อสมการเรียนรู้ของนวัตกร

ถอดบทเรียนกรณีการเรียนรู้ของนักศึกษาอาชีวะ สไตล์มะขามป้อม
โครงการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาอาชีวะเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิต

เดือนสิงหาคม เป็นฤดูการเรียนรู้ใหม่ที่วิทยาลัยอาชีวะทั่วประเทศเปิดภาคการศึกษา รวมถึงเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนของนักศึกษาและอาจารย์จากวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำปาง จำนวน 17 ทีม ช่วงเวลาสั้นๆ ของค่ายพัฒนาศักยภาพของ #โครงการอาชีวิต ด้วยระยะเวลา 4 วัน 3 คืนภายใต้ร่มเงาของมะขามป้อม อาร์ต สเปซ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นช่วงเวลาที่ทีมวิทยากร (มะขามป้อม) มีความตั้งใจสร้างการเรียนรู้ และเฝ้าดูการเติบโตของผู้เรียน ด้วยการเปิดพื้นที่ปลอดภัยของการแลกเปลี่ยน ส่งเสริมเสรีภาพแห่งการสื่อสาร สลายระยะห่างความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ เปิดประสาทสัมผัสและออกแบบนวัตกรรมด้วยแนวคิด design thinking โดยที่ผู้เรียนรู้ไม่เป็นเพียงแค่เพียงเครื่องจักรผลิตนวัตกรรมเท่านั้น หากแต่เป็นนวัตกรที่มีความเป็นมนุษย์ เข้าอกเข้าใจผู้ที่ประสบปัญหาโดยเชื่อมโยงกับบริบทพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน และผสานกับความรู้และทักษะของตนเองเพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิต และโอบอุ้มผู้คนที่ประสบปัญหาคุณภาพชีวิต โดยใช้ความเข้าใจอย่างเพื่อนมนุษย์

article-innovator-1

(1) การเรียนรู้ที่มีหัวใจ ไม่เท่ากับ การมุ่งพัฒนาสิ่งประดิษฐ์/นวัตกรรม

การขยับก้าวของอาชีวศึกษาไม่ใช่เรื่องของการรีบเร่งผลิตสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมให้เกิดจำนวนมหาศาลต่อปี หรือขยายผลและสร้างกำไรจากการผลิตนวัตกรรมราวกับเครื่องจักรในโรงงานระบบสายพาน หากแต่คุณค่าของการเรียนรู้คือการปลดปล่อยศักยภาพและอัจฉริยภาพของมนุษย์ ลดทอนความสัมพันธ์เชิงอำนาจสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ เริ่มด้วยวิธีพื้นฐานง่ายๆ เช่น เปลี่ยนจากการชี้นิ้วสั่งมาเป็นการจับวงคุย การฟังเพื่อเข้าใจความต้องการที่แท้ การสื่อสารหรือคำถามที่ชวนให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ และเทคนิคการสนับสนุนเพื่อปลุกศักยภาพ เป็นต้น โดยในค่ายมะขามป้อมจะสร้างการเรียนรู้ส่วนสำคัญนี้แก่อาจารย์ที่เข้ามาค่ายอบรมใน 2 ระดับ ระดับแรกคือกิจกรรมพัฒนาศักยภาพอาจารย์ทางตรง ระดับที่สองคือการแสดงให้เห็นระบบพี่เลี้ยงต่องานพัฒนาศักยภาพโดยที่ไม่แย่งชิง “โมเมนต์การเรียนรู้” และพรากจังหวะที่ผู้เรียนจะเติบโตแม้ว่าผู้เรียนรู้กำลังจะล้มและเกิดบาดแผลบ้าง (ในที่นี้เป็นคำเปรียบเปรย) และเมื่อเขาลุกขึ้นมา เขาจะลุกขึ้นพร้อมกับของขวัญบางอย่างที่หาไม่ได้จากการเรียนรู้แบบจัดวาง ของขวัญที่มีติดตัวอยู่เสมอแม้ว่าจะจบการศึกษาจากวิทยาลัยไปแล้ว

article-innovator-2

(2) การรับรู้อย่างรู้สึก ไม่เท่ากับ การมองเห็น

เหตุใดในทุกกิจกรรมการเรียนรู้ มะขามป้อมจึงต้องตั้งคำถามว่า คุณรู้สึกอย่างไร? ผู้เขียนเชื่อว่าคำถามนี้เป็น “คำถามใหม่” หากมองผ่านสไตล์ของอาชีวศึกษา หากอยากชวนคิดกันต่อว่าคำถามในเชิงความรู้สึกกำลังพาวิธีการเรียนรู้ไปสู่ความเป็นไปได้แบบไหนของจังหวะการเรียนรู้ กิจกรรมสำคัญในค่ายกิจกรรมหนึ่งชื่อว่า Basic Sensing ซึ่งเป็นกิจกรรมเริ่มต้นในการเปิดสัมผัสการรับรู้ของผู้เรียน และต่อด้วยกิจกรรม Frame &Gallery Walk ที่พาผู้เรียนผจญภัยการรับรู้ผ่านอายตนะทั้ง 5 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) สู่การเข้าอกเข้าใจตัวตนของผู้อื่นด้วยมุมมองผ่านกรอบภาพ โดยที่มะขามป้อมจะแจกเฟรมเปล่า (กรอบภาพแบบทะลุ) แก่ผู้เรียน ซึ่งผู้เรียนจะออกไปวางเฟรมในที่ต่างๆ ของสถานที่ฝึกอบรม โดยให้เจ้าของเฟรมเป็นเจ้าของผลงานศิลปะของตัวเอง เช่น บางเฟรมเป็นดอยหลวงเชียงดาวยืนตระหง่าน บางเฟรมเป็นสายฝนที่มีอากาศเป็นพื้นหลัง บางเฟรมเป็นตุ๊กตาโดดเดี่ยวท่ามกลางทุ่งนาเขียว เป็นต้น ส่วนสำคัญของกิจกรรมนี้คือการเลือกที่จะโฟกัสบางส่วน และตัดส่วนที่อยู่นอกเฟรมออกไป จากนั้นมะขามป้อมจึงสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เจ้าของผลงานและสมาชิกกลุ่มได้อธิบายสิ่งที่ตัวเองคิดและรู้สึก ทำให้เห็นว่าสิ่งใดที่ผู้เรียนกำหนดให้เป็นภาพ (Figure) และสิ่งใดที่กำหนดให้เป็นพื้น (Ground) ด้วยคำถามสำคัญ 3 ข้อคือ “เห็นอะไรในภาพ? / เห็นแล้วรู้สึกอย่างไร? / เห็นแล้วทำให้นึกถึงอะไรต่อ?” หากเชื่อมโยงกับการพัฒนานวัตกรรมเหมือนกับการให้ความใส่ใจต่อผู้ใช้(User) ที่ไม่ใช่ในระดับของความเห็นเท่านั้น แต่ลึกถึงระดับของความรู้สึก ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมที่โดนใจของผู้ใช้ จะเกิดการใช้งานอยู่เสมอ ซึ่งแตกต่างแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินกับการผลิตนวัตกรรมที่มีไว้เฉพาะสนองความต้องการของผู้ผลิตหรือตัวชี้วัดของระบบ สิ่งแบบใดกันที่ควรเรียกว่านวัตกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิต?

