ด้านหลังของสำนักงานองค์การบริการส่วนตำบลยะหา จังหวัดยะลา มีอาคารชั้นเดียวอยู่อาคารหนึ่ง เป็นที่ตั้งของฝ่ายสวัสดิการสังคมและกองการศึกษา ที่ด้านซ้ายของอาคารนั้นมีการต่อเติมหลังคาออกมาสักราว 3 เมตร มีม้าหินที่มีคนมานั่งมาทำกิจกรรมอยู่อย่างไม่เคยเหงา มีเก้าอี้ล้อเลื่อนเก่าๆ 2 3 ตัว ที่เบาะขาดเป็นรูจากการใช้งาน มีชุดครัวเล็กๆ ให้พอทอดไข่หุงข้าวได้ กับคราบน้ำมันจากการทำอาหารเล็กน้อยที่พื้น ถัดเข้ามาทางด้านขวาของในตัวอาคารนั้น มีพื้นที่โถงเล็กๆ ที่มีโต๊ะประชุมกับเก้าอี้ 4 5 ตัว บนโต๊ะมีลังขนมปี๊บที่ฝาดูบุ๊บและบิดเบี้ยวจากการถูกแงะ ในวันปกติธรรมดาก็มักจะมีเยาวชนทั้งในและนอกระบบ แวะเวียนกันเข้ามาอยู่เสมอ มารอทำกิจกรรม มานั่งคุยเล่น มานั่งเฉยๆ มากินทุเรียน มาแกะสตอ ทั้งหมดสามารถมองเห็นได้ง่ายจากสายตาของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในห้องนั้น คุณอรอุมา สะมะแอ นักพัฒนาชุมชนและพี่เลี้ยงสภาเด็กและเยาวชนตำบลยะหา ที่น้องๆ มักเรียกขานเธอว่า “ก๊ะตูรี” (ก๊ะแปลว่าพี่สาวในภาษามาลายู)
เริ่มต้นจากยางมะตอย จากเด็กนอกระบบสู่สภาเด็ก
สภาเด็กและเยาวชนที่เป็นภาพแทนของเด็กในตำบลจริงๆ คงมิได้มีเพียงแต่เด็กที่เรียนอยู่ในระบบการศึกษาเท่านั้น เราต่างต้องการสภาเด็กที่มีความหลากหลาย เข้าถึงเพื่อที่จะส่งเสริมพวกเขาให้อย่างเต็มศักยภาพ ทว่าเป็นความท้าทายของคนทำงานสภาเด็กเป็นอย่างมาก ที่มักมีคำติดปากที่ว่า “ก็พี่ไม่มีเด็ก พี่หาเด็กไม่ได้” เรื่องราวการทำงานของ ก๊ะตูรีบอกกับเราสิ่งหนึ่งว่า อันที่จริงเด็กนั้น มีอยู่ทุกที่โดยเฉพาะเด็กนอกระบบ
ก๊ะตูรีเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานสภาเด็กและเยาวชน ว่าเริ่มทำงานในตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน ที่องค์การบริหารส่วนตำบลยะหาในปี 2555 และเริ่มทำงานสภาเด็กและเยาวชนในปีต่อมา แบบทำโครงการฝึกอบรมแล้วก็จบกันไป ต่อมาอยากเอาจริงเอาจังเรื่องงานคนรุ่นใหม่มากขึ้น ประกอบกับในพื้นที่มีเด็กนอกระบบที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มตามธรรมชาติที่สังเกตได้ อยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือแก็งซ์ สกอเปี่ยน เป็นวัยรุ่นชายที่ชื่นชอบการแต่งรถจักรยานยนต์ และแก็งซ์นางฟ้า ที่รวมตัวเยาวชนคนสวยและ LGBTQ ที่มีทั้งเด็กที่ศึกษาในระบบและไม่ได้ศึกษาผสมกัน
“สภาเด็กชุดแรก เกือบทั้งหมดเป็นน้องที่เรียนในระบบ หลายคนหายไปเลยไม่ได้มีส่วนร่วม ตอนนั้นเราเริ่มชวนเยาวชนในพื้นที่มาทำจิตอาสาซ่อมถนน อบต. มียางมะตอยไว้สำหรับซ้อมถนนอยู่แล้ว เป็นความคิดของแบมิง(สามีของก๊ะตูรี) เขาบอกเราว่า มีกลุ่มเด็กที่เป็นสภาเด็กแล้ว แต่เด็กมาอบรมเสร็จก็กลับ แบบนี้ ยังไม่มีความสำคัญอะไรเลย เรามียางมะตอย มีเด็กที่ก็ว่างงาน เราก็เลยเชิญชวนพวกเขามาทำจิตอาสาในพื้นที่ก่อน เพราะถนนในหมู่บ้านเป็นหลุ่มบ่อ ก็เลยชวนพวกเขามาปะถนน เราเลยมีเครือข่ายของเด็กนอกระบบเพิ่มขึ้น ตอนตั้งสภาเด็กชุดต่อมาเลยชวนกันใหม่ ทีนี้มีเด็กนอกระบบเขามาอยู่ในคณะบริหารด้วย การรวมตัวเด็กง่ายขึ้น พอมีกิจกรรมอะไรก็สามารถเรียกเด็กได้เลย พอเริ่มได้ครั้งหนึ่ง พวกเขาก็มาถามว่า มีอีกไหม พวกเขาขอสัปดาห์ละ 1 วันก็ได้ ทุกวันศุกร์น้องที่เรียนหนังสือเขาจะหยุด ก็มารวมกับเด็กนอกระบบไปทำกิจกรรมกันทุกวันศุกร์ พอทำกิจกรรมกันแบบนี้บ่อยๆ ก็เลยมีการประชุมกันกับน้องๆ เดือนละครั้ง เราจะคุยกันว่าพวกเขาอยากทำอะไรเพิ่มอีกไหม นอกจากกิจกรรมจิตอาสา เขาก็บอกว่าฝึกอาชีพ อบรมให้ความรู้ต่างๆ เพราะว่าน้องหลายคนเขาว่างงานอยู่ เขาไม่ได้เรียน เราก็เลยนำความต้องการของเขา เขาแผนของของ อบต.”
เมื่อสภาเด็กเป็นรูปร่าง ก็ถึงเวลาชวนพวกเขา มาก่อร่างสร้างตัว
เมื่อถามถึงนิยามของความหมายของคำว่า “วัยรุ่นสร้างตัว” ก๊ะตูรีตอบเราว่าหมายถึงการที่เด็กคนหนึ่ง พัฒนาตัวเองให้ดีกว่าเดิม ซึ่งไม่ได้ความแค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่หมายถึงตัวเขาเองทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องความรู้ ทักษะ ความมั่นคงในชีวิต เหมือนตั้งใจทำอะไรแล้ว ทำให้สำเร็จตามที่ตั้งใจ ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ แลดูเหมือนว่าการทำงานในตำแหน่งนักพัฒนาชุมชนและบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงสภาเด็กและเยาวชนของ ก๊ะตูรี ก็สะท้อนความตั้งใจที่จะอยากชวนให้วัยรุ่นใน อบต.ยะหา สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยเช่นกัน
“มีเด็กกลุ่มนึงที่ชอบรถมอเตอร์ไซต์ แรกๆ จะเน้นแต่งสวย แต่งท่อก่อน แต่เรื่องเครื่องยนต์กลไกต่างๆ งานซ่อมจริงจังอาจจะยังไม่คล่อง ก็จะจัดโครงการให้วิทยากรที่เป็นช่างจริงๆ มาสอนมาฝึกตามความต้องการของพวกเขา พอถึงวันจัดโครงการเขาก็จะชวนเพื่อน กันมาเองโดยที่เราไม่ต้องบังคับ ตอนที่ฝึกกันเขาจะถามวิทยากรลงลึกในรายละเอียด เด็กหลายคนที่ตอนนั้นไปอบรม ตอนนี้ยังเป็นช่างอาชีพเลี้ยงตัวอยู่ บางคนก็เป็นลูกจ้างของร้านในพื้นที่ มีเหมือนกันที่พอจะจัดสรรประมาณ ระดมทุน มาซื้ออุปกรณ์ อย่างปั้มลมให้เขา ตอนนี้เขาก็เอาไปใช้ เป็นจุดเริ่มต้นไปต่อยอด จนตอนนี้ เปิดร้าน สามารถเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ทำหนังหุ้มเบาะได้แล้ว”
ก๊ะตูรียังเล่าให้ฟังอีกว่า มีอีกโครงการฝึกอาชีพหนึ่ง คือช่างตัดผม มีเยาวชนจากหลายๆ หมู่ 5-6 คนมาเรียนตัดผมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ฝึกอบรม ก็ได้มอบให้พวกเขาไปใช้จริง จนกระทั้งพวกเขาไปเปิดร้านตัดผมกันจริงๆ อยู่ตรงสามแยก ทว่าต่อมามีหลายคนย้ายไปทำงานที่มาเลเซียจึงต้องปิดร้านไป แต่คนที่ยังอยู่ชื่อ ไซคู ก็ยังเป็นช่างตัดผมอยู่ แบบไปตัดให้ที่บ้าน ในช่วงก่อนเดือนบวช(รอมฎอน) คนจะเรียกใช้บริการเขาเยอะมาก
3 วัยรุ่นสร้างตัว ที่ก๊ะตูรี มีส่วนในชีวิตของพวกเขา
SIY ขอให้ก๊ะตูรีเล่าเรื่องราวตัวอย่างของวัยรุ่นสร้างตัวในนิยามของก๊ะตูรี ที่เป็นส่วนหนึ่งของสภาเด็กและเยาวชนตำบลยะหา ก๊ะตูรีได้บอกเล่าเรื่องราวของน้อง 3 คน คือ เปา เฟี้ยน และเชอรี่
แต่เดิมเปาศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในพื้นที่ แต่ดูเหมือนว่าการศึกษาในระบบจะไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเขา เปาเป็นสภาเด็กที่ร่วมกิจกรรมกับก๊ะตูรีมาอย่างยาวนาน และก็ยังไม่ได้มีอาชีพอะไรที่ชัดเจน ครอบครัวของเปามีสวนทุเรียนอยู่ก็พอจะไปช่วยทำอยู่บ้าง และเปาเองก็มีคนรู้จักทำรถทัวร์ ดูเหมือนเปาจะรักการผจญภัย เปาจึงไปเป็นเด็กรถกับเขาอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง อันที่จริงเปาทำหลายต่อหลายอย่างเพราะยังว่างงานอยู่ ก๊ะตูรีจึงลองถามไปว่า “แล้วไม่อยากทำเป็นของตัวเองบ้างหรอ? ถ้าเปาทำนะ ก๊ะมีเพื่อน ช่วยส่งเสริมได้นะ ไม่ต้องรถบัส เป็นรถตู้ก็ได้” ตอนนี้เปาได้ซื้อรถตู้ 1 คัน เริ่มต้นธุรกิจรถตู้เช่าเหมาในพื้นที่จังหวัดยะลา และแน่นอนว่า ก๊ะตูรี เป็นทั้งลูกค้าประจำของเปา และเป็นคนสำคัญที่ทำให้เปามีลูกค้าคนแรกๆ และเป็นที่รู้จัก จนเริ่มที่จะสร้างตัวได้ “ดีใจนะ ที่เห็นเขาพัฒนาตัวเอง สร้างความมั่นคงให้ตัวเองมากขึ้นได้” ก๊ะตูรีบอกกับเราเมื่อพูดถึงปัจจุบันของเปา
เฟี้ยนเป็นหนึ่งในสมาชิกแก๊งสกอเปี้ยน กลุ่มเยาวชนผู้ชื่นชอบมอเตอร์ไซต์ ที่ก๊ะตูรีชวนมาทำงานสภาเด็กด้วยกัน ต่อมาเฟี้ยนแต่งงาน โดยที่มีแม่ยายขายก๋วยเตี๋ยว เฟี้ยนกับภารยามีความคิดที่อยากจะแยกออกมาทำกิจการเป็นของพวกเขาเอง ช่วงแรกเฟี้ยนไปเรียนสูตรไก่ทอด แล้วจึงมาเปิดร้านไก่ทอดเล็กๆ อยู่ในตำบลยะหา ในช่วงแรกที่เริ่มต้นดูเหมือนจะไม่ได้ง่ายดายนัก ก๊ะตูรีกับเฟี้ยนได้พูดคุยปรับทุกข์กัน เฟี้ยนถามก๊ะตูรีว่า “เขาจะทำได้ไหม”
ก๊ะตูรีตอบ “เธอทำได้ เธอต้องทำได้อยู่แล้ว ถ้าเธอขายเฟรนชาย ฉันจะซื้อของเธอมาทำนะ ” ก๊ะตูรีบอกว่าอันนี้พูดคุยกันตั้งแต่เริ่มเปิดใหม่ๆ
“ไก่เฟี้ยนนี้ไม่เหมือนเพื่อนนะ ก๊ะว่าอร่อย ตอนแรกมีแค่ไก่กรอบอย่างเดียว แต่ก๊ะคิดว่าเขาต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ” เฟี้ยนจึงพัฒนาไก่ทอดให้มีรสชาติมากขึ้น มีการคลุกเครื่องคลุกผงปรุงรส และมีไก่ซอสเกาหลีขายเพิ่มเติม
ต่อมาร้านไก่ทอดของเฟี้ยนก็เป็นไปได้ด้วยดี และตัดสินใจเปิดสาขาที่ 2 ในตัวเมืองยะลา ก๊ะทำทีไปขอซื้อเฟรนชาย เฟี้ยนตอบว่า “ไม่ขายแล้ว เดี๋ยวเขาทำเอง เดี๋ยวมาแย่งลูกค้ากัน” ก๊ะตูรีเล่าด้วยน้ำเสียงประทับใจ
ปัจจุบันเฟี้ยนมีร้านไก่ของตัวเองอยู่ 4 สาขา ได้แก่ ยะหา ยะลา ปัตตานี และโคกโพธิ์
SIY : ร้านเยอะขนาดนี้ เฟี้ยนดูและอย่างไรไหว ?
ก๊ะตูรีตอบว่า “มีสภาเด็กเราเขาไปทำงานด้วย ต่อยอดให้เพื่อน ทำงาน สร้างอาชีพให้เพื่อน มีฟีซี มีดาว มีเวียนา ดูอยู่ที่สาขายะหา ตัวเฟี้ยนเองก็ไปดูสาขาหลักที่ยะลา ส่วนที่ปัตตานีจ้างคนมาดู”
SIY : เรื่องของเฟี้ยน ก๊ะมีส่วนอะไรกับความสำเร็จของเขา ?
“ก๊ะให้กำลังใจมากกว่า ให้เรื่อยๆ เราน่าจะหาเครือข่ายลูกค้าให้เขาด้วยละ เหมือนเวลามีใครจะจัดงานจัดโครงการอะไรในพื้นที่ ต้องใช้เบรก อาหารว่าง ก็จะคอยแนะนำให้"
SIY : เข้าใจถูกไหมว่าก๊ะเป็นลูกค้าคนแรกๆ ที่ทำให้เฟี้ยนมั้นใจที่จะทำต่อ ?
“ก็มีกลุ่มสภาเด็กยะหานี้ละ คอยพูดกันตลอด เดี๋ยวเราไปอุดหนุนเฟี้ยนนะ ตอนไปก็บอกเขาว่าอันนี้อร่อย อันนี้หวานนิดนึง ก็ติชมกันไป เฟี้ยนก็ปรับปรุงไปเรื่อยๆ นานกว่าจะได้สูตรที่นิ่ง ทีมสภาเด็กที่ก๊ะดูและอยู่ ไปชวนกันอุดหนุนจนเขาตั้งตัวได้ในช่วงต้น จนมั่นใจที่จะขยายออกไป แต่เขาเก่ง เขาคิด เขาทำอะไร ด้วยตัวของเขาเอง” ก๊ะตูรีย้ำเครตดิตว่าความสำเร็จนี้มาจากตัวของน้องเขาเอง"
SIY : สมมุติ ไม่มีก๊ะตูรี ไม่มีกลุ่มสภาเด็ก มาอุดหนุนกันชีวิตเฟี้ยนจะเป็นแบบนี้ไหม ?
“มันก็น่าจะได้ แต่ว่าอาจจะเติบโตช้ากว่านี้หน่อย แต่อันนี้มีเพื่อนคอยสนับสนุน ประชาสัมพันให้รู้กัน ก๊ะเองก็ช่วยประชาสัมพันธ์ ให้เพื่อนๆ ที่ตัวเมืองยะลาไปอุดหนุนเฟี้ยนที่สาขายะลา แต่ว่าเขาเก่ง เขาติบโตได้อยู่”
สภาเด็กของ อบต. ยะหาอีกคนหนึ่ง ชื่อเชอรี่ น้องเป็นคนหนึ่งในแก้งนางฟ้า เรื่องราวเริ่มต้นที่เชอรี่มาบอกก๊ะตูรีว่าในงานหนึ่งของ อบต. ว่าพวกเขาอยากขึ้นแสดงบนเวที ก๊ะตูรีก็ให้โอกาสนั้น หลังจากนั้นเชอรี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานสภาเด็กเรื่อยมา กระทั้งมีโครงการหนึ่งที่ก๊ะตูรีพาเชอรี่ไปงานที่กรุงเทพกับเพื่อนๆ สภาเด็กอีก 3 คน ระหว่างเขียนค่าเดินทาง ก๊ะตูรีได้พบว่า เชอรี่ไม่สามารถเขียนภาษาไทยได้
“จริงๆ ก็ผิดสังเกตอยู่เพราะก่อนหน้านั้น พิมไลน์ไป เขาจะอ่านแต่ไม่พิมพ์ตอบ จะโทรมาแทน เราก็ไม่แน่ใจว่าเขาเป็นอะไร ตอนนั้นถึงได้รู้ว่าเขา อ่าน เขียน ไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธี อัดเสียงส่งไปแทน พอได้มาทำงานสภาเด็กด้วยกันบ่อยๆ เขาก็ได้พูด ได้เจอเพื่อน ได้ออกงาน ถึงจะเขียนไม่ได้ แต่ใจสู้ คอยถามเพื่อนถามก๊ะตลอด อันนี้อ่านว่าอะไร เขาก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ” “เมื่อก่อนเชอรี่ว่างงาน และมาอบต. บ่อยมาก วันหนึ่งเขาถามก๊ะว่ามีอะไรให้ทำไหม เราก็จะลองดูว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร วันหนึ่งมีพนักงานของ อบต. ลาออก จะชวนเชอรี่มาทำงานก็ติดที่ยังอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ ก็เลยให้เชอรี่มาเป็นแม่บ้านของ อบต. แทน ก็เปิดโอกาสให้เขาได้มีงานทำ”
ระหว่างที่เชอรี่มาเป็นแม่บ้านที่ อบต.ยะหา ได้สักพักหนึ่ง ก๊ะตูรีจึงได้พูดคุยถึงอนาคตกับเชอรี่
“เชอรี่ ถ้าเธออยากจะก้าวหน้า เธอต้องไปเรียนหนังสือ” เชอรี่ก็ถามก๊ะตูรีว่า “เรียนแล้วได้อะไร ไม่เรียนก็ได้ทำงาน” เราก็ตอบไปว่า “ถ้าเชอรี่ได้เรียน เชอรี่ก็จะมีโอกาส ทำงานอื่นๆ ได้ที่มันดีกว่านี้”
เชอรี่เข้าใจถึงความปราถนาดีของก๊ะตูรี และได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยชุมชนในวันเสาร์อาทิตย์
“ตอนแรกก็เป็นห่วงเขาเหมือนกัน เพราะเขาอ่านเขียนภาษาไทยยังไม่คล่องนักแล้วเขาจะเรียนอย่างไร ดีที่มีอาจารย์ที่เข้าใจ จนตอนนี้เชอรี่เขียนอ่านได้แล้ว หรือให้เขาพรีเซนต์ ก็ทำได้แล้ว เขาดูมีประสบการณ์มากขึ้นจากการที่ไปเรียน ทำงานก็ดีขึ้น เพราะเป็นลูกจ้าง อบต. จะเบิกเงินได้ต้องเขียนรายงาน แต่ก่อนเขียนเองไม่ได้ต้องจ้างคนอื่นเขา แต่ตอนนี้เขียนเองแล้ว เขาดีขึ้น พัฒนาตัวเองแล้ว ก๊ะไปเจอพ่อเขา เขาก็ขอบคุณก๊ะนะ ที่ข่วยดึงลูกเขาให้ดีขึ้น จากที่อยู่บ้านเฉยๆ ก็ได้มีงานทำ ได้ไปเรียนต่อ เหมือนเปลี่ยนชีวิตเขาไปเลย”
SIY : ในฐานะพี่เลี้ยงสภาเด็กที่เป็นนักพัฒนาชุมชนบทบาทของเราคืออะไร ?
“การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก เป็นกันเอง เด็กสามารถเข้าถึงเรา เวลาเขามีอะไรเรารับฟังเขาทุกอย่าง มาพูดคุยกับเราได้ เปิดโอกาสให้เด็กมาร่วมกิจกรรมกับเราได้บ่อยครั้ง และที่สำคัญเข้ามาหาเราเมื่อไหร่ก็ได้ ก๊ะอยู่”
เคล็ดไม่ลับสร้างทีมงานสภาเด็ก
“ทำโครงการเสร็จ ไม่ใช่ว่าเสร็จปุ๊บกลับ อะไรยังงี้ไม่มี พอเสร็จงานแล้วก็จะชวนมานั่งคุยกันที่ข้างห้องทำงานก๊ะนี้ละ ใครมาครั้งแรกก็จะถามเขาว่ามาเข้าสภาเด็กไหม เดี๋ยวมีกิจกรรมให้ทำนะ คนที่อยู่มานานแล้ว พอกิจกรรมเสร็จ ยังไม่กลับบ้าน เขาก็จะมานั่งเล่นนั่งคุยโม้กันต่อที่ข้างหน้าห้องทำงานก๊ะ ตั้งแต่ยังไม่มีห้องใหม่แบบนี้ บางทีจะบอกพวกเขาว่าอย่าเพิ่งรีบกลับนะ นั่งกินน้ำกินขนมอะไรด้วยกันก่อนได้ สำหรับก๊ะ ทำงานเด็กรู้สึกว่ามันง่าย เหมือนอยู่กับเพื่อน เราเป็นพี่ คอยแนะนำ แก้ปญหาให้น้อง ก็พูดก็คุยกันไป เหมือนมันผูกพันแล้ว ชอบด้วยมั้งงานนี้ ประมานนั้น”
นักพัฒนาชุมชนคนหนึ่ง จะทำงานเด็กและเยาวชนขนาดนั้นไปทำไม
SIY : ก๊ะตูรีทำงานเด็กไปทำไม ?
“อาจจะเพราะชอบเด็กด้วยมั้ง (หัวเราะ) ตอนก๊ะวัยรุ่น ก๊ะชอบเล่นกับเด็กนะ พ่อจะบอกว่า ทำยังไงเด็กถึงติด เด็กแถวบ้านจะมาหาอยู่ตลอด ก๊ะรับผิดชอบงานผู้สูงอายุ ผู้พิการ สตรี และงานเยาวชน ก๊ะเข้าถึงพวกเขาได้ง่าย เรียกรวมตัวกันก็มา ก็อยู่กันมาจนยืดยาว งานเยาวชนสำหรับก๊ะรู้สึกผูกพันมากกว่างานอื่น เหมือนจะชอบไปแล้ว มีเด็กเขามาบอกก๊ะนะ อยากอยู่กับก๊ะจังเลย พามาทำงานด้วยได้ไหม ก็บอกเขาไปว่าถ้าเป็นพนักงานตอนนี้เต็มแล้ว แต่ถ้ามาเป็นสภาเด็กด้วยกันละก็ ได้อยู่” “ผูกพันหลายๆ อย่าง เพราะเรามีเวลาให้เขาละมั้ง เขาก็ผูกพันกับเราด้วย”
SIY : จะทำงานเด็กไปถึงเมื่อไหร่ ?
“น่าจะถึงเกษียณ แก่ไปไหม 555”
SIY แล้วหลังเกษียณละ ?
"คงต้องไปทำที่บ้าน 5555"
ที่รวมตัวเล็กๆ เด็กนอกระบบ คบเด็กสร้างตัว
ภาพของพื้นที่รวมตัวที่ได้กล่าวถึงไว้ตั้งแต่ช่วงต้นของบทความนั้น ตอนนี้ถูกปรับปรุงใหม่ให้กลายเป็นศูนย์ประสานงานสภาเด็กและเยาวชนตำบลยะหา ที่น้องๆจะสามารถเข้ามารวมตัวกันได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ทว่าความเป็นพื้นที่รวมตัวพื้นที่ปลอดภัยนั้น เกิดขึ้นอยู่ก่อนที่จะถูกปรับปรุงแล้ว และสิ่งนั้นคือสารตั้งต้น ที่มีส่วนในการส่งเสริมให้เยาวชนหลายคน มีเพื่อน มีความหวัง และประกอบร่างสร้างความฝันให้กับตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือพี่เลี้ยงหรือเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะสร้างให้พื้นที่เชิงกายภาพนั้นให้เกิดขึ้นจริง และสร้างพื้นที่เชิงความรู้สึกให้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ก็เพื่อหวังว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นส่วนหนึ่ง ในการก่อร่างสร้างตัวให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ของเราได้
เกี่ยวกับผู้เขียน
นักสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยร้อยยิ้ม ชื่นชอบศาสตร์แห่งการเป็นพี่เลี้ยงเพื่อพัฒนาเยาวรุ่นด้วยความคิดสร้างสรรค์
- ธนาธิป เทียมราษฎร์https://siythailand.org/author/ivysiy/9 December 2020
- ธนาธิป เทียมราษฎร์https://siythailand.org/author/ivysiy/29 September 2021
- ธนาธิป เทียมราษฎร์https://siythailand.org/author/ivysiy/
- ธนาธิป เทียมราษฎร์https://siythailand.org/author/ivysiy/7 June 2024