- ปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นและมีความรุนแรงไม่แพ้กันกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ คือวิกฤติชาวนีต (NEET) ที่ล้นหลามหรือเรียกง่าย ๆ ว่า วิกฤติเยาวชนจำนวนมากเลือกที่จะไม่เรียนหนังสือ ไม่ทำงาน และอยู่บ้านเฉย ๆ เนื่องจากขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต
- สำหรับเยาวชนในประเทศไทยการเป็นชาวนีตมีหลากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากความเหลื่อมล้ำ การขาดโอกาสในการเข้าถึงเส้นทางการทำงานและการศึกษา แต่อีกส่วนหนึ่งคือเยาวชนในครอบครัวที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่เข้าถึงโอกาสในการเรียนและการทำงานมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากการขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ยังไม่รู้ความต้องการของตัวเองที่แน่ชัดว่าต้องการทำงานอะไร
- เยาวชนในชนบทเป็นกลุ่มที่กลายเป็นชาวนีตมากกว่าคนเมือง เนื่องจากมีโอกาสด้านการทำงานที่ต่ำกว่า งานบางงานที่มีรายได้สูงมีเฉพาะในเมืองและเรียกร้องให้พวกเขาต้องเดินทางไกลเพื่อทำงาน
- มุมมองด้านความมั่นคงและทัศนคติในการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่เน้นความอิสระในการคิดและลงมือทำมากขึ้น ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้คุณค่าการทำงานของเยาวชนในช่วงเวลาปัจจุบันที่ต่างไปจากเดิม
- การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงช่องทางการทำงานของเยาวชน พร้อม ๆ ไปกับส่งเสริมรูปแบบการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ปรับการให้คำแนะนำทางด้านอาชีพให้สอดรับกับความต้องการและการทำงานที่ยืดหยุ่นของเยาวชนในยุคปัจจุบัน การส่งเสริมให้เยาวชนเข้าถึงการยริการทางสุขภาพจิตที่สะดวกสบายมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นช่องทางการรับมือกับชาวนีตที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ช่วงเวลาที่ผ่านมาหลาย ๆ ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติสังคมระดับโลกอย่าง ‘สังคมผู้สูงอายุ’ หรือสังคมที่ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีมากกว่าร้อยละ 10% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งมีผลคาดการณ์ว่าสังคมจะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2027 ทำให้หลาย ๆ ประเทศเช่นเดียวกับประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับภาระค่าใช้จ่ายด้านประกันชราภาพและค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้าในอนาคต สังคมผู้สูงอายุจึงถือเป็นปัญหาที่หนักหน่วงเอาการ แต่รู้หรือไม่ว่าอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นและมีความรุนแรงไม่แพ้กันคือ หลาย ๆ ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติชาวนีต (NEET) ที่ล้นหลามหรือเรียกง่าย ๆ ว่า วิกฤติเยาวชนจำนวนมากเลือกที่จะไม่เรียนหนังสือ ไม่ทำงาน และอยู่บ้านเฉย ๆ เนื่องจากขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นบทความชิ้นนี้จะชวนทุกท่านเข้าไปทำความเข้าใจการกลายเป็นชาวนีตกันมากขึ้น พร้อมกับร่วมค้นหาคำตอบไปด้วยกันว่าสภาวะดังกล่าวเป็นปัญหาที่ควรให้ความสำคัญอย่างไร และคนในสังคมควรต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะดังกล่าวอย่างไรบ้าง
ชาว NEET คืออะไร?
กลุ่มเยาวชนที่กำลังเผชิญกับสภาวะขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิตดังที่กล่าวไป มักจะถูกเรียกว่า ‘ชาวนีต’ หรือ NEET ซึ่งย่อมาจากกคำว่า Not in education, Employment or Training เป็นคำที่ใช้บ่งบอกสถานะของเยาวชนอายุระหว่าง 16-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ระบบการทำงานหรือฝึกงานใด ๆ NEET เป็นคำศัพท์ที่ถูกใช้ครั้งแรกเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมาแต่เมื่อเวลาผ่านไปคำว่า NEET ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางและแพร่ไปหลายประเทศทั่วโลก โดยอาจมีบริบทการใช้ที่แตกต่างกันไปตามสังคมและวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ เช่น บางประเทศคำว่า NEET ใช้อธิบายถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา โดยเจาะจงไปที่กลุ่มเยาวชนที่คลาดแคลนทุนทรัพย์ทำให้ขาดโอกาสในการเรียนและการทำงานในขณะที่บางประเทศ คำว่า NEET เป็นคำที่หมายถึงกลุ่มเยาวชนที่มีพื้นฐานทางครอบครัวที่ดี มีการศึกษาสูง และสมัครใจที่จะเป็นชาวนีต
ญี่ปุ่น…..หนึ่งในประเทศที่มีชาวนีตล้นหลามติดอันดับโลก
ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งในประเทศที่กำลังเผชิญกับจำนวนชาวนีตที่เพิ่มมากขึ้นอย่างล้นหลาม สิ่งที่น่าสนใจคือสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของชาวนีตเป็นผลมาจากพวกเขาทนแบกรับความเครียดและแรงกดดันจากค่านิยมการทำงานหนักในสังคมญี่ปุ่นไม่ไหว บ้างก็รู้สึกสิ้นหวังในชีวิตวัยเรียนจากการโดนบุลลี่ ชาวนีตจึงมักเลือกเก็บตัวอยู่ภายในบ้าน ปลีกตัวโดดเดี่ยวจากสังคมเป็นเวลานาน ๆ บ้างเลือกที่จะเล่นเกมส์ บ้างเลือกที่จะนั่ง ๆ นอนอยู่เฉย ๆ ชาวนีตหลาย ๆ คนมีแนวโนมจะปกปิดสถานะภาพของตัวเองกับเพื่อนฝูงหรือคนนอก บ้างก็หลอกลวงเพื่อนฝูงว่าตนเองมีหน้าที่การงานที่ดีและทำงานอย่างหนักตามค่านิยมของสังคมญี่ปุ่น โดยชาวนีตเหล่านี้มักอาศัยอยู่บ้านกับพ่อแม่ ดังนั้นค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการใช้ชีวิตประจำวันมักมาจากเงินของพ่อและแม่ ในครอบครัวที่มีฐานะดีหน่อยลูกชาวนีตก็จะมีเงินเหลือเพียงพอให้ออกไปใช้ชีวิตประจำวันข้างนอกได้ ส่วนครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ได้มีรายได้มากเพียงพอหรือเกษียณอายุงานแล้วพ่อแม่กลุ่มนี้จำเป็นต้องทำงานพิเศษหรือหารายได้เสริมเพื่อที่จะหาเงินมาเลี้ยงดูลูกนีตของตนเอง มากไปกว่านั้นชาวนีตที่เก็บตัวอยู่ที่บ้านเป็นระยะเวลายาวนาน มีแนวโน้มสูงที่จะกลายเป็นชาว “ฮิคิโคโมริ (引きこもり)”หรือบุคคลที่ไม่ออกจากบ้าน ตัดขาดตัวเองจากสังคมภายนอกเป็นเวลานานถึงหกเดือนขึ้นไป และมีปฏิสัมพันธ์เพียงแค่กับคนในบ้านเท่านั้น
การเพิ่มขึ้นของชาวนีตส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างรุนแรง หลาย ๆ ภาคส่วนต่างให้ความเห็นว่า ปริมาณชาวนีตที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการหาแรงงานได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานรุนแรง กิจการหลาย ๆ แห่งจำเป็นต้องปิดตัวลงหรือไม่ก็ต้องย้ายไปลงทุนที่ต่างประเทศแทน การมีชาวนีตที่เพิ่มขึ้นยังทำให้แรงงานประจำลดน้อยลง รัฐบาลจึงมีแนวโน้มที่จะเก็บภาษีเพื่อมาใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ ได้ลดลงตามมาด้วย โดยเฉพาะการเลี้ยงดูผู้สูงอายุของญี่ปุ่นที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ชาวนีตหลายคนมีอายุถึงแตะเลข 4 และยังคงพึ่งพาเงินจากพ่อแม่ บางคนพ่อแม่ก็เข้าสู่วัยเกษียณแล้ว เมื่อรายได้ไม่พอก็อาจเลือกไปโจรกรรมหรือรุนแรงกว่านั้นคือก่ออาชญากรรมจนกลายเป็นปัญหาสังคมต่อในอนาคตได้
เด็กไทยกับการกลายเป็นนีต ? : ชวนสำรวจปัญหาและปัจจัยของการกลายเป็นนีตในเยาวชนไทย
หลาย ๆ คนคงจะสงสัยว่านอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ประเทศไทยมีชาวนีตหรือไม่ จากการสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้คำตอบไว้ว่าจริง ๆ แล้วเยาวชนผู้ว่างงานและการเรียนเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั่วทุกมุมโลก แต่ในประเทศไทยกลับเป็นประเด็นที่ไม่เป็นที่ถูกพูดถึงมากนักเนื่องจากอัตราการว่างงานที่ต่ำและข้อมูลทางสถิติของคนกลุ่มนี้ยังมีไม่แพร่หลายมากนัก จากผลสำรวจที่มีพบอัตราการเป็นชาวนีตในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 13.7 หรือในกลุ่มเด็กจำนวน 100 คน เราอาจจะพบคนว่างงานและไม่ได้รับการศึกษามากถึง 13 คน โดยสาเหตุที่ทำให้เยาวชนในประเทศไทยเป็นชาวนีตมีหลากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากความเหลื่อมล้ำ การขาดโอกาสในการเข้าถึงเส้นทางการทำงานและการศึกษา รวมถึงมุมมองที่ยังคงยึดติดว่าเยาวชนต้องอยู่ในระบบการศึกษาเพียงแห่งเดียว ทั้งที่ความเป็นจริงมีเยาวชนจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าเรียนในระบบการศึกษาภาคบังคับและยังคงเป็นกลุ่มตกสำรวจซึ่งนับรวมเป็นชาวนีตเช่นกัน
นอกจากนี้ชาวนีตจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยไม่ได้ปรากฎเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำหรือขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาเท่านั้น งานศึกษาของ ผศ.ดร.รัตติยา ภูลออ รองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ให้ความสนใจต่อการศึกษากลุ่มชาวนีตอย่างจริงจัง พบว่าเยาวชนในครอบครัวที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีรายได้สูงหรือเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่เข้าถึงโอกาสในการเรียนและการทำงานมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ คนในครัวเรือนกลุ่มนี้กลับเป็นชาวนีตอยู่จำนวนมาก เนื่องจากขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ยังไม่รู้ความต้องการของตัวเองที่แน่ชัดว่าต้องการทำงานอะไร ประกอบกับที่บ้านไม่ได้เล็งเห็นว่าเป็นปัญหาจึงปล่อยให้เด็กได้ใช้ชีวิตประจำวันในแบบที่อยากใช้ไป หรือแม้แต่เด็กบางคนประเมินศักยภาพตัวเองต่ำมองว่าตนไม่สามารถทำงานหรือเรียนได้ดีเป็นผลให้ตัดสินใจที่จะไม่ทำอะไรและเลือกที่จะอยู่เฉย ๆ สภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูบางรูปแบบก็มีส่วนสำคัญในการผลักให้เยาวชนกลายเป็นนีต อาทิเช่น การเติบโตมาในสภาพสังคมที่ไม่มีคนช่วยกระตุ้นหรือผลักดันก็มีส่วนกระตุ้นให้เด็กขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิตและทำให้พวกเขากลายมาเป็นชาวนีตในท้ายที่สุด
จากข้อมูลเชิงโครงสร้างประชากรยังเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า เยาวชนในชนบทเป็นกลุ่มที่กลายเป็นชาวนีตมากกว่าคนเมือง เนื่องจากมีโอกาสด้านการทำงานที่ต่ำกว่า งานบางงานที่มีรายได้สูงมีเฉพาะในเมืองและเรียกร้องให้พวกเขาต้องเดินทางไกลเพื่อทำงาน ในขณะที่คนบางส่วนยังมีภาระที่บ้านต้องรับผิดชอบ เช่น มีผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องดูแล ทำให้ต้องเลือกงานใกล้บ้านหรือทำงานที่สามารถดูแลครอบครัวไปพร้อมกันได้ เมื่องานในพื้นที่ชนบทมีน้อยจึงทำให้ขาดโอกาสในการทำงานตรงนี้ไป ดังนั้นสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ ส่งเสริมการสร้างงานในชนบทให้เพิ่มขึ้น โดยเน้นให้คนรุ่นใหม่สามารถสร้างงานได้ด้วยตัวเอง เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นช่องทางในการทำงานโดยไม่จำต้องให้พวกเขาต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ามาทำงานในเมือง แต่ขณะเดียวกันเรื่องที่ควรต้องพึงระวังคือการสร้างความมั่นคงในอาชีพให้กับคนกลุ่มนี้ในระยะยาว ประกอบกับรัฐบาลก็จำเป็นต้องส่งเสริมประกันสังคมของกลุ่มฟรีแลนซ์หรือคนทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น
มุมมองด้านความมั่นคงและทัศนคติในการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปถือเป็นเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้คุณค่าการทำงานของเยาวชนในช่วงเวลาปัจจุบันที่ต่างไปจากเดิม อย่างที่หลาย ๆ คนทราบดีว่าคนรุ่นเก่าส่วนใหญ่มักรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อได้ทำงานที่มั่นคงและมีคนยกย่อง เช่น แพทย์ ตำรวจ ทหาร อาจารย์ แต่คนรุ่นใหม่จำนวนมากเริ่มมีความอาจเอนเอียงไปทางการทำงานแบบเป็นเจ้านายของตัวเอง เน้นการทำงานที่มีอิสระในการคิดและลงมือทำ เช่น เป็นฟรีแลนซ์ เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือแม้แต่อาชีพใหม่ ๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนไม่คาดคิดว่าเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ได้เช่น การเป็น Youtuber หรืออาชีพที่เน้นสร้างเนื้อหาผ่านวิดีโอที่หลากหลาย เช่น รีวิวสินค้า สอนทำอาหารบนแพลตฟอร์ม YouTube รวมถึงอาชีพ Game Caster หรือนักแคสเกมส์ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องอยู่หน้ากล้อง เพื่อนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านการเล่นเกมส์และการพูดให้น่าสนใจและชวนให้ติดตาม

ที่มา https://tonkit360.com/37871
ผู้ประกอบอาชียกลุ่มนี้ บางรายสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยถึง 40,000-500,000 บาทต่อเดือน โดยตัวกำหนดรายได้คือ จำนวนผู้ติดตาม (subscribers) และสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้นำเสนอแต่ละคน เป็นต้น ความแตกต่างของทัศนคติและการให้คุณค่าของรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะแรงงานที่สำคัญในอนาคตที่อาจไม่ได้เรียกร้องแค่เพียงคนที่เก่งที่สุดถึงจะมีโอกาสในการทำงานแต่คนที่มีทักษะที่หลากหลาย (multi-skill) มีความยืดหยุ่นในการทำงาน (flexibility) มีความคิดสร้างสรรค์และมองเห็นโอกาสรอบตัวอยู่เสมอ บุคคลเหล่านี้จะสามารถหยิบจับสิ่งรอบตัวเพื่อสร้างรายได้หล่อเลี้ยงตัวเอง พร้อม ๆ ไปกับมองเห็นคุณค่าในการทำงานได้ไม่ต่างกับการทำงานประจำ
รับมืออย่างไร ? กับปริมาณชาวนีตที่เพิ่มขึ้น
การพยายามรับมือกับชาวนีตที่เพิ่มขึ้น หลาย ๆ ประเทศให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงช่องทางการทำงานของเยาวชนไม่ว่าจะเป็นการฝึกงาน การให้เยาวชนเข้าไปมีบทบาทการทำงานในสถานประกอบการมากขึ้น พร้อม ๆ ไปกับส่งเสริมรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ไม่ควรเน้นเฉพาะวิชาการแต่ควรเน้นไปที่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เช่น การเป็นผู้นำ การจัดการข้อมูล การแก้ไขปัญหา การสื่อสาร เป็นต้น เพื่อรองรับเยาวชนนอกระบบหรือเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเหล่านี้ให้สามารถกลับมาเรียนได้ โดยที่การเรียนนั้นต้องเป็นการเรียนที่ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพ (training) และความรู้ด้านดิจิทัล (digital literacy) เพื่อให้เยาวชนมีทั้งทักษะความรู้ทั่วไปและทักษะวิชาชีพเฉพาะเพื่อทำงาน พร้อมไปกับส่งเสริมการเปิดมุมมองให้กว้างขึ้นเพื่อทำความเข้าใจอาชีพ โอกาสและทักษะใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมและในชีวิตของพวกเขา
นอกจากนี้ ปรับการให้คำแนะนำทางด้านอาชีพให้สอดรับกับความต้องการและการทำงานที่ยืดหยุ่นของเยาวชนในยุคปัจจุบัน เพิ่มช่องทางการบริการการจัดหางาน (employment services) ให้เข้าถึงง่ายขึ้น ตลอดจนเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพจิต เนื่องจากชาวนีตบางคนที่อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรนาน ๆ หลาย ๆ คนต้องเผชิญกับความรู้สึกสูญเสียกำลังใจ มองไม่เห็นเป้าหมายและคุณค่าในชีวิต บางรายจึงจำเป็นต้องได้รับการบำบัดและรักษาจากจิตแพทย์โดยตรงและอาจจะไม่ได้หายด้วยการรักษาเพียงครั้งเดียว แต่ถ้าเข้ารับการรักษาอยู่เป็นประจำและทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด สภาวะที่เกิดขึ้นในจิตใจเหล่านี้จะสามารถบรรเทาเบาบางลงได้ นอกจากนี้การที่มีผู้ใหญ่หรือคนใกล้ชิดในครอบครัวคอยเข้าใจและช่วยกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน คอยหากิจกรรมที่ทำร่วมกัน ให้กำลังใจกันในขณะที่เขากำลังปรับตัวจะมีส่วนช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของเยาวชนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง
https://guidable.co/work/meet-japans-neet-young-people-choosing-to-be-unemployed/
https://www.sdthailand.com/2023/06/neet-youth-not-employment-education-or-training-in-thailand/
https://thepotential.org/social-issues/neet/
https://allwellhealthcare.com/neet/
https://www.garenaacademy.com/job/game-player-caster/game-caster