article-innovator-3

(3) ความเห็นที่ทำให้เติบโต ไม่เท่ากับ ความเห็นที่เราพอใจ

การทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายย่างลึกซึ้ง > การตั้งกรอบโจทย์ > การพัฒนาไอเดีย > การสร้างต้นแบบ > การทดสอบเพื่อเข้าใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เป็น 5 ขั้นของวงจรที่ทำงานเป็นลูปของระบบคิดแบบ design thinking อันเป็นหลักยึดของการออกแบบการเรียนรู้ในค่ายของมะขามป้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมจากฐานข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ ดังนั้นความเห็นของกลุ่มเป้าหมายมีโอกาสที่สะท้อนเพื่อรื้อและปรับเปลี่ยนไอเดียนวัตกรรมใหม่ที่ผู้เรียนหลงรักและพัฒนาขึ้นมากับมือ และด้วยวิธีคิดแบบนี้เองมีความจำเป็นที่ผู้เรียน (นวัตกร) โดยเฉพาะนักศึกษาอาชีวะที่มีความถนัดทางทักษะในวิชาชีพของตนอย่างแนบแน่นต้องไม่หลงรักกลไก (Mechanics) ที่ตนเองสร้าง แต่ต้องเชื่อมั่นในความเห็นของผู้ใช้ (กลุ่มเป้าหมายของนวัตกรรม) ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกิจกรรมสำคัญอีกกิจกรรมหนึ่งในค่าย เป็นช่วงที่ผู้เรียนทดสอบต้นแบบนวัตกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวบ้าน และทดลองให้กลุ่มเป้าหมายได้มีประสบการณ์ใช้งานต้นแบบนั้น จากนั้นจึงให้กลุ่มเป้าหมายสะท้อนความคิดเห็น รวมถึงโหวตว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อนวัตกรรมนี้ ซึ่งในกิจกรรมนี้ มะขามป้อม ได้นำชาวบ้านตัวจริง คนที่จะต้องอยู่กับนวัตกรรมชิ้นนี้จริง ๆ (หากเกิดการผลิตจริง) มาให้ความเห็น ซึ่งหลายความเห็นที่เกิดขึ้นทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย ผู้เรียนจึงต้องอาศัยความเข้าใจและก้าวข้ามขอบความเป็นไปได้ออกไปอีก เช่น ถ้าทำมาแล้วขายเท่าไหร่, ชุมชนของเราไม่ต้องการสิ่งนี้เท่าไหร่, ใช้ยากไป/ซับซ้อนไป ไม่ซื้อ, มีระบบบำรุงรักษาอย่างไร เป็นต้น และแน่นอนว่าความเห็นเหล่านี้บางครั้งเข้าไปลดทอนกำลังใจหรือสร้างความไม่พึงพอใจของผู้เรียนรู้ แต่ในขณะเดียวกันความเห็นเหล่านี้คือส่วนสำคัญที่จะทำให้การพัฒนานวัตกรรมสามารถตั้งอยู่บนฐานของกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ใช้งานที่แท้ และนี้คือบทเรียนในชีวิตของผู้ผลิตในโลกของความเป็นจริง ซึ่งคุณก็รู้ใช่ไหม! แรงเสียดทานคือส่วนสำคัญที่ทำให้รถวิ่งไปข้างหน้า

article-innovator-4

(4) ชีวิตที่มีคุณภาพ ไม่เท่ากับ คนมีคุณภาพที่ไม่มีชีวิต

การพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาจจะต้องเริ่มจากการตั้งคำถามต่อการเรียนรู้ภายใต้ระบบการประเมินตลอดเวลา คล้ายการถูกประเมินเพื่อประทับตราสินค้าที่มีคุณภาพ และแน่นอนว่าด้วยระบบประเมินจะพบว่าสินค้าบางชิ้นไม่มีคุณภาพ วิธีคิดแบบนี้ขัดแย้งกับหลักการศึกษาที่ว่าคือความเจริญงอกงามหรือไม่? ทำให้ผู้เรียนเลิกตั้งคำถามถึงการมีชีวิตที่มีความหมายหรือเปล่า? ราวกับในอดีตที่มนุษย์เชื่อว่าโลกแบน และหวาดกลัวที่จะเดินทางเพราะหากถึงขอบของโลก พวกเราจะถูกสลัดออกไป และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ความกลัวและความไม่รู้เมื่อถึงจุดอิ่มตัว จะพบว่าเป็นส่วนหนึ่งของความกล้าของคนบางกลุ่มที่จะลุกขึ้นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยความหวัง ดั่งเช่นอาจารย์และนักศึกษาในวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการฯ พวกเราทุกคนในโครงการอาชีวิตมีความปรารถนาดีต่ออาชีวศึกษา ขอเชิญชวนผู้ที่มีความสนใจและมีความปรารถนาเช่นเดียวกับเรารวบรวมความกล้าและลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในอาชีวศึกษา คืนการเรียนรู้ที่มีชีวิตแก่ครูอาจารย์และนักศึกษา รวมถึงคืนคุณค่าและพลังอำนาจของสถาบันอาชีวะให้เป็นองค์กรสำคัญต่อรากฐานเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยต่อไป

ขอบพระคุณภาคีเชิงยุทธศาสตร์ 

– สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

– สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา

– สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ

ขอบพระคุณทีมนักการศึกษาที่มีหัวใจ

– มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)

เกี่ยวกับผู้เขียน

Chairman at Social innovation for creative society foundation | shotiweat.ung@gmail.com | Website | ผลงานชิ้นอื่นๆ

สมาชิกสมาคมคนรักภรรยาแห่งชาติ ผู้หลงใหลศิลปะการเรียนรู้ การตั้งคำถาม ความคิดสร้างสรรค์ และการบ่มเพาะนวัตกร

เรื่องที่คล้ายกัน

Categories