ส่องอายุ ‘เยาวชน’ แต่ละประเทศ เมื่อคำว่าเยาวชนของเราไม่เหมือนกัน

  • คำว่า “เยาวชน” มีคำนิยามที่หลากหลายมากมาย หลายคนบอกว่าเยาวชนเป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่เต็มไปด้วยพลังและความสดใส ทั้งเป็นช่วงเวลาของการสร้างรากฐานลักษณะนิสัยตัวตนของคนนั้น ๆ ว่าจะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่แบบใด

  • แต่ละประเทศก็มีการนิยามคำว่าเยาวชนของตัวเองที่อาจเหมือนหรือแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ดังนั้น จึงไม่มี “คำจำกัดความ” ของคำว่าเยาวชนที่ทุกประเทศตกลงใช้ร่วมกันอย่างเป็นสากล

  • องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ให้นิยามคำว่า “เยาวชน” ว่าเป็นคนในวัยหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 15 – 24 ปี ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1.2 พันล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็น 16% ของประชากรโลกทั้งหมด 

  • สำหรับประเทศไทย หากดูตามพจนานุกรม จะพบคำว่าเยาวชนมีความหมายถึง “วัยรุ่น” ที่มีอายุระหว่าง 14 – 18 ปี แต่หากอ้างอิงกฎหมาย คำว่าเยาวชนถูกนิยามว่าคือ “บุคคลที่อายุมากกว่า 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์”
article_2025_1pic3
(เครดิตภาพ pexels)

รู้หรือไม่ คำว่า “เยาวชน” มีคำนิยามที่หลากหลายมากมาย หลายคนบอกว่าเยาวชนเป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่เต็มไปด้วยพลังและความสดใส ทั้งเป็นช่วงเวลาของการสร้างรากฐานลักษณะนิสัยตัวตนของคนนั้น ๆ ว่าจะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่แบบใด จึงอาจกล่าวได้ว่า เยาวชนคือช่วงวัยที่อยู่ระหว่างวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงวัยของความเปลี่ยนแปลง ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา

คำว่าเยาวชนอาจถูกนิยามตามช่วงวัยของชีวิต ซึ่งอ้างอิงจาก “อายุ” เป็นสำคัญ โดยแต่ละประเทศก็มีการนิยามคำว่าเยาวชนของตัวเองที่อาจเหมือนหรือแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ดังนั้น จึงไม่มี “คำจำกัดความ” ของคำว่าเยาวชนที่ทุกประเทศตกลงใช้ร่วมกันอย่างเป็นสากล ซึ่งคำนิยามที่แตกต่างกันมีปัจจัยจากกฎหมายที่แตกต่างและให้ความคุ้มครองที่ไม่เหมือนกัน รวมไปถึงข้อมูลด้านสถิติ เศรษฐกิจ และการเก็บข้อมูลชุดอื่น ๆ ในแต่ละประเทศ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้การนิยามคำว่าเยาวชนมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ แม้ในประเทศเดียวกัน หน่วยงานที่แตกต่างกันในประเทศนั้นๆ ก็อาจใช้คำนิยามที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนแตกต่างกันได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ให้นิยามคำว่า “เยาวชน” ว่าเป็นคนในวัยหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 15 – 24 ปี ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1.2 พันล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็น 16% ของประชากรโลกทั้งหมด

article_2025_1pic2
(เครดิตภาพ pexels)

สหรัฐอเมริกาไม่ได้กำหนดว่าของเยาวชนคือใครเอาไว้อย่างชัดเจน แต่จากมุมด้านนโยบาย สหรัฐฯ ให้คำนิยามว่าเยาวชนคือบุคคลใดก็ตามที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ทว่าบุคคลที่อายุ 18 ปีบริบูรณ์จะถือเป็น “ผู้ใหญ่” ในกฎหมายสหรัฐฯ จึงอาจกล่าวได้ว่า ในสังคมอเมริกันโดยทั่วไป บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปีถือเป็น “เด็ก” ขณะที่บุคคลที่มีอายุระหว่าง 14 – 18 ปี จะถือเป็น “วัยรุ่น” และบุคคลที่อายุระหว่าง 18 – 24 ปีคือ “ผู้ใหญ่ตอนต้น” ในขณะที่แต่ละช่วงวัยถูกแบ่งอย่างชัดเจนและเชื่อมโยงกับสิทธิทางกฎหมายต่าง ๆ แต่ทุกคนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ล้วนเป็นเยาวชนภายใต้การมองแบบสหรัฐฯ ทั้งสิ้น

สำหรับประเทศออสเตรเลีย ได้นิยามว่าเยาวชนคือบุคคลอายุระหว่าง 12 – 24 ปี แต่ก็สามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ที่แตกต่างกันสำหรับการวัดประเมินผลบางอย่างในประเทศ เช่น การวัดผลิตภาพทางเศรษฐกิจของเยาวชนในประเทศ จะแบ่งเยาวชนออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มอายุระหว่าง 15 – 19 ปี และกลุ่มอายุระหว่าง 20 – 24 ปี เป็นต้น ด้านสหราชอาณาจักรก็มีคำนิยามสำหรับคำว่าเยาวชนของตัวเอง อ้างอิงจาก Positive for Youth ระบุว่าเยาวชนคือบุคคลที่อายุระหว่าง 13 – 19 ปี 

จากรายงานของ United Way of Calgary and Area 2010 ชี้ว่ารัฐบาลกลางของประเทศแคนาดาได้ใช้คำจำกัดความคำว่าเยาวชนที่หลากหลาย ขณะที่ศูนย์ข้อมูลประชากรของแคนาดา กำหนดให้เยาวชนคือบุคคลที่อายุระหว่าง 16 – 28 ปี หน่วยการพัฒนาทักษะและพัฒนาบุคคลของแคนาดาก็นิยามว่าเยาวชน คือกลุ่มคนอายุระหว่าง 15 – 24 ปี

หากลองดูข้อมูลของสหภาพยุโรป (The European Union หรือ EU) จะพบว่านิยามคำว่าเยาวชนของกลุ่ม EU คือคนที่มีอายุระหว่าง 15 – 29 ปี แต่ถ้าลองเจาะดูแต่ละประเทศก็จะพบความแตกต่างของช่วงอายุที่ถูกใช้นิยามคำว่าเยาวชน เช่น ประเทศฟินแลนด์กำหนดให้เยาวชนคือใครก็ตามที่อายุต่ำกว่า 29 ปี แต่ประเทศออสเตรียกลับมีคำนิยามสำหรับเยาวชนที่หลากหลาย คือแผนกลยุทธ์สำหรับเยาวชนกำหนดเป้าหมายว่าเยาวชนคือ คนอายุระหว่าง 14 – 24 ปี แต่ พ.ร.บ.ส่งเสริมเยาวชน (Youth Promotion Act) กลับระบุว่าเยาวชนคือทุกคนที่อายุต่ำกว่า 30 ปี หรือหากอ้างอิงจากนโยบายระดับชาติสำหรับเยาวชนของประเทศฝรั่งเศส จะพบว่าฝรั่งเศสระบุว่าเยาวชนคือบุคคลที่มีอายุระหว่าง 3 – 30 ปี เป็นต้น

ด้านประเทศอินเดียได้นิยามคำว่าเยาวชนไว้ในนโยบายระดับชาติสำหรับเยาวชน ว่าเป็นบุคคลที่มีอายุระหว่าง 15 – 29 ปี โดยกลุ่มประชากรที่ถูกจัดให้เป็นเยาวชนในอินเดียนั้น มีจำนวนมากถึง 27.5% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ประเทศจีนได้ระบุไว้ในแผนนโยบายประเทศว่า เยาวชนหมายรวมถึงประชาชนที่มีอายุระหว่าง 14 – 28 ปี หรือหากอ้างอิงจากแผนพัฒนาเยาวชนระดับประเทศของประเทศญี่ปุ่น ระบุว่าเยาวชนหมายถึงบุคคลที่มีอายุระหว่าง 0 – 30 ปี ขณะที่กฎหมายเยาวชนของประเทศเกาหลีใต้ ให้นิยามคำว่าเยาวชน ระบุถึงบุคคลที่อายุระหว่าง 9 – 24 ปี 

article_2025_1pic1
(ที่มา pexels)

สำหรับประเทศไทยนั้น หากดูตามพจนานุกรม เราจะพบคำว่าเยาวชนมีความหมายถึง “วัยรุ่น” ที่มีอายุระหว่าง 14 – 18 ปี หรือถ้าอ้างอิงตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัว คำว่าเยาวชนมีความหมายถึงบุคคลที่มีอายุ 15 – 17 ปี แต่ถ้าอ้างอิงตามกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็จะพบว่าเยาวชนคือคนที่มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปี ทั้งนี้ หากอ้างอิงกฎหมาย คำว่าเยาวชนถูกนิยามว่าคือ ‘บุคคลที่อายุมากกว่า 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์’ 

แม้นิยามคำว่า ‘เยาวชน’ จะแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศทั่วโลก แต่สิ่งที่ทุกประเทศมองเห็นตรงกันคือ เยาวชนเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ เยาวชนคือผู้นำและผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมในอนาคต ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญเติบโตก้าวไปข้างหน้า ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและลงทุนกับเยาวชนในประเทศ ให้โอกาสเยาวชนในการพัฒนาทักษะและความรู้ เพราะการทำแบบนี้จะทำให้ทุกคนมั่นใจได้ว่าประเทศของเราจะเจริญก้าวหน้าและมีที่ทางในสังคมโลกได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ 

สามารถศึกษานิยามคำว่าเยาวชนของประเทศต่างๆ ได้จากเว็บไซต์นี้: https://www.youthpolicy.org/factsheets/ 

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อ้างอิง

https://www.youthpolicy.org/factsheets/

https://www.un.org/en/global-issues/youth

https://www.un.org/esa/socdev/documents/youth/fact-sheets/youth-definition.pdf

https://en.wikipedia.org/wiki/Youth#cite_note-14

https://unhabitat.org/sites/default/files/download-manager-files/Young%20People.pdf

https://www.thaipbs.or.th/news/content/332884

https://www.bangkokbiznews.com/social/898515

Categories

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments