สิ่งขโมยความฝัน : สำรวจที่นั่งเล่น นิทาน การเดินทางของเยาวรุ่นท้องถิ่น

“ถ้าจะเดินทางเข้าไปตัวเมืองต้องใช้เวลาเกือบทั้งวัน และเสียเงินเยอะด้วย อยู่ที่นี่ไม่มีอะไรเลย

แต่ก็ไม่อยากออกไปข้างนอกนะ อยากให้มีที่นั่งเล่นกว้าง ๆ ที่ได้มาเจอเพื่อน เจอคนอื่น ๆ”

วัยรุ่นในท้องถิ่นแห่งหนึ่ง

“ร่างกาย สุขภาพและอนาคตของเรา อาจไม่ใช่แค่เราที่เป็นผู้กำหนด” สิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งระดับแรงปรารถนาภายในตัวตน ครอบครัว ชุมชน สังคม มีส่วนเข้ามากำหนดความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ สิ่งแวดล้อม สถานที่ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้มนุษย์แสวงหา เป็นพลังสร้างสรรค์ ผลักดันให้มนุษย์คิด จินตนาการและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ การมีที่นั่งเล่น หนังสือนิทานหรือวรรณกรรมดีเข้าถึงได้ง่าย และมีการเดินทางที่สะดวก ราคาถูก ย่อมเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเติบโตและการอยู่อาศัยของคนทุกคน

พื้นที่สาธารณะ

พื้นที่โล่งกว้างมองไปรอบ ๆ เป็นทุ่งนา ภูเขา แม่น้ำ ไร่อ้อย สวนยางพารา บ้านเรือน ถนนที่ทอดยาวระหว่างหมู่บ้าน แต่มองหาไม่เห็นพื้นที่สาธารณะที่พอที่จะให้พักผ่อนหย่อนใจ ไม่ต้องพูดถึงพื้นที่อย่างห้องสมุด แหล่งเรียนรู้ ลานกิจกรรม สวนสาธรณะ เพราะแม้กระทั้งที่หย่อนก้นลงนั่งแทบไม่มีให้เห็น จะเห็นก็มีแต่พื้นที่ เช่น ร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน คำว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ อาจเป็นคำที่เข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบายมากนักโดยเฉพาะแวดวงเมืองและผังเมือง แต่สำหรับคนในทั่วไปโดยเฉพาะเยาวรุ่นในท้องถิ่น คำนี้อาจไม่เห็นภาพที่ชัดเจน เพราะทั้งชีวิตพวกเขาอาจไม่เคยได้เข้าไปใช้บริการ “พื้นที่สาธารณะ” ที่ดีเลยสักครั้ง เอ อายุ 16 ปี อาศัยอยู่พื้นที่ต่างอำเภอของจังหวัดมหาสาคาม เล่าถึงพื้นที่ใกล้บ้านว่าเขาไม่รู้จะออกไปไหนเลยในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ สถานที่ที่ไปบ่อยคือโรงเรียนมัธยมที่ใกล้บ้าน ไปนั่งเล่น คุยกับเพื่อน ๆ และไปตลาดนัดยามเย็น แม้ว่าเขาจะไม่ได้ซื้ออะไรแต่ก็ถือเป็นแหล่งพักผ่อนยามว่าง การเดินทางเข้าไปในตัวเมืองเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะรถประจำทางที่ไม่เคยมีอยู่ประจำ บางครั้งก็ไม่จอดรับ เอเล่าว่า

วันหยุดหรือช่วงที่มีเวลาว่างเขาอยากมีที่เล่น พักผ่อนใกล้บ้าน ตื่นแต่เช้ามาชวนเพื่อนไปปั่นจักรยาน และเดินเล่นในสวนสาธารณะใหญ่ของท้องถิ่นได้ สาย ๆ นั่งทำการบ้านที่คาเฟ่ หรือห้องสมุดสักแห่งที่มีอินเตอร์เน็ต ได้มาเจอเพื่อน เจอคนอื่น ๆ  ตอนเย็นมีพื้นที่ให้ไปออกกำลังกาย นั่นอาจเป็นภาพฝันของการเข้าไปใช้งานพื้นที่สาธารณะของคนเด็กคนหนึ่งในต่างจังหวัด ปัจจุบันถ้าจะมีพื้นที่แบบนี้ต้องเข้าไปตัวอำเภอเมือง ๆ  ต้องใช้เวลาเกือบทั้งวัน เสียเวลาและเสียเงินเยอะด้วย ”

ระบบฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ระบุเอาไว้ว่าท้องถิ่นไทยมีสวนสาธารณะ/ลานกีฬา/สนามกีฬาจำนวน 38,583 แห่ง จำนวนห้องสมุด 9,760  แห่ง จำนวนสนามเด็กเล่น 8,289 แห่ง การจายอยู่ทั่วไทย เมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนท้องถิ่นในประเทศไทยกว่า 7,850 แห่ง เฉลี่ยท้องถิ่นมีสวนสาธารณะ/ลานกีฬา/สนามกีฬาจำนวน 4.9 แห่งต่อท้องถิ่นซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอควร แต่ถึงอย่างนั้นทำไมเยาวชนหลายคนยังรู้สึกว่าพวกเขายังไม่เคยได้ใช้บริการ “พื้นที่สาธารณะ” ที่ดีเลยสักครั้ง

มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม เก็บข้อมูลเชิงสำรวจกับเด็กเยาวชนทั่วประเทศ พบว่าพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่ต้องการใช้ชีวิตอยู่มากที่สุดคือ “พื้นที่ได้พัฒนาตัวเองได้และมีความสุขในการดำเนินชีวิต” พื้นที่ใดก็ได้ที่สามารถพัฒนาศักยภาพมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และเติบโต มากถึงร้อยละ 36.8 รองลงมาคือการไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ ร้อยละ 25 ถัดมาคือการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่หรือตามหัวเมืองต่างจังหวัดที่มีสิ่งแวดล้อมทางสังคม และทรัพยากร ตลอดจนมีงานที่มีคุณภาพที่เอื้อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี คำถามสำคัญต่อจากนี้คือ เราจะทำอย่างไรให้เกิดพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนใกล้บ้านเป็นพื้นที่ที่รองรับการเรียนรู้และความสร้างสรรค์ที่ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

article_2024_22pic1
ภาพ อ่างเก็บน้ำพื้นที่สาธารณะที่เยาวชนใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

article_2024_22pic2
ภาพ พื้นที่เยาวชนมาทำกิจกรรมบริเวณหน้าสำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

หนังสือนิทาน 

หนังสือหรือสื่อการเรียนรู้ ประเภทวรรณกรรม นิทาน มักเข้าถึงได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย 1,700 บาท คือ ตัวเลขในการงการบริหารงบประมาณเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนค่าจัดการเรียนการสอน (รายหัว) สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป้าหมายคือมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา อย่างก็ดีงบประมาณดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้แน่นอน เพราะการขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนตามศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในท้องถิ่นที่ได้รับการคัดสรรจากผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังชีวิตนอกศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก็มีความสำคัญอยู่มาก ในบางครั้งที่พ่อแม่อาจไม่สามารถซื้อได้เพราะราคาที่แพง หรือพ่อแม่อาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโลกแห่งนิทานและการเล่นมีอยู่อย่างหลากหลายมากนัก

เสียงจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า การเสริมพัฒนาการเด็กต้องลงทุนไม่ใช่แค่การอ่าน กิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การอ่านหนังสือหรือดูสมุดภาพร่วมกันกับเด็ก การเล่านิทานให้เด็กฟัง การร้องเพลงกับเด็ก พาเด็กไปเดินเล่น นอกบ้าน เล่นกับเด็กและหัดเรียกชื่อนับเลขหรือวาดรูปกับเด็ก ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ซึ่งเด็กปฐมวัยถือเป็นวัยทองแห่งการเรียนรู้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองพัฒนาสูงสุดและส่งผลต่อสติปัญญา บุคลิกภาพ และความฉลาดทางอารมณ์ การพัฒนาเด็กในช่วงวัยนี้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะและความสามารถในระดับที่สูงขึ้นต่อไป ความขาดแคลนทรัพยากร กำลังทำลายวัยทองของการเรียนรู้ เป็นคำถามที่เราต้องช่วยกันตอบว่าจะทำอย่างไรให้เด็กในท้องถิ่นได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ?

article_2024_22pic3
ภาพ หนังสือนิทานในศูนย์พัฒนาเด็เล็กแห่งหนึ่ง

การเดินทาง

เดินทางไปที่ต่าง ๆ อย่างไร บ่อยแค่ไหนค่าใช้จ่ายในการไปยังที่ต่าง ๆ แพงไหมเวลาว่างทำอะไร  ?  เดินทางไปอย่างไร ? เป็นคำถามที่พูดคุยกันและได้สังเกตการณ์เยาวชนที่อยู่ในท้องถิ่นที่มีประสบการณ์การเคลื่อนย้ายระยะสั้น ๆ ในท้องถิ่น คำตอบที่ได้คือไม่มีรถเมล์สายไหนที่พาเดินทางเข้าไปถึงแหล่งเรียนรู้หรือบริการสาธารณะต่าง ๆ ภายในต่อเดียว และการเดินทางเข้าไปตัวเมืองหนึ่งครั้งมีราคาแพงประมาณ 100-200 บาท ซึ่งมีราคาแพงเกิดกว่าเด็กวัยรุ่นจะเอื้อมถึง วัยรุ่นหลายคนมีความฝันอยากไปดูการแสดงศิลปะ โรงหนัง การแสดงดนตรี แต่ด้วยการคมนาคมที่ไม่เอื้ออำนวยและมีราคาแพง ทำให้พวกเขาเลือกที่จะไม่เดินทาง และเลือกเดินทางไปยัง พื้นที่ในชุมชนแทน เช่นขี่มอเตอร์ไซด์ไปยังอ่างเก็บน้ำที่ผุพังใกล้บ้าน หรือไปรวมตัวเล่นโรงเรียนในช่วงวันหยุด เป็นคำถามที่เราต้องช่วยกันตอบว่าจะทำอย่างไรให้เด็กในท้องถิ่นสามารถเดินทาง มีประสิทธิภาพได้อย่างไร ?

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (2022) สำรวจความคิดเห็นเยาวชนทั่วประเทศช่วงอายุ 15-25 ปี พบว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เยาวชนไม่เข้าแหล่งเรียนรู้คือ “ไกลและเดินทางยาก” รวมไปถึงการมีค่าเข้าชมด้วย การไม่มีเวลาว่างคือข้ออ้างสำคัญที่ทำให้เยาวชนไม่ไปแหล่งเรียนรู้”ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (2022) สำรวจความคิดเห็นเยาวชนทั่วประเทศช่วงอายุ 15-25 ปี พบว่า เยาวชนอายุ 15-18 ปีซึ่งอยู่ในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายให้ข้อมูลว่าไม่มีเวลาว่างในการไปแหล่งเรียนรู้มากกว่าช่วงอายุอื่น ๆ

ในบริบทท้องถิ่นต่างจังหวัด พื้นที่สาธารณะมักจะเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของชุมชน เช่น วัด โรงเรียน หรือพื้นที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถพัฒนาเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของคนในชุมชน ชุมชนท้องถิ่นสามารถยกระดับให้กิจกรรมที่หลากหลาย ความปลอดภัย พื้นที่เรียนรู้ พื้นที่พักผ่อน และพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่สะอาดและปลอดภัยและเหมาะต่อการเรียนรู้การส่งเสริมครอบครัว ให้เข้าถึงสื่อการเรียนรู้ประเภทต่าง ๆ เช่น หนังสือนิทาน วรรณกรรม บอร์ดเกมส์ สำหรับการสานสัมพันธ์ในครอบครัวและเด็ก มีการดัดแปลงให้พื้นที่ธรรมดาเป็นการใช้งานบริเวณรอบบ้านและในบ้าน ลานโล่งในหมู่บ้าน ลานสาธารณะและศาลาวัด รวมไปถึงลานโล่งของสถานที่ราชการใกล้บ้าน เป็นต้น 

การไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเรียนรู้และความสร้างสรรค์ไม่ได้ขับไล่ผู้คนให้ห่างออกจากท้องถิ่นแต่ยังขับไล่ความหวังและความฝันของเขาด้วย ความเหลื่อมล้ำในภาพใหญ่ดูเป็นเหตุเป็นผลอย่างดีว่า ทำไมต่างจังหวัดยังคงไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเรียนรู้และความสร้างสรรค์ ความเงียบสงบและความ ผุพังของสิ่งต่าง ๆ กำลังผลักไสไล่ส่งให้เด็กต่างจังหวัดโหยหาสิ่งที่ดีกว่าออกไปยังที่อื่น ๆ เป็นคำถามที่เราต้องช่วยกันตอบว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่สาธารณะที่เหมาะต่อทุกวัยกระจายอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างไร ?

อ้างอิง

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานข้อมูลสวนสาธารณะและลานกีฬา ในระบบข้อมูลกลางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (INFO) เข้าถึงจาก https://opendata.dla.go.th/dataset/garden

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022 เข้าถึงจาก https://kidforkids.org/youth-survey-2022/

เกี่ยวกับผู้เขียน

ผลงานชิ้นอื่นๆ

นักมานุษยวิทยา เขียนนิยาย ทำวิจัย และฝันอยากเห็นสังคมไทยก้าวหน้า เท่าเทียม

+1

Categories

เรื่องที่คล้ายกัน

guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments