางจิตเวชโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของเด็กและวัยรุ่นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยก็เป็นเรื่องที่ยากมากๆ สำหรับพวกเขา
ภาพรวมของการให้บริการทางจิตเวชของประเทศไทยจะถือว่าบรรลุเป้าหมายระยะแรกของแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ที่ว่าด้วยการมีจิตแพทย์ 1 คนต่อประชากรแสนคน แต่สัดส่วนจิตแพทย์ที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศกลับแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำ ซึ่งนั่นทำให้เด็กและเยาวชนที่ต้องการความช่วยเหลือต้องทนทุกข์กับความเจ็บปวดทางใจอย่างแสนสาหัส โดยเฉพาะวัยรุ่นในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝั่งตะวันออกของประเทศที่ถือเป็นพื้นที่ที่ขาดแคลนจิตแพทย์มากที่สุด
ประเทศไทยมีจิตแพทย์เด็กอยู่ทั้งหมด 295 คน แต่มากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ตามภูมิภาคต่างๆ ขณะที่ 23 จังหวัดไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่เลย และใน 17 จังหวัดมีจิตแพทย์เด็กคนเดียวที่ต้องรับภาระดูแลเด็กและวัยรุ่นทั้งจังหวัด ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความยากลำบากของการเข้าถึงบริการจิตเวชของเด็กและวัยรุ่นจำนวนมากในประเทศ เมื่อรวมกับทัศนคติของผู้ใหญ่บางกลุ่มที่มองว่าปัญหาสุขภาพจิตไม่มีอยู่จริง จึงทำให้อาการป่วยทางใจของเด็กและวัยรุ่นถูกทดแทนด้วยการตราหน้าว่าเด็กและวัยรุ่นเหล่านี้ “เกเร” และทำให้พวกเขาไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องและทันท่วงที
รายงานความสุขโลกระบุว่า ความเป็นอยู่ที่ดีในวัยเด็กและสุขภาพทางอารมณ์จะเป็นตัวทำนายความสุขในชีวิตของคนนั้นๆ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ดีที่สุด โดยงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้าสรุปว่าวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวที่มีความสุข มักจะได้มีรายได้ในระดับที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในชีวิตบั้นปลาย แม้จะคำนึงถึงความแตกต่างในด้านการศึกษา สติปัญญา สุขภาพกาย และความภาคภูมิใจในตัวเองแล้วก็ตาม ดังนั้น ปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตของวัยรุ่นจึงจำเป็นต้องได้รับการหยิบยกมาพูดถึงและพยายามหาทางแก้ไขให้มากขึ้น ขณะที่วัยรุ่นพยายามสะท้อนเสียงของตัวเองเพิ่มมากขึ้น เพื่อหา “พื้นที่ตรงกลาง” ให้กับปัญหาที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หน่วยงานระดับประเทศก็จำเป็นต้องสร้างนโยบายเพื่อช่วยเหลือและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตให้กับเด็กและวัยรุ่นไทย รวมถึงคนในสังคมก็จำเป็นต้องตระหนักรู้และเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาที่กำลังกัดกินวัยรุ่นไทย และเพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อ้างอิง
ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นกำลังส่งผลร้ายต่อชีวิตและอนาคตของประเทศไทย
https://www.unicef.org/thailand/th/blog
“ปัญหาสุขภาพจิต”เด็กและวัยรุ่นไทย เรื่องใหญ่!
https://www.bangkokbiznews.com/health/public-health/1024535
ประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยกว่า 1.8 แสนราย พบเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า ติดจอติดเกมออนไลน์มากขึ้น!!
https://www.hfocus.org/content/2021/10/23307
สุขภาพใจที่อยู่ไกลเกินเอื้อมของเด็กและวัยรุ่นไทย
https://www.the101.world/inaccessible-child-mental-healthcare/
World Happiness Report 2024
https://worldhappiness.report/