เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย : ย้อนดูระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยกับความเจ็บปวดใจของวัยรุ่น

  • หากมองย้อนกลับไปในช่วงประมาณ ​60 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลายระบบ นับตั้งแต่การสอบเอนทรานซ์ จนถึงการสอบ TCAS ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

  • แม้จะมีการปรับเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลายครั้ง แต่เด็กนักเรียนก็ยังเจอปัญหามากมาย จนเกิดกระแสดราม่าที่นำไปสู่การถกเถียงและหาทางแก้ไขอยู่เสมอ

  • สถิติการสอบ TCAS ประจำปี พ.ศ.2565 ระบุว่าเด็กนักเรียนกลุ่มเปราะบาง หรือนักเรียนยากจนหรือยากจนพิเศษ เข้าถึงระบบการสอบคัดเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย “น้อยกว่าที่ควรจะเป็น” หรือเด็กจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา

  • การสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยแต่ละรอบ “จำเป็น” ต้องใช้เงิน และเด็กนักเรียนต้องเสียเงินค่าสมัครเองทั้งหมด ซึ่งถ้าเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่พร้อม ก็มีกำลังที่จะจ่ายได้ แต่ถ้าเป็นนักเรียนที่ต้นทุนน้อย การสมัครสอบก็กลายเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กกลุ่มนี้

แม้จะไม่ใช่สูตรตายตัวที่วัยรุ่นทุกคนต้องทำตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าเรียนในระดับ “มหาวิทยาลัย” คือรากฐานสำคัญในการยกระดับชีวิตและสร้างอนาคตที่ประสบความสำเร็จให้กับคนได้มากมาย จึงไม่แปลกใจนักหากในทุกฤดูกาลสอบ เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศไทยจะคร่ำเคร่งและมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อชิงที่นั่งในคณะและมหาวิทยาลัยที่ตัวเองเฝ้าฝันถึง

อย่างไรก็ตาม ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทย ซึ่งควรเป็นระบบที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เยาวชนได้ไล่ตามความฝัน กลับมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งและสร้างความทุกข์อกทุกข์ใจให้กับเด็กนักเรียนทุกปี จนคล้ายกับว่าระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยกลับกลายเป็นตัวปิดกั้นและทำลายความฝันของเด็กๆ เสียเอง แล้วปัญหาของระบบสอบเข้าของไทยมีอะไรบ้าง SIY พาทุกคนย้อนดูระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ทำให้เด็กชั้น ม.ปลาย ถึงกับต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย”

จาก Entrance สู่ TCAS

หากมองย้อนกลับไปในช่วงประมาณ ​60 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลายระบบ นับตั้งแต่การสอบเอนทรานซ์ (ระหว่่างปี พ.ศ.2504 – 2542) ซึ่งถือเป็นการสอบเข้าในยุคแรก ๆ และยังไม่มีหน่วยงานกลางที่เข้ามาจัดการดูแลอย่างเป็นระบบ แต่เป็นการจัดสอบขึ้นเองของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้ประสานงาน การสอบเอนทรานซ์ในช่วงเวลานี้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหานักเรียนสละสิทธิ์การสอบหลายครั้ง โดยจะจัดให้มีการสอบเพียงครั้งเดียวและสามารถนำคะแนนไปยื่นเข้าคณะที่ต้องการ 4 อันดับ อย่างไรก็ตาม ระบบการสอบเอนทรานซ์ถูกมองว่าทำให้เกิดปัญหาเด็กนักเรียนไม่ตั้งใจเรียนในห้องเรียน ขณะที่เด็กที่สอบไม่ติดก็จะไม่มีโอกาสแก้ตัว และระบบสอบเข้าแบบนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของสถาบันกวดวิชาที่ค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลัง

เพราะเล็งเห็นปัญหานักเรียนไม่ตั้งใจเรียนในห้องเรียน ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยจึงถูกเปลี่ยนในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2542 – 2549 โดยกำหนดให้มีการนำคะแนน GPA และ PR มาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่ม พร้อมเพิ่มการสอบเป็น 2 ครั้ง และสามารถเก็บคะแนนไว้ใช้ได้ 2 ปี ทว่า การใช้คะแนน GPA และ PR ก็เหมือนเป็นการกดดันให้โรงเรียนต้องเร่งสอนนักเรียนให้จบหลักสูตรก่อนการสอบที่จัดขึ้นในเดือนตุลาคมของทุกปี เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้เวลาที่เหลือเตรียมตัวและทุ่มเทให้กับการเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ปัญหาของระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องของการเรียนในห้องเรียน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดสินใจเปลี่ยนระบบสอบอีกครั้ง โดยครั้งนี้กำหนดให้นำคะแนนต่างๆ มาคำนวณร่วมด้วย เช่น GPAX, GPA เป็นต้น พร้อมกับจัดการสอบ O-NET และ A-NET อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยก็สะท้อนว่าข้อสอบ O-NET และ A-NET ไม่ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันการใช้คะแนนต่าง ๆ มาคำนวณร่วมด้วยก็ถูกตั้งคำถามอย่างหนัก เพราะแต่ละโรงเรียนก็มีมาตรฐานการให้คะแนนเด็กนักเรียนที่แตกต่างกัน ดังนั้น ระบบสอบรูปแบบนี้จึงถูกใช้ในช่วงสั้น ๆ ระหว่างปี พ.ศ.2549 – 2552 เท่านั้น

ต่อมาในปี พ.ศ.2553 การสอบ A-NET ได้ถูกยกเลิกไป แต่ถูกแทนที่ด้วยการสอบ GAT (ความถนัดทั่วไป) และ PAT (ความถนัดทางวิชาชีพ) ที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิ์สอบคือเด็กนักเรียนชั้น ม.6 เท่านั้น แต่ถึงแม้จะมีการปรับปรุงระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว บางมหาวิทยาลัยก็ยังรู้สึกไม่มั่นใจกับระบบการคัดเลือกนักศึกษาของส่วนกลาง และเปิดสอบคัดเลือกของตัวเอง ซึ่งการจัดสอบเองของมหาวิทยาลัยนี่เองที่ทำให้เกิดปัญหา “การกันสิทธิที่เรียน” ของเด็กนักเรียนคนอื่นๆ ที่ต่อมาสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มองเห็นปัญหาและพยายามหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น และนำมาสู่การจัดสอบ “วิชาสามัญ” ที่อนุญาตให้มหาวิทยาลัยสามารถนำคะแนนตรงส่วนนี้ไปใช้ในการรับตรงได้ แม้ระบบข้างต้นจะไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างสมบูรณ์ แต่ระบบสอบเข้านี้ก็ช่วยลดปัญหาการกันสิทธิที่นั่งในการเข้าเรียนของนักเรียนคนอื่นๆ ซึ่งถือเป็นระบบเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ที่มีประสิทธิภาพ

แม้ระบบแอดมิชชั่นจะถูกมองว่าเป็นระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพ แต่เด็กนักเรียนก็ยังเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย จนกระทั่งในปี พ.ศ.2561 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบบสอบเข้าอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาความเครียดในการสอบของเด็กและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา ซึ่งระบบใหม่นี้มีชื่อว่า TCAS (Thai University Central Admission) เริ่มต้นใช้ในปี พ.ศ.2561

ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยเจ้าปัญหา 

แม้จะมีการปรับเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลายครั้ง แต่เด็กนักเรียนก็ยังเจอปัญหามากมายอยู่ตลอด เกิดกระแสดราม่าที่นำไปสู่การถกเถียงและหาทางแก้ไขอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนของหน่วยงานจัดสอบ ที่ส่งผลกระทบต่อนักเรียนในการเตรียมตัวสอบ หรือการออกข้อสอบไม่ตรงตามโครงสร้างที่กำหนดไว้ ซึ่งทุกปีก็จะมีเด็กนักเรียนหลายหมื่นคนรู้สึกกังวลต่อความไม่แน่นอนของระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ขณะที่ระบบ TCAS ซึ่งถูกมองว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างที่ควรจะเป็น ทั้งปัญหาการกั๊กที่นั่งอย่างไม่ยุติธรรม ปัญหาเว็บไซต์ล่ม ผู้สอบเข้าระบบไม่ได้ ไปจนถึงปัญหาการประกาศคะแนนผิดที่สร้างความไม่สบายใจให้กับผู้สอบเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ไม่มีการเฉลยข้อสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างเป็นทางการ ทำให้หลายครั้งเกิดการถกเถียงในโลกโซเชียลมีเดียถึงความถูกต้องและการตรวจสอบข้อสอบอย่างถี่ถ้วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รายงานของเว็บไซต์ The Active ที่ได้ทำการรวบรวมข้อมูลการร้องเรียนเรื่องคุณภาพข้อสอบเพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัย พบว่าในระยะเวลา 15 ปีตั้งแต่มีการเริ่มต้นระบบสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อให้ระดับมหาวิทยาลัยของไทย มีการท้องติงข้อสอบแล้วอย่างน้อย 122 ข้อ โดยกลุ่มวิชาภาษาต่างประเทศมีการท้วงติงมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ และวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งนี้ การร้องเรียนส่วนใหญ่เรียกร้องให้ตรวจสอบเรื่องคำถามผิดหรือกำกวม รวมไปถึงการเฉลยคำตอบผิดก็มีปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งเช่นกัน

ความเหลื่อมล้ำที่ไม่เคยหายไปไหน

แม้ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่าง TCAS จะช่วยลดความได้เปรียบ-เสียเปรียบของเด็กนักเรียนที่มีฐานะร่ำรวยและยากจนได้จริง รวมถึงจัดปัญหาการกั๊กที่นั่งได้ แต่ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ยังคงอยู่ โดยสถิติการสอบ TCAS ประจำปี พ.ศ.2565 ระบุว่าเด็กนักเรียนกลุ่มเปราะบาง หรือนักเรียนยากจนหรือยากจนพิเศษ เข้าถึงระบบการสอบคัดเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย “น้อยกว่าที่ควรจะเป็น” หรือเด็กจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะการสอบเข้าแต่ละครั้งมักมีค่าสมัครและค่าสอบที่สูง

การสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยแต่ละรอบ “จำเป็น” ต้องใช้เงิน และเด็กนักเรียนต้องเสียเงินค่าสมัครเองทั้งหมด ซึ่งถ้าเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่พร้อม ก็มีกำลังที่จะจ่ายได้ แต่ถ้าเป็นนักเรียนที่ต้นทุนน้อย การสมัครสอบก็กลายเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กกลุ่มนี้ได้เช่นกัน หรือในรอบการสมัครรอบพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) ที่แต่ละโครงการหรือคณะต่างกำหนดรับเฉพาะเด็กนักเรียนที่มีความสามารถทางวิชาการดีเด่น เกรดเฉลี่ยสูง ผ่านการแข่งขันทางวิชาการมาก่อน หรือมีโปรไฟล์ที่ยอดเยี่ยม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กนักเรียนที่ร่ำรวยกว่าย่อมได้รับโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดีกว่าเด็กยากจนอย่างแน่นอน

เชื่อว่าหลาย ๆ หน่วยงานล้วนพยายามอย่างยิ่งยวดในการออกแบบระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่จะเอื้อประโยชน์และให้การช่วยเหลือเด็กนักเรียนทุกคนอย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำ และมอบโอกาสในการเข้าสู่ระบบการศึกษาเพื่อยกระดับสถานะของตัวเองให้ดีขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งท่าทีและการรับมือกับปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหา ทั้งยังสร้างความวิตกกังวลให้กับเด็กและเยาวชนผู้สอบมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น หากต้องการแก้ไขปัญหาและสร้างระบบสำหรับเด็กทุกคนอย่างแท้จริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเปิดใจและรับฟังเสียงของเด็กไทยที่กำลังเลือกอนาคตให้กับตัวเอง พร้อมกับพิจารณาแนวทางการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้มากขึ้นกว่านี้

เพราะหากเชื่อว่าเด็กและเยาวชนคืออนาคตของชาติ การรับฟังปัญหาและช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างจริงใจ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ในประเทศควรทำมากที่สุด

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อ้างอิง

TCAS จะลดความเหลื่อมล้ำ หรือกลายเป็น T-Caste ที่เพิ่มชนชั้นวรรณะในการศึกษาไทย

https://thematter.co/thinkers/tcas-or-t-caste/52202

สะท้อน TCAS ลดเหลื่อมล้ำ?

https://www.tcijthai.com/news/2023/11/article/13302

จาก Admission สู่ TCAS: เรื่องสอบ-เรื่องใหญ่ ทำไมข้อสอบยังผิด?

https://theactive.net/data/admission-test-errors/

ย้อนกลับไปดู “ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย” มีรูปแบบไหนบ้าง?

https://www.sanook.com/campus/1390197/

เหตุจากความขัดสน (?) นักเรียนยากจนหล่นหายในสนามสอบ TCAS

https://research.eef.or.th/poor-students-in-the-tcas-examination-field/

Categories

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments